ความหมายสารทเดือนสิบ
ประเพณีสารทเดือนสิบ ภาษาท้องถิ่นใต้ เรียกว่า ประเพณีชิงเปรต เป็นประเพณีท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วไปของภาคใต้ สำนักงานโบราณคดี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 11 นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร (2542) กล่าวว่า ประเพณีสารทเดือนสิบเป็นประเพณีที่รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอินเดีย ทั้งนี้เพราะว่าชาวนครติดต่อกับอินเดียมานาน ก่อนดินแดนส่วนอื่น ๆ ของประเทศไทย วัฒนธรรมและอารยธรรมของอินเดียส่วนใหญ่จึงถ่ายทอดมายังเมืองนครเป็นแห่งแรกแล้วค่อย ๆ ถ่ายทอดไปยังเมืองอื่นๆและภูมิภาคอื่น ๆ ในประเทศไทย ประเพณีสารทเดือนสิบเป็นประเพณีที่วิวัฒนาการมาจาก ประเพณี “เปตพลี ” ของศาสนาพราหมณ์ กล่าวคือในศาสนาพราหมณ์มีประเพณี เรียกว่า ” เปตพลี” ที่จัดทำขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย ประเพณีนี้ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาในอินเดียก่อนสมัยพุทธกาล
คำว่า “เปต” เป็นภาษาบาลีตรงกับคำว่า “เปรต” ในภาษาสันสกฤตแปลว่า “ผู้ไปก่อน” หมายความถึงบรรพบุรุษที่ตายไปแล้ว ถ้าเป็นคนดี พญายมซึ่งเป็นเจ้าแห่งความตายจะพาวิญญาณไปสู่แดนอันเป็นบรมสุข อันเป็นความเชื่อดังเดิมที่สุดของพราหมณ์ซึ่งมีปรากฏในคัมภีร์พระเวท ต่อมาพราหมณ์ได้เกิดความเชื่อเกี่ยวกับนรก ดังนั้น ชาวอินเดียจึงเกรงว่าบรรพบุรุษที่ตายอาจจะไปตกนรก วิธีการช่วยไม่ให้คนตกนรกก็คือ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้เรียกว่าพิธีศราทธ์ ซึ่งกำหนดวิธีการทำบุญไว้หลายวิธี หากลูกหลานญาติมิตรไม่ทำบุณอุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษที่ตายไปเป็นเปรตจะได้รับความอดยากมาก ดังนั้น การทำบุญทั้งปวงเพื่ออุทิศผลไปให้แก่ผู้ล่วงลับ ซึ่งเรียกว่า การทำบุญทักษิณานุปทานหรือเปตพลี
ความสำคัญสารทเดือนสิบ
วัตถุประสงค์ประเพณีวันสารทเดือนสิบ(ชิงเปรต) ตามปกติทั่วไปทำบุญตามพิธีกรรม 2 ครั้งต่อปี ครั้งแรกตรงกับแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ชาวบ้านเรียกว่า “วันรับเปรต” หรือ “วันรับตายาย” ชาวบ้านเชื่อว่า ญาติผู้ล่วงลับ เคยหลงผิดทำกรรมชั่ว ได้ถูกกักขังไว้ในยมโลก ไม่มีความเป็นอิสระด้วยผลกรรม หนึ่งปีจะได้ถูกปลดปล่อยให้เป็นอิสระ 15 วัน หลังจากนั้น บรรดาวิญญาณญาติ ๆ จะถูกกลับไปสู่ความไม่เป็นอิสระในยมโลกอย่างเดิม จนกว่าจะหมดบาปกรรม จึงมีการทำบุญครั้งที่สอง ตรงกับแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า “วันส่งเปรต” หรือ “วันส่งตายาย” หรือ วันรับเปรต ตามความรู้สึกของชาวบ้านเหมือนกับเป็นวัน “รับตายาย” ด้วยสาเหตุมาจากสังคมในอดีตเป็นครอบครัวขยาย มีความรักความผูกพันระหว่างสมาชิกในครอบครัวมีสูง เมื่อตายายที่ล่วงลับไปแล้ว กลับมาเยี่ยมลูกหลานในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ดังนั้นสมาชิกภายในครอบครัวต้องไปวัดรับศีล 5 กวาดบ้านเรือนให้สะอาด อย่าทะเลาะเบาะแว้งตลอดเวลา 15 วัน เพราะตายายจะได้กลับไปอย่างมีความสุข ได้เห็นบุตรหลานอยู่ในศีลธรรม มีความรักความสามัคคีภายในครอบครัว
ภาพพื้นที่วัดมหิงสาราม ตำบลคอกกระบือ
สัญลักษณ์ทางพิธีกรรมสารทเดือนสิบตำบลคอกกระบือ
1. ร้านเปรต หรือหลาเปรต สัญลักษณ์สำคัญสำหรับวางอาหารหรือขนมเดือนสิบชนิดต่าง ๆสำหรับวิญญาณที่ถูกปลดปล่อยจากภพภูมิ บางวัดไม่มีการสร้างหลาเปรต ใช้วิธีจัดแจงอาหารและขนมสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมจัดไว้ในถาดรวมกันกับเหล่าบรรดาญาติพี่น้อง เพื่อนำไปวางไว้บริเวณใดบริเวณหนึ่งของวัด และบางวัดจัดเตรียมถาดเปรตภายนอกวัดสำหรับเปรตที่เข้าวัดไม่ได้ เพราะมีบาปหนา การสร้างหลาเปรตมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบแรกหลาเปรตทรงสูง สำหรับเปรตที่มีลักษณะบาปกรรมทำให้ลำตัวสูง ไม่สามารถสังเวยเครื่องเซ่นบนหลาเปรตเหมือนคนธรรมดาได้ จึงต้องสร้างหลาเปรตให้มีระดับสูงกว่าปกติธรรมดา แบบที่สอง จัดแจงไว้บนแคร่หรือบนผืนเสื่อหรือที่ต่ำเพื่อให้เปรตที่มีความสูงไม่มากนักได้รับประทาน หลาเปตรทั้งสองแบบสำหรับให้ชาวบ้านได้นำอาหารคาวหวานและสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมอื่น ๆ มาวางไว้สำหรับเซ่นไว้บรรดาเหล่าญาติ นอกจากนั้น หลาเปรตทรงสูงยังใช้สำหรับการแข่งขันเพื่อความบันเทิง
ลักษณะหลาเปรตบริเวณสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มี 2 แบบ แบบทรงเตี้ยสำหรับใช้วางอาหารคาวหวาน ขนมพิธีกรรม สำหรับอุทิศส่วนกุศลให้กับเปรตและบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว จะสร้างไว้ตั้งแต่การทำบุญพิธีกรรมวันรับเปรตจนกระทั่งวันส่งเปรต ส่วนหลาเปรตทรงสูงนิยมสร้างไว้ประกอบพิธีกรรมในช่วงประกอบพิธีกรรมสุดท้าย คือ ทำบุญส่งเปรต นอกจากเป็นสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมแล้วยังใช้ในการแข่งขันปีนหลาเปรต ลักษณะหลาเปรตทรงสูงพบทั่วไปมี 2 แบบ คือ หลาเปรตทรงสูงแบบเสาเดี่ยวกับหลาเปรตทรงสูงสองเสา สำหรับแข่งขันปีนหลาเปรต เพื่อความสนุกสนาน ปัจจุบันหลาเปรตทรงสูงเริ่มเลื่อนหายไปหลายพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
หลาเปรตหรือร้านเปรตตำบลคอกกระบือ
ส่วนหลาเปรตประเพณีสารทเดือนสิบตำบลคอกกระบือ รูปแบบเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะวิถีการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน และตามลักษณะสังคมภายนอกที่หลั่งไหลเข้ามา ผู้คนมีโอกาสทางการศึกษา ประกอบอาชีพ และเคลื่อนย้ายไปใช้ชีวิตในสังคมของจังหวัดอื่น ๆ การรวมตัวประกอบพิธีกรรมเริ่มอ่อนแอลง การสร้างสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมอย่างเช่นในอดีตเป็นเรื่องลำบาก เพราะครอบครัวขยายเริ่มกลายเป็นครอบครัวเดี่ยว ชาวบ้านไม่มีเวลากับกิจกรรมส่วนรวม มุ่งเน้นอาชีพหลักของตนเอง ประเสริฐ สุวรรณน้อย (2555) กล่าวว่า หลาเปรตในอดีตจะสร้างรูปแบบคล้ายคลึงกับพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะหลาเปรตสูงจะใช้ทั้งด้านพิธีกรรมและการแข่งขัน ซึ่งชาวบ้านจะร่วมกันวางแผน หลาเปรตในอดีตนิยมใช้ไม้เสาเดียว กุศโลบายเพื่อความสนุกสนาน ช่วงการแข่งขันปีนป่าย โดยเสาเปรตใช้ไม้พญาชุ่มเรียง ซึ่งเป็นต้นไม้ท้องถิ่น จากนั้นนำเปลือกไม้พญาชุ่มเรียงแช่น้ำไว้ค้างคืน เพื่อทำให้ต้นเสาเปรตเพิ่มความรื่นไหลบนร้านเปรตจะมีสิ่งของต่าง ๆ เช่น เสื้อ ผ้าถุง ผ้าข้าวม้า เงินรางวัล และขนมต่าง ๆ มากมาย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันการ ปีนป่ายร้านเปรตเข้ามาชิงชัย ซึ่งเป็นกิจกรรมกึ่งบันเทิงที่ได้ปฏิบัติกันมา กลายเป็นรูปแบบหรือองค์ประกอบหนึ่งของประเพณีสารทเดือนสิบ ปัจจุบัน ตำบลคอกกระบือนิยมสร้างหลาเปรตเน้นความสะดวกสบาย รวดเร็ว เพียงเพื่อใช้การวางอาหารคาวหวานในพิธีกรรม ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมทำหลาเปรตอย่างเช่นในอดีต คณะกรรมการวัดวางแผนจัดทำหลาเปรตสำเร็จรูปทรงเตี้ยสำหรับวางอาหารคาวหวาน และเครื่องอุปโภคสำหรับอุทิศให้กับผู้ล่วงลับ เป็นเหตุให้หลาเปรตทรงสูงเลื่อนหายไปประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีการคิดฟื้นฟูหลาเปรตทรงสูงเพื่อการแข่งขัน ความสนุกสนานอย่างเช่นในอดีต
2. ขนมพิธีกรรมวันสารทเดือนสิบตำบลคอกกระบือ
ส่วนการเตรียมสัญลักษณ์ทางพิธีกรรม โดยเฉพาะขนมพิธีกรรม 5 อย่างตามความเชื่อที่ได้สืบทอดต่อ ๆ กันมาคือ
ขนมลา เป็นสัญลักษณ์แทนแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม
ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพสำหรับบุรพชนใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ
ขนมบ้า เป็นสัญลักษณ์แทนสะบ้า สำหรับบุรพชนจะได้ใช้เล่นสะบ้า ในวันสงกรานต์
ขนมกง (ขนมไข่ปลา) เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ
ขนมดีซำ หรือขนมเจาะรู หรือ ขนมเจาะหู เป็นสัญลักษณ์แทนเงินเบี้ย สำหรับใช้สอย
ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สื่อความหมายการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้กับเหล่าเปรต หรือ บรรดาเหล่าญาติที่กลับมาเยี่ยมบุตรหลาน เพื่อจะได้นำไปใช้ในภพภูมิของตนเอง ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานด้วยผลกรรม สำหรับตำบลคอกกระบือ ประเพณีเดือนสิบมุ่งเน้นสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้กับบรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ไม่ได้มุ่งเน้นสัญลักษณ์พิธีกรรมความเชื่อเหมือนกับพื้นที่อื่น ๆ เน้นสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นสำหรับนำไปใช้การดำเนินชีวิตเหมือนกับคนปกติธรรมดา จึงจัดเตรียมอาหารหวานคาว เช่น ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวต้มมัด ขนมท้องถิ่นชนิดต่าง ๆ
ประเภทเครื่องใช้ เช่น หมากพลู เปลือกระมัง หรือลูกมะกรูดสำหรับสระผม (ปัจจุบันนิยมซื้อแฟซา) เงิน (สำหรับการจับจ่ายซื้อสินค้า) ยาเส้น ข้าวตอก และสิ่งอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน การใช้สิ่งของเหล่านี้เพื่ออุทิศไปให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับจะได้นำไปใช้ในภพภูมิที่ตนเองสถิตอยู่ (ซิ้ม ตัณฑพงษ์, 2556) สัญลักษณ์เหล่านี้ใส่ในใบกะพ้อที่ห่อเป็นรูปข้าวต้มมัด นำมามัดรวมกันเป็นแถวยาว เป็นสิ่งที่ได้สืบทอดติดต่อกันมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบันชาวบ้านนิยมจัดซื้ออาหาร เครื่องอุปโภคบริโภคตามสมัยนิยมที่ขายตามตลาดแต่ละชนิดบรรจุใส่ถุงพลาสติก
สัญลักษณ์พิธีกรรมสารทเดือนสิบตำบลคอกกระบือ
สัญลักษณ์ทางพิธีกรรมเหล่านี้จัดเป็นเครื่องเซ่นที่จะอุทิศไปให้กับผู้ล่วงลับกลับนำไปใช้ในภพภูมิที่สถิตอยู่ตามผลของบุญและกรรม ญาติจะนำไปวางไว้บนหลาเปรต ช่วงเวลาชิงเปรต บุตรหลานต้องการร่วมพิธีชิงเปรตด้วยพ่วงสัญลักษณ์เหล่านี้ เพราะข้างในมีสิ่งของจำเป็นต่อผู้ล่วงลับ และสำหรับแต่ละครอบครัวใช้สัญลักษณ์เหล่านี้อย่างน้อย 1 พ่วงเพื่อนำไปแขวนไว้ตามต้นไม้ในสวนของตนเอง เชื่อว่า ต้นไม้ที่แขวนด้วยสัญลักษณ์ที่ได้จากการชิงเปรตจะทำให้มีผลดก เจริญเติบโต มีความอุดมสมบูรณ์ ไม่มีแมลง หรือโรคอื่น ๆ มาทำร้ายให้ต้นไม้ตายได้
ขั้นตอนของพิธีกรรมวันรับเปรต เลี้ยงเปรต และส่งเปรตตำบลคอกกระบือ
ประเพณีสารทเดือนสิบ หรือ “วันชิงเปรต” ตำบลคอกกระบือมีอยู่ 2 แบบ คือ กิจกรรมทำบุญ 2 ครั้ง/ปี คือ วันรับเปรต และวันส่งเปรต และปีใดมีเดือน 8 สองครั้งนับตามจันทคติ จะประกอบพิธีกรรม 3 ครั้ง/ปี คือ วันรับเปรต วันเลี้ยงเปรต และวันส่งเปรต ซึ่งแตกต่างจากพื้นอื่น ๆ ในภาคใต้
1. ประกอบพิธีกรรม 2 ครั้ง ครั้งแรกตรงกับแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า “วันรับเปรต” หรือ “วันรับตายาย” ชาวบ้านเชื่อว่า ญาติผู้ล่วงลับ เคยหลงผิดทำกรรม ได้ถูกกักขังไว้ในยมโลก ไม่มีความเป็นอิสระด้วยผลกรรม หนึ่งปีจะได้ถูกปลดปล่อยให้มีความเป็นอิสระ 15 วัน หลังจากนั้น บรรดาญาติ ๆ จะถูกกลับไปสู่ความไม่เป็นอิสระในยมโลกอย่างเดิม จนกว่าจะหมดบาปกรรม จึงมีการทำบุญครั้งที่สอง ตรงกับแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า “วันสารทเดือนสิบ” ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “วันส่งเปรต” หรือ “วันส่งตายาย”
2. ประกอบพิธีกรรม 3 ครั้ง นับวันประกอบพิธีกรรมตามจันทรคติ ปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ต้องประกอบพิธีกรรมสารทเดือนสิบ 3 ครั้ง คือ
วันรับเปรต ประกอบพิธีกรรมวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ชาวบ้านเรียกว่า “วันรับเปรต” หรือ “วันรับตายาย” ตามความเชื่อเหมือนกับพื้นที่อื่น ๆ ของภาคใต้ ว่าวิญญาณของเครือญาติหรือเพื่อนสนิทมิตรสหาย ได้จากโลกนี้ไปด้วยผลแห่งบุญกรรมได้กลายเป็นเปรตอยู่ในขุมนรก เดือนสิบของทุกปี พวกเปรตเหล่านี้ได้ถูกปล่อยมาสู่โลกมนุษย์เพื่อมารับส่วนบุญส่วนกุศลจากญาติ ๆ เพื่อคลายจากความอดยาก หิวโหย
วันเลี้ยงเปรต ประกอบพิธีกรรมวันแรม 8 ค่ำ เดือน 10 หรืออีก 7 วันหลังจากวันรับเปรต ชาวบ้าน เชื่อว่า ปีใดเดือน 8 ครั้ง ต้องประกอบพิธีกรรม วันเลี้ยงเปรตด้วย เพราะเปรตที่ถูกปลดปล่อยมาจากภพภูมินั้นที่แท้ คือ บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว กลับมาเยี่ยมบุตรหลาน ดังนั้น บุตรหลานคิดว่า บรรพบุรุษต้องเฝ้าดูแลบุตรหลานอยู่ตลอดช่วงเวลายาวนาน จึงได้มีการจัดพิธีกรรมเลี้ยงบรรพบุรุษ เรียกว่า วันเลี้ยงเปรต
วันส่งเปรต ตรงกับแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวบ้านเรียกว่า “วันส่งเปรต” หรือ “วันส่งตายาย” ตามหมายกำหนดของช่วงเวลาที่ได้รับการปลดปล่อยมาพบกับลูกหลานในเมืองมนุษย์ เพื่อรับผลบุญกุศลจากบุตรหลานที่ได้อุทิศให้ จนกว่าจะหมดเคราะห์กรรม
ดังนั้นพิธีกรรมวันสารทเดือนสิบ หรือ ชิงเปรต ตำบลคอกกระบือ ประกอบพิธีกรรมแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะปีใดมีเดือน 8 สองหนตามจันทรคติ ประกอบพิธีกรรม 3 ครั้ง คือ วันรับเปรต วันเลี้ยงเปรต และวันส่งเปรต เนื้อหาพิธีกรรมทั้ง 3 วันคล้ายคลึงกัน ซึ่งชาวบ้านให้ความสำคัญกับพิธีวันส่งเปรตมากกว่าวันรับเปรต และวันเลี้ยงเปรต สังเกตได้จากบุตรหลานมีถิ่นอาศัยอยู่ตามจังหวัดอื่น ๆ ต้องหาโอกาสมามาร่วมพิธีกรรมสารทเดือนสิบช่วง วันส่งเปรต
กิจกรรมทางพิธีกรรมดังกล่าวข้างต้น เริ่มตั้งแต่ช่วงเวลาเช้า ชาวบ้านทยอยเข้ามาในวัด เพื่อนำสิ่งของมาวางบนหลาเปรตและจุดธูปเทียน ถวายดอกไม้ตามความเชื่อว่า การนำสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมวางไว้บนหลาเปรต ถือว่าเป็นเครื่องเซ่นสังเวยที่จะอุทิศไปสู่ผู้ล่วงลับ ชาวบ้านต้องจุดธูปเทียน วางดอกไม้ บริเวณหลาเปรต สื่อความหมายแทน พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ตามความศรัทธาทางพระพุทธศาสนา และกลิ่นควันจากธูป เทียน และกลิ่นดอกไม้ที่นำมาอธิษฐานจะทำให้วิญญาณผู้ล่วงลับรับรู้ และส่งไปสู่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ หรือ เหล่าญาติที่ได้ถูกปลดปล่อยให้มาพบกับบุตรหลาน ซึ่งเป็นความเชื่อที่ได้ฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของชาวพุทธ
การอธิษฐานจิตวันสารทเดือนสิบตำบลคอกกระบือ
คำอธิษฐานจิต นอกจากระลึกถึงบรรพบุรุษแล้ว ชาวพุทธบริเวณนี้ยังตั้งจิตอธิษฐานให้กับผู้ล่วงลับจากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในช่วงเช้าเทศกาลตรุษจีน มีผู้เสียชีวิต 5 คน และบาดเจ็บอีก 4 คน และบรรดาบุตรหลานของชาวบ้านคอกกระบือที่เสียชีวิตในช่วงขณะเดินทางประกอบอาชีพอีกหลายคน และตั้งจิตอธิษฐานให้เหตุการณ์บ้านเมืองคลี่คลายไปในทิศทางสงบ และไม่มีเหตุการณ์ร้าย ๆ เกิดขึ้นในชุมชนที่จะนำมาสู่การสูญเสีย ซึ่งสัญลักษณ์พิธีกรรมแบบนี้จะสำเร็จได้จากคำอธิฐานด้วยพลังแห่งบุญที่ได้กระทำในครั้งนี้ นอกจากนั้น ชาวบ้านจัดสำรับอาหารคาวหวานเพื่อถวายให้กับพระภิกษุสงฆ์ ผู้เป็นสื่อกลางการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปสู่ผู้ที่ล่วงลับ โดยไม่มีการตักบาตรแต่จะใช้สำรับถวายเปรียบเหมือนกับพิธีกรรมการตักบาตร เมื่อถึงเวลา ประมาณ 10.00 น. มรรคทายกจะตีระฆังเพื่อส่งสัญญาณให้ชาวบ้าน ได้มานั่งรวมกันภายในศาลา และบริเวณโดยรอบ เพื่อประกอบพิธีกรรมช่วงเช้า ด้วยการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ จากการรับศีล และพระสงฆ์สวดบังสุกุล โดยไม่มีการเทศนา ถ้าเป็นพื้นที่อื่น ๆ จะมีการเทศนา 1 กัณฑ์ เนื้อหาการเทศน์จะเน้นเรื่อง ผลกรรม วิบากกรรมที่ทำตนเองให้ทนทุกข์ทรมานกลายเป็นเปรต และสอนบุตรหลานเรื่องความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ
เมื่อเสร็จขั้นตอนพิธีกรรมสงฆ์ บางพื้นที่ชาวบ้านต้องตระเตรียมขันข้าวเพื่อตักบาตรให้กับญาติผู้ล่วงลับ แต่ชาวบ้านตำบลคอกกระบือจะใช้ปิ่นโตแทนสื่อสัญลักษณ์การตักบาตร ด้วยการนำปิ่นโตไปถวายกับพระภิกษุสงฆ์ผู้ประกอบพิธีกรรมเพื่ออธิษฐานจิตระลึกถึงญาติพี่น้องผู้ล่วงลับให้ได้รับส่วนบุญกุศล เป็นการแสดงความกตัญญูและอุทิศให้ญาติผู้ล่วงลับได้อิ่มหนำสำราญไม่ต้องทนทุกข์ทรมานด้วยความหิวโหย การส่งเครื่องเซ่นเหล่านี้ไปสู่บรรพบุรุษได้ คือ การกรวดน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งสุดท้ายแห่งพิธีกรรมที่ต้องหลั่งน้ำเปรียบเหมือนกระแสแห่งน้ำที่จะนำพาสิ่งอธิษฐานไปสู่เป้าหมายแห่งจิตได้
การกรวดน้ำวันสารทเดือนสิบตำบลคอกกระบือ
การกรวดน้ำ เป็นสื่อสัญลักษณ์สำคัญช่วงสุดท้ายพิธีกรรมที่จะต้องหลั่งน้ำลงสู่พื้นดินเพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลจากการทำบุญในครั้งนี้ไปสู่ผู้ล่วงลับ วิธีกรวดน้ำมีความสำคัญด้านจิตใจของ บุตรหลานจึงต้องรวมกันเป็นครอบครัวเพื่อกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญในครั้งนี้ จากการสังเกตการกรวดน้ำ ชาวบ้านจะกรวดน้ำภายในศาลาตามธรรมเนียมการปฏิบัติการถวายสังฆทาน เมื่อเสร็จพิธีกรรมในศาลาแล้ว แต่ละครอบครัวนำบุตรหลานมาสู่บริเวณหลาเปรตเพื่อจะได้กรวดน้ำอุทิศไปให้กับบรรพบุรุษอีกครั้ง ซึ่งเป็นความเชื่อว่า การกรวดน้ำบริเวณหลาเปรตนี้จะได้ใกล้ชิด และสื่อสารไปยังบรรพบุรุษได้
ขั้นตอนพิธีกรรมวันสารทเดือนสิบของตำบลคอกกระบือ ไม่ว่าจะเป็น “วันรับเปรต” “วันเลี้ยงเปรต” และ “วันส่งเปรต” พิธีกรรมคล้ายคลึงกัน เสร็จสิ้นหลังจากการกรวดน้ำ ชาวบ้านและเด็กจะรอช่วงเวลาการชิงเปรตประมาณ 13.00 น. จะมีเด็ก ๆ และชาวบ้านมายืนล้อมหลาเปรตเพื่อต้องการสนุกสนานการชิงเปรต ซึ่งพระภิกษุสงฆ์ต้องสวดอนุโมทนากถา เพื่อให้ชาวบ้านได้กรวดน้ำอีกครั้ง เพื่อแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับ จากนั้นพระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นประธานในพิธีจะดึงสายสิญจน์ที่เชื่อมต่อระหว่างประธานในพิธีสงฆ์กับหลาเปรต เพื่อส่งสัญญาณให้รู้ถึงการเสร็จสิ้นขั้นตอนพิธีกรรม ทุกคนที่ยืนรอจะวิ่งขึ้นไปบนร้านเปรตเพื่อร่วมสนุกสนานในการ “ชิงเปรต”
บรรยากาศการชิงเปรตตำบลคอกกระบือ
สรุปวันสารทเดือนสิบตำบลคอกกระบือ (คอกควาย) ได้สืบทอดพิธีกรรมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันรูปแบบพิธีกรรมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกลไกทางสังคมของระยะเวลา จากการสังเกตการณ์ ชุมชนมีแนวคิดการตระเตรียมสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมไม่ว่า อาหารคาวหวาน ขนม หรือการจัดทำหลาเปรต เน้นความสะดวกสบาย ด้วยการจัดซื้อสิ่งของจำเป็นตามท้องตลาด ร้านค้า ส่วนการประกอบพิธีกรรมดำเนินไปตามปกติทั่วไป มีเฉพาะเด็กในชุมชนที่ค่อยความหวังในการร่วมสนุกในการชิงเปรต เพราะกิจกรรมกึ่งบันเทิงอื่น ๆ เริ่มเลือนหายไป
เรียบเรียงบทความโดย
ประสิทธิ์
รัตนมณี นักวิจัย สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา