การอาบน้ำศพ ทางพราหมณ์นิยมกันว่าเพื่อล้างบาปให้แก่ผู้ตาย ทางศาสนาอิสลามนิยมกันว่า
การอาบน้ำทาแป้งให้แก่ศพผู้ตายอย่างหมดจดแล้ว เมื่อผู้ตายไปเกิดชาติใดรูปร่างจะได้สะสวยหมดจดงดงาม ทางศาสนาพุทธจะอาบน้ำแล้วลงขมิ้นชันสดตำขัดสีและฟอกด้วยส้มมะกรูดมะนาว อาบน้ำหอมทากระแจะและเครื่องปรุงอื่น ๆ ตามที่ควรจะหาได้
การแต่งตัวศพ แต่งตัวให้ไปเกิด การนุ่งผ้าให้แก่ศพ ซึ่งมีการนุ่งข้างหลังแล้วนุ่งข้างหน้านี้ เพื่อให้พิจารณาให้แจ้งว่าสัตว์ที่เกิดมาย่อมเกิดด้วยทิฐิ และตายด้วยทิฐิ มีอวิชชาปิดหลังปิดหน้า มีตัณหาเกี่ยวประสานกันดังเรียวไม้ไผ่
เงินใส่ปาก เพื่อให้เป็นทางพิจารณาว่า คนเกิดมาแล้วย่อมลุ่มหลงอยู่ด้วยทรัพย์สมบัติเที่ยวทะเยอทะยานขวนขวายหาด้วยทางสุจริตแล้วไม่พอแก่ความต้องการ ยังพยายามแสวงหาในทางทุจริตอีก เมื่อได้มาแล้วอดออมถนอมไว้ไม่ใช้จ่ายในทางที่ควร ทรัพย์เช่นนี้เรียกว่าเป็นทรัพย์ภายนอก เมื่อตายไปแล้วแม้แต่เขาเอาใส่ปากให้ก็นำเอาไปไม่ได้ ย่อมเป็นเหยื่อของผู้อื่นทั้งสิ้น อีกทางหนึ่งกล่าวกันว่า ใส่ไว้เพื่อให้เป็นค่าจ้างแก่สัปเหร่อที่จะนำไปเผา
ขี้ผึ้งปิดหน้าศพ เพื่อป้องกันความอุจาด เพราะบางศพลืมตาค้างปิดไม่ลงบ้าง บางศพอ้าปากบ้าง
กรวยดอกไม้ธูปเทียน ให้ถือไปเพื่อจะได้ไหว้พระจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
การมัดศพ ให้ศพถือกรวยดอกไม้ธูปเทียนแล้วใช้ด้ายดิบเส้นขนาดนิ้วก้อยทำเป็นบ่วงสวมคอเป็นบ่วงแรก บ่วงที่ 2 รัดรวบหัวแม่มือและข้อมือทั้ง 2 ข้างให้ติดกัน บ่วงที่ 3 รัดรวบหัวแม่เท้าและข้อเท้าทั้ง 2 ข้างให้ติดกันเรียกกันว่าตราสังกรือดอยใน การทำบ่วงสวมคอ ผูกมือและเท้าเป็น 3 บ่วงด้วยกันนั้น มีความหมายผูกเป็นโคลง 4 สุภาพ ดังนี้
มีบุตรบ่วงหนึ่งเกี้ยว พันคอ
ทรัพย์ผูกบาทาคลอ หน่วงไว้
ภรรยาเยี่ยงบ่วงหนอ รึงรัด มือนา
สามบ่วงใครพ้นได้ จึ่งพ้นสงสาร.
การเผาศพ : มีดที่ตัดเชือกหรือด้ายที่ผูกศพ ได้แก่ ดวงปัญญา ด้ายนั้นได้แก่ โลโภ โทโส โมโห อันว่า โลโภ โทโส โมโห นั้น ต้องตัดด้วยดวงปัญญา จึงจะขาดได้ ที่ว่าเอากิ่งไม้วางเหนือศพนั้นเพื่อจะไม่ให้ผ้าที่บังสุกุลเปื้อนศพที่มีน้ำเหลือง การที่นิมนต์พระมาชักมหาบังสุกุลนั้น ก็เพื่อให้ท่านมาปลงกรรมฐานและรับผ้านั้นเป็นไทยทาน จัดเป็นการกุศลส่วนหนึ่ง
การคว่ำหน้าศพลง เมื่อเวลาศพถูกไฟจะได้ไม่งอตัวเข้ามาได้ ถ้าเผาในท่านอนหงายศพนั้นมักงอเท้าสูงเชิงขึ้นได้
การเวียนเชิงตะกอนสามรอบ หมายความว่า เมื่อแรกเกิดมานั้นเป็นเด็ก แล้วถึงคราวเป็นหนุ่มเป็นสาว แล้วก็แปรผันไปอีกจนถึงความชรานี้ชื่อว่า อนิจจัง การที่แปรปรวนไปนั้นมีความเจ็บไข้ได้ทุกข์ทนยากชื่อว่า
ทุกขัง ในที่สุด ถึงความสลายไปคือแตกทำลายตายจากภพนี้ จะเอาอะไรไปเป็นสาระหาได้ไม่ ชื่อว่า อนัตตา การเวียนสามรอบนั้น คือ หมายถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
การนำสตางค์ทิ้งลงในเชิงตะกอน แปลว่าเป็นการซื้อที่ให้ผีผู้ตายอยู่ มีเรื่องเล่ากันมาว่า เจ้าภาพ
งานศพไม่ได้ซื้อที่ให้ผีอยู่ในเวลาเผา เมื่อเผาแล้วผีไม่มีที่อยู่ ก็เที่ยวรบกวนหลอกหลอนต่าง ๆ ภายหลังเจ้าภาพได้ซื้อที่ให้ผีแล้ว จึงไม่เที่ยวหลอกหลอนต่อไปอีก
การที่เอาน้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ เป็นปัญหาธรรมว่าสิ่งสะอาดล้างสิ่งสกปรก คือ กุศลธรรม ย่อมล้างซึ่งอกุศลธรรม
การห้ามไม่ให้ต่อไฟกัน เพราะไฟนั้นเป็นของร้อน ถ้าต่อกันก็ติดเนือง ๆ สืบกันไปเหมือนคนผูกเวร
เวรย่อมไม่สิ้นสุดลงได้ การที่ท่านไม่ให้ต่อก็คือชี้ทางแห่งการระงับเวร การเอาผ้าโยนข้ามไฟ 3 ครั้ง คือแสดงถึงการข้ามของร้อน มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นมูล ต้องข้ามด้วยธรรม อันเป็นอันเป็นไปในทางบริสุทธิ์ คือ
พระอธิยมรรค อริยผล และพระนิพพาน
การชักไฟสามดุ้น คือแสดงว่า ราคะ โทสะ โมหะ เป็นของร้อน เปรียบเหมือนไฟสามดุ้นนั้น เมื่อ
ตัดราคะ โทสะ โมหะ เสียได้แล้ว ก็จะต้องได้รับความสุขคือ ปราศจากเครื่องร้อนทั้งปวง และเมื่อมาถึงบ้านให้ล้างหน้าและอาบน้ำนั้น เป็นการรักษาอนามัยอย่างดี ถ้ายกขึ้นสู่ปัญหาธรรมก็คือ ให้ล้างความชั่วด้วยความดีนั่นเอง.
___________________________________
เรียบเรียงโดย อ้อมใจ วงษ์มณฑา นักวิชาการอุดมศึกษาชำนาญการ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา