ความตายเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมและชีวิตของสรรพสิ่งบนโลกรวมทั้งมนุษย์ ในอดีตจนถึงปัจจุบันเมื่อมีความตายเกิดขึ้นในแต่ละกลุ่มชน สังคมล้วนมีวิถีวัฒนธรรม ประเพณีที่แสดงออกถึงความคิด ความเชื่อที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับความตาย และสืบทอดส่งต่อจนถึงปัจจุบัน ทั้งที่ยังคงยึดถือวิถีปฏิบัติโดยเคร่งครัดและบางส่วนอาจมีการปรับเปลี่ยนในช่วงการเปลี่ยนของยุคสมัยของผู้คนในแต่ละยุค

เฉกเช่นเดียวกันกับชาวมุสลิมที่มีวิถี ความเชื่อการปฏิบัติที่ต่อผู้เสียชีวิตทั้งที่บัญญัติอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอาน หะดีษคำสอนวัฏปฏิบัติจากท่านศาสดามูฮัมมัด(ซ..) รวมทั้งประเพณีบางอย่างในแต่ละท้องถิ่นที่มีการสืบเนื่องมาจากผู้รู้ในยุคเก่าก่อน บรรยากาศความโศกเศร้าแต่ไม่ฟูมฟายของญาติผู้เสียชีวิตที่ปรากฏต่อสายตาของข้าพเจ้าในช่วงชีวิตที่ผ่านมาครั้งแล้วครั้งเล่า ภาพขั้นตอนการจัดการงานศพอย่างเรียบง่ายและรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง ดูเหมือนจะเป็นเรื่องราวที่สะท้อนออกมาจากความเชื่อในเรื่องโลกหน้าและชีวิตหลังความตายได้เป็นอย่างดี

กลิ่นกำยานที่ลอยมาตามสายลมเมื่อร่างไร้วิญญาณที่เสียชีวิตถูกวางลงบนพื้นบ้านเพื่อดับกลิ่นและป้องกันแมลงที่จะมารบกวนมัยยิต* กาอินลือปัส(Kain Lepas) *บางเบาลายดอกไม้สีสันสดใสถูกนำมาผูกรอบใบหน้าและมัดประสานตรงบริเวณหัวมัยยิต ผ้าอีกสองผืนถูกนำมาคลุมร่างที่ยังอุ่น ๆ เสมือนยังมีลมหายใจอยู่อย่างระมัดระวัง ระหว่างรอการจัดการเชิงพิธีการทางศาสนา ญาติผู้เสียชีวิตได้มีการมอบหมายหน้าที่ให้สมาชิกในครอบครัวและญาติ ๆ จัดการในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของการแจ้งอิหม่ามประจำมัสยิดในชุมชนเกี่ยวกับการเสียชีวิตของสมาชิกในครอบครัว โดยระบุชื่อมุสลิมและต่อท้ายว่าเป็นบุตรของใคร จากนั้นผู้ทำหน้าที่ปผู้ประกาศในมัสยิดของชุมชนจะมีการประกาศว่า นาย/นาง/นางสาวฯล บุตรของนาย…… ได้เสียชีวิตลงแล้วเนื่องด้วยเหตุ…… เมื่อเวลา….. ของวัน…. และขณะนี้มัยยิต* ได้ตั้งอยู่ที่บ้านของ..….และจะดำเนินการละหมาดและฝังในเวลากี่โมง จึงขอเชิญชวนและความร่วมมือมาช่วยกันทำโลงศพ ละหมาดและฝังให้แก่มัยยิต* เพื่อร่วมการทำความดีแก่ผู้เสียชีวิตเป็นครั้งสุดท้าย

รวมทั้งคณะกรรมการมัสยิดจะได้มีการประสานงานกับคณะกรรมการฝ่ายกองทุนจัดการศพ*(ชารีกัตมาตี) เพื่อนำเงินสะสมไปมอบให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตไว้ใช้สำหรับการจัดการศพ(รายละเอียดการมอบเงินกองทุนนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละชุมชนแต่ส่วนใหญ่จะต่างกันมากนัก)

ระหว่างนั้นลูกหลาน ญาติมิตรผู้เสียชีวิตจะร่วมกันอ่านอัลกุรอานบริเวณที่วางมัยยิต* มีการประสานจัดการในเรื่องวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับจัดการศพจากมัสยิด เช่น เรือสำหรับอาบน้ำศพซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่อาศัยในตัวเมืองจะนิยมใช้เนื่องจากพื้นที่ในการอาบน้ำมัยยิตมีจำกัด หรือบางครอบครัวอาจให้ลูกหลายผู้เสียชีวิตวางมัยยิตบนตักเพื่อช่วยกันอาบน้ำมัยยิตก็มี อุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็นต้องใช้บางส่วนอาจยืมจากญาติๆหรือเพื่อนบ้าน เช่น กะละมังใบใหญ่สำหรับรองน้ำในช่วงการอาบน้ำศพ ม่านผ้าสำหรับบังเพื่อให้เกิดสัดส่วนและความเป็นส่วนตัวฯล รวมทั้งการติดต่อประสานผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการอาบน้ำศพเพื่อเป็นตัวหลักในการอาบน้ำศพ โดยมีลูกหลานหรือญาติๆ ผู้เสียชีวิตเป็นผู้ช่วยในการอาบน้ำให้แก่มัยยิต

ในระหว่างนี้ลูกหลานที่เป็นวัยรุ่นชายหรือหญิงบางส่วนจะแยกย้ายไปช่วยกันตัดกิ่งต้นพุทราเพื่อช่วยลิดใบพุทรามาใช้เป็นส่วนผสมในการอาบน้ำศพ บรรดาญาติ ๆ ที่มีวัยวุฒิและอาวุโสมากหน่อยจะทำหน้าที่ในการหารือแนวทางในการจัดการศพ เช่น จะอาบน้ำ ฝังศพในช่วงเวลาประมาณกี่โมง จะเชิญใครมาละหมาดบ้าง จำนวนคนละหมาดญานะซะห์*จำนวนเท่าไหร่ มีค่าใช้จ่ายในเรื่องใดบ้าง ใช้วัสดุอุปกรณ์อะไรบ้าง โดยเรื่องหลักที่ต้องเตรียมอย่างเร่งด่วนคือ ผ้าห่อศพ จาน ผ้าซะญาดะห์* ซองจดหมายสำหรับค่าเดินทางของผู้มาร่วมละหมาดญะนาซะห์* ผ้านวมสำหรับรองร่างมัยยิต* หมอน กาอินลือปัส (Kain Lepas)* สำหรับปิดหรือคลุมร่างมัยยิต*

แม้การจัดการศพตามวิถีของชาวมุสลิมจะดูเรียบง่ายและพยายามจัดการให้รวดเร็วที่สุดเพื่อเป็นสิ่งที่ดีแก่ผู้เสียชีวิต แต่จากสถานการณ์และบริบทความเป็นจริงในปัจจุบันจำเป็นที่จะต้องมีการใช้งบประมาณในการจัดการในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในครอบครัวที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตเมือง จากอดีตที่การจัดการศพเน้นการช่วยเหลือกันระหว่างญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านในชุมชน โดยระบบชารีกัตหรือกองทุนการจัดการศพในมัสยิดในแต่ละชุมชนรวมทั้งคณะกรรมการมัสยิดมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการเรื่องนี้ แต่ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนตามวิถีและความสะดวกของทุกฝ่าย โดยเน้นแก่นแท้ของการจัดการศพตามหลักการอิสลามคือรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมงรวมทั้งเรียบง่าย ไม่ฟุ่มเพือย

เมื่อญาติผู้เสียชีวิตและผู้มีหน้าที่ในการอาบน้ำมัยยิตได้อาบน้ำชำระร่างผู้เสียชีวิตจนสะอาดเรียบร้อยแล้ว จะนำมัยยิตมาวางไว้บนเสื่อปูด้วยผ้านวมที่จัดเตรียมไว้ ผู้ทำการอาบน้ำมัยยิตจะเช็ดตัวมัยยิตให้แห้งพร้อมทั้งประแป้งไปตามจุดต่าง ๆ รวมทั้งบนใบหน้าจากนั้นนำผ้ามาห่อมัยยิต ก่อนที่จะใช้ผ้าขาวปิดหน้ามัยยิตผู้ทำหน้าที่ในการห่อมัยยิตจะเรียกลูกหลานผู้เสียชีวิตให้มาดูหน้าหรือหอมใบหน้าผู้เสียชีวิตเป็นครั้งสุดท้ายก่อนทำการปิดใบหน้ามัยยิตเพื่อเตรียมตัวยกไปยังคานแคร่ไม้หรือเหล็กสำหรับวางมัยยิตเพื่อแบกไปยังกุโบร์(สุสาน)

จากนั้นร่างผู้เสียชีวิตจะถูกวางและแบกด้วยคานแคร่ไม้ในอดีตจะนิยมใช้คนช่วยกันแบก แต่ปัจจุบันหากเส้นทางระหว่างบ้านผู้เสียชีวิตและกุโบร์มีระยะทางไกลหรือเพื่อความสะดวกของครอบครัวผู้เสียชีวิตที่จัดการ บางครอบครัวอาจมีการนำมัยยิตวางที่ท้ายรถกระบะ ระหว่างทางที่มัยยิตผ่านมุสลิมที่สัญจรไปมาที่เห็นมัยยิตถูกแบกผ่านตนจะลุกขึ้นยืนเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่มัยยิต อันเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการปฏิบัติของท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ..) บรรดาเด็ก ๆ วัยรุ่นจะเดินและขี่รถมอเตอร์ไซค์ตามขบวนผู้เสียชีวิตอย่างช้า ๆ เพื่อการส่งลาเป็นครั้งสุดท้าย

มัยยิตจะถูกนำไปวางไว้ที่มัสยิดเพื่อรอการละหมาดญะนาซะห์ (การละหมาดแก่ผู้เสียชีวิต) จากนั้นจึงนำมัยยิตไปฝังที่ในกุโบร์* ชาวบ้านบางส่วนทั้งที่เป็นคณะกรรมการประจำมัสยิดในชุมชนและญาติผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้ชายจะทำการขุดหลุมเตรียมการไว้ก่อนล่วงหน้า เมื่อมัยยิตเข้าสู่บริเวณกุโบร์จะมีผู้รอรับเพื่อนำไปฝัง ระหว่างนั้นจะมีการจัดการตามแนวทางของศาสนาอิสลาม และตามรูปแบบของแต่ละท้องถิ่น ภาพใบหน้าของญาติผู้หญิงที่อยู่ใกล้รั้วกั้นระหว่างภายนอกกับกุโบร์และหลุมฝังศพของผู้เสียชีวิตที่พยายามเพ่งมองขั้นตอน วิธีการและมองภาพของญาติตนเองที่ต้องเดินทางไปยังอีกโลกหนึ่งทำให้ข้าพเจ้ารำลึกถึงความตายและการจากลาในระดับที่เข้มข้นมากขึ้น ณ วินาทีนี้ยากยิ่งที่น้ำตาแห่งความโศกเศร้าคิดถึงของญาติมิตรผู้ใกล้ชิดจะไม่หลั่งรินลงมาทั้งที่เห็นในลักษณะเชิงรูปธรรมในรูปของหยดน้ำตาที่หลั่งรินและนามธรรมด้วยสายตาที่โศกเศร้าทว่าน้ำตากลับไหลลงสู่ก้นบึ้งภายในใจ

หลุมกุโบร์ถูกกลบฝังแน่นหนาเพื่อป้องกันการขุดคุ้ยของสัตว์ที่อาจมารบกวนมัยยิต ผู้รู้บางท่านในบรรดาผู้จัดการฝังศพจะเด็ดกิ่งไม้ที่อยู่บริเวณใกล้ ๆ เพื่อปักเหนือหลุมฝังศพพร้อมนำกาน้ำมารดน้ำลงไปยังหลุมที่ฝังร่างผู้เสียชีวิต บางครอบครัวได้เตรียมต้นไม้เล็ก ๆ เพื่อปักเหนือหลุมฝังศพญาติของตน พร้อมกับสั่งทำบาตูแนแซ(ป้ายปักหลุมศพ) เพื่อเป็นสัญลักษณ์อาณาบริเวณหลุมศพ ชีวิตในโลกนี้และความผูกพันในเชิงกายภาพระหว่างผู้เสียชีวิตกับโลกนี้ได้สิ้นสุดลงเมื่อย่างก้าวของมนุษย์คนสุดท้ายที่ได้มาส่งได้ย่างเท้าออกไปจากกุโบร์ เหลือเพียงชีวิตที่เป็นโลกหลังความตายที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในกุโบร์ ขอความสันติจงมีแด่พี่น้องและชีวิตศรัทธาชนที่ถูกฝังร่างไว้ในกุโบร์หรือนอกกุโบร์ทุกหนแห่ง

……………………………

ศัพท์เฉพาะ

มัยยิต                                     : ร่างผู้เสียชีวิต

กาอินลือปัส (Kain Lepas) : ผ้าคลุมผมและไหล่แบบบางที่ผู้หญิงสูงอายุชายแดนภาคใต้สมัยก่อนนิยมใช้คลุมหัวและไหล่

ผ้าซะญาดะห์                          : ผ้าหรือพรมสำหรับปูรองละหมาด

ละหมาดญะนาซะห์                 : การละหมาดให้แก่ผู้เสียชีวิต

____________________________

ความโดย นางสาวรอฮานี ดาโอ๊ะ นักวิจัยสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา

Recommended Posts