บ่อยครั้งที่งานศิลปะ งานช่าง และภูมิปัญญาที่สอดคล้องกับวิถีแห่งความเชื่อ ได้ถูกบูรณาการและผสมกลมกลืนอยู่ในชิ้นงานเดียวกัน เฉกเช่นเดียวกันกับงานคอฏ(Khat) หรืออักษรวิจิตรที่รังสรรค์จากอักษรภาษาอาหรับและมลายูที่ได้ถูกถ่ายทอด สืบสานโดยศิลปินและครูช่างคอฏ นางสาวฮายาตี วาโด แห่งชุมชนบ้านพังกับ ตำบลราตาปันยัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี

     ข้าพเจ้าได้มีโอกาสพบและร่วมงานกับศิลปินและครูช่างท่านนี้ตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้วในโครงการสืบสานศิลป์ คอฏการคัดลายมืออาหรับ สู่การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมแก่เยาวชนชายแดนใต้ในโอกาสเป็นนักวิจัยผู้รับผิดชอบโครงการดังกล่าวที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินการจากสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งดำเนินการกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักเรียน เยาวชนจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จำนวน 10 โรงเรียน

    การมาพบกันครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 และมีเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป คือ เพื่อสำรวจสถานภาพช่างศิลป์ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันถือเป็นเป้าหมายหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่องสำรวจและประเมินสถานภาพช่างศิลป์ฯล ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการโดยสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น สำนักงานบริหารวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรม ดำเนินการโดยนักวิจัย นักวิชาการในสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

  ในครั้งนี้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปพบปะคุณฮายาตี วาโด ด้วยตนเองที่บ้าน ซึ่งได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากศิลปินครูช่างและครอบครัว บ้านของศิลปินท่านนี้เป็นสถาบันปอเนาะเก่าแก่ในพื้นที่ มีผู้ดำเนินการและทำหน้าที่สอนโดยบาบอซึ่งเป็นคุณพ่อของคุณนูรฮายาตี นอกเหนือจากการมาเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพช่างศิลป์แล้ว ข้าพเจ้าและทีมงานจึงได้มีโอกาสในการดื่มด่ำกับบรรยากาศทางการศึกษาแบบดั้งเดิมของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และร่วมพูดคุยกับคุณพ่อเจ้าของปอเนาะ เกี่ยวกับประวัติความเป็นมา และการจัดการเรียนการสอนของปอเนาะในอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งการพูดคุยกับสามีของคุณฮายาตี เกี่ยวกับรายละเอียดต่าง ๆ ของงานคอฏและชีวิตของคุณนูรฮายาตี และครอบครัวเมื่อครั้งยังศึกษาที่ประเทศอียิปต์

     คุณฮายาตีได้เริ่มต้นเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับงานศิลป์คอฏที่เธอรักว่า รู้สึกชอบและสนใจการเขียนคอฏมาตั้งแต่เด็ก ๆ เมื่อตอนเด็กได้มีโอกาสเรียนและหัดเขียนเบื้องต้นจากการเรียนในตาดีกา ต่อมาเมื่อได้มีโอกาสไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอียิปต์จึงได้สอบถามผู้รู้เกี่ยวกับสถานที่และครูผู้รู้ด้านคอฏและสมัครเรียน โดยคอร์สดังกล่าวเป็นคอร์สสั้น ๆ เรียนฟรี มีครูเป็นชาวต่างประเทศ ด้วยความที่มีใจชอบในเริ่มแรกพัฒนาสู่ใจรัก ทำให้มีความพยายามที่จะหัดการเขียนคอฏในหลากหลายรูปแบบ ประกอบกับนิสัยส่วนตัวเป็นคนที่หากชอบหรือรักสิ่งใดแล้วจะพยายามทุ่มเทจนกว่าจะสำเร็จ ซึ่งได้นำวิธีคิดและหลักการนั้นมาใช้กับการเรียนคอฏอีกด้วย

 

    การเรียนรู้เรื่องคอฏที่ได้ดำเนินไปหลายปี ทำให้คุณฮายาตีได้เรียนรู้ ฝึกฝนทักษะในหลากหลายรูปแบบ หากมีโอกาสก็จะส่งผลงานการเขียนคอฏเข้าประกวดในงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาเธอมีโอกาสได้รับรางวัลระดับโลกมาแล้วหลายรางวัล เช่น จากการประกวดเขียนคอฏที่ประเทศตุรกี ประเทศสิงคโปร์ฯลฯ  เธอเล่าว่า การเรียนคอฏจำเป็นที่ต้องมีใจรักและฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากการเขียนคอฏมีหลายร้อยรูปแบบ แต่อักษรที่มีผู้นิยมเขียนและประกวดมีไม่กี่รูปแบบเท่านั้น โดยเฉพาะในประเทศไทย จะนิยมการเขียนคอฏแค่ไม่กี่รูปแบบ เช่น คอฏรุกอะห์ คอฏนาซัค คอฏดีวานฯลฯ ดังนั้นตนจึงได้ฝึกฝนเฉพาะคอฏหลัก ๆ ที่นิยมเขียนกันโดยทั่วไปและประเภทที่ชอบเป็นการส่วนตัวเท่านั้น

     เนื่องจากการเขียนคอฏเป็นทักษะที่จำเป็นต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เธอจึงแบ่งเวลาอย่างน้อยวันละ 1-2 ชั่วโมงทุกวันเพื่อฝึกฝนการเขียนคอฏและเตรียมการผลงานสำหรับการประกวด พร้อมทั้งได้นำข้าพเจ้าและทีมงานไปดูมุมการรังสรรค์ผลงานคอฏและอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งผลงานการประกวดและเกียรติบัตรผลงานรางวัลต่าง ๆ ที่ผ่านมา ซึ่งอุปกรณ์ในการเขียนคอฏมีไม่กี่อย่าง เช่น ไม้เขียนหรือพู่กัน สีน้ำ กระดาษหรือผ้า ไม้ลูกชิด แผ่นกระดาษแข็งสำหรับรองเขียน เป็นต้น

จากใจรักสู่การเป็นศิลปินและครูช่างคอฏที่นำอักษรอาหรับและมลายูมาเรียงร้อยความงดงามและถ่ายทอดสู่ผลงานหลากหลายประเภทตามแต่ที่ตนเองและผู้สนใจให้จัดทำผลงานประสงค์ สู่การเป็นครูคอฏ ผู้ถ่ายทอดความรู้ทักษะดังกล่าวแก่เยาวชนและผู้สนใจทั่วไปได้เรียนรู้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยใช้บ้านของตนเองเป็นสถานที่ถ่ายทอดและจัดการเรียนการสอนในทุก ๆ วันศุกร์ รวมทั้งเป็นครูสอนคอฏที่มัจลิส (สถาบันการศึกษาที่ตั้งอยู่ในบริเวณอาคารเดิมของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี) พร้อม ๆ ไปกับการฝึกฝนและเตรียมผลงานสำหรับการประกวดเขียนจากเวทีต่าง ๆ ในต่างประเทศและระดับโลก

 

คุณฮายาตีมีความใฝ่ฝันอยากจะเห็นเยาวชนรุ่นใหม่มีความสนใจในงานคอฏ รวมทั้งมีเวทีการประกวดเขียนคอฏขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และก่อนจากกันเธอได้กล่าวข้อคิดที่น่าสนใจเกี่ยวการรังสรรค์งานคอฏว่า การทำงานทุกอย่างมิใช่ได้มาอย่างง่าย ๆ ต้องใช้ใจรักและความพยายาม ทั้งพรสวรรค์และพรแสวง ที่สำคัญ เมื่อเรารู้แล้วและมีการถ่ายทอดทักษะความรู้แก่ผู้อื่นจึงจะเป็นความรู้และผลบุญที่ยั่งยืน

บทความจุลสาร

คอฎ : อักษรวิจิตรรังสรรค์สู่การสืบสานงานศิลป์แก่เยาวชนชายแดนใต้

 

โดย นางสาวรอฮานี ดาโอ๊ะ นักวิจัย

ที่มา :
นางสาวฮายาตี วาโด ครูช่างศิลป์/ศิลปินคอฏ(อักษรวิจิตร) สัมภาษณ์ ณ วันที่ 14 ธันวาคม 2564

 

ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์โครงการวิจัยเรื่องสำรวจและประเมินสถานภาพช่างศิลป์ฯลฯ
ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการ โดย สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น
สำนักงานบริหารวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ แห่งประเทศไทย
(TASSHA)

Recommended Posts