ประเพณีชักพระเดือนห้า

          ประเพณีท้องถิ่นประจำปีในเดือน 5 ตำบลคอกกระบือ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี มีความหมายและความสำคัญต่อชุมชน 2 ประเพณี คือ ประเพณีอาบน้ำบัว กำหนดขึ้นประจำปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 วันรุ่งขึ้น แรม 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นประเพณีชักพระเดือน 5  ทั้ง  2  ประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญได้จัดคู่กันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน   โดยพระครูบี้ อินฺทสโร เป็นผู้ริเริ่มประเพณีราวปี พ.ศ. 2467 หรือ ประมาณ 70 กว่าปี และยังถือเป็นประเพณีปฏิบัติมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

ประเพณีชักพระเดือน 5 ซึ่งเป็นประเพณีท้องถิ่นเฉพาะชุมชนชาวพุทธบางพื้นที่ ซึ่งไม่เกี่ยวเนื่องกับประเพณีชักพระเดือน 11 การเกิดประเพณีชักพระเดือน 5 ขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยเฉพาะท้องถิ่นที่ได้ร่วมกันจัดการประเพณีชักพระเดือน 5 ขึ้นมา บริเวณแถบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอดีตมีการชักพระเดือน 5 หลายวัด แต่ปัจจุบันเหลือเพียงส่วนน้อย เช่น วัดทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ และวัดมหิงสาราม ตำบลคอกกระบือ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ส่วนวัดอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ได้หยุดประเพณีชักพระเดือน 5 ไปแล้ว

           ส่วนประเพณีชักพระเดือน 5 วัดมหิงสาราม ชาวบ้านยังเห็นคุณค่าและความสำคัญต่อประเพณี ได้ร่วมกันสืบทอดมาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวบ้านภาคภูมิใจที่ได้เผยแพร่ให้ชุมชนอื่นได้รู้จักตำบลคอกกระบือและบุตรหลานที่อยู่ต่างจังหวัดนิยมกลับมาร่วมประเพณีชักพระเดือนห้า ดังที่ ประพนธ์  เรืองณรงค์ (2528 : 30) กล่าวว่า พระมหาอิ่มได้บอกกล่าวว่า คนเฒ่าคนแก่เคยเล่าว่า ครั้งหนึ่งชาวบ้านไม่ได้จัดพิธีลากพระ จะลืมหรือย่างไรก็ไม่ทราบ ปรากฏว่าบนกุฏิหลังใหญ่ที่ท่านอาจารย์บี้อยู่นั้น เกิดมีเสียงดังแปลกประหลาด  คือ  มีเสียงไม้ เสียงกระเบื้องสั่นสะเทือน ชาวบ้านเรียกว่า “กุฏิสั้น” มันมีเสียงสั่นตลอดคืน ในที่สุดปีนั้นชาวบ้านต้องลากพระในวันแรม 2 ค่ำ เพราะแรม 1 ค่ำไม่ได้ลาก   

ชักพระเดือนห้า  ประวัติความเป็นมา

           ประเพณีชักพระเดือน 5 วัดมหิงสาราม ตำบลคอกกระบือ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี  จุดเริ่มต้นประเพณีชักพระเดือน 5 เนื่องจากเหตุผลสมัยก่อนชาวบ้านท้องถิ่นแห่งนี้ นิยมทอผ้า เรียกว่า  “ทอหูก” ใช้เองด้วยวัสดุจากธรรมชาติ การทอดผ้าต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะได้ผ้า 1 ผืน จึงกลายเป็นประเพณีนิยมของชาวบ้านได้รวมตัวกันทอผ้าถวายแก่พระสงฆ์ภายในวัด เพราะในอดีตผ้าสงบ จีวร สังฆาฏิ หาซื้อได้ยาก ชาวบ้านต้องรวมกลุ่มรวมพลังความศรัทธาในการทอผ้าถวายแก่พระสงฆ์  ฤดูกาลใด พระภิกษุสงฆ์ขาดแคลนผ้าเจ้าอาวาสได้บอกบุญขอแรงศรัทธาจากชาวบ้าน รวมกัน ทอหูก เพื่อถวายผ้าแก่พระสงฆ์ และในครั้งนี้ก็เหมือนกัน พระครูบี้  อินฺทสโร เจ้าอาวาสรูปที่ 5 วัดมหิงสาราม  ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2470 ได้บอกบุญชาวบ้านให้มาร่วมกันทอหูก  “ผ้าชุบสงฆ์  และบางปีมีการทอผ้าไตรจีวรสำหรับพระสงฆ์ที่ขาดแคลน

         คำว่า “ผ้าชุบสงฆ์” ประเสริฐ สุวรรณน้อย (สัมภษณ์ : 2555) กล่าวว่า “ผ้าสำหรับใช้ผลัดเปลี่ยนช่วงเวลาสรงน้ำของพระสงฆ์ นิยมตากไว้ที่ราวผ้าใกล้บ่อน้ำ พระสงฆ์รูปใดต้องการสรงน้ำ จะใช้ผ้า ชุบสงฆ์ เพราะถ้าใช้ผ้าสงบสรงน้ำ จะไม่มีสงบผืนใหม่มาเปลี่ยนในการนุ่งห่ม ผ้าชุบสงฆ์มีความแตกต่างจากผ้าอาบน้ำฝน เพราะเป็นผ้าที่ชุมชนได้ทอขึ้นมาถวายเอง ไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์การถวายผ้าตามพระวินัยปิฎก แต่ลักษณะการใช้คล้ายคลึงกันกับผ้าอาบน้ำฝน”

           การทอผ้า ชุบสงฆ์ ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับช่วงเวลาเข้าพรรษา หรือเทศกาลทอดกฐิน การทอผ้า ชุบสงฆ์” เป็นกิจกรรมประจำปีของท้องถิ่นแห่งนี้ในเดือน 5 ตามจันทรคติ หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ชาวบ้านรวมกลุ่มพลังศรัทธาในการทอผ้า ชุบสงฆ์ ประจำปี และตรงกับช่วงฤดูร้อน พระสงฆ์ประสงค์จะสรงน้ำวันละหลายครั้ง การผลัดเปลี่ยนผ้าในการสรงน้ำจึงมีความจำเป็นสำหรับพระสงฆ์

          นอกจานั้นแล้ว ประพนธ์ เรืองณรงค์ (2528: 31) ได้กล่าวว่า ท่านพระครูบี้ อินฺทสโร ได้จัดให้มีการแข่งขันทอผ้าที่บริเวณวัด ทอกัน 3 วัน คืน ทำกันมาเช่นนี้ทุกปี มีชาวบ้านจากถิ่นอื่น ๆ มาร่วมด้วย เช่น บ้านดอน บ้านควน บ้านนอก และบ้านเคียน หมู่บ้านใดชนะจะได้รับรางวัลจากท่านพระครูบี้”

          พระครูบี อินฺทสโร เห็นว่า ชาวบ้านได้ร่วมบุญทอหูกผ้า “ซุบสงฆ์” แต่ละปี ต้องตระเตรียมอุปกรณ์ และวัตถุดิบในการทอผ้าและต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะสำเร็จหนึ่งผืน บางปีทอผ้าหลาย ผืนต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน  พระครูบี อินฺทสโร  จึงมีแนวคิดต้องการสมนาคุณให้ชาวบ้านผู้มาร่วมบุญในครั้งนี้  ได้รับการบันเทิง  สนุกสนาน  ผ่อนคลายจากการเหน็ดเหนื่อย ได้ร่วมกันสังสรรค์  จึงปรึกษาหารือกับชาวบ้านจัดกิจกรรมประเพณี ชักพระเดือน 5” แม้เป็นการเลียนแบบประเพณีชักพระเดือน 11 ที่มีพื้นฐานความเชื่อตามแบบพิธีกรรมโบราณของอินเดีย และมีประวัติเกี่ยวเนื่องกับการเสด็จลงมาจากชั้นดาวดึงห์ของพระพุทธเจ้า พระครูบี คิดว่า ชักพระเดือน มีความเหมาะสมจะเป็นประเพณีประจำปีของท้องถิ่น” แม้กิจกรรมเน้นการพักผ่อน ผ่อนคลาย สนุกสนาน แต่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา


ชักพระเดือนห้า รูปแบบการสร้างเรือพระ

          รูปแบบของเรือพระ  ประพนธ์ เรืองณรงค์ (2528 : 31) กล่าวถึงการสร้างเรือพระในอดีตไว้ว่า  “การลากพระดังกล่าวเป็นการลากพระบนบก    สมมุติพาหนะที่ใช้ชักลากเป็นลำเรือ ใต้ท้องเรือไม่มีล้อ มีท่อนไม้คู่หนึ่งรองรับฐานทั้งสองข้าง เมื่อเรือพระเคลื่อนทำให้ท่อนไม้ครูดไปกับถนนลูกรัง ตรงหน้าและหลังเรือพระทำเป็นแท่นไม้เตี้ย ๆ สำหรับให้เด็กขึ้นไปนั่งประโคมกลองถัดจากฐานใต้ท้องเรือพระขึ้นไปมีแท่นไม้ยกสูงเป็นชั้น ๆ  บนสุดเป็นหลังคายอดแหลมแกะสลักสวยงาม     ตรงฐานแท่นชั้นล่างทั้งสี่มุมมีเสาธงเสมาธรรมจักรสีเหลืองพลิ้วไสว พระพุทธรูปปางประทานพรประดิษฐานอยู่บนฐานชั้นสูงสุด พระพุทธรูปองค์นี้หล่อด้วยเงินนับเป็นพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งของวัดคอกกระบือ” 

          ปัจจุบัน ลักษณะเรือพระยังคงรูปแบบเดิมแต่ย่อส่วนให้มีขนาดเล็กลง สาเหตุหลักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม  เช่น  เส้นทางคมนาคมมีสิ่งกีดขวางระหว่างทาง เช่น สายไฟฟ้า ส่วนเส้นทางถนนลูกรังเปลี่ยนมาเป็นถนนลาดยาง ฐานลากเรือพระเดิมใช้เหล็กเป็นฐานรองไม้ตลอดลำตัวพญานาคทั้งสอง ช่วงชักลากเหล็กเรียบติดกับถนน ต้องใช้กำลังชาวบ้านจำนวนมากจึงจะชักลากไปได้ ต้องเปลี่ยนมาใช้ล้อรถเป็นฐานชักลาก เพื่อป้องกันผิวถนนไม่ให้เสียหายขณะชักลาก 

 

พระประธาน : อัญเชิญไว้บนเรือพระ

          ในอดีตช่วงเทศกาลเดือน มีชาวบ้านจากตำบลต่าง ๆ ในอำเภอปะนาเระ และชาวไทยพุทธในอำเภอใกล้เคียงมาร่วมแข่งขันการทอหูกผ้าซุบสงฆ์ มีชาวบ้านร่วมชมและเชียร์หมู่บ้านของตนเองเป็นจำนวนมาก ตอนกลางคืนมีมหรสพและการละเล่นต่าง ๆ เพื่อให้ชาวบ้านได้รับความเพลิดเพลิน ครั้นถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นประเพณีชักพระเดือน 5  

ยุคอดีต การชักพระเดือน ไม่ได้อัญเชิญพระพุทธรูปไว้บนเรือพระ เพราะเป็นประเพณีท้องถิ่นที่เกิดขึ้นด้วยกุศโลบายต้องการให้ชาวบ้านได้ผ่อนคลาย สนุกสนาน เพลิดเพลิน จึงได้นิมนต์พระสงฆ์จากวัดต่าง ๆ เข้ามาร่วมพิธีนั่งบนเรือพระแทนพระพุทธรูป เพื่อต้องการให้พระสงฆ์วัดต่าง ๆ ได้ร่วมพิธีกรรมและสร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวบ้านในการชักลากเรือพระ  

ยุคต่อมา การลากพระเดือน 5 ประจำปีแต่ละครั้ง ประสบปัญหาการนิมนต์พระสงฆ์จากวัดต่าง ๆ มาร่วมนั่งบนเรือพระ ด้วยเหตุพระสงฆ์มีจำนวนน้อยลง หรือพระสงฆ์นั่งบนเรือพระอาจไม่สะดวกในการชักลากของชาวบ้าน พระครูบี้ อินฺทสโร จึงได้หล่อพระพุทธรูปปางพระทานพรด้วยเงิน เพื่ออัญเชิญไว้บนเรือพระแทนพระสงฆ์ สืบทอดต่อมาเท่าทุกวันนี้ 

บรรยากาศ : ประเพณีชักพระเดือน 5   

          บรรยากาศชักพระเดือน 5 จัดเพียง 1 วัน คือ ช่วงเช้าลากเรือพระออกจากวัดไปยังจุดหมายคือศาลาริมทางที่ได้ปลูกสร้างไว้ห่างจากวัดประมาณ 5 กิโลเมตร  ช่วงเย็นลากเรือพระกลับวัด เป็นอันเสร็จพิธี  แต่ภายในวัดได้จัดงานวัดเรียกว่า เฉลิมฉลองต้อนรับเรือพระกลับวัด  อดีตเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ บางปีจัด 3 คืนบ้าง  5 คืนบ้าง  7 คืนบ้าง หมายกำหนดการขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างวัดกับชุมชน และความพร้อมในการจัดงานแต่ละปี ภายในงานมีการแสดงต่าง ๆ เช่น หนังตะลุง มโนราห์ หนังกลางแปลง และเครื่องเล่นต่าง ๆ  เพื่อต้องการให้ชาวบ้านได้พักผ่อน ผ่อนคลาย สนุกสนาน และสามัคคีในหมู่คณะ เพื่อเตรียมพร้อมการเริ่มต้นชีวิตใหม่ คือ การทำนา

          พิธีชักพระเดือน 5 เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้า ชาวบ้านเดินทางมาวัดมหิงสารามเพื่อรอฤกษ์ยามการเคลื่อนขบวนเรือพระ เส้นทางลากเรือพระได้กำหนดไว้อย่างแน่นอนประจำปี โดยเริ่มเคลื่อนกระบวนลากเรือพระจากวัดไปสิ้นสุดปลายทางที่ศาลาริมทางซึ่งมีอยู่ 2 หลัง ชาวบ้านกล่าวว่า ในอดีตพื้นที่บริเวณนี้ มีต้นประดู่ขึ้นเป็นทิวแถวทั้งสองข้างทาง บรรยากาศร่มรื่น ลมพัดเย็นสบาย เหมาะสำหรับการหยุดแวะพักช่วงเดินทางไปยังชุมชนอื่น ๆ

           เวลาประมาณ 16.00 น. ลากเรือพระกลับและให้ถึงวัดก่อนเวลามืดค่ำ เพราะเส้นทางริมถนนหนทางไม่มีไฟฟ้าอย่างเช่นปัจจุบัน อาจเกิดอันตรายระหว่างทางได้  และก่อนเรือพระถึงวัดประมาณ 200 เมตร พื้นที่โดยรอบเป็นท้องทุ่งนาบริเวณกว้าง ในอดีตพื้นที่บริเวณนี้ยังไม่มีอาคาร บ้านเรือน เป็นพื้นที่นาทุ่งโล่งกว้าง จึงมีจัดกิจกรรม ประลองฝีมือ โดยใช้ลูกมะนาว ลูกเฟือง ปาใส่กันระหว่างผู้ลงสนามการแข่งขัน

          การประลองฝืมือเป็นกิจกรรมหนุนเสริมเกี่ยวเนื่องกับประเพณีชักพระเดือน 5 ในอดีตประจำทุกปีเมื่อลากเรือพระมาถึงบริเวณนี้ ชาวบ้านทุกคนจะรู้จึงต้องลากเชือกเรือพระลงไปในท้องทุ่งนา จัดการแยกเชือกออกเป็น 2 ฝัง  มีระยะห่างกันพอประมาณ  เพื่อจัดกิจกรรม การประลองฝีมือ แถบจังหวัดพัทลุงเรียกว่า การปาขนมต้ม เป็นกิจกรรมหนุนเสริมที่เกี่ยวเนื่องกับประเพณีชักพระเดือน 11 เพราะสมัยพุทธกาล ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากชั้นดาวดึงห์ มีชาวบ้านเดินทางไปต้อนรับจำนวนมาก  พร้อมกับทำขนมต้มไปถวายพระพุทธเจ้า ด้วยเหตุที่มวลชนร่วมเดินทางมาต้อนรับจำนวนมาก กลุ่มชาวบ้านอยู่ท้ายแถว ไม่สามารถถวายขนมต้มได้ จึงใช้วิธีการโยน หรือ ปาให้ลงไปในบุษบกเพื่อถวายให้กับพระพุทธเจ้า  ชาวบ้านจึงได้ดัดแปลงรูปแบบกิจกรรมมาเสริมสร้างความสนุกสนาน

          การดัดแปลงกิจกรรมแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกันบ้างดังที่กล่าวมาแล้ว  ส่วนชาวบ้านคอกกระบือ  เรียกว่า การประลองฝีมือ  เพราะในสมัยนั้น มีคนบางกลุ่มชอบเรียนเรื่อง เวทมนต์ การปลุกเสกของขลัง เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ด้วยคาถาอาคม เรียกว่า คนเล่นของ มีการสักเลขยันตร์จากอาจารย์ฝีมือดี จึงต้องการประลองวิชาว่า  ใครมีคาถาอาคม เวทมนต์ความขลังมากกว่ากัน  จะท้าประลองฝืมือในช่วงลากพระเดือน 5  ปกติจะใช้ลูกมะนาว ลูกมะเฟื่อง หรือผลไม้อื่นตามแต่คู่แข่งขันยอมรับในการปาใส่กัน  ถ้าคนธรรมดาถูกปาเข้าไปบริเวณหน้าอก ท้อง หรือบริเวณหน้า จะเกิดอาการเจ็บ ปวด หายใจไม่ออก ฉะนั้น ผู้ที่เข้าการประลองเป็น คนหนุ่ม ร่างกายแข็งแรง มีกำลังวังชา หรือ กลุ่มของคนหนุ่มชอบทดสอบพลัง และที่สำคัญ คือ มีวิชาอาคมป้องกันตัว 

          ลักษณะการ ประลองฝีมือ  ต้องแสดงลีลา ท่าทาง ตามกฎกติกา ใช่ว่าใครจะปาก็ปามั่ว คือ ผู้ประสงค์จะประลองฝีมือ ยืนอยู่ฝั่งด้านนอกของเชือกและเปล่งเสียงท่าทายผู้ประสงค์จะเข้ามาประลอง พร้อมประกาศว่าอุปกรณ์การปา คือ ลูกมะนาว ถ้ามีผู้ประสงค์จะประลองเข้ามายืนอีกฝั่ง แสดงว่า ตอบรับการประลองฝีมือ  ส่วนผู้เข้าร่วมลากเรือพระร่วมเป็นกองเชียร์ เลือกยืนเชือกฝั่งไหน แสดงว่าต้องการเชียร์ผู้เข้าแข่งขันคนนั้นให้ชนะในการปาครั้งนี้ การปากันแต่ละครั้งแม้ว่าจะเจ็บอย่างไร ผู้เข้าประลองจะเก็บอาการ เพื่อต้องการให้รู้ว่า ตนเองไม่เจ็บปวด มีคาถาอาคมเก่งกล้า จะได้เป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน โดยเฉพาะคนหนุ่มเพื่อต้องการให้หญิงสาวในชุมชนยอมรับและชื่นชอบ แต่ปัจจุบันกิจกรรมหนุ่นเสริมเหล่านี้ได้เลือนหายไป

          การลากพระเดือน 5 จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งบรรยากาศการจัดทำเรือพระ การชักลากเรือพระ และกิจกรรมอื่น ๆ  เปรียบเหมือนว่า ในอดีตชาวบ้านได้คิดค้นประเพณีและเข้าร่วมกิจกรรมด้วยความเชื่อ ความศรัทธา และการสามัคคีระหว่างกลุ่มชน แต่ปัจจุบันมีหน่วยงาน องค์กรเข้ามาจัดสรรงบประมาณ ดำเนินการจัดตั้งขบวนการชักลากเรือพระ มีขบวนกลองยาว เหล่านางรำ จึงกลายเป็น ประเพณีประดิษฐ์ หรือ ประเพณีจัดตั้ง ตามรูปแบบของคณะกรรมการดำเนินงาน ชาวบ้านเป็นเพียงผู้ให้ความร่วมมือ บางกิจกรรมหนุนเสริมบนพื้นฐานเอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้เลือนหายไป เช่น กิจกรรมการประลองฝีมือ การจัดงานตอนกลางคืน หนังฉายกลางแปลง หนังตะลุง มโนราห์ ซึ่งเป็นไปตามหลักการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ถ้าชุมชนมีความเข็มแข็ง สังคมจะไม่มีวันล่มสลาย แม้หยุดชะงักไปบ้าง สุดท้ายมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงระบบไปสู่ ภาวะสมดุล ให้สอดคล้องกับยุคสมัยนั้น

เรียบเรียงบทความโดย

ประสิทธิ์ รัตนมณี นักวิจัย สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา

Recommended Posts