กว่าจะมาเป็น…..วันปีใหม่ไทย
ปีใหม่เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่ง ทุกคนต่างก็สดชื่น ดูประหนึ่งว่าจะให้ความสดชื่นรื่นเริงของวันปีใหม่เป็นนิมิตดีงามที่จะตามติดตัวไปจนครบสามร้อยหกสิบห้าวัน ประเพณีของไทยเราในวันนี้ จะมีการบำเพ็ญกุศลทางศาสนา เพื่ออุทิศบุญแก่บุพการีและผู้มีพระคุณ หวังกุศลผลบุญนั้นสนองให้อยู่เย็นเป็นสุข นอกจากนี้มีการเยี่ยมเยียนหรือไม่ก็ส่งบัตรไปอำนวยพรซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการฉลองมิ่งขวัญ อันจะนำมาซึ่งสิริสวัสดิ์พัฒนมงคลแก่ตน จึงถือนิมิตที่ดีงามนี้ ส.ค.ส.แก่ท่านผู้อ่าน ด้วยการเล่าเรื่องความเป็นมาของปีใหม่ไทย
ในวันปีใหม่ของไทยเรามีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง ทุกครั้งที่เปลี่ยนก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลและความเหมาะสมบางประการ แรกเริ่มตามจารีตประเพณีของไทยแต่โบราณนั้นเราถือเอาแรม 1 ค่ำเดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังจะเห็นได้จากการตั้งต้นนับเดือนของเรา เริ่มจากเดือนอ้าย เดือนยี่ไปตามลำดับ และการที่เรานับแรมหนึ่งค่ำเดือนอ้ายเป็นวันต้นปีนั้น กล่าวกันว่าเป็นของไทยแท้ ไม่ได้เอาอย่างหรือเลียนแบบของชาติใด มูลเหตุที่ถือก็เนื่องมาจากดินฟ้าอากาศในประเทศของเราเป็นสำคัญ และวันนี้จะตกอยู่ในราวเดือนธันวาคมซึ่งอยู่ในฤดูหนาว จึงต้องนับว่าตรงกับคติพุทธศาสนาที่ถือเอาเหมันตฤดูเป็นการเริ่มต้นแห่งปี เรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายไว้ในหนังสือวชิรญาณ เล่ม 2 ฉบับที่ 3 เดือน 11 ปี 2247 ดังนี้ “…..ฤดูหนาวที่เราเรียกว่าเหมันตะ เป็นเวลาที่พ้นจากมืดฝน สว่างขึ้นเหมือนฤดูเช้า โบราณคิดว่าเป็นต้นปีฤดูร้อนที่เรียกว่าคิมหฤดู เป็นเวลาสว่าง ร้อนเหมือนเวลากลางวัน คนโบราณจึงได้คิดว่าเป็นกลางปี ฤดูฝนที่เรียกว่าวัสสานะ เป็นเวลามืดคลุ้มโดยมาก และฝนพร่ำเพรื่อเที่ยวไปไหนไม่ได้ คนโบราณจึงคิดว่าเป็นเหมือนกลางคืน เป็นปลายวันฉันใด คนโบราณก็คิดว่าฤดูเหมันต์เป็นต้นปี ฤดูวัสสานะเป็นปลายปีฉันนั้น เพราะเหตุนั้นจึงได้นับชื่อเดือนเป็นหนึ่งแต่เดือนอ้าย และแต่ก่อนคนโบราณนับเอาข้างแรมเป็นต้นปีต้นเดือน เขานับเดือนอ้ายตั้งแต่แรมค่ำ ภายหลังมีผู้ตั้งธรรมเนียมเสียใหม่ ให้เอาเวลาเริ่มสว่างไว้ เป็นต้น เวลาสว่างมากเป็นกลาง เวลามืดเป็นปลาย คล้ายกันกับต้นวันปลายวันแลมีดังกล่าวแล้ว”
ปัญหามีอยู่ว่า เรานับวันแรมค่ำเดือนอ้ายเป็นต้นปีตั้งแต่สมัยใด ในหนังสือนพมาศกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ครั้งเดือน 4 ถึงการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์โลกสมมุติเรียก ตรุษ” และอีกตอนหนึ่งกล่าวว่า “บรรดานิกรประชาราษฎรชายหญิง ก็แต่งตัวนุ่งห่มประดับกายโอ่โถงพากันมาเที่ยวดูแห่ ดูงานนมัสการพระ ในวันสิ้นปีใหม่และขึ้นปีใหม่เป็นอันมาก”
แปลว่าในสมัยสุโขทัย เรากำหนดวันขึ้นปีใหม่เป็นวันตรุษ คือแรม 14 ค่ำ เดือน 4 และขึ้น 1ค่ำ เดือน 5 แล้ว แต่หนังสือเล่มนี้ ก็เชื่อกันว่าอาจจะแต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง แต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวไว้ว่า “หนังสือเรื่องนางนพมาศนับว่าเป็นหนังสือสำคัญในภาษาไทยเรื่องหนึ่งและเป็นเรื่องโบราณคดี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงอ้างถึงหนังสือนางนพมาศนี้ไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธี 12 เดือนหลายแห่ง”
ในพระราชนิพนธ์สิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนพระราชพิธีเดือนหน้า มีความตอนหนึ่งว่า “มีประหลาดอยู่แห่งหนึ่งในหนังสือลาโลแบร์ ที่ราชทูตฝรั่งเข้ามาครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่งว่าด้วยเรื่องเมืองไทยได้จดวันอย่างหนึ่งว่า วันแรม 8 ค่ำ เดือนที่ 1 (คือเดือนอ้าย) ปี 223 1/2 2 ซึ่งตรงกับวันที่ 11 เดือน December คฤสตศักราช 1697 ตามหนังสือนั้นเขาได้กล่าวไว้ว่า ข้อนี้ดูเหมือนอาการที่ลงวันอย่างนี้ หมายความว่าปีนั้นอยู่ในเดือนนี้จะเรียกว่า 2231 หรือ 2232 ก็ได้ เมื่อคิดดูตามข้อความที่เขาว่าเช่นนี้ จะถือว่าแต่ก่อนเขาจะเปลี่ยนปีในเดือนอ้ายตามอย่างเก่า แต่ศักราชไปขึ้นต่อเมื่อถึงกำหนดสงกรานต์ของศักราชนั้นจะได้บ้างดอกกระมัง”
จากความนี้แสดงว่า แต่เดิมทีเดียวเราถือเดือนอ้ายเป็นเดือนแรกของปี และตามพระราชาธิบายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้กล่าวไว้ตอนต้นนั้น แต่เดิมเราถือเอาแรมหนึ่งค่ำเดือนอ้ายเป็นวันต้นปีก่อน ต่อมาถึงได้เปลี่ยนขึ้นหนึ่งค่ำเดือนอ้าย และในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็ถือเอาข้างขึ้นเป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังความในจดหมายเหตุของบาทหลวง เดอชวาสีได้บันทึกไว้ เมื่อคราวเดินทางมาในประเทศไทยในตำแหน่งผู้ช่วยทูตของ มองสิเออร์ เดอ เชอ วาเลีย เมื่อ พ.ศ. 2227-2229 ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีความตอนหนึ่งว่า “คราวนี้เราได้พากันไปดูประทีปโคมไฟที่ช่องหน้าต่างตามบ้านเรือนของราษฎร…..พระเจ้าแผ่นดินสยามเสด็จออกประทับช่องพระแกลให้ข้าราชการเฝ้า และพระราชทานเสื้อกั๊กหลายชนิดให้แก่ข้าราชการตามลำดับยศ บรรดาภรรยาข้าราชการทั้งหลายพากันไปเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้าหญิง พระราชธิดาทำนองเดียวกันกับสามีของตน พระราชพิธีนี้เคยกระทำกันมาทุกๆ ปี ในวันขึ้น 1 ค่ำเดือนอ้าย ซึ่งมักตกอยู่ในเดือนพฤศจิกายนเสมอ วันนี้แหละจึงเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย แต่จงจำไว้ด้วยคนไทยจะเถลิงศกต่อเมื่อถึงเดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำ ซึ่งมักตกอยู่ในราวเดือนมีนาคม ดังอุทธาหรณ์ในเวลานี้ คนไทยยังใช้ศักราช 2229 อยู่ ศักราชนี้ตั้งต้นมาแต่แรกสถาปนาพระศาสนา เมื่อเดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำ ในเดือนมีนาคม จึงเป็นศักราช 2230 ต่อไป การคิดคำนวณวันเดือนปีของชาวสยามนั้นเป็นไปตามจันทรคติ และปีใดมีพระจันทร์วันเพ็ญ 13 ครั้ง ในระหว่างเส้นวิถันดรเหนือใต้อันได้รับแสงสว่างเท่ากันแล้ว (Les Deux’ Equinoxs De Mar) ปีนี้นมี 384 วัน แต่ตามปกติแล้วมักจะมีวันเพ็ญเพียง 12 ครั้ง และในปีนั้นก็มีเพียง 354 วัน”
ตอนนี้เห็นจะต้องสรุปไว้ครั้งหนึ่งก่อน ชั้นเดิมทีเดียวเรากำหนดเอาแรมหนึ่งค่ำเดือนอ้ายเป็นวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาเปลี่ยนเป็นขึ้นหนึ่งค่ำเดือนอ้าย การที่เราถือเดือนอ้ายเป็นเดือนขึ้นปีใหม่นั้น เป็นคตินิยมของไทยเราเอง ไม่ได้เลียนแบบอย่างใคร โดยกำหนดเอาฤดูกาลของเราเป็นสำคัญ และถือมาแต่โบราณกาลแล้ว ก่อนจะมีการนับศักราชอีก ดังพระราชพิธีสิบสองเดือน ตอนหนึ่งว่า “คิดเห็นว่าความที่ตั้งเดือนอ้ายเป็นเดือน 1 คงเป็นกาลฤดูต้องตามกระแสพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงไว้นี้ แต่ที่นับเดือนเช่นนี้เห็นจะมีมาก่อนที่นับศักราช”
ต่อมาเราเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันตรุษสงกรานต์ ตอนนี้เป็นปัญหาว่า เดิมเราถือวันตรุษเป็นวันขึ้นปีใหม่ก่อนหรือวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ก่อน ชั้นเดิมต้องทำความเข้าใจก่อน ต้องทำความเข้าใจว่าตรุษกันสงกรานต์ไม่ใช่วันเดียวกัน แม้มักจะเรียกควบกันเป็นตรุษสงกรานต์ก็ตามที ในนิราศเดือนของนายมี กล่าวไว้ว่า “ล้วนแต่งตัวงามทรามสวาท ใส่สีฉาดฟุ้งเฟื่องด้วยเครื่องหอม สงกรานต์ทีตรุษทีไม่มีมอม” แสดงให้เห็นว่าตรุษกับสงกรานต์แยกวันกันอยู่ ตรุษ แปลว่าตัดหรือขาด คือตัดปีหรือสิ้นปี หรือกำหนดสิ้นปี สงกรานต์ แปลว่าเคลื่อนที่การย้ายที่ คือพระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีใหม่ วันตรุษกำหนดเอาตามจันทรคติ คือถือเอาวันแรม 12 ค่ำ และ 15 ค่ำเดือน 4 ซึ่งถือว่าเป็นวันสิ้นปีเก่า และวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ถือเป็นวันต้นปีใหม่ ส่วนวันสงกรานต์กำหนดเอาตามสุริยคติ เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 ถึง 15 เมษายน วันที่ 13 เมษายนเป็นวันต้น คือวันมหาสงกรานต์ วันที่ 12 คือวันกลางหรือวันเนา และวันที่ 15 เมษายนเป็นวันสุดท้าย เรียกว่าวันเถลิงศกซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระยาวัน คือวันขึ้นศักราชปีใหม่ คติเกี่ยวกับสงกรานต์นี้เรารับจากอินเดียพวกพราหมณ์เอามาเผยแพร่ แต่ตรุษเรารับจากลังกา แต่ก็เป็นพิธีของพวกอินเดียฝ่ายใต้ กล่าวคือพวกทมิฬได้ครองลังกา
ได้เอาพิธีตรุษตามลัทธิศาสนาของตนมาทำเป็นประเพณีบ้านเมือง จึงเป็นเหตุให้มีพิธีตรุษขึ้นในลังกาทวีป ต่อมาเมื่อได้ชาวลังกาที่นับถือพระพุทธศาสนาเป็นใหญ่ขึ้นในเมืองลังกาเปลี่ยนมาเป็นทางคติพระพุทธศาสนา คือเมื่อถึงวันตรุษเขาก็จะจัดเครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัย ไทยเราได้ตำราตรุษที่ชาวลังกาคิดแก้ไขนั้นมาทำตามพิธีตรุษจึงมีขึ้นในเมืองไทย การที่ไทยได้แบบอย่างพิธีตรุษจากลังกาอย่างไรนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัยว่า อาจมาได้ด้วยเหตุ 3 ประการ
“ประการที่ 1 อาจได้หนังสือตำรามา ซึ่งเป็นภาษาสิงหลและจารลงใบลานด้วยอักษรสิงหลแล้วแปลออกเป็นภาษาไทย ประการที่ 2 อาจมีพระสงฆ์ไทยได้ไปเห็นชาวลังกาทำพิธีตรุษจนสามารถทำได้ แล้วเอาตำราเข้ามาเมืองไทย ประการที่ 3 อาจมีพระเถระชาวลังกา ซึ่งเป็นผู้ชำนาญการพิธีตรุษเข้ามาเมืองไทยมาบอกเล่าและสอนให้ทำพิธีตรุษ”
แต่คติไหนไทยเรารับไว้ก่อนก็ยังเป็นปัญหาอยู่ หนังสือ “ตรุษสงกรานต์” ของ เสถียรโกเศศ ตอนวิจารณ์เรื่องตรุษและสงกรานต์ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ตรุษหรือสงกรานต์เป็นเดือนขึ้นปีใหม่กันที่ตรงไหน ในพระนิพนธ์พระราชกริยานุกรณ์ (หน้า 8) กล่าวว่า ในการที่เกี่ยวอยู่ในเดือนห้าค่ำหนึ่งนั้นไม่เป็นการพระราชพิธีมาแต่โบราณ เกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นี่แสดงว่าตรุษไทยเห็นจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้เอง ดีร้ายจะได้คติมาจากลังกา มีเค้าให้เห็นอยู่ในประกาศพิธีตรุษ” นี่แสดงให้เห็นว่า พิธีสงกรานต์นั้นเรารับก่อนพิธีตรุษ แต่นั่นแหละตอนนี้ค่อนข้างจะสับสน ในหนังสือนางนพมาศนั้น กล่าวถึงพิธีตรุษแล้ว ส่วนพิธีสงกรานต์ไม่กล่าวถึง และยิ่งกว่านั้นในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน มีความอยู่สองตอน “กาลานุกาลพิธีตรุษ” ทรงอรรถาธิบายว่า “พระราชกุศลกาลานุกาลที่เรียบเรียงลงในเรื่องพิธีสิบสองเดือน แต่ก่อนว่าเกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งสิ้น ยกเว้นแต่สงกรานต์นั้นเป็นผิดไป บัดนี้ได้ความมาว่ากาลานุกาลท้ายพระราชพิธีตรุษ พระราชพิธีสารท เข้าพรรษา ออกพรรษาและท้ายฉลองไตรปีนี้เป็นของมีมาแต่เดิม” และตอนการสังเวยเทวดาสมโภชเครื่องเลี้ยงโต๊ะปีใหม่ ทรงอธิบายว่า “การสมโภชในท้ายพระราชพิธีสัมมัจฉรฉินท์ เป็นธรรมเนียมมีมาแต่เดิม แต่ครั้นถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริ เสาะหาแบบอย่างการพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งมีในกฎมณเฑียรบาลมาประกอบธรรมเนียมใหม่ๆ แล้วตั้งขึ้นเป็นแบบอย่างย่อๆ ต่อมามีหลายอย่าง” พระราชาธิบายนี้ แสดงว่าพิธีตรุษเป็นของเดิม ไม่ใช่เริ่มจะมีในรัชกาลที่ 4 จึงเป็นการยากที่จะวินิจฉัยว่าเรารับคติไหนก่อนกัน
อย่างไรก็ตาม ระยะหลังนี้การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ของไทยค่อนข้างยุ่งยาก กล่าวคือเรากำหนดสองครั้งสองตอน คือครั้งแรกกำหนดเอาวัน 1 ค่ำ เดือน 5 (วันตรุษ) เป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่ก็เป็นวันเปลี่ยนปีนักษัตร (คือนับเป็นปีชวด ฉลู ฯลฯ) เท่านั้น ยังไม่เปลี่ยนศักราช เพราะพระอาทิตย์ยังไม่ยกขึ้นสู่ราศีเมษ จนวันสงกรานต์จึงเปลี่ยนศก คือวันที่ 15 เมษายน เรียกว่าวันเถลิงศก วันขึ้นปีใหม่ทั้งสองนี้ ตามปกติจะห่างกัน 15 วัน แต่ก็ไม่แน่นอน ถ้าห่างกันเพียง 2-3 วันหรือติดต่อกันพอดีก็มีการทำบุญแล้วเฉลิมฉลองติดต่อกันเป็นงานเดียว แต่ถ้าห่างกันหลายวัน วันตรุษก็เป็นแต่เพียงทำบุญทำทานพอเป็นพิธี จะมีการเฉลิมฉลองกันอย่างเอิกเกริกในวันสงกรานต์
มูลเหตุที่เราเปลี่ยนเป็นเอาเดือนห้าเป็นเดือนขึ้นปีใหม่ เป็นเพราะรับคตินี้มาจากอินเดียนั่นเอง การที่อินเดียถือเอาเดือนจิตรมาส (เดือน 5) เป็นวันขึ้นปีใหม่เป็นเพราะต้องกับฤดูกาลของเขา เรื่องนี้ท่านเสถียรโกเศศได้อธิบายไว้ว่า “ที่คติของอินเดียถือเดือนจิตรมาสเป็นขึ้นปีใหม่ เพราะตกในฤดูวสันต์ต้นไม้กำลังผลิแตกช่อเขียวระบัด เพราะก่อนหน้านี้เป็นเขตของฤดูหนาวจัด (Winter) ซึ่งธรรมชาติกำลังซบเซาย่างเข้าฤดูวสันต์ธรรมชาติก็เริ่มสดชื่น เท่ากับเกิดใหม่จึงได้มีการสมโภชเป็นมหาสงกรานต์ (Vernal Equinox) ลักษณะดินฟ้าอากาศอย่างนี้เป็นของแดนที่อยู่ใน Temperate Zone ถ้าว่าถึงแดน Torriol Zone จะไม่มีเลย เพราะฉะนั้นเราจึงไม่มีฤดูวสันต์ (Spring) คฤษม (Summer) ศารท (Autumn) และเหมันต์ (Winter) เรามีแต่หน้าร้อน หน้าฝน และหน้าหนาว การที่เราขึ้นปีใหม่ในเดือนเมษายนเป็นเวลาหน้าร้อนของเรา จึงไม่เข้ากับอินเดีย ซึ่งเป็นฤดูวสันต์ธรรมชาติกำลังเกิดใหม่ แต่ของเราธรรมชาติกำลังเหี่ยวแห้งเป็นหน้าแล้ง ไม่เหมาะที่จะเอามาตั้งเป็นเริ่มต้นของปี” แต่อย่างไรก็ตาม การที่เรารับคตินี้มาจากพราหมณ์นั้น ก็เพราะขึ้นกับความจำเป็นบางอย่างเหมือนกัน ดังในหนังสือตรุษสารท กล่าวว่า “ครั้นเมื่อเราอพยพย้ายถิ่นมาอยู่ในแหลมอินโดจีนแล้ว เราได้รับวัฒนธรรมจากอินเดีย ผ่านทางเขมร จึงเอาวันสงกรานต์เป็นวันรื่นเริงขึ้นปีใหม่ เพราะเหมาะกับความเป็นอยู่ของเรา ด้วยเวลาสว่างจากการทำไร่ไถนาดังได้กล่าวไว้ตอนต้นแล้ว ผิดกับเดือนอ้ายซึ่งเป็นระยะเริ่มต้นเก็บเกี่ยวข้องอยู่ ไม่เหมาะแก่สนุกรื่นเริงฉลองปีใหม่”
ดังได้กล่าวไว้แล้วว่าวันขึ้นปีใหม่ของเรา ได้กำหนดเป็นสองครั้ง และเลื่อนไปเลื่อนมาไม่แน่นอน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความสับสนนี้ และเมื่อเรามีการติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้น ก็ยิ่งทวีความลำบากในเรื่องที่ไทยเรามีวันขึ้นปีใหม่ไม่แน่นอน แต่พระองค์ก็ยังทรงหาหนทางขจัดปัญหานี้ไม่ได้ เผอิญ ร.ศ. 108 (พ.ศ. 3412) วันขึ้นหนึ่งค่ำเดือนห้า (ตรุษ) มาตรงกับวันที่ 1 เมษายนพอดี จึงได้ทรงประกาศพระบรมราชโอกาส ให้ถือเอาวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่นั้นมา
ในระยะนั้น การขึ้นปีใหม่ก็เป็นแต่เพียงขึ้นรัตนโกสินทร์ศกเท่านั้น พุทธศักราชก็ยังไม่เปลี่ยน พระที่เทศน์บอกศักราชจะเปลี่ยนพุทธศักราชเมื่อแรมหนึ่งค่ำเดือนหก เพราะเป็นวันวิสาขะที่เป็นเกณฑ์นับปีเกี่ยวกับการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า แต่ในระยะนั้นไม่มีปัญหาเกิดขึ้น เพราะทางราชการยังใช้รัตนโกสินทร์ศกอยู่ ครั้ง พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้รัตนโกสินทร์ศก ให้ใช้พุทธศักราชแทน จึงเกิดปัญหาขึ้น พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ถือวันที่ 1 เมษายนเป็นวันเปลี่ยนพุทธศักราชด้วย
ต่อมาไทยเราเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีก โดยเปลี่ยนเป็นวันที่ 1 มกราคม ทั้งนี้เพราะเหตุผลหลายประการ พอสรุปได้ดังนี้
1. การกำหนดวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่นับว่าใกล้เคียงกับคติโบราณของเรามาก กล่าวคือโบราณเรานับเอาวันแรมค่ำเดือนอ้ายเป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งวันนี้จะใกล้เคียงกับวันที่ 1 มกราคมมาก ฉะนั้นเมื่อเราเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม จึงเท่ากับเราหันเข้าคติโบราณ ซึ่งเป็นคติของเราเอง ไม่ได้เลียนแบบใคร ในหนังสือ Primitive Traditional ของ Hewitt ก็อธิบายว่า คติที่นับวันใดวันหนึ่งในระหว่าง 21 ธันวาคม ถึง 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เป็นพิธีเก่าแก่ของชนชาติที่อยู่ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีกำเนิดมาจากดินแดนตอนใต้ของประเทศจีน เหตุผลก็คือในระยะเวลานี้เป็นเวลาที่แลเห็นดวงอาทิตย์ขนาดโตที่สุด และเป็นเวลาที่อากาศเริ่มสบาย ภายหลังที่ได้ถูกฤดูฝนมามากแล้ว คำอธิบายจะเห็นว่าชนชาติที่ Hewitt กล่าวถึงนี้ก็คือโบราณเรานี้เอง ฉะนั้นเมื่อเราเปลี่ยนเป็นวันที่ 1 มกราคม ก็เท่ากับหันเข้าหาคติไทยโบราณ และเมื่อเราหันเข้าหาคติโบราณของเราเช่นนี้ ก็เท่ากับแสดงให้เห็นว่า วิธีโบราณของเราถูกต้องตามวิธีสากล ซึ่งเป็นทางหนึ่งที่จะแสดงให้เห็นความรุ่งโรจน์แบบวัฒนธรรมของชาติไทยในอดีต
2. วันที่ 1 มกราคม นอกจากใกล้เคียงคติโบราณของไทยเราแล้ว ยังเข้ากับฤดูกาลของเราด้วย การที่เราถือตามคติของพราหมณ์นั้น นับว่ายังไม่เหมาะสมกับฤดูกาลของเราเป็นอย่างยิ่ง แต่ของเขาต้องถือว่าเหมาะสม เพราะเดือนเมษายนของเขาตกอยู่ในฤดูวสันต์ ของเราเดือนเมษายนเป็นเดือนที่แห้งแล้งที่สุดไม่เหมือนเดือนมกราคมที่เป็นเดือนที่ดินฟ้าอากาศในประเทศไทยดีที่สุด เป็นเสมือนหนึ่งรุ่งอรุณแห่งชีวิตทีเดียว และที่เราหันเข้าคติโบราณนี้ ยังไม่ขัดกับทางพุทธศาสนาด้วย ทั้งยังเป็นการเลิกวิธีเอาลัทธิพราหมณ์มาคล่อมพุทธศาสนาด้วย
3. เข้าระดับสากล เพราะอารยประเทศต่างก็ใช้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ทั้งสิ้น จึงนับว่าสะดวกในการใช้ปฏิทินเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การที่เราเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคมนี้ มิได้เกี่ยวข้องกับลัทธิศาสนาแต่ประการใด ไม่ใช่เป็นการหันเข้าหาคติทางคริสต์ศาสนา เพราะความจริงการใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ได้เริ่มใช้กันมาก่อนพระเยซูประสูติถึง 46 ปี โดยยูเลียส
ซีซาร์เป็นผู้บัญญติ ประเทศอังกฤษเองชั้นเดิมคือ วันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาพระเจ้า
วิลเลียมส์เดอะคองเกอเรอร์ทรงบัญญัติให้ใช้วันที่ 1 มกราคม เมื่อ ค.ศ. 1753
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ คณะรัฐบาลจึงประกาศ ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2483 ให้ใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่มกราคม พ.ศ. 2484 เป็นต้นไป
ก่อนจะจบขอเพิ่มเติมว่า การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ใช้หลักเกณฑ์ทางดาราศาสตร์ โดยถือหลักเกณฑ์เป็นสองประการ คือระยะที่โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ และในการหมุนเวียนรอบดวงอาทิตย์นี้ ก็มีวันที่สะดวกเป็นหลักในการกำหนดวันปีใหม่ ประการแรกคือวันที่ดวงอาทิตย์ห่างจากอิเควเตอร์มากที่สุด เรียกว่า Solstice (อยน) คือเหมันตฤดู ซึ่งตกในราววันที่ 22 ธันวาคม อีกประการหนึ่งกำหนดเอาวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ใกล้อิเควเตอร์ที่สุด ซึ่งเรียกว่า Equinox (วิษุวัต) อยู่ในวสันตฤดู ราววันที่ 20 มีนาคม
เมื่ออ่านถึงตรงนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าวันขึ้นปีใหม่เป็นเรื่องสมมุติขึ้น ถ้าจะคิดว่าอันชีวิตของคนเรานี้มีแต่เรื่องสมมุติขึ้น ก็เห็นดีเหมือนกันกระมัง
____________________________
เรียบเรียงบทความโดย นางอ้อมใจ วงษ์มณฑา นักวิชาการอุดมศึกษาชำนาญการ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา
____________________________
เอกสารประกอบการค้นคว้า :
จุลจอมเกล้าฯ, พระบาทสมเด็จพระ. 2507. พระราชกรัณยานุสารพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเรื่อง นางนพมาศ / พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัว. พระนคร : คลังวิทยา.
———. พระราชพิธีสิบสองเดือน. 2514. กรุงเทพมหานคร : แพร่พิทยา.
ส.พลายน้อย. 2547. ตรุษสงกรานต์ ประมวลความเป็นมาของปีใหม่ไทยสมัยต่างๆ.
กรุงเทพมหานคร : มติชน.
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี. มปพ. หลักราชการพระบาทสมเด็จพระมงกุฎ
เกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระนิพนธ์และพิมพ์พระราชทานแจกข้าราชการในการพระราชพิธี
ตรุษสงกรานต์ พุทธศักราช 2457. ปัตตานี : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี.