พื้นที่ตำบลบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี จากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุ ปราชญ์ภูมิปัญญาในชุมชนได้เล่าให้ฟังว่า ในอดีตเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรทั้งทางบกและทางทะเล ด้วยทำเลที่ตั้งที่รายล้อมด้วยป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ซึ่งเป็นทางออกสู่อ่าวปัตตานี ทำให้ชาวบ้านได้อาศัยแหล่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งอาหารและการประกอบอาชีพต่าง ๆ เช่น ประมงพื้นที่ หาหอย ปู ปลา ตามริมฝั่งป่าชายเลน เช่นเดียวกับอีกฟากฝั่งถนนของหมู่บ้าน อันมีพื้นที่ทุ่งนาสุดลูกหูลูกตาและต้นตาลเรียงรายให้ชาวบ้าน ผู้คนในพื้นที่ได้มีโอกาสเก็บเกี่ยวข้าว ขึ้นต้นตาลเพื่อลิ้มรสเนื้อตาลหวานฉ่ำ พร้อมทั้งน้ำตาลโตนดสดอันหอมหวาน

ด้วยในอดีตผู้คนในพื้นที่ส่วนใหญ่มีอาชีพประมงพื้นบ้านและการทำเกษตรกรรม การเดินทางไปมาระหว่างพื้นที่ทำกินที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่และใช้ระยะเวลายาวนาน ทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องมีการนำอาหารเพื่อรับประทานระหว่างเดินทางไปทำนาหรือออกเรือประมงพื้นบ้าน ตูป๊ะซือนือรี จึงเป็นทางเลือกของอาหารสำหรับพกห่อเพื่อเป็นเสบียงสำหรับการเดินทาง โดยในปัจจุบันอาหารพื้นบ้านชนิดนี้แทบจะหารับประทานได้ยากมากในพื้นที่ชายแดนใต้แห่งนี้

จากเมล็ดข้าวสารผ่านขั้นตอนกระบวนการต้มด้วยกะทิให้สุก คนจนเนื้อกะทิ น้ำตาล และเกลือหวานปัตตานี ซึมซาบเข้าสู่เมล็ดข้าว เมื่อสุกจนได้ที่แล้วจึงทำการคัดแยกใส่ภาชนะเพื่อรอให้เย็น จากนั้นจึงนำมาห่ออย่างบรรจงด้วยใบมะพร้าวอ่อนเป็นทรงยาว มัดด้วยเชือกให้แน่นรอบด้านเพื่อกันเมล็ดข้าวปริออกนอกใบมะพร้าวก่อนนำไปต้มอีกครั้ง ตัวแทนแม่บ้านที่เป็นปราชญ์ด้านอาหารพื้นบ้านในชุมชนบางปูได้ให้ข้อมูลกับฉันว่าการทำตูป๊ะซือนือรี

ถือได้ว่าเป็นองค์ความรู้ภูมิปัญญาที่ได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ที่มีทักษะความรู้ในการทำจำนวนน้อยมากแล้วในชุมชนแห่งนี้ เด็กรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ไม่มีคนรู้จักและไม่เคยได้ทดลองกิน สาเหตุด้วยกะบวนการทำที่ค่อนข้างซับซ้อน ใช้เวลามาก และหาวัตถุดิบสำหรับห่อ คือใบมะพร้าวอ่อนค่อนข้างยากในปัจจุบัน ยิ่งทำให้เป็นปัจจัยสำคัญในการเร่งให้เกิดการสูญหายของภูมิปัญญาในเรื่องการทำตูป๊ะซือนือรี

จากเมล็ดข้าวในคันนา กะทิจากต้นมะพร้าวพร้อมใบอ่อนของมะพร้าวสำหรับห่อ สู่การเรียนรู้เพื่อผลิตเป็นอาหารสำหรับการเดินทางของชาวบ้าน ทั้งพกพาง่าย สะดวก และวัตถุดิบเป็นสิ่งที่สามารถจัดหาได้ในพื้นที่ นับเป็นอีกภูมิปัญญาด้านอาหารพื้นบ้านที่ยึดโยงกับทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งควรมีการอนุรักษ์ต่อยอดเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารพื้นบ้าน อันเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสืบสานให้ภูมิปัญญาด้านอาหารพื้นบ้านสามารถสืบสานคงอยู่ต่อไปในพื้นที่แห่งนี้

บทความโดย

รอฮานี ดาโอ๊ะ นักวิจัย

ขอขอบคุณผู้ให้ข้อมูล

นางซารีฟ๊ะ
เจะเฮง ตำบลบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี

ภาพและข้อมูลประกอบบางส่วนจากโครงการอาหารพื้นบ้านชายแดนใต้ : วิถีแห่งความเชื่อภูมิปัญญาและบทบาทของผู้หญิงในการมีส่วนร่วมเพื่อสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม

Recommended Posts