แดดอ่อน ๆ ยามสายพร้อมกับสายลมริมทะเลบ้านทอน นราธิวาสปะทะใบหน้าของเรา ในวันที่ข้าพเจ้าและทีมงานมีภารกิจลงพื้นที่เพื่อสำรวจสถานภาพช่างศิลป์งานไม้และการเขียนลวดลายเรือกอและจำลองในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส บ้านทอนเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมและประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน เราจึงยังคงพบเห็นเรือกอและและเรือประมงท้ายตัดจำนวนมากในพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งตรงข้ามกันกับช่างทำเรือกอและและช่างผู้เขียนลวดลายเรือกอและซึ่งในปัจจุบันเหลืออยู่จำนวนน้อยมากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งบ้านทอน จังหวัดนราธิวาสเองก็ประสบกับภาวะนี้เช่นเดียวกัน

          ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของประชากรในพื้นที่ ประกอบกับเกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและการลดน้อยถอยลงทรัพยากรในท้องทะเล ส่งผลให้ชาวบ้านในชุมชนบ้านทอน จังหวัดนราธิวาสปรับเปลี่ยนอาชีพเพื่อให้สามารถดำรงชีพต่อไปได้ในภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกันกับนายรอซี บินดาโอ๊ะ ผู้ผันแปรมาประกอบอาชีพช่างเรือกอและจำลอง ที่ทำหน้าที่ทั้งสร้างเรือกอและจำลองรวมทั้งเขียนลวดลายบนตัวเรือกอและ

         นายรอซี บินดาโอ๊ะ ได้เล่าให้ข้าพเจ้าว่า แรกเริ่มเดิมทีตนเคยเป็นช่างทำและเขียนลวดลายเรือกอและในพื้นที่ แต่เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่ง (ประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา) การประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านเริ่มลดน้อยลง ประกอบการทำเรือกอและใช้เวลาค่อนข้างยาวนาน นอกจากนี้ลูกค้าและนักท่องเที่ยวจากนอกพื้นที่บางท่านที่ชอบเรือกอและงานศิลป์ แต่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เรือกอและลำจริง รวมทั้งไม่มีศักยภาพที่จะซื้อเรือกอและ เนื่องด้วยราคา ขนาดลำเรือที่ใหญ่โตและต้องใช้พื้นที่ในการจัดเก็บ เรือกอและจำลองจึงเป็นคำตอบและทางเลือกสำหรับคนเหล่านั้น

        นายรอซีหรือแบรอซีครูช่างเรือกอและจำลองได้เล่าต่อว่า ตนเริ่มทำเรือกอและจำลองตั้งแต่เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เนื่องจากพ่อเป็นช่างเรือกอและและเรืออปาตะกือระ(ท้ายตัด) จึงคลุกคลีกับการทำเรือมาตั้งแต่เด็ก ประกอบกับการคลุกคลีอยู่ในชุมชนประมงพื้นบ้านที่เห็นเรือกอและมาตั้งแต่จำความได้ จากพ่อที่เป็นช่างต่อเรือกอและส่งผลให้ชื่นชอบและหลงใหลงานดังกล่าวตั้งแต่เด็ก โดยได้มีการขีดเขียนลวดลายเรือกอและลงบนผืนทรายและพัฒนาเขียนลวดลายลงบนลำเรือจริงในลำดับต่อมา

 

          การทำเรือกอและจำลองที่นายรอซีผลิตนั้นส่วนใหญ่ใช้ดอกลายผสมผสาน คือดอกลายยาวอ(ชวา) ดอกลายมลายูและดอกลายไทย ไม้ที่ใช้ในการทำเรือกอและจำลอง คือ ไม้กะท้อน เนื่องจากไม่เป็นมอด และไม่แตกง่าย ส่วนสีหลักที่ใช้ในการเขียนลวดลายเรือกอและจำลอง ได้แก่ สีแดง เขียว และน้ำเงิน

           การผลิตและจำหน่ายเรือกอและจำลองก่อนหน้าเกิดสถานการณ์โควิดสร้างรายได้ที่ดีมากแก่แบรอซี โดยจำนวนการผลิตที่มากที่สุด คือ 10 ลำต่อสัปดาห์ โดยมีลูกค้าส่วนทั้งในและนอกพื้นที่ บางรายเป็นชาวมาเลเซีย ทั้งนี้ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด -19 ส่งผลให้รายได้และการสั่งผลิตเรือกอและจำลองลดน้อยลงไปมาก แต่โดยรวมยังคงสามารถประคองอาชีพนี้ได้ แบรอซีกล่าวเพิ่มเติมว่า ตนยินดีที่จะถ่ายทอดความรู้ทักษะการทำเรือกอและจำลองแก่เยาวชนและผู้สนใจ เนื่องจากเมื่อก่อนได้เคยเปิดศูนย์การเรียนรู้แก่เยาวชนในชุมชน แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกิดข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณที่ขาดแคลนและเวลาที่ลดน้อยลงทำให้ศูนย์ดังกล่าวได้ปิดตัวลง

               การผลิตและจำหน่ายเรือกอและจำลองก่อนหน้าเกิดสถานการณ์โควิดสร้างรายได้ที่ดีมากแก่แบรอซี โดยจำนวนการผลิตที่มากที่สุด คือ 10 ลำต่อสัปดาห์ โดยมีลูกค้าส่วนทั้งในและนอกพื้นที่ บางรายเป็นชาวมาเลเซีย ทั้งนี้ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด -19 ส่งผลให้รายได้และการสั่งผลิตเรือกอและจำลองลดน้อยลงไปมาก แต่โดยรวมยังคงสามารถประคองอาชีพนี้ได้ แบรอซีกล่าวเพิ่มเติมว่า ตนยินดีที่จะถ่ายทอดความรู้ทักษะการทำเรือกอและจำลองแก่เยาวชนและผู้สนใจ เนื่องจากเมื่อก่อนได้เคยเปิดศูนย์การเรียนรู้แก่เยาวชนในชุมชน แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกิดข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณที่ขาดแคลนและเวลาที่ลดน้อยลงทำให้ศูนย์ดังกล่าวได้ปิดตัวลง

_______________________

บทความจุลสาร

 

ช่างเรือกอและจำลองบ้านทอน ผู้สืบสานงานศิลป์แห่งท้องทะเล

โดย นางสาวรอฮานี ดาโอ๊ะ นักวิจัย

 

ที่มา : นายรอซี บินดาโอ๊ะ
ครูช่างเรือกอและจำลอง บ้านทอน นราธิวาส
       

สัมภาษณ์
ณ วันที่
14 ธันวาคม 2564

ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์โครงการวิจัยเรื่องสำรวจและประเมินสถานภาพช่างศิลป์ฯลฯ
ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการ โดย สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น
สำนักงานบริหารวิทยสถานสังคมศาสตร์ 
มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (TASSHA)

Recommended Posts