ฉันเดินเข้าไปบริเวณงานแต่งงานของน้องสาวที่รู้จักกันในหมู่บ้านเป็นเวลาเกือบเที่ยงวัน ชาวมุสลิมที่ชายแดนใต้ส่วนใหญ่หากไม่ติดภารกิจใดเมื่อได้รับการเชิญไปร่วมงานเลี้ยงงานแต่งงานมักจะนิยมไปในช่วงเวลาใกล้เที่ยง หากบางคนมีภารกิจก็จะเปลี่ยนเป็นเวลาเย็นหรือค่ำหลังเลิกงาน การไปร่วมงานเลี้ยงการแต่งงานที่นี่เรียกว่า “มาแกปูโละ” หรือสั้น ๆ ก็คือกินเหนียวนั่นเอง
ฉันได้มีโอกาสพูดคุยสอบถามแบมังหรืออุสมาน โดซอมิ ปราชญ์ชาวบ้านชาวยะลาที่มีความรู้และทำงานคร่ำหวอดในแวดวงงานด้านประเพณีวัฒนธรรมชายแดนภาคใต้เกี่ยวกับเรื่องนี้ แบมังได้เล่าว่า “เมื่อก่อนชาวบ้านแถบนี้เวลามีงานแต่งมักจะมีการเลี้ยงข้าวเหนียวซึ่งถือว่าเป็นอาหารหลักในยุคนั้นพร้อมกับข้าวเจ้าด้วย ข้าวเหนียวนั้นใช้ทานกับแกงต่าง ๆ เช่น แกงมัสมั่นเนื้อ แกงมัสมั่นแพะ บ้างก็ทานกับแกงกุ้ง ปลาแห้ง หรือสมันกุ้งก็มี” จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่มาของคำว่า “มาแกปูโละ” ซึ่งเป็นภาษามลายูถิ่น โดยหากแยกเป็น 2 คำ คำว่า มาแก หมายถึง กิน ปูโละ หมายถึง ข้าวเหนียว นั่นเอง
ในงานแต่งงานของมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้แห่งนี้มีรูปแบบ วิถีทางความเชื่อและประเพณีบางอย่างที่ทั้งแตกต่างและคล้ายคลึงกับพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทย ฉันขอกล่าวถึงรูปแบบและเรื่องราวบางส่วนที่แตกต่างและเป็นอัตลักษณ์ของผู้คนที่ชายแดนใต้แห่งนี้ เช่น สัญลักษณ์การแขวนธงผ้า*กาอินลือปัส (*ผ้าที่ใช้สำหรับคลุมศรีษะหรือไหล่ของผู้หญิงในพื้นที่ชายแดนใต้ สมัยก่อนอาจใช้คลุมไหล่ ผู้ชายบางคนอาจใช้ในการโพกหัวเป็นทรงกลม ๆ หรือใช้พันเอวคล้ายการใช้งานผ้าขาวม้าของไทย) ที่แขวนเป็นสัญลักษณ์ว่าที่นี่มีงานแต่งงานหรือเป็นผ้าที่ใช้บอกเส้นทางไปยังบ้านที่จัดงานแต่งงานก็ได้เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่งานเลี้ยงงานแต่งงานมักจัดภายหลังการแต่งงานตามหลักการศาสนาหรือเรียกสั้น ๆ ว่า “นิกะห์” ซึ่งอาจจัดก่อนวันงานเลี้ยง 1 วันหรือในช่วงเช้าก่อนเริ่มจัดงานเลี้ยงในวันเดียวกัน ก่อนจะเริ่มงานเลี้ยงหรือระหว่างการจัดงานเลี้ยงจะมีขบวนแห่ขันหมาก (บุหงาซีเระหรือพานบายศรี) จากฝ่ายเจ้าบ่าวซึ่งอาจมีรูปแบบลักษณะตั้งแต่ 3 ชั้น 5 ชั้น หรือ 7 ชั้น แล้วแต่ความสะดวกของฝ่ายที่จัดขบวนแห่ฯ ปัจจุบันจะมีสิ่งของประกอบการแห่ขันหมากอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกหลายอย่าง เช่น ผ้าถุง ผ้าละหมาด ขนมหวาน ผลไม้ เบเกอรี่ ฯลฯ
นอกจากนี้ข้าวเหนียวหรือปูโละจัดได้ว่าสิ่งสำคัญในงานเลี้ยงงานแต่งงานของมุสลิมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เนื่องจากปูโละหรือข้าวเหนียวถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในเชิงพิธีการในงานแต่งงาน โดยเฉพาะการกิน “ปูโละเซอมางัตหรือข้าวเหนียวขวัญ” ของคู่บ่าวสาว โดยในช่วงของงานแต่งคู่บ่าวสาวจะผลัดกันหยิบข้าวเหนียวคนละ 3 คำ (หรือ 3 ครั้ง) ซึ่งข้าวเหนียวจะมี 3 สี ได้แก่ สีขาวเป็นสัญลักษณ์แทนความหมายของศาสนา สีเหลือง แทนความหมายของกษัตริย์ และสีแดงแทนความหมายของชาติ โดยในสมัยก่อน การหยิบปูโละเซอมางัตนั้นจะเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมและมีการตีความเสี่ยงทายความหมายการมีชีวิตคู่ภายหลังแต่งงานของคู่บ่าวสาวของชาวมลายูจากสีข้าวเหนียวที่ได้มีการเลือก แต่ในปัจจุบันความเชื่อดังกล่าวแทบจะไม่หลงเหลืออยู่ในพื้นที่แห่งนี้อีกแล้ว
ปัจจุบันงานมาแกปูโละของชาวมุสลิมหลายอย่างได้มีการปรับเปลี่ยนเชิงรูปแบบทางประเพณีพิธีการ ทั้งนี้เพื่อปรับให้เข้ากับยุคสมัยและสภาพทางสังคมเศรษฐกิจค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่อย่างไรก็ตามรูปแบบในเชิงขั้นตอนหลักการทางศาสนาอิสลามนั้นยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คู่บ่าวสาวยุคใหม่อาจมีทั้งการเน้นรูปแบบการจัดงานเลี้ยงแต่งงานที่หรูหรา บางคู่อาจเน้นแนวเรียบง่าย แล้วแต่ความต้องการและฐานะทางเศรษฐกิจของผู้จัด เช่นเดียวกันกับผู้ที่มีส่วนสำคัญในการร่วมช่วยเหลือในวันจัดงานหรือเตรียมการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยในอดีตส่วนใหญ่จะมีญาติพี่น้องหรือเพื่อนบ้านในชุมชนมาช่วยเหลือในวันงาน แต่ปัจจุบันอาจมีการจ้างชาวบ้านหรือแม่ครัวจากภายนอกชุมชนมาช่วยทำอาหารในงานเลี้ยง มีการจ้างเยาวชนมาช่วยในการเสริฟอาหาร หรือแม้กระทั่งมีการปรับเปลี่ยนสถานที่ในการจัดเลี้ยงจากเดิมจัดงานที่บ้านคู่บ่าวสาว ซึ่งปัจจุบันอาจปรับเปลี่ยนเป็นจัดในร้านอาหารหรือโรงแรมแทน
สิ่งเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการจัดงานแต่งงานของชาวมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแม้จะไม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากนักเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทย แต่ก็ถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ร่วมส่วนหนึ่งในการปรับเปลี่ยนของผู้คนตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป
ขอขอบคุณผู้ให้ข้อมูลและอนุญาตให้ถ่ายภาพประกอบ
นายสมาน โดซอมิ
นางสาวอัสมะ สุหลง