ประเพณีท้องถิ่นลาซัง – แต่งงานโต๊ะชุมพุก มีพื้นฐานความเชื่อท้องถิ่นเกี่ยวกับผี วิญญาณ เทพยดาที่สถิตอยู่ในธรรมชาติผสมผสานกับอิทธิพลศาสนาฮินดู พุทธได้เผยแผ่เข้ามาสู่ดินแดนบริเวณนี้ คำว่า “ลาซัง” คือ การอำลาซังข้าวที่จะถูกไถกลบในการทำนาปีต่อไป หลังเสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวข้าว จะตัดกอข้าวไว้กำมือหนึ่งเพื่อทำหุ่น “โต๊ะชุมพุก” ขึ้นมาเป็นตัวแทนแสดงความกตัญญู การขอขมา การตอบแทนคุณ และการเคารพบูชาต่อแม่โพสพ และภูมิเจ้าที่นา โดยใช้พิธีกรรมเป็นสื่อกลางในการรับรู้ระหว่างชาวนากับสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ ผลที่ได้คือความเป็นสิริมงคลต่อแปลงนาข้าว ทำให้การทำนาปีต่อไปมีความอุดมสมบูรณ์ จึงกลายเป็นพิธีกรรมที่เสริมสร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวนามีความหวังผ่านทางพิธีกรรมลาซัง – แต่งงานโต๊ะชุมพุก มีการสืบทอดพิธีกรรมประจำปีติดต่อกันมาร่วมร้อยปีตรงกับวันมงคลเดือนหก
มูลเหตุความเชื่อ “พิธีกรรมการแต่งงานหุ่นโต๊ะชุมพุก” สันนิฐานว่า มีมูลเหตุมาจากลูกของพระอิศวรและพระอุมาชื่อว่า เจ้าสุวันนะไพจิต (เจ้าสุวันนะพระไพสบ) หรือพระองค์หนู กับน้องคือนางสีดอกไม้ (นางสีดอกไม้แม่ไพสบ) ได้แต่งงานแล้วตายมาเกิดเป็นต้นข้าวเพื่อหล่อเลี้ยงมวลมนุษย์ให้มีชีวิตรอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ ชาวนายุคๆแรกจะได้รับการถ่ายทอดเรื่องราวความเชื่อจากตำนานท้องถิ่นที่ปรากฏเป็นหลักฐานทางวิชาการในหนังสือการสร้างโลกฉบับบ้านป่าลาม ชาวนาจึงคิดหาวิธีการผ่านทางพิธีกรรมเพื่อตอบแทนบุญคุณการเสียสละชีวิตของสองพี่น้องมาเกิดเป็นต้นข้าว ด้วยพิธีกรรมแต่งงานหลังเสร็จสิ้นการทำนา
ประเพณีลาซังมีความหมายสำคัญต่อวิธีชีวิตของกลุ่มชนบริเวณนี้มาเป็นเวลาช้านาน ก่อให้เกิดคุณค่าทางวัฒนธรรมที่เข้ามาผูกพันกับวิถีชีวิตคนในแต่ละยุคสมัยสะท้อนออกมาให้สังคมได้มองเห็นผ่านตัวพิธีกรรม 3 ยุคด้วยกัน
ยุคพึ่งพาธรรมชาติ ระบบโครงสร้างชุมชนแบบเกษตรกรรม พึ่งพาฐานต้นทุนทรัพยากรดั้งเดิม คือ พื้นที่นาในการปลูกข้าวตามวิถีตามธรรมชาติ จึงมีความเชื่อ ความผูกพัน สัมพันธ์กับเทพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ค่อยช่วยเหลือดลบันดาลข้าวกล้าให้มีความอุดมสมบูรณ์ การกำหนดพิธีกรรมเพื่อเชื่อมผ่านในการสร้างความสมดุลที่มีคุณค่าเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ สื่อสารความหมายเพื่อการขอขมา ขอโทษ และการตอบแทนคุณต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นพิธีกรรมสุดท้ายแห่งการทำนาภายในเดือนหกประจำทุกปี คลาดเคลื่อนจากเดือนนี้ไม่ได้ เพราะเป็นช่วงรอยต่อการเสร็จสิ้นฤดูการทำนาและจะมีการไถกลบกอซังข้าว ถ้าไม่มีการจัดพิธีกรรมอะไรขึ้นมาเพื่อสื่อสารต่อธรรมชาติ ชาวนาไม่กล้าที่จะไถกลบกอซังข้าวในการทำนาปีต่อไป ส่วนวัน เวลาและสถานที่จะถูกกำหนดขึ้นมาไม่แน่นอน จะขึ้นอยู่กับหมอไสยศาสตร์ทางพิธีกรรมดูฤกษ์ยามวันเวลาที่เป็นมงคลแต่ละปี เน้นตัวพิธีกรรม คือ การทำขวัญ ขอขมา และการตอบแทนคุณแม่โพสพ มีการนำกอซังข้าวมาเก็บไว้ใต้ถุนเรือนมามัดรวมกันกลางทุ่งนาเพียงให้รู้ว่าเป็นหุ่น พร้อมด้วยอาหารคาวหวานที่จะมาเซ่นไหว้ให้ภูมิเจ้าที่ มีหมอทางพิธีกรรมเป็นผู้นำในการทำพิธี ทำให้ช่วงแรกๆ บางกลุ่มพื้นที่จะมีทั้งชาวนาพุทธ และชาวนามุสลิมประกอบพิธีกรรมร่วมกัน เพราะความเชื่อท้องถิ่นมีความหมายต่อการทำนาปีต่อไปจะมีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้พิธีกรรมมีผลต่อการดำรงชีวิตต่อสมาชิกภายในครอบครัว และอาชีพการทำนา พิธีกรรมจึงมีการผสมผสานระหว่างการบูชา การรับขวัญ ขมาแม่โพสพ เซ่นไหว้ผีนา ภูมิเจ้าที่เจ้าทางและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย การจัดพิธีการแต่งงานหุ่น “โต๊ะชุมพุก” เพื่อให้สืบทอดพันธุ์ข้าวมีความอุดมสมบูรณ์ในการทำนาปีต่อไป ดังนั้น พิธีกรรมยุคการพึ่งพาธรรมชาติ จะมีลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างชาวนา ธรรมชาติ และหมอไสยศาสตร์ทางพิธีกรรม คุณค่าของพิธีกรรมเป็นลักษณะการขอขมา บนบาน และการตอบแทนคุณการพึ่งพาธรรมชาติ จึงมองว่า ผี วิญญาณ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายค่อยช่วยเหลือ ดลบันดาลแปลงนาข้าวของชาวนาให้มีความอุดมสมบูรณ์ ธรรมชาติกลายเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวนา สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าพิธีกรรมลาซัง – แต่งงานโต๊ะชุมพุก เข้ามาสร้างขวัญกำลังใจ การรวมกลุ่มความสัมพันธ์ตามแบบวิถีวัฒนธรรมชาวนา
ยุคอิทธิพลทางศาสนา ระบบโครงสร้างชุมชนยังเป็นแบบเกษตรกรรม มีสถาบันทางศาสนาเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญในการดำเนินชีวิต มีผู้นำศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ตัวพิธีกรรมเป็นสิ่งที่มีคุณค่าเชิงสัญลักษณ์การสื่อความหมายเพื่อการแสดงความเคารพ บูชา มีผู้นำชุมชนดำเนินการประชาสัมพันธ์การร่วมกลุ่มจัดพิธีกรรม มีกิจกรรมหนุนเสริมความสนุกสนาน การตกแต่งหุ่นมีการเหลาไม้ไผ่ให้บางๆ ทำเป็นโครงคล้ายกับซุ้มไก่เพื่อให้หุ่นมีลักษณะท้องป่องๆ ทั้งหญิงและชาย และใช้กอซังข้าวมัดรอบโครงร่างอีกครั้งหนึ่ง ศีรษะถอดออกได้ จะได้นำอาหารหวานคาวใส่ทางหัวให้ไปอยู่ที่ท้องหุ่นเป็นเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ มีพระสงฆ์เป็นประธานพิธี มีหมอมาทำขวัญคล้ายพิธีแต่งงาน พร้อมประกาศการบูชาให้ปีต่อๆ ไปการทำนามีความอุดมสมบูรณ์ สมมติชื่อของหุ่นขึ้นมาเป็นตัวแทนว่า พ่อชุมพุก แม่สุนทรี เป็นการคลี่คลายตัวแทนหุ่นให้กลายมาเป็นเชิงสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมแทนความอุดมสมบูรณ์อย่างชัดเจน ผู้วิจัยมองว่า ตัวพิธีกรรมสื่อสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมได้รับอิทธิทางศาสนาฮินดู – พราหมณ์ และพุทธศาสนามหายานที่ได้เข้ามาเผยแพร่สู่ดินแดนบริเวณสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีความโดดเด่นในการการบูชาเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ ชาวนาได้ตกแต่งหุ่นให้มีลักษณะคล้ายดังเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ประจำนาข้าวเป็นการหยิบยืนสัญลักษณ์ตามแบบเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์จากอิทธิศาสนา นอกจากนั้นจะมีสัญลักษณ์ทางพิธีกรรม “ปลาช้อนทองตัวผู้เมีย 2 ตัวใหญ่ๆ ปั้นจากดินเหนียวเท่าต้นมังคุด ตั้งเคียงกันไว้ เพื่อการทำนาปีต่อไปจะได้มีน้ำอุดมสมบูรณ์” การคลี่คลายสัญลักษณ์มาเป็นเครื่องหมายแสดงคุณค่าทางวัฒนธรรมออกมาในรูปแบบของการเคารพ บูชา เพื่อจะสื่อให้เห็นถึงการทำสิ่งนี้ขึ้นมาจะมีผลต่อความอุดมสมบูรณ์ในการทำนาปีต่อไป ส่วนสถานที่ในการจัดเริ่มเคลื่อนย้ายพิธีกรรมจากกลางทุ่งมา มาจัดพิธีกรรมบนศาลา เพื่อความสะดวกในการถวายอาหารพระสงฆ์ที่ได้เข้าช่วยเสริมให้พิธีกรรมมีความขลัง ศักดิ์สิทธิ์ ยกระดับพิธีกรรมระดับชาวบ้านมาสู่พิธีกรรมทางศาสนา จะใช้ศาลากลางทุ่งนาเป็นสถานที่จัดหมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพื่อต้องการให้ชาวนาสบายใจที่ได้จัดพิธีกรรมใกล้บริเวณแปลงนาของตน มีวัดควนนอก และวัดควนในเป็นศูนย์กลางรวมจิตใจของชาวพุทธบริเวณนี้ จะใช้วันสำคัญทางพุทธศาสนาในการประชาสัมพันธ์ข่าวในการจัดพิธีกรรมลาซัง เพราะจะมีประชาชนทั่วทั้งตำบลได้มาร่วมกันทำบุญ การประกอบพิธีลาซังจึงได้ร่วมกันระหว่างหมู่บ้านทั้งตำบล
ยุคจากจัดการทางสังคม ระบบโครงสร้างทางสังคมแปรเปลี่ยนวิถีชีวิต ชาวนาเริ่มมองหาฐานต้นทุนทรัพยากรจากท้องถิ่นอื่นเพื่อทดแทนพื้นที่นาข้าวที่มีการถมดินเพื่อปลูกสร้างบ้านเรือน มีระบบการเมือง การปกครองเข้ามาบริหารจัดการในชุมชน สถาบันทางศาสนาเป็นเพียงตัวแทนทางจิตวิญญาณ พิธีกรรมลาซังคลี่คลายไปตามกลไกทางสังคมซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากยิ่งขึ้น เพราะจะถูกเลือกให้เป็นตัวแทนชุมชนไปแสดงตามงานต่างๆ ด้านวัฒนธรรม จึงกลายเป็นประเพณีที่มีคุณค่าความสำคัญในแง่ของสังคม มีองค์การบริหารส่วนตำบลควนเข้ามาบริหารจัดการเพื่อยกฐานะให้เป็น “หนึ่งประเพณี หนึ่งการท่องเที่ยว” จึงได้วางแผนร่วมกับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กำหนดรูปแบบให้มีความยิ่งใหญ่ อลังการ เพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของตำบลควน กำหนดให้ 5 หมู่บ้านของตำบลควน และหมู่ที่ 5 ตำบลท่าน้ำ เข้ามาร่วมประกอบพิธีกรรมลาซังร่วมกัน กำหนดให้ 3 หมู่บ้านทำเป็นหุ่นผู้ชาย และอีก 3 หมู่บ้านทำหุ่นผู้หญิง และในปีต่อไปหมู่บ้านที่ทำหุ่นผู้ชายให้ทำหุ่นผู้หญิง และอีก 3 หมู่บ้านที่ทำหุ่นผู้หญิงให้ทำเป็นหุ่นผู้ชาย สลับเปลี่ยนกันไป เพื่อจะได้มีการแต่งงาน “โต๊ะชุมพุก” 3 คู่ด้วยกัน โดยทางองค์การบริหารส่วนตำบลให้ความช่วยเหลืองบประมาณการจัดกิจกรรม ในการซื้อเสื้อผ้า อาหาร และอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อจัดแต่งหุ่นโต๊ะชุมพุกให้มีความสวยงามในพิธีแต่งงานเพื่อการประกวด จัดขบวนการแห่อย่างยิ่งใหญ่ไปสู่สถานที่ประกอบพิธีกรรมหน้าวัดควนใน พิธีกรรมจะเน้นไปที่คุณค่าทางสังคม เข้ามาสร้างความสัมพันธ์แต่ละหมู่บ้านเกิดความสามัคคีในการออกแบบความคิดตกแต่งหุ่นและจัดขบวนการแห่ขึ้นมาเป็นตัวแทนแต่ละชุมชน แต่ความสัมพันธ์ระหว่างหมู่ถูกลดบทบาทลงไป ขึ้นอยู่กับระบบบริหารการปกครอง หน่วยงานราชการที่เข้ามาช่วยเสริมงบประมาณ ลักษณะหุ่นโต๊ะชุมพุกได้เปลี่ยนแปลงลักษณะเชิงสัญลักษณ์อย่างต่อเนื่อง ยุคแรก ๆ ตกแต่งหุ่นจากกอซังข้าวแบบง่าย ๆเป็นตัวแทนแม่โพสพ สมมติชื่อว่า พ่อโพสี แม่โพสพ เปลี่ยนลักษณะหุ่นให้ท้องป่อง ๆ เลียนแบบเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ สมมติชื่อหุ่นว่า พ่อชุมพุก แม่สุนทรี ปัจจุบันเปลี่ยนลักษณะหุ่นให้เป็นบุคคลธรรมดา มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีฐานะตำแหน่งทางสังคม รับข้าราชการ เพื่อเป็นตัวแทนของคนในชุมชน การกำหนดพิธีกรรมแต่ละหมู่บ้านมีการวางแผน นัดประชุม แบ่งภาระหน้าที่ในการตกแต่งหุ่น “โต๊ะชุมพุก” ตามลักษณะการวางแผนของท้องถิ่น โดยชาวบ้านกลับกลายมาเป็นผู้ให้ความร่วมมือ จะใช้บริเวณศาลาเอนกประสงค์ภายแต่ละหมู่บ้านรวมกลุ่ม ประชาสัมพันธ์ให้รู้ทั่วกัน ช่วงกลางคืนก่อนวันพิธีกรรมจัดงาน บางหมู่บ้านมีการจัดกิจกรรมบันเทิง ความสนุกสนาน เช่าเต็นส์ เช่าเครื่องเสียง เลี้ยงข้าวต้ม ขนมจีน เป็นการสร้างบรรยากาศล้ายรูปแบบการแต่งงานจริงๆ ของคนในหมู่บ้าน ส่วนวันเวลาในการจัดพิธีกรรมเข้าไปยึดโยงกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการเดินทางมาเป็นเกียรติในพิธีเปิด ทำให้วันเวลาการจัดกิจกรรมยึดตามธรรมเนียมปฏิบัติภายในเดือนหก มีหมอพิธีกรรมเป็นผู้ดูฤกษ์ยามไม่ได้อีกต่อไป เปลี่ยนมายึดตามเจ้าหน้าที่ผู้หลักผู้ใหญ่ของรัฐ ท้องถิ่นจึงได้กำหนดวัน “พืชมงคล” ที่ทุกคนพร้อมยอมรับตามสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงด้านสังคม อาชีพ เพราะผู้ที่ยึดอาชีพการทำนามีเพียงไม่กี่ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ชาวสวน และค้าขาย แต่มีความรู้สึกรักและหวงแหน “ลาซังทำทุกปี ถ้าเราไม่ทำนาแล้วก็ต้องไปร่วมกับเขา อยู่บ้านเดียวกัน ถ้าไม่ไปมันน่าเกลียด ไม่งามตา พิธีกรรมสร้างความร่วมมือสามัคคี เราคนพุทธ พระยังมาให้ขวัญแม่โพสพ เราไม่ไปมันน่าคิด” วิธีคิดได้สะท้อนเห็นคุณค่าพิธีกรรมลาซังที่ได้ซึมซับจนทำให้ชุมชนรู้สึกด้วยจิตสำนึกเป็นเจ้าของ ห่วงแหน ซึ่งก่อให้ความสามัคคี ความเข้มแข็งในชุมชน
เรียบเรียงบทความโดย
ประสิทธิ์ รัตนมณี นักวิจัย สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา
.
ขอบคุณภาพบางส่วนจาก : Facebook: Mona Langkasuka