ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ถือเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของวิถีชีวิต สังคม ความเป็นอยู่ ศาสนา และวัฒนธรรม โดยเฉพาะวิถีชาวมุสลิม ซึ่งเป็นศาสนาที่มีผู้คนนับถือมากที่สุดในพื้นที่ วัฒนธรรมได้หล่อหลอมผสมผสานศาสนาเข้ากับวิถีชีวิต หนึ่งในวิถีชีวิตที่กลายเป็นวัฒนธรรมเด่นชัดของชาวมุสลิมสามจังหวัดคือ การมีวันศุกร์เป็นวันหยุด

 

วันศุกร์ หรือ “วันญุมอัต” (Jumu’ah) ในภาษาอาหรับและมลายู วันศุกร์ไม่ใช่เพียงวันธรรมดาในชีวิตของมุสลิม แต่ยังถือเป็น “วันอีดเล็ก” ในทุกสัปดาห์ ซึ่งเป็นโอกาสให้ชาวมุสลิมได้รวมตัวกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางศาสนาและสังคม  เป็นวันสำคัญของมุสลิมและถือเป็นวันที่ประเสริฐที่สุดในสัปดาห์ เนื่องจากตามหลักศาสนาอิสลามการละหมาดญุมอัตเป็นข้อปฏิบัติที่สำคัญ ผู้ชายมุสลิมต้องทำการละหมาดวันศุกร์ร่วมกันที่มัสยิดในช่วงเที่ยงวัน  และยังเป็นวันที่เหมาะสมสำหรับการทำความดีและชุมชนยังจัดกิจกรรมพิเศษในวันศุกร์ เช่น การบริจาค การอ่านอัลกุรอ่าน การพบปะญาติพี่น้อง และการจัดเลี้ยงต่างๆ ซึ่งตามบทบัญญัติของศาสนา วันศุกร์เป็นวันที่ผู้ที่กระทำความดีจะได้รับผลบุญทวีคูณ ทำให้มุสลิมให้ความสำคัญกับวันนี้อย่างมาก

ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อศาสนาเข้ามาหล่อหลอมวิถีชีวิตและก่อเกิดวัฒนธรรมร่วมกัน จึงทำให้วันหยุดประจำสัปดาห์ของคนในพื้นที่กลายเป็นวันศุกร์ สถานประกอบการ ห้างร้าน และสถานที่เดินการก่อสร้าง มีผู้ประกอบการเป็นชาวมุสลิม หรือผู้ประกอบการต่างศาสนิกที่เข้าใจวิถีวัฒนธรรม กิจการหลายแห่งกำหนดให้ลูกจ้างหยุดงานในวันศุกร์ เพื่อให้พนักงานสามารถประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้อย่างเต็มที่ หากสังเกตช่วงเช้าวันศุกร์ จะพบว่าการสัญจรบนท้องถนนโล่งเป็นพิเศษ เพราะผู้คนส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่กิจกรรมทางศาสนา เช่น การละหมาดซุบฮีตอนเช้า การเยี่ยมกุโบร์ การพบปะผู้คนตามร้านน้ำชา หรือการดูแล ไร่ นา สวนในช่วงเช้าก่อนถึงเวลาละหมาดวันศุกร์

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้ธุรกิจบางประเภทในพื้นที่จำเป็นต้องเปิดทำการในวันศุกร์ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค ร้านค้าหรือกิจการของมุสลิมเองจากเดิมที่เคยปิดทุกวันศุกร์ อาจจำเป็นต้องเปิดบริการ การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เจ้าของกิจการและพนักงานต้องปรับตัวร่วมกัน เช่น การเพิ่มเวลาพักกลางวันสำหรับการละหมาดแล้วชดเชยเวลางานในช่วงเย็นแทน หรือเลื่อนเวลาเปิดร้านเป็นช่วงบ่ายแทน ในทางกลับกัน กิจกรรมหรือบริการที่ไม่สามารถหยุดทำการได้ เช่น โรงพยาบาล หรือบริการขนส่งสาธารณะ อาจจัดเวลาการทำงานแบบยืดหยุ่น เช่น การเพิ่มเวลาพักกลางวันให้พนักงานมุสลิม หรือการปรับตารางเวรให้สอดคล้องกับความต้องการของพนักงาน แนวทางเหล่านี้ช่วยรักษาสมดุลระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจและการทำงานโดยไม่กระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่อีกด้วย

วิถีวัฒนธรรมการหยุดงานในวันศุกร์เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์เฉพาะของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ โดยมีศาสนาเป็นแกนกลางที่เชื่อมโยงวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อ แม้ว่ากระแสโลกและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะเข้ามามีอิทธิพล วิถีชีวิตนี้ยังคงปรับตัวอย่างเคารพในความหลากหลายของความเชื่อและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ รวมถึงบริบทของสังคมโลกในปัจจุบัน

____________________________________________________________________________

เรียบเรียงบทความโดย นายซันนูซี การีจิ นักวิชาการศึกษา สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา

 

ขอขอบคุณภาพบางส่วนจาก นายรีดูวัน ยีเฮ็ง ศูนย์สื่อสารองค์กรและกิจการนานาชาติ

Recommended Posts