วันว่าง…ไม่ว่างเปล่า: สงกรานต์ในสายใยวัฒนธรรมใต้

          สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา จัดประเพณีสงกรานต์เพื่อสืบสานประเพณีไทยที่ได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนอย่างต่อเนื่องประจำทุกปี ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของประเทศไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกระดับชาติปี พ.ศ.2554 และระดับมนุษยชาติโดยยูเนสโกในปี พ.ศ.2566 การได้รับการขึ้นทะเบียนนี้สะท้อนถึงความสำคัญของประเพณีสงกรานต์ในฐานะส่วนหนึ่งของมรดกวัฒนธรรมที่มีคุณค่าและควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอดต่อไปในอนาคต เพื่อต้องการให้ผู้สนใจได้รับองค์ความรู้เกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์ จึงได้รวบรวมบทความที่เผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ  ได้ดังนี้

ความหมายประเพณีสงกรานต์

          วันสงกรานต์ คือวันขึ้นปีใหม่ของไทย ที่มีมาแต่โบราณ ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี สมัยต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็นวันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้ตรงกับปีใหม่สากล ซึ่งประกาศใช้อย่างเป็นทางการโดยคณะรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2483 (บุญมี แท่นแก้ว, 2547) แม้ว่าวันขึ้นปีใหม่จะถูกเปลี่ยนเป็นวันที่ 1 มกราคม แต่สังคมไทยก็ยังให้ความสำคัญกับวันที่ 13 เมษายน ในฐานะวันขึ้นปีใหม่แบบไทยอยู่อย่างต่อเนื่องไม่เสื่อมคลาย และเรียกช่วงวันดังกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ “ วันตรุษสงกรานต์” อันหมายถึงวันสิ้นปีเก่า และขึ้นปีใหม่ของคนไทย ซึ่งเป็นระยะเวลาเข้าสู่ฤดูร้อนที่เสร็จจากการเก็บเกี่ยวข้าว ได้มาร่วมกันทำบุญแล้วมีการละเล่นสนุกสนานรื่นเริงร่วมกัน (กรมการศาสนา , 2545)

          ดังนั้นคำว่า “สงกรานต์” ถ้าเป็นภาษาบาลีแยกออกเป็น 2 ศัพท์ ซึ่งศัพท์ว่า “สังกะระ” แปลว่า ปนกัน ระคนกัน หมายความว่าคาบเกี่ยวกัน และศัพท์ว่า “อะนะตะ” แปลว่า ที่สุด สุดท้าย เมื่อรวมศัพท์ 2 ศัพท์เข้าด้วยกันก็เป็น “สงกรานต์” แปลความหมายว่า ที่สุดของการคาบเกี่ยวกัน หมายถึง การคาบเกี่ยวกันหรือจุดเชื่อมต่อกันระหว่างปีเก่ากับปีใหม่ ( กรมการศาสนา, 2545) ส่วนคำว่า “สงกรานต์” เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า การเคลื่อนที่ หรือการเคลื่อนย้าย หมายถึง การเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งสู่ราศีหนึ่ง ซึ่งช่วงเวลาสงกรานต์ของไทย จึงเป็นช่วงที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีมีนสู่ราศีเมษ ดังนั้น จึงเป็นประเพณีการฉลองขึ้นปีใหม่ตามสุริยคติ โดยทั่วไปมีกำหนด 3 วัน คือ

          วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” หมายถึง วันที่พระอาทิตย์ก้าวเข้าสู่ราศีเมษ และเป็นวันสิ้นปีเก่า

          วันที่ 14 เมษายน เป็นวันเนา หมายถึง วันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษอันเป็นราศีตั้งต้นปี ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างปีเก่ากับปีใหม่

          และวันที่ 15 เมษายน เป็นวันเถลิงศก หรือวันขึ้นปีใหม่ (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, 2554) 

พระพุทธสิหิงค์ สำหรับสรงน้ำเพื่อสิริมงคลในประเพณีสงกรานต์

ณ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา (ภาพสถาบันฯ, 2566)

น้ำสำหรับสรงน้ำพระพุทธรูปและรดน้ำผู้ใหญ่ (ภาพสถาบันฯ, 2566)

ตำนานนางสงกรานต์

          ประเพณีสงกรานต์จะเกี่ยวข้องกับเรื่องราวความเป็นมาของนางสงกรานต์ ซึ่งมีหลักฐานการจารึกไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ความว่า มีเศรษฐีคนหนึ่งรวยทรัพย์แต่ไม่มีบุตรไว้สืบสกุล จึงได้บวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีบุตร กระทั่งวันหนึ่งเป็นช่วงที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมน้ำ ได้อธิษฐานขอบุตรกับรุกขเทวดาใต้ต้นไทรนั้น รุกขเทวดาเห็นใจ จึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์ก็มีเมตตาประทานบุตรให้องค์หนึ่งนามว่า “ธรรมบาลกุมาร” และได้ปลูกปราสาทไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัย

          เมื่อธรรมบาลกุมาร โตขึ้นได้เรียนรู้ภาษานก และอายุได้เจ็ดขวบ ก็ได้เรียนจบไตรเพท ธรรมบาลกุมาร จึงได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่คนทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ โดยตั้งเงื่อนไขไว้ว่า ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ซึ่งปัญหาที่ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมาร ก็คือ “ตอนเช้าราศีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงราศีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำราศีอยู่ที่ไหน” เมื่อได้ฟังคำถามดังนั้น ธรรมบาลกุมาร ไม่สามารถตอบได้ จึงขอผัดผ่อนท้าวกบิลพรหมไปอีก 7 วัน ระหว่างนั้น ธรรมบาลกุมาร ก็ได้พยายามคิดหาคำตอบ กระทั่งล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารก็ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาล โดยคิดว่า หากไม่สามารถตอบปัญหานี้ได้ ก็ขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญาของท้าวกบิลพรหม  นับเป็นความโชคดีที่ธรรมบาลกุมารสามารถฟังภาษานกได้ และบังเอิญบนต้นไม้มีนกอินทรี 2 ตัว ผัว เมียเกาะทำรังอยู่ ธรรมบาลกุมารจึงได้ยินนกสองตัวผัวเมียสนทนากัน โดยนางนกอินทรีถามสามีว่า พรุ่งนี้จะไปหาอาหารแห่งใด สามีได้ตอบนางนกไปว่า เราจะไปกินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งจะถูกท้าวกบิลพรหมฆ่า เพราะเหตุแห่งการตอบปัญหาไม่ได้ นางนกจึงถามว่าคำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามคืออะไร สามีก็เล่าให้ฟัง ซึ่งนางนกก็ ไม่สามารถตอบได้ สามีจึงเฉลยว่า ตอนเช้าราศีจะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุก ๆ เช้า ตอนเที่ยงราศีจะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็นราศีจะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน 

          เมื่อได้ยินดังนั้น ธรรมบาลกุมาร ก็ได้จดจำสิ่งที่สามีนกพูดไว้ กระทั่งวันรุ่งขึ้น ธรรมบาลกุมาร ได้นำคำตอบดังกล่าวไปตอบกับท้าวกบิลพรหม เมื่อท้าวกบิลพรหมเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ จึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ด อันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่าจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ตามคำท้าไว้ แต่ปัญหาก็คือ ถ้าพระเศียรของพระองค์หากตกไปอยู่ที่ใด ก็จะเป็นอันตรายต่อที่นั้น อย่างเช่น หากตั้งเศียรไว้บนแผ่นดินไฟก็จะไหม้โลก แต่ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศฝนก็จะแล้ง หรือถ้าจะทิ้งในมหาสมุทรน้ำก็จะ แห้งขอด

          ด้วยเหตุนี้ ท้าวกบิลพรหม จึงมอบหมายให้ธิดาทั้ง 7 ผลัดเวรกันนำพานมารองรับเศียร โดยให้นาง ทุงษะเทวี ผู้เป็นธิดาองค์โตเป็นผู้เริ่มต้น ซึ่งนางทุงษะก็ได้อันเชิญพระเศียรของท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที จากนั้นนำไปประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธชุลี ณ เขาไกรลาศ และเมื่อครบกำหนด 365 วัน ซึ่งโลกสมมุติว่าเป็นปีหนึ่งเวียนมาถึงวันมหาสงกรานต์ เทพธิดาทั้ง 7 ก็จะทรงพาหนะของตน ผลัดเวรกันมาอันเชิญพระเศียรของบิดาออกแห่ ทำเช่นนี้ทุก ๆ ปี และเนื่องจากเทพธิดาทั้ง 7 ปรากฏตัวในวันมหาสงกรานต์เป็นประจำ จึงได้ชื่อว่า “นางสงกรานต์” (จ.เปรียญ อ้างถึงใน พระมหาอนันต์ อนุตฺตโร, 2562)

        ดังนั้นนางสงกรานต์เป็นตำนานการเชื่อมผ่านประเพณีให้มีเรื่องราวที่ได้รับความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นเรื่องราวประวัติพระธิดาทั้ง 7 ของท้าวกบิลพรหม  มีบันทึกไว้บนจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งมีเรื่องราวได้บอกถึงคุณลักษณะของนางสงกรานต์และคำทำนายไว้ดังนี้

วันอาทิตย์ นางสงกรานต์ชื่อ “นางทุงษะเทวี” ทัดดอกทับทิม เครื่องประดับคือคือ ปัทมราช ภักษาหารคืออุทุมพร (มะเดื่อ) อาวธ มือขวาจักร มือซ้ายสังข์ พาหนะครุฑ ในปีนั้นเรือสวน ไร่นา เผือกมัน มิสู้จะแพง

วันจันทร์ นางสงกรานต์ชื่อ “นางโคราดเทวี” ทัดดอกปีบ เครื่องประดับมุกดา ภักษาหารเตลัง อาวุธ มือขวาพระขรรค์ มือซ้ายไม้เท้า พาหนะพยัคฆ์ (เสือ) ในปีนั้นจะแพ้เสนาบดี แพ้ท้าวพระยาและนางพระยา

วันอังคาร นางสงกรานต์ชื่อ “นางรากษสเทวี” ทัดดอกบัวหลวง เครื่องประดับโมรา ภักษาหารโลหิต อาวุธมือขวาตรีสูรย์ มือซ้ายธนู พาหนะวราหะ (หมู) ในปีนั้นจะเกิดอันตรายกลางเมือง จะเกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม และมีความเจ็บไข้มาก

วันพุธ นางสงกรานต์ชื่อ “นางมณฑาเทวี” ทัดดอกจำปา เครื่องประดับไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย อาวุธ มือขวาเข็ม มือซ้ายไม้เท้า พาหนะคัทรภะ (ลา) ในปีนั้นท้าวพระยาจะได้เครื่องบรรณาการแต่ต่างเมือง แต่มักจะแพ้ลูกอ่อน

วันพฤหัสบดี นางสงกรานต์ชื่อ “นางกิริณีเทวี” ทัดดอกมณฑา เครื่องประดับมรกต ภักษาหารถั่วงา อาวุธ มือขวาขอ มือซ้ายปืน พาหนะคชสาร (ช้าง) ในปีนั้นมักจะแพ้เจ้าไทย พระสงฆ์ราชาคณะจะได้ความเดือดร้อน

วันศุกร์ นางสงกรานต์ชื่อ “นางกรกมิฑาเทวี” ทัดดอกจงกลนี เครื่องประดับบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ อาวุธ มือขวาพระขรรค์ มือซ้ายพิณ พาหนะมหิงส์ (ควาย) ในปีนั้นข้าวน้ำ ผลไม้ จะอุดมสมบูรณ์ แต่จะมีฝนและพายุจัด จะเกิดเจ็บตายกันมาก

           วันเสาร์ นางสงกรานต์ชื่อ “นางมโหธรเทวี” ทัดดอกสามหาว เครื่องประดับนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย อาวุธ มือขวาจักร มือซ้ายตรีศูล พาหนะมยุรา (นกยูง) มักจะเกิดภัยอันตรายขึ้นกลางเมืองและจะมีโจรผู้ร้ายชุกชุม (ประเสริม อร่ามศรีวรพงษ์, 2540)

ภาพนางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์  (ภาพถ่าย ไทยรัฐออนไลน์ , 2568) 

          สำหรับวันที่ 13 เมษายน หรือวันสงกรานต์ปี พ.ศ. 2568 นี้ ตรงกับวันอาทิตย์ นางสงกรานต์ชื่อ “นางทุงษะเทวี” ทัดดอกทับทิม เครื่องประดับคือ ปัทมราช ภักษาหารคืออุทุมพร (มะเดื่อ) อาวุธ มือขวาจักร มือซ้ายสังข์ พาหนะครุฑ โดย (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, 2568) ได้กลาวถึงการพยากรณ์ว่า เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 6 ชื่อ “ลาภะ”, ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผล 9 ส่วน เสีย 1 ส่วน, ธัญญาหาร พลาหาร มัจฉมังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ ประชาชนทั้งหลายจะเป็นสุขสมบูรณ์, เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีอาโป (น้ำ) คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำมาก

 

ประเพณีสงกรานต์ภาคใต้

 

          ปัจจุบันประเพณีสงกรานต์ในสังคมไทยมี 3 ความหมายด้วยกัน  คือ เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย, เป็นวันครอบครัวและวันผู้สูงอายุ และเป็นวันแห่งการเล่นสาดน้ำ โดยพิธีกรรมและกิจกรรมหลักๆ แต่ละภาคคล้ายคลึงกันคือ การทำบุญตักบาตร เพื่อสืบทอดและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และเพื่อกล่อมเกลาจิตใจให้รู้จักการให้ เสียสละ โดยมิได้มุ่งหวังสิ่งใดตอบแทน , การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ เพื่อแสดงกตัญญูต่อผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว, การสรงน้ำพระ ทั้งพระภิกษุสงฆ์และพระพุทธรูป เพื่อความเป็นสิริมงคลและแสดงความเคารพ อ่อนน้อมถ่อมตนต่อปูชนียบุคคล และเป็นการดำรงสืบทอดพระพุทธศาสนา ผ่านพิธีกรรมในวันสงกรานต์,  การรดน้ำขอพร เป็นการแสดงความเคารพและแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณโดยเฉพาะผู้อาวุโสน้อยพึงปฏิบัติต่อผู้อาวุโสมาก เช่น ลูกกับพ่อ-แม่-ปู ่-ย่า-ตา-ยาย พุทธศาสนิกชนต่อพระภิกษุสงฆ์ เป็นต้น เป็นการแสดงความสุภาพ อ่อนน้อม อ่อนโยน และขอรับพร ซึ่งผู้อาวุโสกว่าเหล่านั้นจะได้อวยชัยให้พรให้อยู่เย็นเป็นสุข และได้ข้อคิดเตือนใจเพื่อเริ่มต้นปีใหม่อย่างไม่ประมาท  และการเล่นรดน้ำเพื่อเชื่อมความ สัมพันธ์ระหว่างญาติพี่น้องและมิตรสหาย ด้วยการรดน้ำเพียงเล็กน้อยลงที่ไหล่ หรือที่มือพร้อมกับอวยพรให้มีความสุข (พระมหาอนันต์ อนุตฺตโร, 2562) ส่วนกิจกรรมอื่นที่ยึดถือแนวปฏิบัติที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน แตกต่างกัน ตามความเชื่อและแนวปฏิบัติของคนไทยแต่ละภูมิภาค 

บรรยากาศ รดน้ำพระพุทธสิหิงค์เพื่อสิริมงคลในประเพณีสงกรานต์

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา (ภาพถ่ายสถาบันฯ, 2566) 

บรรยากาศรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ (ภาพถ่ายสถาบันฯ, 2566) 

          สำหรับสงกรานต์ภาคใต้ เรียกว่า วันว่าง ซึ่งมีธรรมเนียมปฏิบัติเหมือนประเพณีสงกรานต์ของภาคอื่นๆ จะแตกต่างกัน ก็เฉพาะมีข้อกำหนดว่า ตลอดเวลา 3 วัน ของเทศกาลสงกรานต์ คือ วันที่ 1315 เมษายนประจำทุกปี ทุกคนต้องทำตัวให้ว่าง ละ และวางกายใจให้เว้นจากภารกิจการงานทุกอย่าง ไม่จับจ่ายใช้สอยเงินทอง ไม่ออกไปหาผักหญ้า ข้าวปลา ไม่ลงโทษเฆี่ยนตีคน หรือสัตว์ ไม่กล่าวคำเท็จและคำหยาบคาย ที่สำคัญคือ ต้องทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใสตลอดทั้ง 3 วัน ดังนั้น ก่อนถึงกำหนดวันตามประเพณี ทุกบ้านเรือนต้องมีการจัดเตรียมสิ่งของต่างๆ ไว้ให้พร้อม และพอใช้สำหรับ 3 วันด้วย

          ในสมัยโบราณก่อนถึงกำหนดวันว่าง มักจะมีคณะเพลงบอก คือ คณะนักขับร้องทำนองกลอนสด ออกตระเวนไปตามบ้านเรือนทั่วทุกครัวเรือน เพื่อขับร้องบทกลอนทำนองเพลงบอก แจ้งกำหนดวันว่างของปีนั้นว่า ตรงกับวันใด เดือนใดของปี ซึ่งถือว่า เป็นวันปีใหม่ และอาจบอกรายละเอียดว่า วันใดเป็นวันธงชัย วันอธิบดี วันอุบาทว์ วันโลกาวินาศ หรือบอกคำทำนายว่า ปีใหม่จะมีฝนตกปริมาณมากน้อยตามฤดูกาลหรือไม่ พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์หรือไม่ มีนาคให้น้ำกี่ตัว บางทีคณะเพลงบอกอาจขับร้องบอกเล่าตำนานสงกรานต์ และบอกด้วยว่า ในปีนั้นนางสงกรานต์คือใคร ทรงอาวุธประเภทใด ภักษาหารคืออะไร เสด็จมาในอิริยาบถใด และด้วยพาหนะอะไร ลงท้ายอาจมีการสรรเสริญให้พรเจ้าของบ้านอีกด้วย เมื่อถึงวันต้นของเทศกาลสงกรานต์           วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า วันส่งเจ้าเมืองเก่า หรือวันเจ้าเมืองเก่า ด้วยมีความเชื่อกันมาแต่โบราณว่า ในวันนี้ เทวดาผู้คุ้มครองรักษาเมือง หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เจ้าเมืองจะเดินทางขึ้นไปชุมนุมกันบนสวรรค์ ส่วนชาวบ้านก็จะทำความสะอาดบ้านเรือนของตน รวมทั้งเครื่องใช้ต่างๆ ตลอดทั้งวัน นอกจากนี้ยังนิยมประกอบพิธีสะเดาะเคราะห์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ลอยเคราะห์ ทั้งนี้ เพื่อให้เคราะห์กรรมต่างๆ ที่มีอยู่ ลอยน้ำตามเจ้าเมืองเก่าไป และมักมีการสรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญในวันนี้ด้วย โดยให้มีความหมายเหมือนการล้างมลทิน หรือล้างสิ่งไม่เป็นมงคลให้หมดไป ความสะอาดบริสุทธิ์ ความสดใส และสิ่งอันเป็นมงคลทั้งหลายจะได้บังเกิดขึ้นในวันปีใหม่

          วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันว่าง หมายถึง เป็นวันที่ปราศจากเทวดาคุ้มครองรักษาบ้านเมือง ชาวบ้านจึงงดการทำงานทุกอย่าง และพากันไปตักบาตร ทำบุญเลี้ยงพระที่วัด ทำบุญอัฐิ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ ที่ล่วงลับไปแล้ว เสร็จจากการทำบุญเลี้ยงพระ ก็มีพิธีสรงน้ำพระสงฆ์ รดน้ำบิดามารดาญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ พิธีการรดน้ำขอพรบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ที่นับถือจะแตกต่างจากภาคอื่นๆ ตรงที่ลูกหลานจะจัดเตรียมผ้าใหม่ เพื่อมากราบไหว้ขอขมา และขอพรไปพร้อมกัน จากนั้นจะพร้อมใจกันอาบน้ำ สระผมให้บิดามารดา หรือญาติผู้ใหญ่ก่อน แล้วให้นุ่งห่มผ้าใหม่ที่จัดเตรียมให้ พิธีรดน้ำนี้เรียกว่า สระหัววันว่าง

            วันที่ 15 เมษายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเทศกาล เรียกว่า วันรับเจ้าเมืองใหม่ หรือบางท้องถิ่นเรียกว่า วันเบญจา เป็นวันต้อนรับเทวดาองค์ใหม่ ที่ได้รับมอบหมายให้มาปกปักรักษาดูแลเมืองแทนเทวดาองค์เดิมที่กลับขึ้นสู่สวรรค์ไปแล้ว ในวันนี้ ชาวบ้านมักแต่งตัวด้วยเสื้อผ้า และเครื่องประดับใหม่อย่างสวยสดงดงาม และยังคงนำอาหารคาวหวานไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัด นอกจากกิจกรรมที่กล่าวมาแล้ว ยังมีการปล่อยนกปล่อยปลา ก่อพระเจดีย์ทราย เล่นสาดน้ำกัน รวมทั้งการละเล่นพื้นเมือง และมหรสพต่างๆ เช่นเดียวกับภาคอื่นๆ  (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม อ้างถึงใน พระมหาอนันต์ อนุตฺตโร, 2562)  

มรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

 

          ประเพณีสงกรานต์เป็นสิ่งที่งดงามมีคุณค่า สะท้อนถึงความเป็นไทย เป็นช่วงเวลาแห่งการรักษากายใจและ สิ่งแวดล้อม เป็นโอกาสของการแสดงความกตัญญูและความปรารถนาดีต่อผู้มีพระคุณ การแสดงความเอื้ออาทรต่อ ครอบครัว ญาติมิตรและชุมชน จึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติประจำปีพุทธศักราช 2554 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติในปีพุทธศักราช 2566

บรรณานุกรม

กรมการศาสนา. (2545).  ศาสนพิธีฉบับกรมการศาสนา. พิมพ์ครั้งที่ 4 . กรุงเทพ ฯ : การศาสนา.

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (2554). สงกรานต์. สืบค้นเมษายน 2, 2568 จาก https://ich-thailand.org/heritage/detail/6291e5b7978f238e61f77d2b

ไทยรัฐออนไลน์. (2568). นางสงกรานต์ 2568 “ทุงสะเทวี” นอนหลับตาบนหลังครุฑ ประชาชนจะสุข สมบูรณ์. สืบค้นเมษายน 3, 2568 จาก https://www.thairath.co.th/news/local/2845614

บุญมี แท่นแก้ว. (2547). ประเพณีและพิธีกรรมพระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.

ประเสริฐ อร่ามศรีวรพงษ์. (2540). “ย้อนอดีต” วันสงกรานต์. วารสารกำนันผู้ใหญ่บ้าน. 48(4). 16-21.

พระมหาอนันต์ อนุตฺตโร (2562). วิเคราะห์คุณค่าทางปรัชญาในประเพณีวันสงกรานต์.วารสารวิจัยธรรม  ศึกษา. 2(2), 8-17.  

ผู้เขียน/เรียบเรียง

ประสิทธิ์ รัตนมณี นักวิจัยชำนาญการ

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 

วันศุกร์: วันหยุดของมุสลิมชายแดนใต้ ความสำคัญและการเปลี่ยนแปลง

ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ถือเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของวิถีชีวิต สังคม ความเป็นอยู่ ศาสนา และวัฒนธรรม โดยเฉพาะวิถีชาวมุสลิม ซึ่งเป็นศาสนาที่มีผู้คนนับถือมากที่สุดในพื้นที่ วัฒนธรรมได้หล่อหลอมผสมผสานศาสนาเข้ากับวิถีชีวิต หนึ่งในวิถีชีวิตที่กลายเป็นวัฒนธรรมเด่นชัดของชาวมุสลิมสามจังหวัดคือ การมีวันศุกร์เป็นวันหยุด

 

วันศุกร์ หรือ “วันญุมอัต” (Jumu’ah) ในภาษาอาหรับและมลายู วันศุกร์ไม่ใช่เพียงวันธรรมดาในชีวิตของมุสลิม แต่ยังถือเป็น “วันอีดเล็ก” ในทุกสัปดาห์ ซึ่งเป็นโอกาสให้ชาวมุสลิมได้รวมตัวกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางศาสนาและสังคม  เป็นวันสำคัญของมุสลิมและถือเป็นวันที่ประเสริฐที่สุดในสัปดาห์ เนื่องจากตามหลักศาสนาอิสลามการละหมาดญุมอัตเป็นข้อปฏิบัติที่สำคัญ ผู้ชายมุสลิมต้องทำการละหมาดวันศุกร์ร่วมกันที่มัสยิดในช่วงเที่ยงวัน  และยังเป็นวันที่เหมาะสมสำหรับการทำความดีและชุมชนยังจัดกิจกรรมพิเศษในวันศุกร์ เช่น การบริจาค การอ่านอัลกุรอ่าน การพบปะญาติพี่น้อง และการจัดเลี้ยงต่างๆ ซึ่งตามบทบัญญัติของศาสนา วันศุกร์เป็นวันที่ผู้ที่กระทำความดีจะได้รับผลบุญทวีคูณ ทำให้มุสลิมให้ความสำคัญกับวันนี้อย่างมาก

ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อศาสนาเข้ามาหล่อหลอมวิถีชีวิตและก่อเกิดวัฒนธรรมร่วมกัน จึงทำให้วันหยุดประจำสัปดาห์ของคนในพื้นที่กลายเป็นวันศุกร์ สถานประกอบการ ห้างร้าน และสถานที่เดินการก่อสร้าง มีผู้ประกอบการเป็นชาวมุสลิม หรือผู้ประกอบการต่างศาสนิกที่เข้าใจวิถีวัฒนธรรม กิจการหลายแห่งกำหนดให้ลูกจ้างหยุดงานในวันศุกร์ เพื่อให้พนักงานสามารถประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้อย่างเต็มที่ หากสังเกตช่วงเช้าวันศุกร์ จะพบว่าการสัญจรบนท้องถนนโล่งเป็นพิเศษ เพราะผู้คนส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่กิจกรรมทางศาสนา เช่น การละหมาดซุบฮีตอนเช้า การเยี่ยมกุโบร์ การพบปะผู้คนตามร้านน้ำชา หรือการดูแล ไร่ นา สวนในช่วงเช้าก่อนถึงเวลาละหมาดวันศุกร์

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้ธุรกิจบางประเภทในพื้นที่จำเป็นต้องเปิดทำการในวันศุกร์ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค ร้านค้าหรือกิจการของมุสลิมเองจากเดิมที่เคยปิดทุกวันศุกร์ อาจจำเป็นต้องเปิดบริการ การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เจ้าของกิจการและพนักงานต้องปรับตัวร่วมกัน เช่น การเพิ่มเวลาพักกลางวันสำหรับการละหมาดแล้วชดเชยเวลางานในช่วงเย็นแทน หรือเลื่อนเวลาเปิดร้านเป็นช่วงบ่ายแทน ในทางกลับกัน กิจกรรมหรือบริการที่ไม่สามารถหยุดทำการได้ เช่น โรงพยาบาล หรือบริการขนส่งสาธารณะ อาจจัดเวลาการทำงานแบบยืดหยุ่น เช่น การเพิ่มเวลาพักกลางวันให้พนักงานมุสลิม หรือการปรับตารางเวรให้สอดคล้องกับความต้องการของพนักงาน แนวทางเหล่านี้ช่วยรักษาสมดุลระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจและการทำงานโดยไม่กระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่อีกด้วย

วิถีวัฒนธรรมการหยุดงานในวันศุกร์เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์เฉพาะของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ โดยมีศาสนาเป็นแกนกลางที่เชื่อมโยงวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อ แม้ว่ากระแสโลกและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะเข้ามามีอิทธิพล วิถีชีวิตนี้ยังคงปรับตัวอย่างเคารพในความหลากหลายของความเชื่อและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ รวมถึงบริบทของสังคมโลกในปัจจุบัน

____________________________________________________________________________

เรียบเรียงบทความโดย นายซันนูซี การีจิ นักวิชาการศึกษา สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา

 

ขอขอบคุณภาพบางส่วนจาก นายรีดูวัน ยีเฮ็ง ศูนย์สื่อสารองค์กรและกิจการนานาชาติ

บทความวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ เรื่อง “แนวทางการจัดการความรู้ ภูมิปัญญา การใช้ประโยชน์จากสมุนไพร ในชุมชนตำบลท่าเรือ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี”

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ขอเชิญชวนอ่าน #บทความวิจัย ในรอบปี 2567 ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติ

เรื่อง “แนวทางการจัดการความรู้ ภูมิปัญญา การใช้ประโยชน์จากสมุนไพร ในชุมชนตำบลท่าเรือ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี”

.

ตีพิมพ์ในวารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์  ปีที่ 18 ฉบับที่ 3 : กันยายน – ธันวาคม 2567

ซึ่งอยู่ในฐานข้อมูลวารสาร TCI กลุ่ม 1

.

อ่านบทความวิจัยได้ที่ GUIDELINES OF KNOWLEDGE MANAGEMENT WISDOM HERBAL MEDICINES UTILIZATION IN COMMUNITY THARUA SUBDISTRICT KOKPHOE DISTRICT, PATTANI PROVINCE | Journal of Graduate Studies Valaya Alongkorn Rajabhat University

.

ผู้เขียน:

นางสาวขวัญเรือน บุญกอบแก้ว

นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา

.

Keyword: #แนวทางการจัดการความรู้ #ภูมิปัญญา #การใช้ประโยชน์จากสมุนไพร,
Guidelines of Knowledge Management, Wisdom, Herbal Medicines Utilization

มาแกปูโละ : กินเหนียวงานแต่งชายแดนใต้

ฉันเดินเข้าไปบริเวณงานแต่งงานของน้องสาวที่รู้จักกันในหมู่บ้านเป็นเวลาเกือบเที่ยงวัน ชาวมุสลิมที่ชายแดนใต้ส่วนใหญ่หากไม่ติดภารกิจใดเมื่อได้รับการเชิญไปร่วมงานเลี้ยงงานแต่งงานมักจะนิยมไปในช่วงเวลาใกล้เที่ยง หากบางคนมีภารกิจก็จะเปลี่ยนเป็นเวลาเย็นหรือค่ำหลังเลิกงาน การไปร่วมงานเลี้ยงการแต่งงานที่นี่เรียกว่า มาแกปูโละหรือสั้น ๆ ก็คือกินเหนียวนั่นเอง

ฉันได้มีโอกาสพูดคุยสอบถามแบมังหรืออุสมาน โดซอมิ ปราชญ์ชาวบ้านชาวยะลาที่มีความรู้และทำงานคร่ำหวอดในแวดวงงานด้านประเพณีวัฒนธรรมชายแดนภาคใต้เกี่ยวกับเรื่องนี้ แบมังได้เล่าว่า เมื่อก่อนชาวบ้านแถบนี้เวลามีงานแต่งมักจะมีการเลี้ยงข้าวเหนียวซึ่งถือว่าเป็นอาหารหลักในยุคนั้นพร้อมกับข้าวเจ้าด้วย ข้าวเหนียวนั้นใช้ทานกับแกงต่าง ๆ เช่น แกงมัสมั่นเนื้อ แกงมัสมั่นแพะ บ้างก็ทานกับแกงกุ้ง ปลาแห้ง หรือสมันกุ้งก็มี จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่มาของคำว่า มาแกปูโละซึ่งเป็นภาษามลายูถิ่น โดยหากแยกเป็น 2 คำ คำว่า มาแก หมายถึง กิน ปูโละ หมายถึง ข้าวเหนียว นั่นเอง

ในงานแต่งงานของมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้แห่งนี้มีรูปแบบ วิถีทางความเชื่อและประเพณีบางอย่างที่ทั้งแตกต่างและคล้ายคลึงกับพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทย ฉันขอกล่าวถึงรูปแบบและเรื่องราวบางส่วนที่แตกต่างและเป็นอัตลักษณ์ของผู้คนที่ชายแดนใต้แห่งนี้ เช่น สัญลักษณ์การแขวนธงผ้า*กาอินลือปัส (*ผ้าที่ใช้สำหรับคลุมศรีษะหรือไหล่ของผู้หญิงในพื้นที่ชายแดนใต้ สมัยก่อนอาจใช้คลุมไหล่ ผู้ชายบางคนอาจใช้ในการโพกหัวเป็นทรงกลม ๆ หรือใช้พันเอวคล้ายการใช้งานผ้าขาวม้าของไทย) ที่แขวนเป็นสัญลักษณ์ว่าที่นี่มีงานแต่งงานหรือเป็นผ้าที่ใช้บอกเส้นทางไปยังบ้านที่จัดงานแต่งงานก็ได้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่งานเลี้ยงงานแต่งงานมักจัดภายหลังการแต่งงานตามหลักการศาสนาหรือเรียกสั้น ๆ ว่านิกะห์ ซึ่งอาจจัดก่อนวันงานเลี้ยง 1 วันหรือในช่วงเช้าก่อนเริ่มจัดงานเลี้ยงในวันเดียวกัน ก่อนจะเริ่มงานเลี้ยงหรือระหว่างการจัดงานเลี้ยงจะมีขบวนแห่ขันหมาก (บุหงาซีเระหรือพานบายศรี) จากฝ่ายเจ้าบ่าวซึ่งอาจมีรูปแบบลักษณะตั้งแต่ 3 ชั้น 5 ชั้น หรือ 7 ชั้น แล้วแต่ความสะดวกของฝ่ายที่จัดขบวนแห่ฯ ปัจจุบันจะมีสิ่งของประกอบการแห่ขันหมากอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกหลายอย่าง เช่น ผ้าถุง ผ้าละหมาด ขนมหวาน ผลไม้ เบเกอรี่ ฯลฯ

นอกจากนี้ข้าวเหนียวหรือปูโละจัดได้ว่าสิ่งสำคัญในงานเลี้ยงงานแต่งงานของมุสลิมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เนื่องจากปูโละหรือข้าวเหนียวถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในเชิงพิธีการในงานแต่งงาน โดยเฉพาะการกิน ปูโละเซอมางัตหรือข้าวเหนียวขวัญของคู่บ่าวสาว โดยในช่วงของงานแต่งคู่บ่าวสาวจะผลัดกันหยิบข้าวเหนียวคนละ 3 คำ (หรือ 3 ครั้ง) ซึ่งข้าวเหนียวจะมี 3 สี ได้แก่ สีขาวเป็นสัญลักษณ์แทนความหมายของศาสนา สีเหลือง แทนความหมายของกษัตริย์ และสีแดงแทนความหมายของชาติ โดยในสมัยก่อน การหยิบปูโละเซอมางัตนั้นจะเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมและมีการตีความเสี่ยงทายความหมายการมีชีวิตคู่ภายหลังแต่งงานของคู่บ่าวสาวของชาวมลายูจากสีข้าวเหนียวที่ได้มีการเลือก แต่ในปัจจุบันความเชื่อดังกล่าวแทบจะไม่หลงเหลืออยู่ในพื้นที่แห่งนี้อีกแล้ว

ปัจจุบันงานมาแกปูโละของชาวมุสลิมหลายอย่างได้มีการปรับเปลี่ยนเชิงรูปแบบทางประเพณีพิธีการ ทั้งนี้เพื่อปรับให้เข้ากับยุคสมัยและสภาพทางสังคมเศรษฐกิจค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่อย่างไรก็ตามรูปแบบในเชิงขั้นตอนหลักการทางศาสนาอิสลามนั้นยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คู่บ่าวสาวยุคใหม่อาจมีทั้งการเน้นรูปแบบการจัดงานเลี้ยงแต่งงานที่หรูหรา บางคู่อาจเน้นแนวเรียบง่าย แล้วแต่ความต้องการและฐานะทางเศรษฐกิจของผู้จัด เช่นเดียวกันกับผู้ที่มีส่วนสำคัญในการร่วมช่วยเหลือในวันจัดงานหรือเตรียมการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยในอดีตส่วนใหญ่จะมีญาติพี่น้องหรือเพื่อนบ้านในชุมชนมาช่วยเหลือในวันงาน แต่ปัจจุบันอาจมีการจ้างชาวบ้านหรือแม่ครัวจากภายนอกชุมชนมาช่วยทำอาหารในงานเลี้ยง มีการจ้างเยาวชนมาช่วยในการเสริฟอาหาร หรือแม้กระทั่งมีการปรับเปลี่ยนสถานที่ในการจัดเลี้ยงจากเดิมจัดงานที่บ้านคู่บ่าวสาว ซึ่งปัจจุบันอาจปรับเปลี่ยนเป็นจัดในร้านอาหารหรือโรงแรมแทน 

สิ่งเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการจัดงานแต่งงานของชาวมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแม้จะไม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากนักเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทย แต่ก็ถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ร่วมส่วนหนึ่งในการปรับเปลี่ยนของผู้คนตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป 

ขอขอบคุณผู้ให้ข้อมูลและอนุญาตให้ถ่ายภาพประกอบ

นายสมาน โดซอมิ

 

นางสาวอัสมะ สุหลง

บทความวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ เรื่อง “การฟื้นฟูและถ่ายทอดความรู้การปลูกครามและทดลอง ก่อหม้อคราม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมคราม จังหวัดปัตตานี”

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ขอเชิญชวนอ่าน #บทความวิจัย ในรอบปี 2566-2567 ที่ได้รับการตีพิมพ์

เรื่อง “การฟื้นฟูและถ่ายทอดความรู้การปลูกครามและทดลอง ก่อหม้อคราม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมคราม จังหวัดปัตตานี”

.

ตีพิมพ์ในวารสารวารสารปาริชาต สถาบันวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยทักษิณ ปีที่ 37 ฉบับที่ 2 (2024): เมษายน – มิถุนายน

ซึ่งอยู่ในฐานข้อมูลวารสาร TCI กลุ่ม 1

.

อ่านบทความวิจัยได้ที่ https://so05.tci-thaijo.org/index.php/parichartjournal/article/view/266686?fbclid=IwY2xjawHF2m5leHRuA2FlbQIxMAABHa542E9CwPqQTcdejLIky-tDFmhZViMDLUKKK12o0os5n37qCWSBsKONag_aem_KLwhl3RJ5ZoV7UTroPQ22A

.

ผู้เขียน:

นางสาวนราวดี โลหะจินดา นักวิชาการอุดมศึกษาชำนานการ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา

.

Keyword: คราม, ก่อหม้อคราม, ผ้าย้อมสีครามธรรมชาติ, Indigofera, Making indigo paste pot, Natural indigo dyed fabric

.

ติดตามข่าวสารกิจกรรมของสถาบันฯ ได้ที่

Website : https://culture.psu.ac.th/

Facebook : https://www.facebook.com/culture.psu

Instagram : https://www.instagram.com/culture.psu/

Youtube : https://www.youtube.com/@culture_psu     

 

Tiktok: https://www.tiktok.com/@culture.psu

บทความวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ เรื่อง “ความเชื่อและพิธีกรรมตามบทบาทของผู้นำทางจิตวิญญาณใน ร่างทรงเทพเจ้าจีนที่มีต่อศาลเจ้าเมืองตรัง”

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ขอเชิญชวนอ่าน #บทความวิจัย ในรอบปี 2566-2567 ที่ได้รับการตีพิมพ์

เรื่อง “ความเชื่อและพิธีกรรมตามบทบาทของผู้นำทางจิตวิญญาณในร่างทรงเทพเจ้าจีนที่มีต่อศาลเจ้าเมืองตรัง”

.

ตีพิมพ์ในวารสารสังคมศาสตร์และวัฒนธรรม โรงเรียนพระปริยัติสามัญวัดสระเรียง ปีที่ 7 ฉบับที่ 12 (2023): ธันวาคม 2566

ซึ่งอยู่ในฐานข้อมูลวารสาร TCI กลุ่ม 1

.

อ่านบทความวิจัยได้ที่ https://so06.tci-thaijo.org/index.php/JSC/article/view/270229?fbclid=IwY2xjawHF2K1leHRuA2FlbQIxMAABHft0cst0xChboC62q0SWfM2m2l2ipR4GuvMgvl48h2ddCquj0EQ8fHvzQA_aem_TXg9OZmpNS6feOxMjxgOhw

 

.

ผู้เขียน:

นางอ้อมใจ วงษ์มณฑา นักวิชาการอุดมศึกษาชำนาญการ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา

ผศ.ดร.อารีย์ ธรรมโคร่ง สาขาวิชาศิลปะการคิดเพื่อการพัฒนามนุษย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.

.

Keyword: ความเชื่อ พิธีกรรม บทบาท ร่างทรงเทพเจ้าจีน ผู้นำทางจิตวิญญาณ,
Belief Rituals Roles Chinese Deity Embodiment Spiritual Leader

.

ติดตามข่าวสารกิจกรรมของสถาบันฯ ได้ที่

Website : https://culture.psu.ac.th/

Facebook : https://www.facebook.com/culture.psu

Instagram : https://www.instagram.com/culture.psu/

Youtube : https://www.youtube.com/@culture_psu     

 

Tiktok: https://www.tiktok.com/@culture.psu

บทความวิจัย ในรอบปี 2566-2567 ที่ได้รับการตีพิมพ์ เรื่อง “การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวของวิสาหกิจชุมชน กลุ่มออมทรัพย์บุหงาซิเร๊ะ บ้านท่าคลอง จังหวัดปัตตานี”

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ขอเชิญชวนอ่าน #บทความวิจัย ในรอบปี 2566-2567 ที่ได้รับการตีพิมพ์

เรื่อง “การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวของวิสาหกิจชุมชน กลุ่มออมทรัพย์บุหงาซิเร๊ะ บ้านท่าคลอง จังหวัดปัตตานี”

.

ตีพิมพ์ในวารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 (2023) ซึ่งอยู่ในฐานข้อมูลวารสาร TCI กลุ่ม 1

.

อ่านบทความวิจัยได้ที่ https://so03.tci-thaijo.org/index.php/journal-la/article/view/265454?fbclid=IwY2xjawGxEgtleHRuA2FlbQIxMAABHSl9QAbZ0R24TDSqlhnaJEiOKFvSaB6FQx10oVsgtaXlQuCW32xIsdpdog_aem_wBnBFArGduYzUOxu1Md24A

.

ผู้เขียน:

– นิปาตีเมาะ หะยีหามะ นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา

.

Keyword: ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าว , ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าว, วิสาหกิจชุมชน, coconut products, packaging development, community enterprise

.

ติดตามข่าวสารกิจกรรมของสถาบันฯ ได้ที่

Website : https://culture.psu.ac.th/

Facebook : https://www.facebook.com/culture.psu

Instagram : https://www.instagram.com/culture.psu/

Youtube : https://www.youtube.com/@culture_psu     

 

Tiktok: https://www.tiktok.com/@culture.psu

ชวนอ่านบทความวิจัย ในรอบปีที่ได้รับการตีพิมพ์ เรื่อง“วิถีชีวิตตามพิธีกรรมและความเชื่อของคนเลี้ยงวัวชน กรณีศึกษา ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง”

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ขอเชิญชวนอ่าน #บทความวิจัย ในรอบปีที่ได้รับการตีพิมพ์

เรื่อง“วิถีชีวิตตามพิธีกรรมและความเชื่อของคนเลี้ยงวัวชน กรณีศึกษา ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง”

.

ตีพิมพ์ในวารสารสังคมศาสตร์และวัฒนธรรมโรงเรียนพระปริยัติสามัญวัดสระเรียง ปีที่ 8 ฉบับที่ 10 (2024): ตุลาคม 2567 ซึ่งอยู่ในฐานข้อมูลวารสาร TCI กลุ่ม 1

.

อ่านบทความวิจัยได้ที่ https://so06.tci-thaijo.org/index.php/JSC/article/view/277150?fbclid=IwY2xjawGxEEpleHRuA2FlbQIxMAABHRBAt2w6anblwsAZieZva_4TxsDcaMRRikVXgXEu5bq9RdoHAvTXyo-v4A_aem_M0f-8I6Ck5ar9UkTYmRM5w

.

ผู้เขียน:

– นางอ้อมใจ วงษ์มณฑา นักวิชาการอุดมศึกษาชำนาญการ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา

– ผศ.ดร.อารีย์ ธรรมโคร่ง สาขาวิชาศิลปะการคิดเพื่อการพัฒนามนุษย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.

– ผศ.ดร.อัมพร ศิลปเมธากุล สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.

.

Keyword:  วิถีชีวิต, พิธีกรรม, ความเชื่อ, คนเลี้ยงวัวชน, ภูมิปัญญาท้องถิ่น, Lifestyle, Rituals, Beliefs, Cowherds, Local Wisdom

.

#วัวชน #วิถีชีวิตชาวบ้าน #ภูมิปัญญาท้องถิ่น #ตรัง #วัฒนธรรมพื้นบ้าน #บทความวิจัย #สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา #TCI #บทความน่าอ่าน #การศึกษาไทย #พิธีกรรมและความเชื่อ #สังคมศาสตร์ #มนุษยศาสตร์

.

ติดตามข่าวสารกิจกรรมของสถาบันฯ ได้ที่

Website : https://culture.psu.ac.th/

Facebook : https://www.facebook.com/culture.psu

Instagram : https://www.instagram.com/culture.psu/

Youtube : https://www.youtube.com/@culture_psu     

Tiktok: https://www.tiktok.com/@culture.psu

[บทความจุลสาร] วันวานยังหวานอยู่ : รำลึกบรรยากาศในอดีตกับขนมจีน น้ำแข็งใสในตลาดนัด

อากาศใกล้เที่ยงวันนี้ร้อนจัดย้อนแย้งกับวสันตฤดูยิ่งนัก ฉันรู้สึกอยากทานขนมจีนน้ำยาเครื่องแกงแบบชายแดนใต้ปิดท้ายด้วยน้ำแข็งไสให้เย็นชื่นใจในบรรยากาศแบบเก่าเมื่อสมัยยังเยาว์วัย จึงตัดสินใจขี่มอเตอร์ไซค์คันเล็กไปเรื่อย ๆ ตามถนนสองเลนส์เล็ก ๆ ด้านหลังหน่วยงานที่ทำงาน จุดหมายปลายทางของฉันในวันนี้คือขนมจีนกับน้ำแข็งไสในตลาดสดและบางวันก็จะมีตลาดนัด ตลาดแห่งนี้เป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่จังหวัดปัตตานีเราเรียกสั้น ๆ ว่า ตลาดพิธาน

หลังจากหาสถานที่จอดรถมอเตอร์ไซค์เสร็จ ฉันเดินตรงเข้าไปยังตลาดด้านซ้ายมือถัดจากร้านขายผลไม้สดและร้านขายปลาแห้ง ณ ที่แห่งนั้นคือจุดหมายแห่งการกินเพื่อรำลึกบรรยากาศแต่เก่าก่อนในวันนี้ ฉันสั่งขนมจีนน้ำยามาหนึ่งจาน ระหว่างที่รอแม่ค้าจัดเตรียมขนมจีน ฉันเลื่อนเก้าอี้ไม้แบบยาวให้เข้ามาชิดกับโต๊ะมากขึ้น ร้านนี้มีโต๊ะและเก้าอี้อย่างละ 2 ตัว สำหรับจัดวางอาหารพร้อมนั่งทาน 1 ชุด และอีกชุดสำหรับนั่งทานเพียงอย่างเดียว

 

ร้านแห่งนี้มีขายเพียงขนมจีนน้ำยา น้ำแกงไตปลา น้ำแกงปลากะทิสีขาวสำหรับทานกับละแซ* (อาหารชนิดเส้นผลิตจากแป้งมีลักษณะคล้ายกับขนมจีนแต่เส้นแบน พบและเป็นที่นิยมทานกันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้) กับน้ำแข็งไสซึ่งปรับรูปแบบมาไสกับเครื่องไฟฟ้าต่างจากสมัยก่อนที่ไสด้วยมือ

ระหว่างนั่งทานฉันได้ชวนแม่ค้าซึ่งเพิ่งทราบชื่อว่า กะเราะห์ คุยไปพลางๆ กะเราะห์เล่าว่าเริ่มขายขนมจีนกับน้ำแข็งไสมาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก เมื่อเรียบจบชั้นประมศึกษาปีที่ 6 ออกมาช่วยแม่ขายของอย่างเต็มตัว จนมีครอบครัว ตอนนี้กะเราะห์อายุ 52 ปี คิดเป็นระยะเวลาที่ขายขนมจีนกับน้ำแข็งไสตั้งแต่ตอนนั้นถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 45 ปี พร้อมเล่าว่าสมัยก่อนร้านนี้จะอยู่อีกฝั่งหนึ่ง แต่เมื่อมีการปรับปรุงตลาดจึงได้ย้ายมาขายประจำฝั่งนี้ หากเดินมาจากด้านหน้าตลาดฝั่งห้างไดอาน่าร้านกะเราะห์จะอยู่ด้านซ้ายมือ ส่วนฝีมือ รสชาติอาหารที่ขายนั้นได้เรียนรู้ฝึกฝนและสืบทอดมาจากแม่ 

ร้านขนมจีนน้ำแข็งไสกะเราะห์จะเปิดตั้งแต่เวลา 09.00 .15.00 . เปิดทุกวันยกเว้นวันจันทร์ เพราะตลาดจะปิดเพื่อทำความสะอาด ขนมจีนของร้านกะเราะห์มีลูกค้าที่หลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ขายในตลาด ชาวบ้านที่มาจับจ่ายซื้อของในตลาด หรือแวะมาเพื่อซื้อขนมจีนเจ้านี้โดยเฉพาะ ระหว่างที่ฉันนั่งทานอยู่นั้น สังเกตเห็นว่ามีลูกค้ามาซื้อขนมจีนกับน้ำแข็งไสตลอดเวลา มีทั้งที่นั่งทานที่ร้านและซื้อใส่ถุงกลับไปทานที่บ้าน ราคาของขนมจีนร้านนี้ไม่แพง จานใหญ่แบบอิ่ม ๆ จานละ 30 บาท น้ำแข็งไสถ้วยใหญ่ ถ้วยละ 20 บาท

ได้ทานขนมจีนรสชาติสไตล์ชายแดนใต้ในราคาไม่แพง ในบรรยากาศที่มีชีวิตชีวารายล้อมด้วยร้านค้าหลากหลาย เก้าอี้ไม้ยาวนั่งได้ 3-4 คน ระหว่างนั่งรอได้ยินเสียงน้ำแข็งไสครืด ๆ ทำให้นึกถึงบรรยากาศอันแสนสุขใจในวันวานที่วันนี้ยังพอหาซื้อและสัมผัสได้ ณ เมืองตานีชายแดนใต้แห่งนี้

ขอขอบคุณผู้ให้ข้อมูลและอนุญาตให้บันทึกภาพ

กะเราะห์ ร้านขนมจีนกะเราะห์ ตลาดนัดพิธาน จังหวัดปัตตานี

 

เรียบเรียงบทความจุลสาร

โดย รอฮานี ดาโอ๊ะ นักวิจัยสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา

ปริศนาธรรมจากประเพณีทำศพ

การอาบน้ำศพ ทางพราหมณ์นิยมกันว่าเพื่อล้างบาปให้แก่ผู้ตาย ทางศาสนาอิสลามนิยมกันว่า
การอาบน้ำทาแป้งให้แก่ศพผู้ตายอย่างหมดจดแล้ว เมื่อผู้ตายไปเกิดชาติใดรูปร่างจะได้สะสวยหมดจดงดงาม ทางศาสนาพุทธจะอาบน้ำแล้วลงขมิ้นชันสดตำขัดสีและฟอกด้วยส้มมะกรูดมะนาว อาบน้ำหอมทากระแจะและเครื่องปรุงอื่น ๆ ตามที่ควรจะหาได้

          การแต่งตัวศพ แต่งตัวให้ไปเกิด การนุ่งผ้าให้แก่ศพ ซึ่งมีการนุ่งข้างหลังแล้วนุ่งข้างหน้านี้ เพื่อให้พิจารณาให้แจ้งว่าสัตว์ที่เกิดมาย่อมเกิดด้วยทิฐิ และตายด้วยทิฐิ มีอวิชชาปิดหลังปิดหน้า มีตัณหาเกี่ยวประสานกันดังเรียวไม้ไผ่

 เงินใส่ปาก เพื่อให้เป็นทางพิจารณาว่า คนเกิดมาแล้วย่อมลุ่มหลงอยู่ด้วยทรัพย์สมบัติเที่ยวทะเยอทะยานขวนขวายหาด้วยทางสุจริตแล้วไม่พอแก่ความต้องการ ยังพยายามแสวงหาในทางทุจริตอีก เมื่อได้มาแล้วอดออมถนอมไว้ไม่ใช้จ่ายในทางที่ควร ทรัพย์เช่นนี้เรียกว่าเป็นทรัพย์ภายนอก เมื่อตายไปแล้วแม้แต่เขาเอาใส่ปากให้ก็นำเอาไปไม่ได้ ย่อมเป็นเหยื่อของผู้อื่นทั้งสิ้น อีกทางหนึ่งกล่าวกันว่า ใส่ไว้เพื่อให้เป็นค่าจ้างแก่สัปเหร่อที่จะนำไปเผา

ขี้ผึ้งปิดหน้าศพ เพื่อป้องกันความอุจาด เพราะบางศพลืมตาค้างปิดไม่ลงบ้าง บางศพอ้าปากบ้าง

กรวยดอกไม้ธูปเทียน ให้ถือไปเพื่อจะได้ไหว้พระจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

การมัดศพ ให้ศพถือกรวยดอกไม้ธูปเทียนแล้วใช้ด้ายดิบเส้นขนาดนิ้วก้อยทำเป็นบ่วงสวมคอเป็นบ่วงแรก บ่วงที่ 2 รัดรวบหัวแม่มือและข้อมือทั้ง 2 ข้างให้ติดกัน บ่วงที่ 3 รัดรวบหัวแม่เท้าและข้อเท้าทั้ง 2 ข้างให้ติดกันเรียกกันว่าตราสังกรือดอยใน การทำบ่วงสวมคอ ผูกมือและเท้าเป็น 3 บ่วงด้วยกันนั้น มีความหมายผูกเป็นโคลง 4 สุภาพ ดังนี้

                   มีบุตรบ่วงหนึ่งเกี้ยว                 พันคอ

ทรัพย์ผูกบาทาคลอ                           หน่วงไว้

ภรรยาเยี่ยงบ่วงหนอ                          รึงรัด มือนา

สามบ่วงใครพ้นได้                             จึ่งพ้นสงสาร.

การเผาศพ : มีดที่ตัดเชือกหรือด้ายที่ผูกศพ ได้แก่ ดวงปัญญา ด้ายนั้นได้แก่ โลโภ โทโส โมโห อันว่า โลโภ โทโส โมโห นั้น ต้องตัดด้วยดวงปัญญา จึงจะขาดได้ ที่ว่าเอากิ่งไม้วางเหนือศพนั้นเพื่อจะไม่ให้ผ้าที่บังสุกุลเปื้อนศพที่มีน้ำเหลือง การที่นิมนต์พระมาชักมหาบังสุกุลนั้น ก็เพื่อให้ท่านมาปลงกรรมฐานและรับผ้านั้นเป็นไทยทาน จัดเป็นการกุศลส่วนหนึ่ง

การคว่ำหน้าศพลง เมื่อเวลาศพถูกไฟจะได้ไม่งอตัวเข้ามาได้ ถ้าเผาในท่านอนหงายศพนั้นมักงอเท้าสูงเชิงขึ้นได้

การเวียนเชิงตะกอนสามรอบ หมายความว่า เมื่อแรกเกิดมานั้นเป็นเด็ก แล้วถึงคราวเป็นหนุ่มเป็นสาว แล้วก็แปรผันไปอีกจนถึงความชรานี้ชื่อว่า อนิจจัง การที่แปรปรวนไปนั้นมีความเจ็บไข้ได้ทุกข์ทนยากชื่อว่า
ทุกขัง ในที่สุด ถึงความสลายไปคือแตกทำลายตายจากภพนี้ จะเอาอะไรไปเป็นสาระหาได้ไม่ ชื่อว่า อนัตตา การเวียนสามรอบนั้น คือ หมายถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

การนำสตางค์ทิ้งลงในเชิงตะกอน แปลว่าเป็นการซื้อที่ให้ผีผู้ตายอยู่ มีเรื่องเล่ากันมาว่า เจ้าภาพ
งานศพไม่ได้ซื้อที่ให้ผีอยู่ในเวลาเผา เมื่อเผาแล้วผีไม่มีที่อยู่ ก็เที่ยวรบกวนหลอกหลอนต่าง ๆ ภายหลังเจ้าภาพได้ซื้อที่ให้ผีแล้ว จึงไม่เที่ยวหลอกหลอนต่อไปอีก

          การที่เอาน้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ เป็นปัญหาธรรมว่าสิ่งสะอาดล้างสิ่งสกปรก คือ กุศลธรรม ย่อมล้างซึ่งอกุศลธรรม

          การห้ามไม่ให้ต่อไฟกัน เพราะไฟนั้นเป็นของร้อน ถ้าต่อกันก็ติดเนือง ๆ สืบกันไปเหมือนคนผูกเวร
เวรย่อมไม่สิ้นสุดลงได้ การที่ท่านไม่ให้ต่อก็คือชี้ทางแห่งการระงับเวร การเอาผ้าโยนข้ามไฟ 3 ครั้ง คือแสดงถึงการข้ามของร้อน มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นมูล ต้องข้ามด้วยธรรม อันเป็นอันเป็นไปในทางบริสุทธิ์ คือ
พระอธิยมรรค อริยผล และพระนิพพาน

 

          การชักไฟสามดุ้น คือแสดงว่า ราคะ โทสะ โมหะ เป็นของร้อน เปรียบเหมือนไฟสามดุ้นนั้น เมื่อ
ตัดราคะ โทสะ โมหะ เสียได้แล้ว ก็จะต้องได้รับความสุขคือ ปราศจากเครื่องร้อนทั้งปวง และเมื่อมาถึงบ้านให้ล้างหน้าและอาบน้ำนั้น เป็นการรักษาอนามัยอย่างดี ถ้ายกขึ้นสู่ปัญหาธรรมก็คือ ให้ล้างความชั่วด้วยความดีนั่นเอง.

___________________________________

เรียบเรียงโดย อ้อมใจ วงษ์มณฑา นักวิชาการอุดมศึกษาชำนาญการ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา