ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ คือ ประเพณีที่พุทธศาสนิกชนร่วมกันแห่ผ้าขึ้นห่มโอบรอบฐานพระมหาธาตุที่ประดิษฐานภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวนครศรีธรรมราชและชาวจังหวัดใกล้เคียง ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวภาคใต้ ประเพณีนี้ไม่มีปฏิบัติกันที่ใดในประเทศไทย นอกจากเมืองนครฯ เท่านั้น แต่เดิมการแห่ผ้าขึ้นธาตุนิยมจัดปีละสองครั้ง ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสามหรือวันมาฆบูชา และวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนหกหรือวันวิสาขบูชา โดยนำผ้า “พระบฏ” คือ ผ้าผืนยาวนิยมใช้สีขาว สีเหลือง สีแดง ไปพันรอบฐานองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมจัดขบวนแห่กันอย่างยิ่งใหญ่ ปัจจุบันนิยมทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสามหรือวันมาฆบูชาเสียมากกว่า ซึ่งมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาถึงประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชว่า
..…เมื่อครั้งสมัยที่พระเจ้าศรีธรรมโศกราชเป็นกษัตริย์ครองตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) อยู่นั้น ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์ครั้งใหญ่และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 1773 ขณะที่เตรียมสมโภชพระบรมธาตุอยู่นั้น ชาวปากพนังมากราบทูลว่า คลื่นได้ซัดเอาผ้าแถบยาวผืนหนึ่ง ซึ่งมีภาพเขียนเรื่องพุทธประวัติมาขึ้นที่ชายหาดปากพนัง ชาวปากพนังเก็บผ้านั้นถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระองค์รับสั่งให้ซักผ้านั้นจนสะอาดเห็นภาพวาดพุทธประวัติ เรียกว่า “ผ้าพระบฏ” จึงรับสั่งให้ประกาศหาเจ้าของ ได้ความว่าชาวพุทธจากหงสากลุ่มหนึ่ง จะนำผ้าพระบฏไปบูชาพระพุทธบาทที่ลังกา แต่ถูกพายุพัดพามาขึ้นชายฝั่งปากพนัง เหลือผู้รอดชีวิตสิบคน พระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงมีความเห็นว่าควรนำผ้าพระบฏไปห่มพระบรมธาตุเจดีย์ เนื่องในโอกาสสมโภชพระบรมธาตุ แม้จะไม่ใช่พระพุทธบาทตามที่ตั้งใจ แต่ก็เป็นพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเจ้าของผ้าพระบฏก็ยินดี การแห่ผ้าขึ้นธาตุจึงมีขึ้นตั้งแต่ปีนั้นและดำเนินการสืบต่อมา จนกลายเป็นประเพณีสำคัญของชาวนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน
ตำนานพระมหาธาตุเมืองนครฯ
การเรียกชื่อเจดีย์ของวัดมหาธาตุนั้นมีหลายชื่อ ในบทความนี้จะขอใช้คำว่า “พระมหาธาตุ” โดยพระมหาธาตุเป็นพุทธศาสนโบราณสถานสำคัญของไทย เป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงสุดของชาวนครฯ ไม่ปรากฏหลักฐานการก่อสร้างที่แน่ชัด แต่มีตำนานกล่าวว่า พระบรมสารีริกธาตุเสด็จมาสู่หาดทรายแก้ว เมื่อประมาณ พ.ศ. 834 นางเหมชาลาและพระธนกุมารจึงได้สร้างพระมหาธาตุ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพระมหาธาตุมีสถาปัตยกรรมดั้งเดิมเป็นแบบใด แต่พระมหาธาตุได้รับการก่อสร้างตกแต่งเพิ่มเติมอยู่เสมอ ในราวพุทธศตวรรษที่ 13 ตรงกับสมัยอาณาจักรตามพรลิงค์ เมืองนครฯ ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนานิกายมหายาน จึงสันนิษฐานว่าพระมหาธาตุอาจมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัย ต่อมา ราวพุทธศตวรรษที่ 17 ในสมัยพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ปฐมวงศ์ศรีธรรมโศกราช ได้นิมนต์คณะสงฆ์จากลังกามายังเมืองนครฯ และได้สถาปนาพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ขึ้น จากนั้นจึงได้ช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุ โดยสร้างสถูปลังกาครอบพระมหาธาตุองค์เดิม เป็นสถาปัตยกรรมแบบลังกาทรงโอคว่ำ ปากของระฆังติดกับพื้นกำแพงแก้ว ที่มุมกำแพงแก้วมีพระมหาธาตุจำลองประดิษฐานทั้งสี่มุม
ตำนานการแห่ผ้าพระบฏ
จากบทความ “แห่ผ้าขึ้นธาตุ มรดกจากราชวงศ์ศรีธรรมโศกราช” อธิบายตำนานที่มาของการแห่ผ้าขึ้นธาตุว่า ไม่กี่วันก่อนจะเริ่มพิธีสมโภชพระมหาธาตุ ผ้าขาวผืนหนึ่งที่มีลายเขียนพุทธประวัติ เรียกกันว่า “พระบต” หรือ “พระบฏ” ถูกคลื่นซัดขึ้นที่หาดปากพนัง ชาวบ้านจึงนำผ้าผืนนั้นถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราช เมื่อเจ้าพนักงานทำความสะอาดแล้วเสร็จปรากฏว่าลายเขียนนั้นก็ไม่เลือนหายไป ซักเสร็จจึงผึ่งไว้ในพระราชวัง และประกาศหาเจ้าของจนได้ความว่า พระบฏเป็นของพุทธศาสนิกชนคณะหนึ่งที่แล่นเรือมาจากเมืองหงสาวดี มี “ผขาวอริพงษ์” เป็นหัวหน้าคณะจะนำพระบฏไปบูชาพระพุทธบาทที่ลังกา แต่ถูกมรสุมพัดจนเรือแตกเสียก่อน พุทธศาสนิกชนกลุ่มนั้นมีราว 100 คน รอดเพียง 10 คน ผขาวอริพงษ์ที่รอดชีวิตมาด้วยก็ยินดีถวายผ้าพระบฏให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช พระเจ้าศรีธรรมโศกราชจึงโปรดให้ชาวเมืองจัดเครื่องประโคมแห่แหนขึ้นห่มพระมหาธาตุ ในคราวเดียวกับการสมโภชพระมหาธาตุนั้นเอง อย่างไรก็ตาม จากหนังสือ “สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้” อธิบายตำนานเรื่องนี้ต่างออกไปเล็กน้อย กล่าวคือ คณะพุทธศาสนิกชนล่องเรือมาจากเมืองอินทรปัต ซึ่งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงฝั่งเขมร จะนำพระบฏไปถวายเป็นพุทธบูชาพระทันตธาตุ หรือพระเขี้ยวแก้วที่ลังกา และเข้ามาเมืองนครศรีธรรมราชในรัชสมัยพระเจ้าจันทรภาณุ ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ส่วนหัวหน้าคณะพุทธศาสนิกชนนั้นไม่ปรากฏชื่อแต่เสียชีวิตไปเนื่องจากจมน้ำ แม้ตำนานจากทั้งสองแหล่งที่มาจะเล่ารายละเอียดแตกต่างกัน แต่เล่าเรื่องราวไปในทิศทางเดียวกันคือ เรือของพุทธศาสนิกชนคณะหนึ่งที่กำลังจะไปลังกา เกิดเหตุเรือแตกกลางทะเล แล้วคลื่นได้ซัดผ้าพระบฏมาขึ้นที่ชายหาด ก่อนจะนำผ้าพระบฏไปห่มพระมหาธาตุในการสมโภชพระมหาธาตุ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุในสมัยรัตนโกสินทร์
ในอดีตการแห่ผ้าขึ้นธาตุนั้นไม่ปรากฏว่ามีกำหนดวันตายตัวว่าแต่ละปีจะต้องทำวันใด อาจจะกำหนดตามฤกษ์สะดวก แต่การแห่ผ้าขึ้นธาตุมักจัดในงานสมโภชพระมหาธาตุกำหนดการแห่ผ้าขึ้นธาตุจึงขึ้นอยู่กับงานสมโภชและจัดไม่แน่นอนในแต่ละปี กระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 ปรากฏว่าได้ทำการแห่ผ้าขึ้นธาตุในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันวิสาขบูชา ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีพระราชประสงค์ให้พุทธศาสนิกชนจัดพิธีทางพุทธศาสนาเพิ่มอีกวันหนึ่ง ดังนั้น ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือวันมาฆบูชาจึงได้มีการแห่ผ้าขึ้นธาตุเพิ่มอีกวันหนึ่งด้วย
การแห่ผ้าขึ้นธาตุจึงมักจัดขึ้นในงานสมโภชพระมหาธาตุหรืองานพิธีสำคัญทางพระพุทธศาสนา แต่ก็เคยมีการแห่ผ้าขึ้นธาตุในคราวพิเศษคือในคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ประพาสแหลมมลายู พ.ศ. 2448 พระองค์ขึ้นไปห่มผ้าพระมหาธาตุ ดังพระราชหัตถเลขา ความว่า “วันที่ 5 ก.ค. เวลาเช้าไม่ได้ไปแห่งใดเพราะเหนื่อยและนอนน้อย เวลาบ่ายผ้าห่มพระบรมธาตุตามเคย แต่หาผ้าแดงไม่ได้ซื้อทำธงรับเสด็จกันหมดเมือง จึงต้องใช้สีชมพู เข้าไปที่วิหารพระม้าถ่ายรูปที่นั่นและทับเกษตร แล้วไปดูละครทรัพย์ ภรรยาพระศิริรักษ์ที่พลับพลา”
ปัจจุบันผ้าพระบฏที่เขียนภาพพุทธประวัติอาจมีการประดับด้วยสิ่งของต่าง ๆ เช่น ลูกปัด แพรพรรณ และดอกไม้ เป็นสิ่งหายากมากขึ้น เพราะขาดช่างผู้ชำนาญ ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปจึงเน้นความสะดวกและเรียบง่าย ขณะที่ผ้าห่มพระธาตุก็มีหลากสีมากกว่าสมัยก่อนที่นิยมสีขาว สีแดง และสีเหลือง
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเป็นประเพณีสำคัญของชาวนครฯ และเป็นประเพณีที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ นับเป็นประเพณีที่รวมเอาศรัทธาด้วยความบริสุทธิ์ใจของชาวพุทธเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงต่อไป เป็นประเพณีที่ได้สืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณกาล โดยมีพุทธศาสนิกชนทั้งจากจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงชาวจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ที่นิยมเดินทางมาสักการบูชากันอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีนับเป็นประเพณีที่ก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคีของพุทธศาสนิกชน ผ่านความความเชื่อและความศรัทธาว่าการได้มาร่วมทำบุญแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ถือว่าเป็นมหาบุญใหญ่ได้กุศลแรง เมื่อละจากโลกนี้ไปจะได้เกิดเป็นนางฟ้าหรือเทวดาและจะทำให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข สุขภาพแข็งแรง เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานอีกทั้งเป็นการสืบทอดประเพณีอันดีงามของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้คงอยู่กับสังคมไทยเราสืบไปชั่วลูกชั่วหลาน
เรียบเรียงโดย
อ้อมใจ วงษ์มณฑา นักวิชาการอุดมศึกษาชำนาญการ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา
เอกสารอ้างอิง
วัฒนธรรม
พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา จังหวัดนครศรีธรรมราช. (2544).
กรุงเทพฯ : คุรุสภา.
สารานุกรมวัฒนธรรมไทย
ภาคใต้ เล่มที่ 18.
(2542). กรุงเทพฯ : สยามเพรส.
ปรีชา
นุ่นสุข.
(2530, 11 กันยายน). แห่ผ้าขึ้นธาตุ
มรดกจากราชวงศ์ศรีธรรมโศกราช. 8(11). หน้า 108-
115