ช่างเครื่องประดับมลายู : ประกายแห่งภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมชายแดนใต้
หากเอ่ยถึงช่างทำเครื่องประดับมลายูผู้ชายที่ดูดี ทรงพลัง หลากหลายรูปแบบเช่นแหวนเงินประดับเพชรพลอยต่าง ๆ หลายคนย่อมนึกถึงแหล่งฝีมือช่างในพื้นที่ตำบลปูยุด อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี และหากจะเอ่ยถึงความงดงามชดช้อยแห่งเครื่องประดับหญิง ทั้งแหวนเงิน ทองหรือนากสร้อยข้อมือ กำไล สร้อยคอประดับเพชรพลอย ต่างหูแหล่งช่างฝีมือดีที่ไม่อาจปฏิเสธฝีมือและทักษะอันยอดเยี่ยมย่อมต้องนึกถึงช่างเครื่องประดับมลายูแห่งอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี โดยที่บรรดาช่างฯทั้งสองพื้นที่ล้วนเรียนรู้และได้รับการถ่ายทอดมาจากครูช่างฯ มากฝีมือ หรือแม้กระทั่งการสืบทอดองค์ความรู้มาจากเครือญาติ ครอบครัว ทั้งด้านการออกแบบ ทักษะ เทคนิคพิเศษเฉพาะตัวอันเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ชายแดนใต้
ในวันที่กระแสแห่งความรวดเร็วในการบริโภคถาโถมเข้ามากระหน่ำการประกอบธุรกิจประเภทต่าง ๆ ทั่วโลก ช่างเครื่องประดับมลายูเองก็ดูเหมือนจะหนีไม่พ้นกระแสแห่งความเชี่ยวกรากนี้เช่นกัน จากวันวานเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว (ตามช่วงอายุช่าง) เครื่องประดับมลายูชายหญิงดูเหมือนจะเป็นความนิยมที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวตน รสนิยม ระดับฐานะของผู้ใช้ อาชีพช่างทำเครื่องประดับมลายูสามารถพบได้ง่ายในทุกหัวระแหงชายแดนใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จะพบกับรูปแบบ เทคนิคการทำเครื่องประดับอันเป็นลักษณะเฉพาะที่ไม่สามารถพบเห็นได้จากที่อื่น ตลอดจนชื่อเรียกเฉพาะ ซึ่งหากได้ถามคนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเราเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายดายที่ท่านเหล่านั้นจะเอ่ยชื่อให้เราฟัง เช่น แหวนประดับเพชรพลอยของผู้หญิงรูปทรงบือแนซือกือบง ตอลอ กานา ลาดู ฯลฯ (นายมูฮำหมัดอาซาร์ฟ อับรู : ทายาทและช่างผู้ผลิตเครื่องประดับมลายูในพื้นที่ตำบลปูยุด อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี: สัมภาษณ์)
อย่างไรก็ตาม
แม้เครื่องประดับมลายูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีความงดงาม
ทรงคุณค่าอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่รังสรรค์โดยช่างฯมากฝีมือในพื้นที่
แต่ด้วยกระแสแห่งความเร่งด่วน อุปสงค์อุปทาน
รสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ทำให้ไม่ง่ายที่จะคงความเป็นงานฝีมือที่เป็นรูปแบบดั้งเดิมไว้ได้เต็มรูปแบบ
ช่างบางส่วนจึงได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ วิธีการผลิต
การขายบางส่วนให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่มีความหลากหลายช่วงวัย
รูปแบบการใช้งาน และหลากหลายพื้นที่
ซึ่งผู้บริโภคในปัจจุบันได้มีความหลากหลายทั้งจากภายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
กรุงเทพ ประเทศมาเลเซีย รูปแบบที่ปรับไปได้แก่
หากเป็นงานหรือเครื่องประดับที่ต้องการความเร่งด่วน เช่น
แหวนสำหรับประกอบพิธีแต่งงาน ซึ่งลูกค้าต้องการรับสินค้าในระยะเวลาไม่กี่วัน
ราคาไม่สูงมากนัก สามารถปรับรูปแบบเป็นแหวนบล็อกที่ให้ความรวดเร็วในการผลิตและราคาไม่สูงเท่าแหวนที่ทำการผลิตโดยราคาจะห่างกันประมาณครึ่งต่อครึ่ง
เช่น แหวนที่ออกแบบและใช้กรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมโดยปกติจะมีราคา 800 บาท
แต่หากใช้บล็อกจะมีราคา 400 บาท
และมีช่วงเวลาการผลิตจะเหลือเพียง 2-3 วัน ซึ่งหากใช้กรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมจะใช้เวลาประมาณ
2 สัปดาห์ถึงหนึ่งเดือน เป็นต้น
ทั้งนี้ การปรับตัวดังกล่าวแม้จะทำให้มีลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้น แต่บางส่วนมีผลกระทบต่อช่างเครื่องประดับมลายูที่มีฝีมือแบบดั้งเดิมไม่น้อย เนื่องจากงานที่เน้นรายละเอียดและฝีมือตามรายการลูกค้าสั่งจะน้อยลงไป ทำให้ช่างรายย่อยหรือช่างที่เป็นลูกจ้างประจำร้านเครื่องประดับในพื้นที่ฯ ต่าง ๆ ได้รับงานหรือรายได้ลดน้อยลงไป แต่นับว่ายังเป็นอีกทางเลือกที่ทำให้ช่างเหล่านี้ได้มีพื้นที่และโอกาสในการรังสรรค์ฝีมือทักษาด้านเครื่องประดับมลายูให้คงอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้แห่งนี้ (นายอับดุลเราะห์มาน เจะอูมา นายอับดุลเลาะ อาแวกะจิ ช่างเครื่องประดับมลายูแห่งอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี : สัมภาษณ์)
อย่างไรก็ตาม แม้ภาพการทำเครื่องประดับมลายูในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ดูเหมือนจะไม่เปล่งประกายเทียบเท่าในอดีต แต่องค์ความรู้ ภูมิปัญญาในการทำเครื่องประดับมลายูดังกล่าวยังคงหลงเหลือให้มีการเฉิดฉาย สืบทอดให้ผู้คนได้พบเห็นเรียนรู้ โดยจากการได้สัมภาษณ์บรรดาครูช่างดังกล่าวได้มีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการสืบสาน ส่งต่อภูมิปัญญาดังกล่าวจากหลายข้อ เช่น
1.รวบรวมข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิค กระบวนการทำเครื่องประดับรูปแบบมลายู
2. พัฒนาเป็นหลักสูตรระยะสั้นเพื่ออบรมแก่ผู้ที่สนใจ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือสถาบันการสนับสนุนร่วมสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ และทุนในการดำเนินการ
3. จัดกิจกรรมหรือนิทรรศการนำเสนอ บูธขายเกี่ยวกับเรื่องเครื่องประดับและช่างทำเครื่องประดับรูปแบบมลายูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
4. จัดทำทำเนียบปราชญ์ ผู้รู้ด้านเครื่องประดับรูปแบบมลายูฯ
5. พัฒนาคู่มือ รูปแบบลวดลายเครื่องประดับรูปแบบมลายูเพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบอื่น ๆ
โดยที่ข้อเสนอแนะเหล่านี้อาจเป็นเพียงหนทางหนึ่งในการช่วยสืบสาน อนุรักษ์งานฝีมืออันเป็นศิลปะที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่สจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้คงอยู่ในพื้นที่ต่อไป
____________________________
บทความโดย นางสาวรอฮานี ดาโอ๊ะ นักวิจัยสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา
ที่มา
: นายมูฮำหมัดอาซาร์ฟ อับรู :
ทายาทและช่างผู้ผลิตเครื่องประดับมลายูในพื้นที่ตำบลปูยุด
อำเภอเมือง
จังหวัดปัตตานี
นายอับดุลเราะห์มาน
เจะอูมา ช่างเครื่องประดับมลายูแห่งอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี
นายอับดุลเลาะ
อาแวกะจิ ช่างเครื่องประดับมลายูแห่งอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี
*
ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์โครงการวิจัยเรื่องสำรวจและประเมินสถานภาพช่างศิลป์ฯล
ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการ โดย สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น
สำนักงานบริหารวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรม ศาสตร์ แห่งประเทศไทย (TASSHA)