ครามปัตตานี : Pattani Indigo

INDIGO HISTORY

ปัตตานีในอดีตเป็นเมืองท่าสำคัญในยุคการค้าทางเรือต่อเนื่องมาถึงยุคการล่าอาณานิคมมีบันทึกชาวต่างชาติ บรรยายถึงสินค้าเข้าและสินค้าออกของเมืองปัตตานีไว้หลากหลายนอกจากนี้ยังบรรยายถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่การแต่งกายการใช้ผ้าจากบันทึกการเดินเรือของเจิ้งโห พุทธศตวรรษที่ 19 “ประชาชนในท้องถิ่นทำเกลือจากน้ำทะเลและเหล้าจากต้นสาคู นอกจากนี้ยังมีผลผลิตอย่างอื่น เช่น น้ำผึ้ง น้ำตาลทราย เครื่องหอม ผ้าขาวที่เรียกว่า ผ้าบาคูลา ผู้หญิงชอบนุ่งผ้าสีขาวและกระโจมอกด้วยผ้าสีน้ำเงิน” บันทึกอ้างถึงการใช้ผ้าสีน้ำเงิน และมีเอกสารที่กล่าวถึง คราม เป็นสินค้าส่งออกของเมืองปัตตานี “สินค้าท้องถิ่นที่ปัตตานีที่เป็นที่ต้องการของพ่อค้าชาวโปรตุเกสได้แก่ ข้าว ดีบุก งาช้าง กำยาน คราม ครั่ง และไม้ฝาง”

ประวัติศาสตร์การค้าคราม การค้าเนื้อครามในสมัยอยุธยาจากบันทึกของชาวต่างชาติที่เข้ามาทำการค้าและเจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรสยามและปัตตานี เช่น

 

บันทึกของฮอลันดา เมื่อปี พ.ศ.2146

“ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ฮอลันดาได้ตั้งสถานีการค้าขึ้นที่ปัตตานีในปี พ.ศ.2146 โดยเห็นว่าปัตตานีเป็น “ประตูไปสู่จีน” ขณะนั้นปัตตานีเป็นเมืองขึ้นของไทยฮอลันดาจึงได้ติดต่อกับอยุธยาโดยส่งฑูตชื่อ คอร์เนลิส  สเปกซ์ เข้ามาเฝ้าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในปีพ.ศ.2147 เพื่อทำความตกลงในเรื่องการค้าและขอตั้งสถานีการค้าขึ้นที่อยุธยา”“จะเห็นได้ว่าฮอลันดามีจุดมุ่งหมายในระยะแรกๆ คือต้องการค้าขายกับจีนโดยอาศัยปัตตานีเป็นสถานีการค้าสินค้าจีนที่ฮอลันดาต้องการ ได้แก่ ไหมดิบคุณภาพดี ผ้าไหม เครื่องถ้วยชาม ครามเปียก กำยาน ตะกั่ว รากไม้ ฯลฯ”

 

บันทึกของโปรตุเกสปี พ.ศ.2149

“เมื่อเควลโลได้ทำสัญญาไมตรีกับประเทศไทยแล้วพ่อค้าชาวโปรตุเกสก็เข้ามาค้าขายในพระราชอาณาจักรไทยมากขึ้นทุกทีส่วนมากเข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในพระนครศรีอยุธยาและยังมีตัวแทนการค้าอยู่ที่นครศรีธรรมราชและปัตตานีทำการค้าขาย ข้าว ดีบุก งาช้าง กำยาน คราม ครั่ง ไม้ฝาง”

 

บันทึกของฝรั่งเศส ปี พ.ศ.2411

          “ในบรรดาสินค้าหลักๆที่ค้าขายกันไม่ว่าจะเป็นสินค้าออกหรือสินค้าเข้าจะต้องมีสินค้าสองสามชนิดซึ่งเมื่อเริ่มนำเข้าไปในยุโรปโดยเฉพาะที่ฝรั่งเศสได้กลายเป็นที่นิยมอย่างมากได้แก่ ข้าวเจ้า ไม้สัก ฝ้าย คราม ไม้สำหรับย้อมสี งาช้าง ไม้มะเกลือ ฯลฯ
สินค้าเหล่านี้มีความสำคัญต่อการเดินเรือ ศิลปกรรม อุตสาหกรรม…”

 

          จากบันทึกของชาวตะวันตกข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ครามเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็นที่ต้องการของชาวยุโรปในยุคการค้าทางทะเล จนกระทั่งล่วงเข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม อาณานิคมกลายเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ เช่น อังกฤษใช้แรงงานชาวอินเดียปลูกครามได้จำนวนมาก ฮอลันดาใช้ครามเป็นพืชเศรษฐกิจทำการเพาะปลูกบนเกาะชวา

ราวปี พ.ศ. 2433 เริ่มมีการสังเคราะห์สีเคมีและนิยมใช้สีเคมีในอุตสาหกรรมโรงงานทอผ้า ต่อมาเมื่อผ้าทอจากโรงงานมีปริมาณมาก ราคาถูก สีสันและลวดลายได้รับความนิยมเป็นที่ต้องการของตลาด จึงกลายช่วงเวลาล่มสลายของการทอผ้าแบบทอหูกหรือทอโหกในภาคใต้ คนท้องถิ่นไม่ทอผ้า ไม่ย้อมเส้นใยด้วยสีครามธรรมชาติ และปัจจุบันเป็นยุคที่เรียกได้ว่า ครามเป็นเพียงวัชพืชที่คนท้องถิ่นไม่รู้จักและไม่นำมาใช้ประโยชน์อีกต่อไป 

ภาพวาดของผู้หญิงที่ทำการค้าในนครปตานี (ภาพจาก Joan Nieuhof. Gedenkwaerdige zee-en lantreize. Amsterdam, 1682, p. 64)

อ้างอิง :คลิสตอฟ คาร์ล แฟร์นแบร์เกอร์ : ชาวออสเตรียคนแรกในปตานีและกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2167-2168). กรุงเทพฯ : ศูนย์ยุโรปศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559.

INDIGO STORY

ประวัติความเป็นมาของครามที่เกี่ยวข้องกับเมืองปัตตานี

          ครามเป็นพืชให้สีธรรมชาติที่เคยมีการใช้ประโยชน์อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ปัตตานีเป็นเมืองท่าค้าขายสำคัญที่ชาวต่างชาติเข้ามาตั้งสถานีการค้า ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้านานาชาติรวมทั้งสินค้าพื้นเมืองของปัตตานีในสมัยอยุธยา มีข้อมูลสำคัญที่กล่าวถึงคราม ตรงกับปี พ.ศ.2184 “สินค้าท้องถิ่นปัตตานี เป็นที่ต้องการของพ่อค้าชาวโปรตุเกส ได้แก่ ข้าว ดีบุก งาช้าง กำยาน คราม ครั่ง และไม้ฝาง นอกจากนี้สินค้าจากจีนและญี่ปุ่นพวกเครื่องถ้วยชาม แพรไหม และทองแดงก็เป็นที่ต้องการของพ่อค้าโปรตุเกสเพื่อซื้อไปจำหน่ายในประเทศแถบตะวันตกอีกทอดหนึ่ง”

ครามแห้งจากการทดลอง

           “ร่องรอยของการทอผ้าและผ้าโบราณที่พบในเมืองปัตตานี” จากการสัมภาษณ์ นางแมะหวอ  หวังหมัด อายุ 94 ปี (สัมภาษณ์ปีพ.ศ. 2539) นางแมะหวอ  หวังหมัด เป็นช่างทอผ้ารุ่นเก่าที่ยังรู้จักกรรมวิธีในการนำเอาต้นครามมาทำสีย้อมผ้าซึ่งตัวท่านสามารถทำได้ทั้งครามเปียกและครามแห้ง โดยเฉพาะครามแห้งนั้นสามารถทำเป็นก้อนหรือเป็นผงสามารถเก็บไว้ใช้ได้นานปี เท่าที่สำรวจพบในขณะนี้มีเฉพาะคุณยายคนเดียวเท่านั้นที่รู้จักแปรรูปครามให้เป็นครามแห้งด้วยกรรมวิธีแบบโบราณดั้งเดิมที่เหลืออยู่ในขณะนี้ …การนำเอาต้นครามมาทำสีย้อมผ้าโดยทั่วไปในทุกๆภาคจะรู้จักแต่ครามเปียกกันทั้งนั้น โดยนำต้นครามมาหมักด้วยปูนใสจนเน่าโดยใช้เวลาประมาณ 3-4 คืน จึงจะได้น้ำย้อมสีครามจากนั้นจึงคั้นและกรองเอากากออก ขั้นสุดท้ายจึงทิ้งไว้ให้ตกตะกอนรินเอาน้ำใสที่อยู่ข้างบนทิ้งแล้วจึงเติมปูนกินหมากและน้ำด่างขี้เถ้าชนิดใสลงไปแล้วตีให้เข้ากันก็สามารถนำด้ายหรือผ้าลงย้อมได้  คุณยายรู้จักกรรมวิธีทำครามแห้งไว้ใช้ได้ตลอดฤดูกาลประกอบกับตัวท่านเองและบรรพบุรุษของท่านเป็นชาวเมืองปัตตานีมาตั้งแต่ดั้งเดิม กรรมวิธีการทำครามสำหรับย้อมผ้าของคุณยายแมะหวอ หวังหมัด สามารถทำได้สองอย่างคือ ครามเปียก และครามแห้ง

INDIGO SPECIES

ชนิดพันธุ์ครามที่พบในจังหวัดปัตตานี

          พืชตระกูล Indigofera ครามฝักตรง (Indigofera tinctoria Linn.) และ ครามฝักงอ (Indigofera suffruticosa Miller ssp.)  เรียกว่า “ครามถั่ว” ครามเป็นพืชตระกูลถั่วมีประโยชน์ต่อระบบดินช่วยเพิ่มไนโตรเจนในดินเนื่องจากรากพืชมีปมและในปมมีแบคทีเรียที่ช่วยตรึงในโตรเจนในดิน ครามเป็นพืชที่พบมากในพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลรอบอ่าวปัตตานี 

ภาพซ้าย ฝักครามฝักตรง ภาพขวา ครามฝักงอ 

ภาพลักษณะใบและช่อฝักครามทั้งสองแบบ

ภาพความยาวฝัก และขนาดเมล็ดครามฝักตรง

ภาพครามฝักตรงเมล็ดสีเหลือง     ครามฝักงอเมล็ดสีดำ

INDIGO  PLANTATION  

การปลูกคราม

ไถพรวนดิน ตากแดดไว้ 1 สัปดาห์ ยกร่องสูง 30 เซนติเมตร กว้าง 1.2 เมตร ยาว 40 เมตร  ในระยะ 1 ร่อง มีระยะหลุมห่างระหว่างหลุมห่าง 30 เซนติเมตร และ 40 เซนติเมตร ใน 1 หลุมหว่านเมล็ดคราม 5-10 เมล็ด เมื่อต้นครามอายุ 120 วัน มีช่อดอกและฝักครามอ่อน เป็นระยะพร้อมเก็บเกี่ยวต้นครามเพื่อนำไปหมักทำเนื้อครามแล้ว

การเก็บเกี่ยวคราม

           เก็บเกี่ยวใบครามช่วงเช้า เรียงใบครามลงในถัง เติมน้ำให้ท่วมฟ่อนคราม ใช้ก้อนหิน/อิฐที่มีน้ำหนักทับไว้ แช่ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง เมื่อครบ 24 ชั่วโมง สังเกตผิวน้ำเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมฟ้า นำฟ่อนครามออกจากถังหมัก เหลือเพียงน้ำคราม กรองเศษใบครามให้เหลือเพียงน้ำคราม(กรณีที่พบว่าใบครามในถังหมักยังดูสดอยู่ให้เพิ่มระยะเวลาหมักไปอีก 6 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ)

INDIGO POT EXPERIMENT

การก่อหม้อคราม

ก่อหม้อคราม หมายถึง การเตรียมน้ำย้อมโดยการหมักเนื้อคราม ด้วยน้ำด่าง ปูนกินหมาก น้ำมะขามเปียก จนกว่า Indigo blue จะเปลี่ยนเป็น Indigo white การก่อหม้อคราม มีหลายสูตรขึ้นอยู่กับภูมิปัญญาและภูมินิเวศของท้องถิ่น ดังนั้นวัสดุท้องถิ่นที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการทำน้ำด่างเพื่อก่อหม้อครามจึงมีหลากหลาย เช่น เหง้ากล้วย เปลือกผลมะพร้าว งวงตาลโตนดตัวผู้  ต้นขี้เหล็ก เป็นต้น

วัตถุดิบที่ใช้ก่อหม้อ

1.      เนื้อครามเปียก            

2.      น้ำด่างขี้เถ้า

3.      ปูนกินหมาก            

4.      มะขามเปียก


วิธีก่อหม้อคราม

1.     นำเนื้อครามเปียกเทลงในหม้อคราม

2.     น้ำด่างผสมปูนละลายให้เข้ากันกรองแล้วรินใส่หม้อคราม

3.     เติมน้ำมะขามเปียก  ลงในหม้อคราม ทำการโจก*  (โจก*

หมายถึงการใช้ขันตักน้ำครามในหม้อยกขันสูงประมาณ 30 เซนติเมตร
แล้วค่อยๆเทกลับลงไปในหม้อ)

4.      ปิดฝาหม้อครามให้สนิท

5.      ภายใน 24 ชั่วโมงพบว่าหม้อครามมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ในสถานะสมบูรณ์น้ำครามมีสีเหลืองพร้อมย้อมผ้าได้ระหว่างนี้ให้สังเกตสีน้ำ ใช้วิธีดมกลิ่นขณะโจกคราม กลิ่นน้ำครามจะหอมกลิ่นปูนและกลิ่นคราม สังเกตสีน้ำครามเป็นสีเหลืองอมเขียว เมื่อโจกแล้วสังเกตฟองเป็นสีน้ำเงินวาว โจกแล้วฟองไม่ยุบหายทันทีเมื่อหม้อความมีความเปลี่ยนแปลงตามนี้แสดงว่าน้ำครามสมบูรณ์พร้อมทำการย้อมผ้าได้ เมื่อวัดค่า pH อยู่ระหว่าง 12-13 ถือว่าเหมาะสมในการย้อมสีคราม

INDIGO  MUD

          การทำเนื้อคราม

          น้ำครามจากการหมัก 24 ชั่วโมง ยังไม่สามารถใช้ย้อมสีได้ ต้องนำปูนกินหมากมาละลายผสมกับน้ำครามในถังใบเล็ก จากนั้นกรองแล้วค่อย ๆ รินน้ำปูนกินหมากลงถังหมักคราม ทำการตีน้ำคราม หมายถึงการใช้วัสดุไม้ไผ่สาน กดขึ้น-ลงในน้ำครามอย่างสม่ำเสมอเป็นการนำออกซิเจนลงในน้ำคราม การตีครามใช้เวลาประมาณ 10 นาที ยกขึ้นลงสม่ำเสมอหรือนับ 500 ครั้ง ตีจนฟองยุบ โดยสังเกตฟองใสเป็นประกายสีน้ำเงินจากฟองขนาดใหญ่มีขนาดเล็ก น้ำครามเปลี่ยนจากเหลืองอมเขียวเป็นสีเหมือนน้ำชาจีน และฟองยุบตัวลง พักไว้ 24 ชั่วโมงให้ครามตกตะกอน ครบ 24 ชั่วโมง รินน้ำใสออก เหลือตะกอนครามที่นอนก้นถัง จึงเตรียมตะกร้าสี่เหลี่ยมนำผ้าชนิดหนาทอเนื้อแน่นวางซ้อนตะกร้าใช้ไม้หนีบผ้าไว้ทั้งสี่มุม จากนั้นรินตะกอนน้ำครามลงในตะกร้าเพื่อกรองเนื้อครามทิ้งไว้ 24 -48 ชั่วโมง เมื่อครบกำหนดจึงตักเอาเนื้อครามเปียกใส่ภาชนะที่มีฝาปิดเก็บไว้ 

ภาพอุปกรณ์ตีครามทำจากไม้ไผ่สาน

ภาพฟองครามสีน้ำเงิน

บทความโดย

นราวดี โลหะจินดา นักวิชาการ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

กว่าจะมาเป็น…..วันปีใหม่ไทย

กว่าจะมาเป็น…..วันปีใหม่ไทย 

          ปีใหม่เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่ง ทุกคนต่างก็สดชื่น ดูประหนึ่งว่าจะให้ความสดชื่นรื่นเริงของวันปีใหม่เป็นนิมิตดีงามที่จะตามติดตัวไปจนครบสามร้อยหกสิบห้าวัน ประเพณีของไทยเราในวันนี้ จะมีการบำเพ็ญกุศลทางศาสนา เพื่ออุทิศบุญแก่บุพการีและผู้มีพระคุณ หวังกุศลผลบุญนั้นสนองให้อยู่เย็นเป็นสุข นอกจากนี้มีการเยี่ยมเยียนหรือไม่ก็ส่งบัตรไปอำนวยพรซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการฉลองมิ่งขวัญ อันจะนำมาซึ่งสิริสวัสดิ์พัฒนมงคลแก่ตน จึงถือนิมิตที่ดีงามนี้ ส.ค.ส.แก่ท่านผู้อ่าน ด้วยการเล่าเรื่องความเป็นมาของปีใหม่ไทย

     ในวันปีใหม่ของไทยเรามีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง ทุกครั้งที่เปลี่ยนก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลและความเหมาะสมบางประการ แรกเริ่มตามจารีตประเพณีของไทยแต่โบราณนั้นเราถือเอาแรม 1 ค่ำเดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังจะเห็นได้จากการตั้งต้นนับเดือนของเรา เริ่มจากเดือนอ้าย เดือนยี่ไปตามลำดับ และการที่เรานับแรมหนึ่งค่ำเดือนอ้ายเป็นวันต้นปีนั้น กล่าวกันว่าเป็นของไทยแท้ ไม่ได้เอาอย่างหรือเลียนแบบของชาติใด มูลเหตุที่ถือก็เนื่องมาจากดินฟ้าอากาศในประเทศของเราเป็นสำคัญ และวันนี้จะตกอยู่ในราวเดือนธันวาคมซึ่งอยู่ในฤดูหนาว จึงต้องนับว่าตรงกับคติพุทธศาสนาที่ถือเอาเหมันตฤดูเป็นการเริ่มต้นแห่งปี เรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายไว้ในหนังสือวชิรญาณ เล่ม 2 ฉบับที่ 3 เดือน 11 ปี 2247 ดังนี้ …..ฤดูหนาวที่เราเรียกว่าเหมันตะ เป็นเวลาที่พ้นจากมืดฝน สว่างขึ้นเหมือนฤดูเช้า โบราณคิดว่าเป็นต้นปีฤดูร้อนที่เรียกว่าคิมหฤดู เป็นเวลาสว่าง ร้อนเหมือนเวลากลางวัน คนโบราณจึงได้คิดว่าเป็นกลางปี ฤดูฝนที่เรียกว่าวัสสานะ เป็นเวลามืดคลุ้มโดยมาก และฝนพร่ำเพรื่อเที่ยวไปไหนไม่ได้ คนโบราณจึงคิดว่าเป็นเหมือนกลางคืน เป็นปลายวันฉันใด คนโบราณก็คิดว่าฤดูเหมันต์เป็นต้นปี ฤดูวัสสานะเป็นปลายปีฉันนั้น เพราะเหตุนั้นจึงได้นับชื่อเดือนเป็นหนึ่งแต่เดือนอ้าย และแต่ก่อนคนโบราณนับเอาข้างแรมเป็นต้นปีต้นเดือน เขานับเดือนอ้ายตั้งแต่แรมค่ำ ภายหลังมีผู้ตั้งธรรมเนียมเสียใหม่ ให้เอาเวลาเริ่มสว่างไว้ เป็นต้น เวลาสว่างมากเป็นกลาง เวลามืดเป็นปลาย คล้ายกันกับต้นวันปลายวันแลมีดังกล่าวแล้ว

          ปัญหามีอยู่ว่า เรานับวันแรมค่ำเดือนอ้ายเป็นต้นปีตั้งแต่สมัยใด ในหนังสือนพมาศกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า ครั้งเดือน 4 ถึงการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์โลกสมมุติเรียก ตรุษ และอีกตอนหนึ่งกล่าวว่า บรรดานิกรประชาราษฎรชายหญิง ก็แต่งตัวนุ่งห่มประดับกายโอ่โถงพากันมาเที่ยวดูแห่ ดูงานนมัสการพระ ในวันสิ้นปีใหม่และขึ้นปีใหม่เป็นอันมาก

          แปลว่าในสมัยสุโขทัย เรากำหนดวันขึ้นปีใหม่เป็นวันตรุษ คือแรม 14 ค่ำ เดือน 4 และขึ้น 1ค่ำ เดือน 5 แล้ว แต่หนังสือเล่มนี้ ก็เชื่อกันว่าอาจจะแต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง แต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวไว้ว่า หนังสือเรื่องนางนพมาศนับว่าเป็นหนังสือสำคัญในภาษาไทยเรื่องหนึ่งและเป็นเรื่องโบราณคดี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงอ้างถึงหนังสือนางนพมาศนี้ไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธี 12 เดือนหลายแห่ง

        ในพระราชนิพนธ์สิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนพระราชพิธีเดือนหน้า มีความตอนหนึ่งว่า มีประหลาดอยู่แห่งหนึ่งในหนังสือลาโลแบร์ ที่ราชทูตฝรั่งเข้ามาครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่งว่าด้วยเรื่องเมืองไทยได้จดวันอย่างหนึ่งว่า วันแรม 8 ค่ำ เดือนที่ 1 (คือเดือนอ้าย) ปี 223 1/2 2 ซึ่งตรงกับวันที่ 11 เดือน December คฤสตศักราช 1697 ตามหนังสือนั้นเขาได้กล่าวไว้ว่า ข้อนี้ดูเหมือนอาการที่ลงวันอย่างนี้ หมายความว่าปีนั้นอยู่ในเดือนนี้จะเรียกว่า 2231 หรือ 2232 ก็ได้ เมื่อคิดดูตามข้อความที่เขาว่าเช่นนี้ จะถือว่าแต่ก่อนเขาจะเปลี่ยนปีในเดือนอ้ายตามอย่างเก่า แต่ศักราชไปขึ้นต่อเมื่อถึงกำหนดสงกรานต์ของศักราชนั้นจะได้บ้างดอกกระมัง

          จากความนี้แสดงว่า แต่เดิมทีเดียวเราถือเดือนอ้ายเป็นเดือนแรกของปี และตามพระราชาธิบายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้กล่าวไว้ตอนต้นนั้น แต่เดิมเราถือเอาแรมหนึ่งค่ำเดือนอ้ายเป็นวันต้นปีก่อน ต่อมาถึงได้เปลี่ยนขึ้นหนึ่งค่ำเดือนอ้าย และในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็ถือเอาข้างขึ้นเป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังความในจดหมายเหตุของบาทหลวง เดอชวาสีได้บันทึกไว้ เมื่อคราวเดินทางมาในประเทศไทยในตำแหน่งผู้ช่วยทูตของ มองสิเออร์ เดอ เชอ วาเลีย เมื่อ พ.ศ. 2227-2229 ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีความตอนหนึ่งว่า คราวนี้เราได้พากันไปดูประทีปโคมไฟที่ช่องหน้าต่างตามบ้านเรือนของราษฎร…..พระเจ้าแผ่นดินสยามเสด็จออกประทับช่องพระแกลให้ข้าราชการเฝ้า และพระราชทานเสื้อกั๊กหลายชนิดให้แก่ข้าราชการตามลำดับยศ บรรดาภรรยาข้าราชการทั้งหลายพากันไปเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้าหญิง พระราชธิดาทำนองเดียวกันกับสามีของตน พระราชพิธีนี้เคยกระทำกันมาทุกๆ ปี ในวันขึ้น 1 ค่ำเดือนอ้าย ซึ่งมักตกอยู่ในเดือนพฤศจิกายนเสมอ วันนี้แหละจึงเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย แต่จงจำไว้ด้วยคนไทยจะเถลิงศกต่อเมื่อถึงเดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำ ซึ่งมักตกอยู่ในราวเดือนมีนาคม ดังอุทธาหรณ์ในเวลานี้ คนไทยยังใช้ศักราช 2229 อยู่ ศักราชนี้ตั้งต้นมาแต่แรกสถาปนาพระศาสนา เมื่อเดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำ ในเดือนมีนาคม จึงเป็นศักราช 2230 ต่อไป การคิดคำนวณวันเดือนปีของชาวสยามนั้นเป็นไปตามจันทรคติ และปีใดมีพระจันทร์วันเพ็ญ 13 ครั้ง ในระหว่างเส้นวิถันดรเหนือใต้อันได้รับแสงสว่างเท่ากันแล้ว (Les Deux’ Equinoxs De Mar) ปีนี้นมี 384 วัน แต่ตามปกติแล้วมักจะมีวันเพ็ญเพียง 12 ครั้ง และในปีนั้นก็มีเพียง 354 วัน

      ตอนนี้เห็นจะต้องสรุปไว้ครั้งหนึ่งก่อน  ชั้นเดิมทีเดียวเรากำหนดเอาแรมหนึ่งค่ำเดือนอ้ายเป็นวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาเปลี่ยนเป็นขึ้นหนึ่งค่ำเดือนอ้าย การที่เราถือเดือนอ้ายเป็นเดือนขึ้นปีใหม่นั้น เป็นคตินิยมของไทยเราเอง ไม่ได้เลียนแบบอย่างใคร โดยกำหนดเอาฤดูกาลของเราเป็นสำคัญ และถือมาแต่โบราณกาลแล้ว ก่อนจะมีการนับศักราชอีก ดังพระราชพิธีสิบสองเดือน ตอนหนึ่งว่า คิดเห็นว่าความที่ตั้งเดือนอ้ายเป็นเดือน 1 คงเป็นกาลฤดูต้องตามกระแสพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงไว้นี้ แต่ที่นับเดือนเช่นนี้เห็นจะมีมาก่อนที่นับศักราช

ต่อมาเราเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันตรุษสงกรานต์ ตอนนี้เป็นปัญหาว่า เดิมเราถือวันตรุษเป็นวันขึ้นปีใหม่ก่อนหรือวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ก่อน ชั้นเดิมต้องทำความเข้าใจก่อน ต้องทำความเข้าใจว่าตรุษกันสงกรานต์ไม่ใช่วันเดียวกัน แม้มักจะเรียกควบกันเป็นตรุษสงกรานต์ก็ตามที ในนิราศเดือนของนายมี กล่าวไว้ว่า ล้วนแต่งตัวงามทรามสวาท ใส่สีฉาดฟุ้งเฟื่องด้วยเครื่องหอม สงกรานต์ทีตรุษทีไม่มีมอม” แสดงให้เห็นว่าตรุษกับสงกรานต์แยกวันกันอยู่ ตรุษ แปลว่าตัดหรือขาด คือตัดปีหรือสิ้นปี หรือกำหนดสิ้นปี สงกรานต์ แปลว่าเคลื่อนที่การย้ายที่ คือพระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีใหม่ วันตรุษกำหนดเอาตามจันทรคติ คือถือเอาวันแรม 12 ค่ำ และ 15 ค่ำเดือน 4 ซึ่งถือว่าเป็นวันสิ้นปีเก่า และวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ถือเป็นวันต้นปีใหม่ ส่วนวันสงกรานต์กำหนดเอาตามสุริยคติ เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 ถึง 15 เมษายน วันที่ 13 เมษายนเป็นวันต้น คือวันมหาสงกรานต์ วันที่ 12 คือวันกลางหรือวันเนา และวันที่ 15 เมษายนเป็นวันสุดท้าย เรียกว่าวันเถลิงศกซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระยาวัน คือวันขึ้นศักราชปีใหม่ คติเกี่ยวกับสงกรานต์นี้เรารับจากอินเดียพวกพราหมณ์เอามาเผยแพร่ แต่ตรุษเรารับจากลังกา แต่ก็เป็นพิธีของพวกอินเดียฝ่ายใต้ กล่าวคือพวกทมิฬได้ครองลังกา
ได้เอาพิธีตรุษตามลัทธิศาสนาของตนมาทำเป็นประเพณีบ้านเมือง จึงเป็นเหตุให้มีพิธีตรุษขึ้นในลังกาทวีป ต่อมาเมื่อได้ชาวลังกาที่นับถือพระพุทธศาสนาเป็นใหญ่ขึ้นในเมืองลังกาเปลี่ยนมาเป็นทางคติพระพุทธศาสนา คือเมื่อถึงวันตรุษเขาก็จะจัดเครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัย ไทยเราได้ตำราตรุษที่ชาวลังกาคิดแก้ไขนั้นมาทำตามพิธีตรุษจึงมีขึ้นในเมืองไทย การที่ไทยได้แบบอย่างพิธีตรุษจากลังกาอย่างไรนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัยว่า อาจมาได้ด้วยเหตุ 3 ประการ

ประการที่ 1 อาจได้หนังสือตำรามา ซึ่งเป็นภาษาสิงหลและจารลงใบลานด้วยอักษรสิงหลแล้วแปลออกเป็นภาษาไทย  ประการที่ 2 อาจมีพระสงฆ์ไทยได้ไปเห็นชาวลังกาทำพิธีตรุษจนสามารถทำได้ แล้วเอาตำราเข้ามาเมืองไทย  ประการที่ 3 อาจมีพระเถระชาวลังกา ซึ่งเป็นผู้ชำนาญการพิธีตรุษเข้ามาเมืองไทยมาบอกเล่าและสอนให้ทำพิธีตรุษ

     แต่คติไหนไทยเรารับไว้ก่อนก็ยังเป็นปัญหาอยู่ หนังสือ ตรุษสงกรานต์ ของ เสถียรโกเศศ ตอนวิจารณ์เรื่องตรุษและสงกรานต์ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า ตรุษหรือสงกรานต์เป็นเดือนขึ้นปีใหม่กันที่ตรงไหน ในพระนิพนธ์พระราชกริยานุกรณ์ (หน้า 8) กล่าวว่า ในการที่เกี่ยวอยู่ในเดือนห้าค่ำหนึ่งนั้นไม่เป็นการพระราชพิธีมาแต่โบราณ เกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นี่แสดงว่าตรุษไทยเห็นจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้เอง ดีร้ายจะได้คติมาจากลังกา มีเค้าให้เห็นอยู่ในประกาศพิธีตรุษ นี่แสดงให้เห็นว่า พิธีสงกรานต์นั้นเรารับก่อนพิธีตรุษ แต่นั่นแหละตอนนี้ค่อนข้างจะสับสน ในหนังสือนางนพมาศนั้น กล่าวถึงพิธีตรุษแล้ว ส่วนพิธีสงกรานต์ไม่กล่าวถึง และยิ่งกว่านั้นในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน มีความอยู่สองตอน กาลานุกาลพิธีตรุษ ทรงอรรถาธิบายว่า พระราชกุศลกาลานุกาลที่เรียบเรียงลงในเรื่องพิธีสิบสองเดือน แต่ก่อนว่าเกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งสิ้น ยกเว้นแต่สงกรานต์นั้นเป็นผิดไป บัดนี้ได้ความมาว่ากาลานุกาลท้ายพระราชพิธีตรุษ พระราชพิธีสารท เข้าพรรษา ออกพรรษาและท้ายฉลองไตรปีนี้เป็นของมีมาแต่เดิมและตอนการสังเวยเทวดาสมโภชเครื่องเลี้ยงโต๊ะปีใหม่ ทรงอธิบายว่า การสมโภชในท้ายพระราชพิธีสัมมัจฉรฉินท์ เป็นธรรมเนียมมีมาแต่เดิม แต่ครั้นถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริ เสาะหาแบบอย่างการพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งมีในกฎมณเฑียรบาลมาประกอบธรรมเนียมใหม่ๆ แล้วตั้งขึ้นเป็นแบบอย่างย่อๆ ต่อมามีหลายอย่างพระราชาธิบายนี้ แสดงว่าพิธีตรุษเป็นของเดิม ไม่ใช่เริ่มจะมีในรัชกาลที่ 4 จึงเป็นการยากที่จะวินิจฉัยว่าเรารับคติไหนก่อนกัน

          อย่างไรก็ตาม ระยะหลังนี้การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ของไทยค่อนข้างยุ่งยาก กล่าวคือเรากำหนดสองครั้งสองตอน คือครั้งแรกกำหนดเอาวัน 1 ค่ำ เดือน 5 (วันตรุษ) เป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่ก็เป็นวันเปลี่ยนปีนักษัตร (คือนับเป็นปีชวด ฉลู ฯลฯ) เท่านั้น ยังไม่เปลี่ยนศักราช เพราะพระอาทิตย์ยังไม่ยกขึ้นสู่ราศีเมษ จนวันสงกรานต์จึงเปลี่ยนศก คือวันที่ 15 เมษายน เรียกว่าวันเถลิงศก วันขึ้นปีใหม่ทั้งสองนี้ ตามปกติจะห่างกัน 15 วัน แต่ก็ไม่แน่นอน ถ้าห่างกันเพียง 2-3 วันหรือติดต่อกันพอดีก็มีการทำบุญแล้วเฉลิมฉลองติดต่อกันเป็นงานเดียว แต่ถ้าห่างกันหลายวัน วันตรุษก็เป็นแต่เพียงทำบุญทำทานพอเป็นพิธี จะมีการเฉลิมฉลองกันอย่างเอิกเกริกในวันสงกรานต์

          มูลเหตุที่เราเปลี่ยนเป็นเอาเดือนห้าเป็นเดือนขึ้นปีใหม่ เป็นเพราะรับคตินี้มาจากอินเดียนั่นเอง การที่อินเดียถือเอาเดือนจิตรมาส (เดือน 5) เป็นวันขึ้นปีใหม่เป็นเพราะต้องกับฤดูกาลของเขา เรื่องนี้ท่านเสถียรโกเศศได้อธิบายไว้ว่า ที่คติของอินเดียถือเดือนจิตรมาสเป็นขึ้นปีใหม่ เพราะตกในฤดูวสันต์ต้นไม้กำลังผลิแตกช่อเขียวระบัด เพราะก่อนหน้านี้เป็นเขตของฤดูหนาวจัด (Winter) ซึ่งธรรมชาติกำลังซบเซาย่างเข้าฤดูวสันต์ธรรมชาติก็เริ่มสดชื่น เท่ากับเกิดใหม่จึงได้มีการสมโภชเป็นมหาสงกรานต์ (Vernal Equinox) ลักษณะดินฟ้าอากาศอย่างนี้เป็นของแดนที่อยู่ใน Temperate Zone ถ้าว่าถึงแดน Torriol Zone จะไม่มีเลย เพราะฉะนั้นเราจึงไม่มีฤดูวสันต์ (Spring) คฤษม (Summer) ศารท (Autumn) และเหมันต์ (Winter) เรามีแต่หน้าร้อน หน้าฝน และหน้าหนาว การที่เราขึ้นปีใหม่ในเดือนเมษายนเป็นเวลาหน้าร้อนของเรา จึงไม่เข้ากับอินเดีย ซึ่งเป็นฤดูวสันต์ธรรมชาติกำลังเกิดใหม่ แต่ของเราธรรมชาติกำลังเหี่ยวแห้งเป็นหน้าแล้ง ไม่เหมาะที่จะเอามาตั้งเป็นเริ่มต้นของปีแต่อย่างไรก็ตาม การที่เรารับคตินี้มาจากพราหมณ์นั้น ก็เพราะขึ้นกับความจำเป็นบางอย่างเหมือนกัน ดังในหนังสือตรุษสารท กล่าวว่า ครั้นเมื่อเราอพยพย้ายถิ่นมาอยู่ในแหลมอินโดจีนแล้ว เราได้รับวัฒนธรรมจากอินเดีย ผ่านทางเขมร จึงเอาวันสงกรานต์เป็นวันรื่นเริงขึ้นปีใหม่ เพราะเหมาะกับความเป็นอยู่ของเรา ด้วยเวลาสว่างจากการทำไร่ไถนาดังได้กล่าวไว้ตอนต้นแล้ว ผิดกับเดือนอ้ายซึ่งเป็นระยะเริ่มต้นเก็บเกี่ยวข้องอยู่ ไม่เหมาะแก่สนุกรื่นเริงฉลองปีใหม่

          ดังได้กล่าวไว้แล้วว่าวันขึ้นปีใหม่ของเรา ได้กำหนดเป็นสองครั้ง และเลื่อนไปเลื่อนมาไม่แน่นอน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความสับสนนี้ และเมื่อเรามีการติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้น ก็ยิ่งทวีความลำบากในเรื่องที่ไทยเรามีวันขึ้นปีใหม่ไม่แน่นอน แต่พระองค์ก็ยังทรงหาหนทางขจัดปัญหานี้ไม่ได้ เผอิญ ร.ศ. 108 (พ.ศ. 3412) วันขึ้นหนึ่งค่ำเดือนห้า (ตรุษ) มาตรงกับวันที่ 1 เมษายนพอดี จึงได้ทรงประกาศพระบรมราชโอกาส ให้ถือเอาวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่นั้นมา

          ในระยะนั้น การขึ้นปีใหม่ก็เป็นแต่เพียงขึ้นรัตนโกสินทร์ศกเท่านั้น พุทธศักราชก็ยังไม่เปลี่ยน พระที่เทศน์บอกศักราชจะเปลี่ยนพุทธศักราชเมื่อแรมหนึ่งค่ำเดือนหก เพราะเป็นวันวิสาขะที่เป็นเกณฑ์นับปีเกี่ยวกับการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า แต่ในระยะนั้นไม่มีปัญหาเกิดขึ้น เพราะทางราชการยังใช้รัตนโกสินทร์ศกอยู่ ครั้ง พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้รัตนโกสินทร์ศก ให้ใช้พุทธศักราชแทน จึงเกิดปัญหาขึ้น พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ถือวันที่ 1 เมษายนเป็นวันเปลี่ยนพุทธศักราชด้วย

ต่อมาไทยเราเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีก โดยเปลี่ยนเป็นวันที่ 1 มกราคม ทั้งนี้เพราะเหตุผลหลายประการ พอสรุปได้ดังนี้

1. การกำหนดวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่นับว่าใกล้เคียงกับคติโบราณของเรามาก กล่าวคือโบราณเรานับเอาวันแรมค่ำเดือนอ้ายเป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งวันนี้จะใกล้เคียงกับวันที่ 1 มกราคมมาก ฉะนั้นเมื่อเราเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม จึงเท่ากับเราหันเข้าคติโบราณ ซึ่งเป็นคติของเราเอง ไม่ได้เลียนแบบใคร ในหนังสือ Primitive Traditional ของ Hewitt ก็อธิบายว่า คติที่นับวันใดวันหนึ่งในระหว่าง 21 ธันวาคม ถึง 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เป็นพิธีเก่าแก่ของชนชาติที่อยู่ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีกำเนิดมาจากดินแดนตอนใต้ของประเทศจีน เหตุผลก็คือในระยะเวลานี้เป็นเวลาที่แลเห็นดวงอาทิตย์ขนาดโตที่สุด และเป็นเวลาที่อากาศเริ่มสบาย ภายหลังที่ได้ถูกฤดูฝนมามากแล้ว คำอธิบายจะเห็นว่าชนชาติที่ Hewitt กล่าวถึงนี้ก็คือโบราณเรานี้เอง ฉะนั้นเมื่อเราเปลี่ยนเป็นวันที่ 1 มกราคม ก็เท่ากับหันเข้าหาคติไทยโบราณ และเมื่อเราหันเข้าหาคติโบราณของเราเช่นนี้ ก็เท่ากับแสดงให้เห็นว่า วิธีโบราณของเราถูกต้องตามวิธีสากล ซึ่งเป็นทางหนึ่งที่จะแสดงให้เห็นความรุ่งโรจน์แบบวัฒนธรรมของชาติไทยในอดีต

2. วันที่ 1 มกราคม นอกจากใกล้เคียงคติโบราณของไทยเราแล้ว ยังเข้ากับฤดูกาลของเราด้วย การที่เราถือตามคติของพราหมณ์นั้น นับว่ายังไม่เหมาะสมกับฤดูกาลของเราเป็นอย่างยิ่ง แต่ของเขาต้องถือว่าเหมาะสม เพราะเดือนเมษายนของเขาตกอยู่ในฤดูวสันต์ ของเราเดือนเมษายนเป็นเดือนที่แห้งแล้งที่สุดไม่เหมือนเดือนมกราคมที่เป็นเดือนที่ดินฟ้าอากาศในประเทศไทยดีที่สุด เป็นเสมือนหนึ่งรุ่งอรุณแห่งชีวิตทีเดียว และที่เราหันเข้าคติโบราณนี้ ยังไม่ขัดกับทางพุทธศาสนาด้วย ทั้งยังเป็นการเลิกวิธีเอาลัทธิพราหมณ์มาคล่อมพุทธศาสนาด้วย

3. เข้าระดับสากล เพราะอารยประเทศต่างก็ใช้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ทั้งสิ้น จึงนับว่าสะดวกในการใช้ปฏิทินเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การที่เราเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคมนี้ มิได้เกี่ยวข้องกับลัทธิศาสนาแต่ประการใด ไม่ใช่เป็นการหันเข้าหาคติทางคริสต์ศาสนา เพราะความจริงการใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ได้เริ่มใช้กันมาก่อนพระเยซูประสูติถึง 46 ปี โดยยูเลียส
ซีซาร์เป็นผู้บัญญติ ประเทศอังกฤษเองชั้นเดิมคือ วันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาพระเจ้า
วิลเลียมส์เดอะคองเกอเรอร์ทรงบัญญัติให้ใช้วันที่ 1 มกราคม เมื่อ ค.ศ. 1753

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ คณะรัฐบาลจึงประกาศ ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2483 ให้ใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่มกราคม พ.ศ. 2484 เป็นต้นไป

ก่อนจะจบขอเพิ่มเติมว่า การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ใช้หลักเกณฑ์ทางดาราศาสตร์ โดยถือหลักเกณฑ์เป็นสองประการ คือระยะที่โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ และในการหมุนเวียนรอบดวงอาทิตย์นี้ ก็มีวันที่สะดวกเป็นหลักในการกำหนดวันปีใหม่ ประการแรกคือวันที่ดวงอาทิตย์ห่างจากอิเควเตอร์มากที่สุด เรียกว่า Solstice (อยน) คือเหมันตฤดู ซึ่งตกในราววันที่ 22 ธันวาคม อีกประการหนึ่งกำหนดเอาวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ใกล้อิเควเตอร์ที่สุด ซึ่งเรียกว่า Equinox (วิษุวัต) อยู่ในวสันตฤดู ราววันที่ 20 มีนาคม

เมื่ออ่านถึงตรงนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าวันขึ้นปีใหม่เป็นเรื่องสมมุติขึ้น ถ้าจะคิดว่าอันชีวิตของคนเรานี้มีแต่เรื่องสมมุติขึ้น ก็เห็นดีเหมือนกันกระมัง

____________________________

รียบเรียงบทความโดย นางอ้อมใจ วงษ์มณฑา นักวิชาการอุดมศึกษาชำนาญการ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา

____________________________

เอกสารประกอบการค้นคว้า : 

จุลจอมเกล้าฯ, พระบาทสมเด็จพระ.  2507. พระราชกรัณยานุสารพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จ

พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเรื่อง นางนพมาศ / พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า

เจ้าอยู่หัว. พระนคร : คลังวิทยา.

———.  พระราชพิธีสิบสองเดือน.  2514.  กรุงเทพมหานคร : แพร่พิทยา.

ส.พลายน้อย.  2547.  ตรุษสงกรานต์ ประมวลความเป็นมาของปีใหม่ไทยสมัยต่างๆ. 

          กรุงเทพมหานคร : มติชน.

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.  มปพ.  หลักราชการพระบาทสมเด็จพระมงกุฎ

          เกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระนิพนธ์และพิมพ์พระราชทานแจกข้าราชการในการพระราชพิธี

          ตรุษสงกรานต์ พุทธศักราช 2457.  ปัตตานี : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

วิทยาเขตปัตตานี.  

ช่างเครื่องประดับมลายู: ประกายแห่งภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมชายแดนใต้

ช่างเครื่องประดับมลายู : ประกายแห่งภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมชายแดนใต้

      หากเอ่ยถึงช่างทำเครื่องประดับมลายูผู้ชายที่ดูดี ทรงพลัง หลากหลายรูปแบบเช่นแหวนเงินประดับเพชรพลอยต่าง ๆ  หลายคนย่อมนึกถึงแหล่งฝีมือช่างในพื้นที่ตำบลปูยุด อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี และหากจะเอ่ยถึงความงดงามชดช้อยแห่งเครื่องประดับหญิง ทั้งแหวนเงิน ทองหรือนากสร้อยข้อมือ กำไล สร้อยคอประดับเพชรพลอย ต่างหูแหล่งช่างฝีมือดีที่ไม่อาจปฏิเสธฝีมือและทักษะอันยอดเยี่ยมย่อมต้องนึกถึงช่างเครื่องประดับมลายูแห่งอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี โดยที่บรรดาช่างฯทั้งสองพื้นที่ล้วนเรียนรู้และได้รับการถ่ายทอดมาจากครูช่างฯ มากฝีมือ หรือแม้กระทั่งการสืบทอดองค์ความรู้มาจากเครือญาติ ครอบครัว ทั้งด้านการออกแบบ ทักษะ เทคนิคพิเศษเฉพาะตัวอันเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ชายแดนใต้

     ในวันที่กระแสแห่งความรวดเร็วในการบริโภคถาโถมเข้ามากระหน่ำการประกอบธุรกิจประเภทต่าง ๆ ทั่วโลก ช่างเครื่องประดับมลายูเองก็ดูเหมือนจะหนีไม่พ้นกระแสแห่งความเชี่ยวกรากนี้เช่นกัน จากวันวานเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว (ตามช่วงอายุช่าง) เครื่องประดับมลายูชายหญิงดูเหมือนจะเป็นความนิยมที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวตน รสนิยม ระดับฐานะของผู้ใช้ อาชีพช่างทำเครื่องประดับมลายูสามารถพบได้ง่ายในทุกหัวระแหงชายแดนใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จะพบกับรูปแบบ เทคนิคการทำเครื่องประดับอันเป็นลักษณะเฉพาะที่ไม่สามารถพบเห็นได้จากที่อื่น ตลอดจนชื่อเรียกเฉพาะ ซึ่งหากได้ถามคนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเราเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายดายที่ท่านเหล่านั้นจะเอ่ยชื่อให้เราฟัง เช่น แหวนประดับเพชรพลอยของผู้หญิงรูปทรงบือแนซือกือบง ตอลอ กานา ลาดู ฯลฯ (นายมูฮำหมัดอาซาร์ฟ อับรู : ทายาทและช่างผู้ผลิตเครื่องประดับมลายูในพื้นที่ตำบลปูยุด อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี: สัมภาษณ์)

        อย่างไรก็ตาม แม้เครื่องประดับมลายูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีความงดงาม ทรงคุณค่าอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่รังสรรค์โดยช่างฯมากฝีมือในพื้นที่ แต่ด้วยกระแสแห่งความเร่งด่วน อุปสงค์อุปทาน รสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ทำให้ไม่ง่ายที่จะคงความเป็นงานฝีมือที่เป็นรูปแบบดั้งเดิมไว้ได้เต็มรูปแบบ ช่างบางส่วนจึงได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ วิธีการผลิต การขายบางส่วนให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่มีความหลากหลายช่วงวัย รูปแบบการใช้งาน และหลากหลายพื้นที่ ซึ่งผู้บริโภคในปัจจุบันได้มีความหลากหลายทั้งจากภายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรุงเทพ ประเทศมาเลเซีย รูปแบบที่ปรับไปได้แก่ หากเป็นงานหรือเครื่องประดับที่ต้องการความเร่งด่วน เช่น แหวนสำหรับประกอบพิธีแต่งงาน ซึ่งลูกค้าต้องการรับสินค้าในระยะเวลาไม่กี่วัน ราคาไม่สูงมากนัก สามารถปรับรูปแบบเป็นแหวนบล็อกที่ให้ความรวดเร็วในการผลิตและราคาไม่สูงเท่าแหวนที่ทำการผลิตโดยราคาจะห่างกันประมาณครึ่งต่อครึ่ง เช่น แหวนที่ออกแบบและใช้กรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมโดยปกติจะมีราคา 800 บาท แต่หากใช้บล็อกจะมีราคา 400 บาท และมีช่วงเวลาการผลิตจะเหลือเพียง 2-3 วัน ซึ่งหากใช้กรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ถึงหนึ่งเดือน เป็นต้น

   ทั้งนี้ การปรับตัวดังกล่าวแม้จะทำให้มีลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้น แต่บางส่วนมีผลกระทบต่อช่างเครื่องประดับมลายูที่มีฝีมือแบบดั้งเดิมไม่น้อย เนื่องจากงานที่เน้นรายละเอียดและฝีมือตามรายการลูกค้าสั่งจะน้อยลงไป ทำให้ช่างรายย่อยหรือช่างที่เป็นลูกจ้างประจำร้านเครื่องประดับในพื้นที่ฯ ต่าง ๆ ได้รับงานหรือรายได้ลดน้อยลงไป แต่นับว่ายังเป็นอีกทางเลือกที่ทำให้ช่างเหล่านี้ได้มีพื้นที่และโอกาสในการรังสรรค์ฝีมือทักษาด้านเครื่องประดับมลายูให้คงอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้แห่งนี้ (นายอับดุลเราะห์มาน เจะอูมา นายอับดุลเลาะ อาแวกะจิ ช่างเครื่องประดับมลายูแห่งอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี : สัมภาษณ์)

     อย่างไรก็ตาม แม้ภาพการทำเครื่องประดับมลายูในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ดูเหมือนจะไม่เปล่งประกายเทียบเท่าในอดีต แต่องค์ความรู้ ภูมิปัญญาในการทำเครื่องประดับมลายูดังกล่าวยังคงหลงเหลือให้มีการเฉิดฉาย สืบทอดให้ผู้คนได้พบเห็นเรียนรู้ โดยจากการได้สัมภาษณ์บรรดาครูช่างดังกล่าวได้มีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการสืบสาน ส่งต่อภูมิปัญญาดังกล่าวจากหลายข้อ เช่น 

1.รวบรวมข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิค กระบวนการทำเครื่องประดับรูปแบบมลายู

2. พัฒนาเป็นหลักสูตรระยะสั้นเพื่ออบรมแก่ผู้ที่สนใจ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือสถาบันการสนับสนุนร่วมสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ และทุนในการดำเนินการ

3. จัดกิจกรรมหรือนิทรรศการนำเสนอ บูธขายเกี่ยวกับเรื่องเครื่องประดับและช่างทำเครื่องประดับรูปแบบมลายูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

4. จัดทำทำเนียบปราชญ์ ผู้รู้ด้านเครื่องประดับรูปแบบมลายูฯ

5. พัฒนาคู่มือ รูปแบบลวดลายเครื่องประดับรูปแบบมลายูเพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบอื่น ๆ

        โดยที่ข้อเสนอแนะเหล่านี้อาจเป็นเพียงหนทางหนึ่งในการช่วยสืบสาน อนุรักษ์งานฝีมืออันเป็นศิลปะที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่สจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้คงอยู่ในพื้นที่ต่อไป

____________________________

บทความโดย นางสาวรอฮานี ดาโอ๊ะ นักวิจัยสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา

ที่มา :   นายมูฮำหมัดอาซาร์ฟ อับรู : ทายาทและช่างผู้ผลิตเครื่องประดับมลายูในพื้นที่ตำบลปูยุด อำเภอเมือง

จังหวัดปัตตานี

นายอับดุลเราะห์มาน เจะอูมา ช่างเครื่องประดับมลายูแห่งอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี

นายอับดุลเลาะ อาแวกะจิ ช่างเครื่องประดับมลายูแห่งอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี

* ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์โครงการวิจัยเรื่องสำรวจและประเมินสถานภาพช่างศิลป์ฯล ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการ โดย สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น สำนักงานบริหารวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรม ศาสตร์ แห่งประเทศไทย (TASSHA)

ช่างเรือกอและจำลองบ้านทอน ผู้สืบสานงานศิลป์แห่งท้องทะเล

         แดดอ่อน ๆ ยามสายพร้อมกับสายลมริมทะเลบ้านทอน นราธิวาสปะทะใบหน้าของเรา ในวันที่ข้าพเจ้าและทีมงานมีภารกิจลงพื้นที่เพื่อสำรวจสถานภาพช่างศิลป์งานไม้และการเขียนลวดลายเรือกอและจำลองในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส บ้านทอนเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมและประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน เราจึงยังคงพบเห็นเรือกอและและเรือประมงท้ายตัดจำนวนมากในพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งตรงข้ามกันกับช่างทำเรือกอและและช่างผู้เขียนลวดลายเรือกอและซึ่งในปัจจุบันเหลืออยู่จำนวนน้อยมากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งบ้านทอน จังหวัดนราธิวาสเองก็ประสบกับภาวะนี้เช่นเดียวกัน

          ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของประชากรในพื้นที่ ประกอบกับเกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและการลดน้อยถอยลงทรัพยากรในท้องทะเล ส่งผลให้ชาวบ้านในชุมชนบ้านทอน จังหวัดนราธิวาสปรับเปลี่ยนอาชีพเพื่อให้สามารถดำรงชีพต่อไปได้ในภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกันกับนายรอซี บินดาโอ๊ะ ผู้ผันแปรมาประกอบอาชีพช่างเรือกอและจำลอง ที่ทำหน้าที่ทั้งสร้างเรือกอและจำลองรวมทั้งเขียนลวดลายบนตัวเรือกอและ

         นายรอซี บินดาโอ๊ะ ได้เล่าให้ข้าพเจ้าว่า แรกเริ่มเดิมทีตนเคยเป็นช่างทำและเขียนลวดลายเรือกอและในพื้นที่ แต่เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่ง (ประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา) การประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านเริ่มลดน้อยลง ประกอบการทำเรือกอและใช้เวลาค่อนข้างยาวนาน นอกจากนี้ลูกค้าและนักท่องเที่ยวจากนอกพื้นที่บางท่านที่ชอบเรือกอและงานศิลป์ แต่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เรือกอและลำจริง รวมทั้งไม่มีศักยภาพที่จะซื้อเรือกอและ เนื่องด้วยราคา ขนาดลำเรือที่ใหญ่โตและต้องใช้พื้นที่ในการจัดเก็บ เรือกอและจำลองจึงเป็นคำตอบและทางเลือกสำหรับคนเหล่านั้น

        นายรอซีหรือแบรอซีครูช่างเรือกอและจำลองได้เล่าต่อว่า ตนเริ่มทำเรือกอและจำลองตั้งแต่เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เนื่องจากพ่อเป็นช่างเรือกอและและเรืออปาตะกือระ(ท้ายตัด) จึงคลุกคลีกับการทำเรือมาตั้งแต่เด็ก ประกอบกับการคลุกคลีอยู่ในชุมชนประมงพื้นบ้านที่เห็นเรือกอและมาตั้งแต่จำความได้ จากพ่อที่เป็นช่างต่อเรือกอและส่งผลให้ชื่นชอบและหลงใหลงานดังกล่าวตั้งแต่เด็ก โดยได้มีการขีดเขียนลวดลายเรือกอและลงบนผืนทรายและพัฒนาเขียนลวดลายลงบนลำเรือจริงในลำดับต่อมา

 

          การทำเรือกอและจำลองที่นายรอซีผลิตนั้นส่วนใหญ่ใช้ดอกลายผสมผสาน คือดอกลายยาวอ(ชวา) ดอกลายมลายูและดอกลายไทย ไม้ที่ใช้ในการทำเรือกอและจำลอง คือ ไม้กะท้อน เนื่องจากไม่เป็นมอด และไม่แตกง่าย ส่วนสีหลักที่ใช้ในการเขียนลวดลายเรือกอและจำลอง ได้แก่ สีแดง เขียว และน้ำเงิน

           การผลิตและจำหน่ายเรือกอและจำลองก่อนหน้าเกิดสถานการณ์โควิดสร้างรายได้ที่ดีมากแก่แบรอซี โดยจำนวนการผลิตที่มากที่สุด คือ 10 ลำต่อสัปดาห์ โดยมีลูกค้าส่วนทั้งในและนอกพื้นที่ บางรายเป็นชาวมาเลเซีย ทั้งนี้ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด -19 ส่งผลให้รายได้และการสั่งผลิตเรือกอและจำลองลดน้อยลงไปมาก แต่โดยรวมยังคงสามารถประคองอาชีพนี้ได้ แบรอซีกล่าวเพิ่มเติมว่า ตนยินดีที่จะถ่ายทอดความรู้ทักษะการทำเรือกอและจำลองแก่เยาวชนและผู้สนใจ เนื่องจากเมื่อก่อนได้เคยเปิดศูนย์การเรียนรู้แก่เยาวชนในชุมชน แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกิดข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณที่ขาดแคลนและเวลาที่ลดน้อยลงทำให้ศูนย์ดังกล่าวได้ปิดตัวลง

               การผลิตและจำหน่ายเรือกอและจำลองก่อนหน้าเกิดสถานการณ์โควิดสร้างรายได้ที่ดีมากแก่แบรอซี โดยจำนวนการผลิตที่มากที่สุด คือ 10 ลำต่อสัปดาห์ โดยมีลูกค้าส่วนทั้งในและนอกพื้นที่ บางรายเป็นชาวมาเลเซีย ทั้งนี้ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด -19 ส่งผลให้รายได้และการสั่งผลิตเรือกอและจำลองลดน้อยลงไปมาก แต่โดยรวมยังคงสามารถประคองอาชีพนี้ได้ แบรอซีกล่าวเพิ่มเติมว่า ตนยินดีที่จะถ่ายทอดความรู้ทักษะการทำเรือกอและจำลองแก่เยาวชนและผู้สนใจ เนื่องจากเมื่อก่อนได้เคยเปิดศูนย์การเรียนรู้แก่เยาวชนในชุมชน แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกิดข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณที่ขาดแคลนและเวลาที่ลดน้อยลงทำให้ศูนย์ดังกล่าวได้ปิดตัวลง

_______________________

บทความจุลสาร

 

ช่างเรือกอและจำลองบ้านทอน ผู้สืบสานงานศิลป์แห่งท้องทะเล

โดย นางสาวรอฮานี ดาโอ๊ะ นักวิจัย

 

ที่มา : นายรอซี บินดาโอ๊ะ
ครูช่างเรือกอและจำลอง บ้านทอน นราธิวาส
       

สัมภาษณ์
ณ วันที่
14 ธันวาคม 2564

ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์โครงการวิจัยเรื่องสำรวจและประเมินสถานภาพช่างศิลป์ฯลฯ
ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการ โดย สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น
สำนักงานบริหารวิทยสถานสังคมศาสตร์ 
มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (TASSHA)

คอฎ : อักษรวิจิตรรังสรรค์สู่การสืบสานงานศิลป์แก่เยาวชนชายแดนใต้

 บ่อยครั้งที่งานศิลปะ งานช่าง และภูมิปัญญาที่สอดคล้องกับวิถีแห่งความเชื่อ ได้ถูกบูรณาการและผสมกลมกลืนอยู่ในชิ้นงานเดียวกัน เฉกเช่นเดียวกันกับงานคอฏ(Khat) หรืออักษรวิจิตรที่รังสรรค์จากอักษรภาษาอาหรับและมลายูที่ได้ถูกถ่ายทอด สืบสานโดยศิลปินและครูช่างคอฏ นางสาวฮายาตี วาโด แห่งชุมชนบ้านพังกับ ตำบลราตาปันยัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี

     ข้าพเจ้าได้มีโอกาสพบและร่วมงานกับศิลปินและครูช่างท่านนี้ตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้วในโครงการสืบสานศิลป์ คอฏการคัดลายมืออาหรับ สู่การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมแก่เยาวชนชายแดนใต้ในโอกาสเป็นนักวิจัยผู้รับผิดชอบโครงการดังกล่าวที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินการจากสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งดำเนินการกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักเรียน เยาวชนจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จำนวน 10 โรงเรียน

    การมาพบกันครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 และมีเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป คือ เพื่อสำรวจสถานภาพช่างศิลป์ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันถือเป็นเป้าหมายหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่องสำรวจและประเมินสถานภาพช่างศิลป์ฯล ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการโดยสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น สำนักงานบริหารวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรม ดำเนินการโดยนักวิจัย นักวิชาการในสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

  ในครั้งนี้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปพบปะคุณฮายาตี วาโด ด้วยตนเองที่บ้าน ซึ่งได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากศิลปินครูช่างและครอบครัว บ้านของศิลปินท่านนี้เป็นสถาบันปอเนาะเก่าแก่ในพื้นที่ มีผู้ดำเนินการและทำหน้าที่สอนโดยบาบอซึ่งเป็นคุณพ่อของคุณนูรฮายาตี นอกเหนือจากการมาเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพช่างศิลป์แล้ว ข้าพเจ้าและทีมงานจึงได้มีโอกาสในการดื่มด่ำกับบรรยากาศทางการศึกษาแบบดั้งเดิมของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และร่วมพูดคุยกับคุณพ่อเจ้าของปอเนาะ เกี่ยวกับประวัติความเป็นมา และการจัดการเรียนการสอนของปอเนาะในอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งการพูดคุยกับสามีของคุณฮายาตี เกี่ยวกับรายละเอียดต่าง ๆ ของงานคอฏและชีวิตของคุณนูรฮายาตี และครอบครัวเมื่อครั้งยังศึกษาที่ประเทศอียิปต์

     คุณฮายาตีได้เริ่มต้นเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับงานศิลป์คอฏที่เธอรักว่า รู้สึกชอบและสนใจการเขียนคอฏมาตั้งแต่เด็ก ๆ เมื่อตอนเด็กได้มีโอกาสเรียนและหัดเขียนเบื้องต้นจากการเรียนในตาดีกา ต่อมาเมื่อได้มีโอกาสไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอียิปต์จึงได้สอบถามผู้รู้เกี่ยวกับสถานที่และครูผู้รู้ด้านคอฏและสมัครเรียน โดยคอร์สดังกล่าวเป็นคอร์สสั้น ๆ เรียนฟรี มีครูเป็นชาวต่างประเทศ ด้วยความที่มีใจชอบในเริ่มแรกพัฒนาสู่ใจรัก ทำให้มีความพยายามที่จะหัดการเขียนคอฏในหลากหลายรูปแบบ ประกอบกับนิสัยส่วนตัวเป็นคนที่หากชอบหรือรักสิ่งใดแล้วจะพยายามทุ่มเทจนกว่าจะสำเร็จ ซึ่งได้นำวิธีคิดและหลักการนั้นมาใช้กับการเรียนคอฏอีกด้วย

 

    การเรียนรู้เรื่องคอฏที่ได้ดำเนินไปหลายปี ทำให้คุณฮายาตีได้เรียนรู้ ฝึกฝนทักษะในหลากหลายรูปแบบ หากมีโอกาสก็จะส่งผลงานการเขียนคอฏเข้าประกวดในงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาเธอมีโอกาสได้รับรางวัลระดับโลกมาแล้วหลายรางวัล เช่น จากการประกวดเขียนคอฏที่ประเทศตุรกี ประเทศสิงคโปร์ฯลฯ  เธอเล่าว่า การเรียนคอฏจำเป็นที่ต้องมีใจรักและฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากการเขียนคอฏมีหลายร้อยรูปแบบ แต่อักษรที่มีผู้นิยมเขียนและประกวดมีไม่กี่รูปแบบเท่านั้น โดยเฉพาะในประเทศไทย จะนิยมการเขียนคอฏแค่ไม่กี่รูปแบบ เช่น คอฏรุกอะห์ คอฏนาซัค คอฏดีวานฯลฯ ดังนั้นตนจึงได้ฝึกฝนเฉพาะคอฏหลัก ๆ ที่นิยมเขียนกันโดยทั่วไปและประเภทที่ชอบเป็นการส่วนตัวเท่านั้น

     เนื่องจากการเขียนคอฏเป็นทักษะที่จำเป็นต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เธอจึงแบ่งเวลาอย่างน้อยวันละ 1-2 ชั่วโมงทุกวันเพื่อฝึกฝนการเขียนคอฏและเตรียมการผลงานสำหรับการประกวด พร้อมทั้งได้นำข้าพเจ้าและทีมงานไปดูมุมการรังสรรค์ผลงานคอฏและอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งผลงานการประกวดและเกียรติบัตรผลงานรางวัลต่าง ๆ ที่ผ่านมา ซึ่งอุปกรณ์ในการเขียนคอฏมีไม่กี่อย่าง เช่น ไม้เขียนหรือพู่กัน สีน้ำ กระดาษหรือผ้า ไม้ลูกชิด แผ่นกระดาษแข็งสำหรับรองเขียน เป็นต้น

จากใจรักสู่การเป็นศิลปินและครูช่างคอฏที่นำอักษรอาหรับและมลายูมาเรียงร้อยความงดงามและถ่ายทอดสู่ผลงานหลากหลายประเภทตามแต่ที่ตนเองและผู้สนใจให้จัดทำผลงานประสงค์ สู่การเป็นครูคอฏ ผู้ถ่ายทอดความรู้ทักษะดังกล่าวแก่เยาวชนและผู้สนใจทั่วไปได้เรียนรู้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยใช้บ้านของตนเองเป็นสถานที่ถ่ายทอดและจัดการเรียนการสอนในทุก ๆ วันศุกร์ รวมทั้งเป็นครูสอนคอฏที่มัจลิส (สถาบันการศึกษาที่ตั้งอยู่ในบริเวณอาคารเดิมของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี) พร้อม ๆ ไปกับการฝึกฝนและเตรียมผลงานสำหรับการประกวดเขียนจากเวทีต่าง ๆ ในต่างประเทศและระดับโลก

 

คุณฮายาตีมีความใฝ่ฝันอยากจะเห็นเยาวชนรุ่นใหม่มีความสนใจในงานคอฏ รวมทั้งมีเวทีการประกวดเขียนคอฏขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และก่อนจากกันเธอได้กล่าวข้อคิดที่น่าสนใจเกี่ยวการรังสรรค์งานคอฏว่า การทำงานทุกอย่างมิใช่ได้มาอย่างง่าย ๆ ต้องใช้ใจรักและความพยายาม ทั้งพรสวรรค์และพรแสวง ที่สำคัญ เมื่อเรารู้แล้วและมีการถ่ายทอดทักษะความรู้แก่ผู้อื่นจึงจะเป็นความรู้และผลบุญที่ยั่งยืน

บทความจุลสาร

คอฎ : อักษรวิจิตรรังสรรค์สู่การสืบสานงานศิลป์แก่เยาวชนชายแดนใต้

 

โดย นางสาวรอฮานี ดาโอ๊ะ นักวิจัย

ที่มา :
นางสาวฮายาตี วาโด ครูช่างศิลป์/ศิลปินคอฏ(อักษรวิจิตร) สัมภาษณ์ ณ วันที่ 14 ธันวาคม 2564

 

ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์โครงการวิจัยเรื่องสำรวจและประเมินสถานภาพช่างศิลป์ฯลฯ
ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการ โดย สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น
สำนักงานบริหารวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ แห่งประเทศไทย
(TASSHA)