ฉันเป็นชาวปัตตานีมาตั้งแต่กำเนิด ชีวิตหลายขวบปีที่เกิด เติบโตและอาศัยอยู่ที่นี่ทำให้ฉันได้เห็นและเรียนรู้ในหลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งในส่วนที่คนนอกพื้นที่อาจไม่มีโอกาสได้รู้และเห็นหรือได้ยิน ด้วยความเป็นชาวตานีทำให้ฉันและผู้คนที่เติบโต อาศัยอยู่ที่นี่มีโอกาสได้สัมผัส ซึมซับมากกว่าคนนอกพื้นที่ เช่น การใช้ การฟังภาษามลายูถิ่นที่เป็นลักษณะสำเนียงเฉพาะคนตานี ที่ถือได้ว่าในโลกนี้แทบจะเป็นพื้นที่ที่เหลือเพียงน้อยนิดที่ใช้ภาษานี้ในการติดต่อสื่อสาร วิถีความเป็นพหุวัฒนธรรมที่มีสายใยเชื่อมโยงกันมาอย่างยาวนานหลายร้อยปี ระหว่างพี่น้องต่างความเชื่อ ภาษา วัฒนธรรม ของชาวมุสลิม พุทธและอื่น ๆ ในพื้นที่ สิ่งหล่านี้ฉันถือว่าเป็นต้นทุนทางสังคมและวัฒนธรรมที่รุ่มรวยและมีคุณค่าของชาวปัตตานี
ในเมื่อปัตตานีมีสิ่งดีดีที่น่าจดจำ บันทึกมากมายเหลือที่จะกล่าว และหลายอย่างแม้กระทั่งฉันและหลายคนอาจลืมไปแล้วว่าเรามีสิ่งนั้นหรือเคยมีสิ่งนั้นอยู่ การเรียบเรียงเพื่อเขียนเกี่ยวกับวิถี ชีวิต ความทรงจำเหล่านั้น จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมร้อยเรียง เก็บเกี่ยว บันทึกสิ่งเหล่านั้นเสมือนจดหมายเหตุส่วนตัว ที่บุคคลหนึ่งในพื้นที่ตั้งใจเก็บเรียบเรียงไว้ โดยฉันตั้งใจแบ่งเป็นหมวดหมู่พอสังเขปอย่างง่าย ๆ ตามลักษณะสุนทรียะทางอารมณ์เมื่อคนๆ หนึ่ง ได้มีโอกาสเดินหรือสำรวจรอบเมืองตานี ในอาณาบริเวณที่ไม่กว้างใหญ่มากนัก คุณจะได้สัมผัสพบเห็นกับผู้คน สถานที่ แม้กระทั่งสถานที่ที่ได้จากหายไปแล้ว แต่คุณอาจได้ยินเรื่องราวจากคำบอกเล่า ความทรงจำของผู้คนในพื้นที่ ฉันเองก็ตั้งใจที่จะเก็บมาร้อยเรียงเขียนบอกไว้ ณ พื้นที่แห่งนี้เช่นเดียวกัน
ฉันขอเริ่มต้นการบอกเล่า เรียบเรียงวิถี ชีวิตเหล่านั้น ผ่านจุดศูนย์กลางคือแม่น้ำปัตตานี โดยขอเรียกชื่อสั้น ๆ ว่า “แม่น้ำตานี” ที่มีต้นน้ำจากเทือกเขาสันกาลาคีรี คดเคี้ยวเลี้ยวผ่านพื้นที่หลายจังหวัดจวบจนกระทั่งสิ้นสุดที่อำเภอเมืองปัตตานี เพื่อไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย ในช่วงเช้าหรือเย็นเมื่อมีโอกาสฉัน และชาวเมืองตานีหลาย ๆ มักจะแวะเวียนไปเดินเล่นหรือออกกำลังกายตรงบริเวณริมแม่น้ำตานี เพื่อเสพบรรยากาศความผ่อนคลาย อากาศที่บริสุทธิ์ ทิวทัศน์ที่งดงามเป็นเอกลักษณ์ รวมทั้งส่วนหนึ่งเพื่อพบปะมิตรสหายในระหว่างการออกมาผ่อนคลายนอกบ้านอันถือเป็นสุนทรียะอย่างหนึ่งของชีวิต
ก่อนที่จะเข้าสู่ศูนย์กลางบริเวณแม่น้ำตานีในตัวเมืองปัตตานีนั้น เราสามารถเดินทางมาได้หลายเส้นทาง ฉันขอบอกเล่าจากเส้นทางถนนปากน้ำอันเป็นที่ตั้งของบ้านฉันไปยังแม่น้ำตานี แรกเริ่มเดิมทีหากเราเดิน ขี่รถจักรยาน หรือจะขับรถยนต์ก็ตามแต่ เราจะผ่านเส้นทางหน้าโรงเรียนเบญจมราชูทิศ โรงเรียนเก่าแก่ในจังหวัดปัตตานีที่มีอายุร้อยกว่าปี โดยได้รับการก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.2455 รายละเอียดอื่น ๆ ไว้ฉันจะมาเล่าให้ฟังอีกครั้งในส่วนของเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง จากนั้นเราจะเลียบเข้าสู่บริเวณศาลหลักเมืองปัตตานี สถานที่สำคัญสำหรับการเคารพสักการะของพี่น้องชาวพุทธในเมืองปัตตานี รวมทั้งนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นก็มักจะแวะเวียนมาที่นี่เพื่อความเป็นสิริมงคล ศาลหลักเมืองสีขาวสะอาดตาเมื่อต้องแสงอาทิตย์ยามเช้าแลดูเป็นสีขาวทองงามตาไปอีกแบบ
ก่อนย่างเท้าเข้าสู่ลานเดินรูปวงรีรอบแม่น้ำตานีเมื่อเราเงยหน้าขึ้นเหนือจุดสายตาเล็กน้อยจะมองเห็นหอนาฬิกาสามวัฒนธรรมตั้งตระหง่านอยู่บริเวณก่อนขึ้นสะพานศักดิ์เสนีย์ ยามค่ำหอนาฬิกาและบริเวณรอบสะพานและแม่น้ำตานีจะมีการเปิดไฟประดับสีสันสวยงามเพื่อสร้างความเพลิดเพลินเจริญตาให้แก่ผู้เข้ามานั่งพักผ่อนบริเวณริมน้ำตานีอีกด้วย
หลังจากจอดรถในบริเวณใกล้เคียง เราสามารถเดินทอดน่องในบริเวณรอบ ๆ วงรีรอบแม่น้ำตานีเพื่อยืดเส้นสายหรือผ่อนคลายความเมื่อล้า นอกจากนี้ ตรงบริเวณจุดข้างสถานีดับเพลิงเมืองปัตตานี ในช่วงเย็นยังมีลานสำหรับการเต้นแอโรบิค สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกายในรูปแบบของการเต้นเพื่อความสนุกสนาน และการพบปะเพื่อนฝูงกลุ่มใหญ่เป็นอีกทางเลือกในการออกกำลังกายอีกด้วย
บรรยากาศอันเงียบสงบในยามเช้าของวันหยุดในเมืองตานี ทำให้ก้าวเดินในการออกกำลังกายไม่เร่งรีบมากนัก ณ ฝั่งตรงกันข้ามกับศาลหลักเมืองปัตตานี สายตาของเราสามารถผ่อนคลายไปยังภาพของมัสยิดปากีสถาน ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำตานี มัสยิดแห่งนี้ถือเป็นมัสยิดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดปัตตานี ที่เกิดจากการร่วมแรงกายแรงใจของพื้นที่น้องชาวมุสลิมจากปากีสถานและปัตตานีในการก่อร่างสร้างมัสยิดร่วมกัน
เมื่อเราผ่อนเท้าลงบนสะพานศักดิ์เสนีย์ ด้านขวามือจากฝั่งมัสยิดปากีสถานจะมีทิวทัศน์อังงดงามราวภาพวาดศิลปะของท่าเทียบเรือประมงจอดเรียงรายสลับกับบ้านเรือนของผู้คนริมน้ำตานี พื้นที่แห่งนี้มีชุมชนเก่าแก่ สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่งดงามมากมายซ่อนตัวอยู่ หากเรามองแค่เพียงภายนอกอาจเห็นเพียงภาพบ้านเรือนผู้คนปกติ แต่หากมีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมเยียน พูดคุย สัมผัสรสชาติอาหารพื้นบ้าน จะได้รู้ว่าปัตตานีคือเมืองเก่าชายแดนใต้ที่มีเสน่ห์อย่างแท้จริง
—-
ผู้เขียน
รอฮานี ดาโอ๊ะ นักวิจัย
—
อ้างอิง
https://th.wikipedia.org/wiki/โรงเรียนเบญจมราชูทิศ_จังหวัดปัตตานี (เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2567)
https://www.osmsouth-border.go.th/travel/detail/15 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2567)