INDIGO HISTORY

ปัตตานีในอดีตเป็นเมืองท่าสำคัญในยุคการค้าทางเรือต่อเนื่องมาถึงยุคการล่าอาณานิคมมีบันทึกชาวต่างชาติ บรรยายถึงสินค้าเข้าและสินค้าออกของเมืองปัตตานีไว้หลากหลายนอกจากนี้ยังบรรยายถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่การแต่งกายการใช้ผ้าจากบันทึกการเดินเรือของเจิ้งโห พุทธศตวรรษที่ 19 “ประชาชนในท้องถิ่นทำเกลือจากน้ำทะเลและเหล้าจากต้นสาคู นอกจากนี้ยังมีผลผลิตอย่างอื่น เช่น น้ำผึ้ง น้ำตาลทราย เครื่องหอม ผ้าขาวที่เรียกว่า ผ้าบาคูลา ผู้หญิงชอบนุ่งผ้าสีขาวและกระโจมอกด้วยผ้าสีน้ำเงิน” บันทึกอ้างถึงการใช้ผ้าสีน้ำเงิน และมีเอกสารที่กล่าวถึง คราม เป็นสินค้าส่งออกของเมืองปัตตานี “สินค้าท้องถิ่นที่ปัตตานีที่เป็นที่ต้องการของพ่อค้าชาวโปรตุเกสได้แก่ ข้าว ดีบุก งาช้าง กำยาน คราม ครั่ง และไม้ฝาง”

ประวัติศาสตร์การค้าคราม การค้าเนื้อครามในสมัยอยุธยาจากบันทึกของชาวต่างชาติที่เข้ามาทำการค้าและเจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรสยามและปัตตานี เช่น

 

บันทึกของฮอลันดา เมื่อปี พ.ศ.2146

“ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ฮอลันดาได้ตั้งสถานีการค้าขึ้นที่ปัตตานีในปี พ.ศ.2146 โดยเห็นว่าปัตตานีเป็น “ประตูไปสู่จีน” ขณะนั้นปัตตานีเป็นเมืองขึ้นของไทยฮอลันดาจึงได้ติดต่อกับอยุธยาโดยส่งฑูตชื่อ คอร์เนลิส  สเปกซ์ เข้ามาเฝ้าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในปีพ.ศ.2147 เพื่อทำความตกลงในเรื่องการค้าและขอตั้งสถานีการค้าขึ้นที่อยุธยา”“จะเห็นได้ว่าฮอลันดามีจุดมุ่งหมายในระยะแรกๆ คือต้องการค้าขายกับจีนโดยอาศัยปัตตานีเป็นสถานีการค้าสินค้าจีนที่ฮอลันดาต้องการ ได้แก่ ไหมดิบคุณภาพดี ผ้าไหม เครื่องถ้วยชาม ครามเปียก กำยาน ตะกั่ว รากไม้ ฯลฯ”

 

บันทึกของโปรตุเกสปี พ.ศ.2149

“เมื่อเควลโลได้ทำสัญญาไมตรีกับประเทศไทยแล้วพ่อค้าชาวโปรตุเกสก็เข้ามาค้าขายในพระราชอาณาจักรไทยมากขึ้นทุกทีส่วนมากเข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในพระนครศรีอยุธยาและยังมีตัวแทนการค้าอยู่ที่นครศรีธรรมราชและปัตตานีทำการค้าขาย ข้าว ดีบุก งาช้าง กำยาน คราม ครั่ง ไม้ฝาง”

 

บันทึกของฝรั่งเศส ปี พ.ศ.2411

          “ในบรรดาสินค้าหลักๆที่ค้าขายกันไม่ว่าจะเป็นสินค้าออกหรือสินค้าเข้าจะต้องมีสินค้าสองสามชนิดซึ่งเมื่อเริ่มนำเข้าไปในยุโรปโดยเฉพาะที่ฝรั่งเศสได้กลายเป็นที่นิยมอย่างมากได้แก่ ข้าวเจ้า ไม้สัก ฝ้าย คราม ไม้สำหรับย้อมสี งาช้าง ไม้มะเกลือ ฯลฯ
สินค้าเหล่านี้มีความสำคัญต่อการเดินเรือ ศิลปกรรม อุตสาหกรรม…”

 

          จากบันทึกของชาวตะวันตกข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ครามเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็นที่ต้องการของชาวยุโรปในยุคการค้าทางทะเล จนกระทั่งล่วงเข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม อาณานิคมกลายเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ เช่น อังกฤษใช้แรงงานชาวอินเดียปลูกครามได้จำนวนมาก ฮอลันดาใช้ครามเป็นพืชเศรษฐกิจทำการเพาะปลูกบนเกาะชวา

ราวปี พ.ศ. 2433 เริ่มมีการสังเคราะห์สีเคมีและนิยมใช้สีเคมีในอุตสาหกรรมโรงงานทอผ้า ต่อมาเมื่อผ้าทอจากโรงงานมีปริมาณมาก ราคาถูก สีสันและลวดลายได้รับความนิยมเป็นที่ต้องการของตลาด จึงกลายช่วงเวลาล่มสลายของการทอผ้าแบบทอหูกหรือทอโหกในภาคใต้ คนท้องถิ่นไม่ทอผ้า ไม่ย้อมเส้นใยด้วยสีครามธรรมชาติ และปัจจุบันเป็นยุคที่เรียกได้ว่า ครามเป็นเพียงวัชพืชที่คนท้องถิ่นไม่รู้จักและไม่นำมาใช้ประโยชน์อีกต่อไป 

ภาพวาดของผู้หญิงที่ทำการค้าในนครปตานี (ภาพจาก Joan Nieuhof. Gedenkwaerdige zee-en lantreize. Amsterdam, 1682, p. 64)

อ้างอิง :คลิสตอฟ คาร์ล แฟร์นแบร์เกอร์ : ชาวออสเตรียคนแรกในปตานีและกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2167-2168). กรุงเทพฯ : ศูนย์ยุโรปศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559.

INDIGO STORY

ประวัติความเป็นมาของครามที่เกี่ยวข้องกับเมืองปัตตานี

          ครามเป็นพืชให้สีธรรมชาติที่เคยมีการใช้ประโยชน์อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ปัตตานีเป็นเมืองท่าค้าขายสำคัญที่ชาวต่างชาติเข้ามาตั้งสถานีการค้า ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้านานาชาติรวมทั้งสินค้าพื้นเมืองของปัตตานีในสมัยอยุธยา มีข้อมูลสำคัญที่กล่าวถึงคราม ตรงกับปี พ.ศ.2184 “สินค้าท้องถิ่นปัตตานี เป็นที่ต้องการของพ่อค้าชาวโปรตุเกส ได้แก่ ข้าว ดีบุก งาช้าง กำยาน คราม ครั่ง และไม้ฝาง นอกจากนี้สินค้าจากจีนและญี่ปุ่นพวกเครื่องถ้วยชาม แพรไหม และทองแดงก็เป็นที่ต้องการของพ่อค้าโปรตุเกสเพื่อซื้อไปจำหน่ายในประเทศแถบตะวันตกอีกทอดหนึ่ง”

ครามแห้งจากการทดลอง

           “ร่องรอยของการทอผ้าและผ้าโบราณที่พบในเมืองปัตตานี” จากการสัมภาษณ์ นางแมะหวอ  หวังหมัด อายุ 94 ปี (สัมภาษณ์ปีพ.ศ. 2539) นางแมะหวอ  หวังหมัด เป็นช่างทอผ้ารุ่นเก่าที่ยังรู้จักกรรมวิธีในการนำเอาต้นครามมาทำสีย้อมผ้าซึ่งตัวท่านสามารถทำได้ทั้งครามเปียกและครามแห้ง โดยเฉพาะครามแห้งนั้นสามารถทำเป็นก้อนหรือเป็นผงสามารถเก็บไว้ใช้ได้นานปี เท่าที่สำรวจพบในขณะนี้มีเฉพาะคุณยายคนเดียวเท่านั้นที่รู้จักแปรรูปครามให้เป็นครามแห้งด้วยกรรมวิธีแบบโบราณดั้งเดิมที่เหลืออยู่ในขณะนี้ …การนำเอาต้นครามมาทำสีย้อมผ้าโดยทั่วไปในทุกๆภาคจะรู้จักแต่ครามเปียกกันทั้งนั้น โดยนำต้นครามมาหมักด้วยปูนใสจนเน่าโดยใช้เวลาประมาณ 3-4 คืน จึงจะได้น้ำย้อมสีครามจากนั้นจึงคั้นและกรองเอากากออก ขั้นสุดท้ายจึงทิ้งไว้ให้ตกตะกอนรินเอาน้ำใสที่อยู่ข้างบนทิ้งแล้วจึงเติมปูนกินหมากและน้ำด่างขี้เถ้าชนิดใสลงไปแล้วตีให้เข้ากันก็สามารถนำด้ายหรือผ้าลงย้อมได้  คุณยายรู้จักกรรมวิธีทำครามแห้งไว้ใช้ได้ตลอดฤดูกาลประกอบกับตัวท่านเองและบรรพบุรุษของท่านเป็นชาวเมืองปัตตานีมาตั้งแต่ดั้งเดิม กรรมวิธีการทำครามสำหรับย้อมผ้าของคุณยายแมะหวอ หวังหมัด สามารถทำได้สองอย่างคือ ครามเปียก และครามแห้ง

INDIGO SPECIES

ชนิดพันธุ์ครามที่พบในจังหวัดปัตตานี

          พืชตระกูล Indigofera ครามฝักตรง (Indigofera tinctoria Linn.) และ ครามฝักงอ (Indigofera suffruticosa Miller ssp.)  เรียกว่า “ครามถั่ว” ครามเป็นพืชตระกูลถั่วมีประโยชน์ต่อระบบดินช่วยเพิ่มไนโตรเจนในดินเนื่องจากรากพืชมีปมและในปมมีแบคทีเรียที่ช่วยตรึงในโตรเจนในดิน ครามเป็นพืชที่พบมากในพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลรอบอ่าวปัตตานี 

ภาพซ้าย ฝักครามฝักตรง ภาพขวา ครามฝักงอ 

ภาพลักษณะใบและช่อฝักครามทั้งสองแบบ

ภาพความยาวฝัก และขนาดเมล็ดครามฝักตรง

ภาพครามฝักตรงเมล็ดสีเหลือง     ครามฝักงอเมล็ดสีดำ

INDIGO  PLANTATION  

การปลูกคราม

ไถพรวนดิน ตากแดดไว้ 1 สัปดาห์ ยกร่องสูง 30 เซนติเมตร กว้าง 1.2 เมตร ยาว 40 เมตร  ในระยะ 1 ร่อง มีระยะหลุมห่างระหว่างหลุมห่าง 30 เซนติเมตร และ 40 เซนติเมตร ใน 1 หลุมหว่านเมล็ดคราม 5-10 เมล็ด เมื่อต้นครามอายุ 120 วัน มีช่อดอกและฝักครามอ่อน เป็นระยะพร้อมเก็บเกี่ยวต้นครามเพื่อนำไปหมักทำเนื้อครามแล้ว

การเก็บเกี่ยวคราม

           เก็บเกี่ยวใบครามช่วงเช้า เรียงใบครามลงในถัง เติมน้ำให้ท่วมฟ่อนคราม ใช้ก้อนหิน/อิฐที่มีน้ำหนักทับไว้ แช่ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง เมื่อครบ 24 ชั่วโมง สังเกตผิวน้ำเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมฟ้า นำฟ่อนครามออกจากถังหมัก เหลือเพียงน้ำคราม กรองเศษใบครามให้เหลือเพียงน้ำคราม(กรณีที่พบว่าใบครามในถังหมักยังดูสดอยู่ให้เพิ่มระยะเวลาหมักไปอีก 6 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ)

INDIGO POT EXPERIMENT

การก่อหม้อคราม

ก่อหม้อคราม หมายถึง การเตรียมน้ำย้อมโดยการหมักเนื้อคราม ด้วยน้ำด่าง ปูนกินหมาก น้ำมะขามเปียก จนกว่า Indigo blue จะเปลี่ยนเป็น Indigo white การก่อหม้อคราม มีหลายสูตรขึ้นอยู่กับภูมิปัญญาและภูมินิเวศของท้องถิ่น ดังนั้นวัสดุท้องถิ่นที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการทำน้ำด่างเพื่อก่อหม้อครามจึงมีหลากหลาย เช่น เหง้ากล้วย เปลือกผลมะพร้าว งวงตาลโตนดตัวผู้  ต้นขี้เหล็ก เป็นต้น

วัตถุดิบที่ใช้ก่อหม้อ

1.      เนื้อครามเปียก            

2.      น้ำด่างขี้เถ้า

3.      ปูนกินหมาก            

4.      มะขามเปียก


วิธีก่อหม้อคราม

1.     นำเนื้อครามเปียกเทลงในหม้อคราม

2.     น้ำด่างผสมปูนละลายให้เข้ากันกรองแล้วรินใส่หม้อคราม

3.     เติมน้ำมะขามเปียก  ลงในหม้อคราม ทำการโจก*  (โจก*

หมายถึงการใช้ขันตักน้ำครามในหม้อยกขันสูงประมาณ 30 เซนติเมตร
แล้วค่อยๆเทกลับลงไปในหม้อ)

4.      ปิดฝาหม้อครามให้สนิท

5.      ภายใน 24 ชั่วโมงพบว่าหม้อครามมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ในสถานะสมบูรณ์น้ำครามมีสีเหลืองพร้อมย้อมผ้าได้ระหว่างนี้ให้สังเกตสีน้ำ ใช้วิธีดมกลิ่นขณะโจกคราม กลิ่นน้ำครามจะหอมกลิ่นปูนและกลิ่นคราม สังเกตสีน้ำครามเป็นสีเหลืองอมเขียว เมื่อโจกแล้วสังเกตฟองเป็นสีน้ำเงินวาว โจกแล้วฟองไม่ยุบหายทันทีเมื่อหม้อความมีความเปลี่ยนแปลงตามนี้แสดงว่าน้ำครามสมบูรณ์พร้อมทำการย้อมผ้าได้ เมื่อวัดค่า pH อยู่ระหว่าง 12-13 ถือว่าเหมาะสมในการย้อมสีคราม

INDIGO  MUD

          การทำเนื้อคราม

          น้ำครามจากการหมัก 24 ชั่วโมง ยังไม่สามารถใช้ย้อมสีได้ ต้องนำปูนกินหมากมาละลายผสมกับน้ำครามในถังใบเล็ก จากนั้นกรองแล้วค่อย ๆ รินน้ำปูนกินหมากลงถังหมักคราม ทำการตีน้ำคราม หมายถึงการใช้วัสดุไม้ไผ่สาน กดขึ้น-ลงในน้ำครามอย่างสม่ำเสมอเป็นการนำออกซิเจนลงในน้ำคราม การตีครามใช้เวลาประมาณ 10 นาที ยกขึ้นลงสม่ำเสมอหรือนับ 500 ครั้ง ตีจนฟองยุบ โดยสังเกตฟองใสเป็นประกายสีน้ำเงินจากฟองขนาดใหญ่มีขนาดเล็ก น้ำครามเปลี่ยนจากเหลืองอมเขียวเป็นสีเหมือนน้ำชาจีน และฟองยุบตัวลง พักไว้ 24 ชั่วโมงให้ครามตกตะกอน ครบ 24 ชั่วโมง รินน้ำใสออก เหลือตะกอนครามที่นอนก้นถัง จึงเตรียมตะกร้าสี่เหลี่ยมนำผ้าชนิดหนาทอเนื้อแน่นวางซ้อนตะกร้าใช้ไม้หนีบผ้าไว้ทั้งสี่มุม จากนั้นรินตะกอนน้ำครามลงในตะกร้าเพื่อกรองเนื้อครามทิ้งไว้ 24 -48 ชั่วโมง เมื่อครบกำหนดจึงตักเอาเนื้อครามเปียกใส่ภาชนะที่มีฝาปิดเก็บไว้ 

ภาพอุปกรณ์ตีครามทำจากไม้ไผ่สาน

ภาพฟองครามสีน้ำเงิน

บทความโดย

นราวดี โลหะจินดา นักวิชาการ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

Recommended Posts