วันศุกร์: วันหยุดของมุสลิมชายแดนใต้ ความสำคัญและการเปลี่ยนแปลง

ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ถือเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของวิถีชีวิต สังคม ความเป็นอยู่ ศาสนา และวัฒนธรรม โดยเฉพาะวิถีชาวมุสลิม ซึ่งเป็นศาสนาที่มีผู้คนนับถือมากที่สุดในพื้นที่ วัฒนธรรมได้หล่อหลอมผสมผสานศาสนาเข้ากับวิถีชีวิต หนึ่งในวิถีชีวิตที่กลายเป็นวัฒนธรรมเด่นชัดของชาวมุสลิมสามจังหวัดคือ การมีวันศุกร์เป็นวันหยุด

 

วันศุกร์ หรือ “วันญุมอัต” (Jumu’ah) ในภาษาอาหรับและมลายู วันศุกร์ไม่ใช่เพียงวันธรรมดาในชีวิตของมุสลิม แต่ยังถือเป็น “วันอีดเล็ก” ในทุกสัปดาห์ ซึ่งเป็นโอกาสให้ชาวมุสลิมได้รวมตัวกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางศาสนาและสังคม  เป็นวันสำคัญของมุสลิมและถือเป็นวันที่ประเสริฐที่สุดในสัปดาห์ เนื่องจากตามหลักศาสนาอิสลามการละหมาดญุมอัตเป็นข้อปฏิบัติที่สำคัญ ผู้ชายมุสลิมต้องทำการละหมาดวันศุกร์ร่วมกันที่มัสยิดในช่วงเที่ยงวัน  และยังเป็นวันที่เหมาะสมสำหรับการทำความดีและชุมชนยังจัดกิจกรรมพิเศษในวันศุกร์ เช่น การบริจาค การอ่านอัลกุรอ่าน การพบปะญาติพี่น้อง และการจัดเลี้ยงต่างๆ ซึ่งตามบทบัญญัติของศาสนา วันศุกร์เป็นวันที่ผู้ที่กระทำความดีจะได้รับผลบุญทวีคูณ ทำให้มุสลิมให้ความสำคัญกับวันนี้อย่างมาก

ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อศาสนาเข้ามาหล่อหลอมวิถีชีวิตและก่อเกิดวัฒนธรรมร่วมกัน จึงทำให้วันหยุดประจำสัปดาห์ของคนในพื้นที่กลายเป็นวันศุกร์ สถานประกอบการ ห้างร้าน และสถานที่เดินการก่อสร้าง มีผู้ประกอบการเป็นชาวมุสลิม หรือผู้ประกอบการต่างศาสนิกที่เข้าใจวิถีวัฒนธรรม กิจการหลายแห่งกำหนดให้ลูกจ้างหยุดงานในวันศุกร์ เพื่อให้พนักงานสามารถประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้อย่างเต็มที่ หากสังเกตช่วงเช้าวันศุกร์ จะพบว่าการสัญจรบนท้องถนนโล่งเป็นพิเศษ เพราะผู้คนส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่กิจกรรมทางศาสนา เช่น การละหมาดซุบฮีตอนเช้า การเยี่ยมกุโบร์ การพบปะผู้คนตามร้านน้ำชา หรือการดูแล ไร่ นา สวนในช่วงเช้าก่อนถึงเวลาละหมาดวันศุกร์

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้ธุรกิจบางประเภทในพื้นที่จำเป็นต้องเปิดทำการในวันศุกร์ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค ร้านค้าหรือกิจการของมุสลิมเองจากเดิมที่เคยปิดทุกวันศุกร์ อาจจำเป็นต้องเปิดบริการ การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เจ้าของกิจการและพนักงานต้องปรับตัวร่วมกัน เช่น การเพิ่มเวลาพักกลางวันสำหรับการละหมาดแล้วชดเชยเวลางานในช่วงเย็นแทน หรือเลื่อนเวลาเปิดร้านเป็นช่วงบ่ายแทน ในทางกลับกัน กิจกรรมหรือบริการที่ไม่สามารถหยุดทำการได้ เช่น โรงพยาบาล หรือบริการขนส่งสาธารณะ อาจจัดเวลาการทำงานแบบยืดหยุ่น เช่น การเพิ่มเวลาพักกลางวันให้พนักงานมุสลิม หรือการปรับตารางเวรให้สอดคล้องกับความต้องการของพนักงาน แนวทางเหล่านี้ช่วยรักษาสมดุลระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจและการทำงานโดยไม่กระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่อีกด้วย

วิถีวัฒนธรรมการหยุดงานในวันศุกร์เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์เฉพาะของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ โดยมีศาสนาเป็นแกนกลางที่เชื่อมโยงวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อ แม้ว่ากระแสโลกและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะเข้ามามีอิทธิพล วิถีชีวิตนี้ยังคงปรับตัวอย่างเคารพในความหลากหลายของความเชื่อและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ รวมถึงบริบทของสังคมโลกในปัจจุบัน

____________________________________________________________________________

เรียบเรียงบทความโดย นายซันนูซี การีจิ นักวิชาการศึกษา สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา

 

ขอขอบคุณภาพบางส่วนจาก นายรีดูวัน ยีเฮ็ง ศูนย์สื่อสารองค์กรและกิจการนานาชาติ

บทความวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ เรื่อง “แนวทางการจัดการความรู้ ภูมิปัญญา การใช้ประโยชน์จากสมุนไพร ในชุมชนตำบลท่าเรือ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี”

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ขอเชิญชวนอ่าน #บทความวิจัย ในรอบปี 2567 ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติ

เรื่อง “แนวทางการจัดการความรู้ ภูมิปัญญา การใช้ประโยชน์จากสมุนไพร ในชุมชนตำบลท่าเรือ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี”

.

ตีพิมพ์ในวารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์  ปีที่ 18 ฉบับที่ 3 : กันยายน – ธันวาคม 2567

ซึ่งอยู่ในฐานข้อมูลวารสาร TCI กลุ่ม 1

.

อ่านบทความวิจัยได้ที่ GUIDELINES OF KNOWLEDGE MANAGEMENT WISDOM HERBAL MEDICINES UTILIZATION IN COMMUNITY THARUA SUBDISTRICT KOKPHOE DISTRICT, PATTANI PROVINCE | Journal of Graduate Studies Valaya Alongkorn Rajabhat University

.

ผู้เขียน:

นางสาวขวัญเรือน บุญกอบแก้ว

นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา

.

Keyword: #แนวทางการจัดการความรู้ #ภูมิปัญญา #การใช้ประโยชน์จากสมุนไพร,
Guidelines of Knowledge Management, Wisdom, Herbal Medicines Utilization

มาแกปูโละ : กินเหนียวงานแต่งชายแดนใต้

ฉันเดินเข้าไปบริเวณงานแต่งงานของน้องสาวที่รู้จักกันในหมู่บ้านเป็นเวลาเกือบเที่ยงวัน ชาวมุสลิมที่ชายแดนใต้ส่วนใหญ่หากไม่ติดภารกิจใดเมื่อได้รับการเชิญไปร่วมงานเลี้ยงงานแต่งงานมักจะนิยมไปในช่วงเวลาใกล้เที่ยง หากบางคนมีภารกิจก็จะเปลี่ยนเป็นเวลาเย็นหรือค่ำหลังเลิกงาน การไปร่วมงานเลี้ยงการแต่งงานที่นี่เรียกว่า มาแกปูโละหรือสั้น ๆ ก็คือกินเหนียวนั่นเอง

ฉันได้มีโอกาสพูดคุยสอบถามแบมังหรืออุสมาน โดซอมิ ปราชญ์ชาวบ้านชาวยะลาที่มีความรู้และทำงานคร่ำหวอดในแวดวงงานด้านประเพณีวัฒนธรรมชายแดนภาคใต้เกี่ยวกับเรื่องนี้ แบมังได้เล่าว่า เมื่อก่อนชาวบ้านแถบนี้เวลามีงานแต่งมักจะมีการเลี้ยงข้าวเหนียวซึ่งถือว่าเป็นอาหารหลักในยุคนั้นพร้อมกับข้าวเจ้าด้วย ข้าวเหนียวนั้นใช้ทานกับแกงต่าง ๆ เช่น แกงมัสมั่นเนื้อ แกงมัสมั่นแพะ บ้างก็ทานกับแกงกุ้ง ปลาแห้ง หรือสมันกุ้งก็มี จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่มาของคำว่า มาแกปูโละซึ่งเป็นภาษามลายูถิ่น โดยหากแยกเป็น 2 คำ คำว่า มาแก หมายถึง กิน ปูโละ หมายถึง ข้าวเหนียว นั่นเอง

ในงานแต่งงานของมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้แห่งนี้มีรูปแบบ วิถีทางความเชื่อและประเพณีบางอย่างที่ทั้งแตกต่างและคล้ายคลึงกับพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทย ฉันขอกล่าวถึงรูปแบบและเรื่องราวบางส่วนที่แตกต่างและเป็นอัตลักษณ์ของผู้คนที่ชายแดนใต้แห่งนี้ เช่น สัญลักษณ์การแขวนธงผ้า*กาอินลือปัส (*ผ้าที่ใช้สำหรับคลุมศรีษะหรือไหล่ของผู้หญิงในพื้นที่ชายแดนใต้ สมัยก่อนอาจใช้คลุมไหล่ ผู้ชายบางคนอาจใช้ในการโพกหัวเป็นทรงกลม ๆ หรือใช้พันเอวคล้ายการใช้งานผ้าขาวม้าของไทย) ที่แขวนเป็นสัญลักษณ์ว่าที่นี่มีงานแต่งงานหรือเป็นผ้าที่ใช้บอกเส้นทางไปยังบ้านที่จัดงานแต่งงานก็ได้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่งานเลี้ยงงานแต่งงานมักจัดภายหลังการแต่งงานตามหลักการศาสนาหรือเรียกสั้น ๆ ว่านิกะห์ ซึ่งอาจจัดก่อนวันงานเลี้ยง 1 วันหรือในช่วงเช้าก่อนเริ่มจัดงานเลี้ยงในวันเดียวกัน ก่อนจะเริ่มงานเลี้ยงหรือระหว่างการจัดงานเลี้ยงจะมีขบวนแห่ขันหมาก (บุหงาซีเระหรือพานบายศรี) จากฝ่ายเจ้าบ่าวซึ่งอาจมีรูปแบบลักษณะตั้งแต่ 3 ชั้น 5 ชั้น หรือ 7 ชั้น แล้วแต่ความสะดวกของฝ่ายที่จัดขบวนแห่ฯ ปัจจุบันจะมีสิ่งของประกอบการแห่ขันหมากอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกหลายอย่าง เช่น ผ้าถุง ผ้าละหมาด ขนมหวาน ผลไม้ เบเกอรี่ ฯลฯ

นอกจากนี้ข้าวเหนียวหรือปูโละจัดได้ว่าสิ่งสำคัญในงานเลี้ยงงานแต่งงานของมุสลิมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เนื่องจากปูโละหรือข้าวเหนียวถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในเชิงพิธีการในงานแต่งงาน โดยเฉพาะการกิน ปูโละเซอมางัตหรือข้าวเหนียวขวัญของคู่บ่าวสาว โดยในช่วงของงานแต่งคู่บ่าวสาวจะผลัดกันหยิบข้าวเหนียวคนละ 3 คำ (หรือ 3 ครั้ง) ซึ่งข้าวเหนียวจะมี 3 สี ได้แก่ สีขาวเป็นสัญลักษณ์แทนความหมายของศาสนา สีเหลือง แทนความหมายของกษัตริย์ และสีแดงแทนความหมายของชาติ โดยในสมัยก่อน การหยิบปูโละเซอมางัตนั้นจะเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมและมีการตีความเสี่ยงทายความหมายการมีชีวิตคู่ภายหลังแต่งงานของคู่บ่าวสาวของชาวมลายูจากสีข้าวเหนียวที่ได้มีการเลือก แต่ในปัจจุบันความเชื่อดังกล่าวแทบจะไม่หลงเหลืออยู่ในพื้นที่แห่งนี้อีกแล้ว

ปัจจุบันงานมาแกปูโละของชาวมุสลิมหลายอย่างได้มีการปรับเปลี่ยนเชิงรูปแบบทางประเพณีพิธีการ ทั้งนี้เพื่อปรับให้เข้ากับยุคสมัยและสภาพทางสังคมเศรษฐกิจค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่อย่างไรก็ตามรูปแบบในเชิงขั้นตอนหลักการทางศาสนาอิสลามนั้นยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คู่บ่าวสาวยุคใหม่อาจมีทั้งการเน้นรูปแบบการจัดงานเลี้ยงแต่งงานที่หรูหรา บางคู่อาจเน้นแนวเรียบง่าย แล้วแต่ความต้องการและฐานะทางเศรษฐกิจของผู้จัด เช่นเดียวกันกับผู้ที่มีส่วนสำคัญในการร่วมช่วยเหลือในวันจัดงานหรือเตรียมการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยในอดีตส่วนใหญ่จะมีญาติพี่น้องหรือเพื่อนบ้านในชุมชนมาช่วยเหลือในวันงาน แต่ปัจจุบันอาจมีการจ้างชาวบ้านหรือแม่ครัวจากภายนอกชุมชนมาช่วยทำอาหารในงานเลี้ยง มีการจ้างเยาวชนมาช่วยในการเสริฟอาหาร หรือแม้กระทั่งมีการปรับเปลี่ยนสถานที่ในการจัดเลี้ยงจากเดิมจัดงานที่บ้านคู่บ่าวสาว ซึ่งปัจจุบันอาจปรับเปลี่ยนเป็นจัดในร้านอาหารหรือโรงแรมแทน 

สิ่งเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการจัดงานแต่งงานของชาวมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแม้จะไม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากนักเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทย แต่ก็ถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ร่วมส่วนหนึ่งในการปรับเปลี่ยนของผู้คนตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป 

ขอขอบคุณผู้ให้ข้อมูลและอนุญาตให้ถ่ายภาพประกอบ

นายสมาน โดซอมิ

 

นางสาวอัสมะ สุหลง

บทความวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ เรื่อง “การฟื้นฟูและถ่ายทอดความรู้การปลูกครามและทดลอง ก่อหม้อคราม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมคราม จังหวัดปัตตานี”

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ขอเชิญชวนอ่าน #บทความวิจัย ในรอบปี 2566-2567 ที่ได้รับการตีพิมพ์

เรื่อง “การฟื้นฟูและถ่ายทอดความรู้การปลูกครามและทดลอง ก่อหม้อคราม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมคราม จังหวัดปัตตานี”

.

ตีพิมพ์ในวารสารวารสารปาริชาต สถาบันวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยทักษิณ ปีที่ 37 ฉบับที่ 2 (2024): เมษายน – มิถุนายน

ซึ่งอยู่ในฐานข้อมูลวารสาร TCI กลุ่ม 1

.

อ่านบทความวิจัยได้ที่ https://so05.tci-thaijo.org/index.php/parichartjournal/article/view/266686?fbclid=IwY2xjawHF2m5leHRuA2FlbQIxMAABHa542E9CwPqQTcdejLIky-tDFmhZViMDLUKKK12o0os5n37qCWSBsKONag_aem_KLwhl3RJ5ZoV7UTroPQ22A

.

ผู้เขียน:

นางสาวนราวดี โลหะจินดา นักวิชาการอุดมศึกษาชำนานการ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา

.

Keyword: คราม, ก่อหม้อคราม, ผ้าย้อมสีครามธรรมชาติ, Indigofera, Making indigo paste pot, Natural indigo dyed fabric

.

ติดตามข่าวสารกิจกรรมของสถาบันฯ ได้ที่

Website : https://culture.psu.ac.th/

Facebook : https://www.facebook.com/culture.psu

Instagram : https://www.instagram.com/culture.psu/

Youtube : https://www.youtube.com/@culture_psu     

 

Tiktok: https://www.tiktok.com/@culture.psu

บทความวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ เรื่อง “ความเชื่อและพิธีกรรมตามบทบาทของผู้นำทางจิตวิญญาณใน ร่างทรงเทพเจ้าจีนที่มีต่อศาลเจ้าเมืองตรัง”

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ขอเชิญชวนอ่าน #บทความวิจัย ในรอบปี 2566-2567 ที่ได้รับการตีพิมพ์

เรื่อง “ความเชื่อและพิธีกรรมตามบทบาทของผู้นำทางจิตวิญญาณในร่างทรงเทพเจ้าจีนที่มีต่อศาลเจ้าเมืองตรัง”

.

ตีพิมพ์ในวารสารสังคมศาสตร์และวัฒนธรรม โรงเรียนพระปริยัติสามัญวัดสระเรียง ปีที่ 7 ฉบับที่ 12 (2023): ธันวาคม 2566

ซึ่งอยู่ในฐานข้อมูลวารสาร TCI กลุ่ม 1

.

อ่านบทความวิจัยได้ที่ https://so06.tci-thaijo.org/index.php/JSC/article/view/270229?fbclid=IwY2xjawHF2K1leHRuA2FlbQIxMAABHft0cst0xChboC62q0SWfM2m2l2ipR4GuvMgvl48h2ddCquj0EQ8fHvzQA_aem_TXg9OZmpNS6feOxMjxgOhw

 

.

ผู้เขียน:

นางอ้อมใจ วงษ์มณฑา นักวิชาการอุดมศึกษาชำนาญการ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา

ผศ.ดร.อารีย์ ธรรมโคร่ง สาขาวิชาศิลปะการคิดเพื่อการพัฒนามนุษย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.

.

Keyword: ความเชื่อ พิธีกรรม บทบาท ร่างทรงเทพเจ้าจีน ผู้นำทางจิตวิญญาณ,
Belief Rituals Roles Chinese Deity Embodiment Spiritual Leader

.

ติดตามข่าวสารกิจกรรมของสถาบันฯ ได้ที่

Website : https://culture.psu.ac.th/

Facebook : https://www.facebook.com/culture.psu

Instagram : https://www.instagram.com/culture.psu/

Youtube : https://www.youtube.com/@culture_psu     

 

Tiktok: https://www.tiktok.com/@culture.psu

บทความวิจัย ในรอบปี 2566-2567 ที่ได้รับการตีพิมพ์ เรื่อง “การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวของวิสาหกิจชุมชน กลุ่มออมทรัพย์บุหงาซิเร๊ะ บ้านท่าคลอง จังหวัดปัตตานี”

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ขอเชิญชวนอ่าน #บทความวิจัย ในรอบปี 2566-2567 ที่ได้รับการตีพิมพ์

เรื่อง “การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวของวิสาหกิจชุมชน กลุ่มออมทรัพย์บุหงาซิเร๊ะ บ้านท่าคลอง จังหวัดปัตตานี”

.

ตีพิมพ์ในวารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 (2023) ซึ่งอยู่ในฐานข้อมูลวารสาร TCI กลุ่ม 1

.

อ่านบทความวิจัยได้ที่ https://so03.tci-thaijo.org/index.php/journal-la/article/view/265454?fbclid=IwY2xjawGxEgtleHRuA2FlbQIxMAABHSl9QAbZ0R24TDSqlhnaJEiOKFvSaB6FQx10oVsgtaXlQuCW32xIsdpdog_aem_wBnBFArGduYzUOxu1Md24A

.

ผู้เขียน:

– นิปาตีเมาะ หะยีหามะ นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา

.

Keyword: ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าว , ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าว, วิสาหกิจชุมชน, coconut products, packaging development, community enterprise

.

ติดตามข่าวสารกิจกรรมของสถาบันฯ ได้ที่

Website : https://culture.psu.ac.th/

Facebook : https://www.facebook.com/culture.psu

Instagram : https://www.instagram.com/culture.psu/

Youtube : https://www.youtube.com/@culture_psu     

 

Tiktok: https://www.tiktok.com/@culture.psu

ชวนอ่านบทความวิจัย ในรอบปีที่ได้รับการตีพิมพ์ เรื่อง“วิถีชีวิตตามพิธีกรรมและความเชื่อของคนเลี้ยงวัวชน กรณีศึกษา ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง”

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ขอเชิญชวนอ่าน #บทความวิจัย ในรอบปีที่ได้รับการตีพิมพ์

เรื่อง“วิถีชีวิตตามพิธีกรรมและความเชื่อของคนเลี้ยงวัวชน กรณีศึกษา ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง”

.

ตีพิมพ์ในวารสารสังคมศาสตร์และวัฒนธรรมโรงเรียนพระปริยัติสามัญวัดสระเรียง ปีที่ 8 ฉบับที่ 10 (2024): ตุลาคม 2567 ซึ่งอยู่ในฐานข้อมูลวารสาร TCI กลุ่ม 1

.

อ่านบทความวิจัยได้ที่ https://so06.tci-thaijo.org/index.php/JSC/article/view/277150?fbclid=IwY2xjawGxEEpleHRuA2FlbQIxMAABHRBAt2w6anblwsAZieZva_4TxsDcaMRRikVXgXEu5bq9RdoHAvTXyo-v4A_aem_M0f-8I6Ck5ar9UkTYmRM5w

.

ผู้เขียน:

– นางอ้อมใจ วงษ์มณฑา นักวิชาการอุดมศึกษาชำนาญการ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา

– ผศ.ดร.อารีย์ ธรรมโคร่ง สาขาวิชาศิลปะการคิดเพื่อการพัฒนามนุษย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.

– ผศ.ดร.อัมพร ศิลปเมธากุล สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.

.

Keyword:  วิถีชีวิต, พิธีกรรม, ความเชื่อ, คนเลี้ยงวัวชน, ภูมิปัญญาท้องถิ่น, Lifestyle, Rituals, Beliefs, Cowherds, Local Wisdom

.

#วัวชน #วิถีชีวิตชาวบ้าน #ภูมิปัญญาท้องถิ่น #ตรัง #วัฒนธรรมพื้นบ้าน #บทความวิจัย #สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา #TCI #บทความน่าอ่าน #การศึกษาไทย #พิธีกรรมและความเชื่อ #สังคมศาสตร์ #มนุษยศาสตร์

.

ติดตามข่าวสารกิจกรรมของสถาบันฯ ได้ที่

Website : https://culture.psu.ac.th/

Facebook : https://www.facebook.com/culture.psu

Instagram : https://www.instagram.com/culture.psu/

Youtube : https://www.youtube.com/@culture_psu     

Tiktok: https://www.tiktok.com/@culture.psu

[บทความจุลสาร] วันวานยังหวานอยู่ : รำลึกบรรยากาศในอดีตกับขนมจีน น้ำแข็งใสในตลาดนัด

อากาศใกล้เที่ยงวันนี้ร้อนจัดย้อนแย้งกับวสันตฤดูยิ่งนัก ฉันรู้สึกอยากทานขนมจีนน้ำยาเครื่องแกงแบบชายแดนใต้ปิดท้ายด้วยน้ำแข็งไสให้เย็นชื่นใจในบรรยากาศแบบเก่าเมื่อสมัยยังเยาว์วัย จึงตัดสินใจขี่มอเตอร์ไซค์คันเล็กไปเรื่อย ๆ ตามถนนสองเลนส์เล็ก ๆ ด้านหลังหน่วยงานที่ทำงาน จุดหมายปลายทางของฉันในวันนี้คือขนมจีนกับน้ำแข็งไสในตลาดสดและบางวันก็จะมีตลาดนัด ตลาดแห่งนี้เป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่จังหวัดปัตตานีเราเรียกสั้น ๆ ว่า ตลาดพิธาน

หลังจากหาสถานที่จอดรถมอเตอร์ไซค์เสร็จ ฉันเดินตรงเข้าไปยังตลาดด้านซ้ายมือถัดจากร้านขายผลไม้สดและร้านขายปลาแห้ง ณ ที่แห่งนั้นคือจุดหมายแห่งการกินเพื่อรำลึกบรรยากาศแต่เก่าก่อนในวันนี้ ฉันสั่งขนมจีนน้ำยามาหนึ่งจาน ระหว่างที่รอแม่ค้าจัดเตรียมขนมจีน ฉันเลื่อนเก้าอี้ไม้แบบยาวให้เข้ามาชิดกับโต๊ะมากขึ้น ร้านนี้มีโต๊ะและเก้าอี้อย่างละ 2 ตัว สำหรับจัดวางอาหารพร้อมนั่งทาน 1 ชุด และอีกชุดสำหรับนั่งทานเพียงอย่างเดียว

 

ร้านแห่งนี้มีขายเพียงขนมจีนน้ำยา น้ำแกงไตปลา น้ำแกงปลากะทิสีขาวสำหรับทานกับละแซ* (อาหารชนิดเส้นผลิตจากแป้งมีลักษณะคล้ายกับขนมจีนแต่เส้นแบน พบและเป็นที่นิยมทานกันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้) กับน้ำแข็งไสซึ่งปรับรูปแบบมาไสกับเครื่องไฟฟ้าต่างจากสมัยก่อนที่ไสด้วยมือ

ระหว่างนั่งทานฉันได้ชวนแม่ค้าซึ่งเพิ่งทราบชื่อว่า กะเราะห์ คุยไปพลางๆ กะเราะห์เล่าว่าเริ่มขายขนมจีนกับน้ำแข็งไสมาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก เมื่อเรียบจบชั้นประมศึกษาปีที่ 6 ออกมาช่วยแม่ขายของอย่างเต็มตัว จนมีครอบครัว ตอนนี้กะเราะห์อายุ 52 ปี คิดเป็นระยะเวลาที่ขายขนมจีนกับน้ำแข็งไสตั้งแต่ตอนนั้นถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 45 ปี พร้อมเล่าว่าสมัยก่อนร้านนี้จะอยู่อีกฝั่งหนึ่ง แต่เมื่อมีการปรับปรุงตลาดจึงได้ย้ายมาขายประจำฝั่งนี้ หากเดินมาจากด้านหน้าตลาดฝั่งห้างไดอาน่าร้านกะเราะห์จะอยู่ด้านซ้ายมือ ส่วนฝีมือ รสชาติอาหารที่ขายนั้นได้เรียนรู้ฝึกฝนและสืบทอดมาจากแม่ 

ร้านขนมจีนน้ำแข็งไสกะเราะห์จะเปิดตั้งแต่เวลา 09.00 .15.00 . เปิดทุกวันยกเว้นวันจันทร์ เพราะตลาดจะปิดเพื่อทำความสะอาด ขนมจีนของร้านกะเราะห์มีลูกค้าที่หลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ขายในตลาด ชาวบ้านที่มาจับจ่ายซื้อของในตลาด หรือแวะมาเพื่อซื้อขนมจีนเจ้านี้โดยเฉพาะ ระหว่างที่ฉันนั่งทานอยู่นั้น สังเกตเห็นว่ามีลูกค้ามาซื้อขนมจีนกับน้ำแข็งไสตลอดเวลา มีทั้งที่นั่งทานที่ร้านและซื้อใส่ถุงกลับไปทานที่บ้าน ราคาของขนมจีนร้านนี้ไม่แพง จานใหญ่แบบอิ่ม ๆ จานละ 30 บาท น้ำแข็งไสถ้วยใหญ่ ถ้วยละ 20 บาท

ได้ทานขนมจีนรสชาติสไตล์ชายแดนใต้ในราคาไม่แพง ในบรรยากาศที่มีชีวิตชีวารายล้อมด้วยร้านค้าหลากหลาย เก้าอี้ไม้ยาวนั่งได้ 3-4 คน ระหว่างนั่งรอได้ยินเสียงน้ำแข็งไสครืด ๆ ทำให้นึกถึงบรรยากาศอันแสนสุขใจในวันวานที่วันนี้ยังพอหาซื้อและสัมผัสได้ ณ เมืองตานีชายแดนใต้แห่งนี้

ขอขอบคุณผู้ให้ข้อมูลและอนุญาตให้บันทึกภาพ

กะเราะห์ ร้านขนมจีนกะเราะห์ ตลาดนัดพิธาน จังหวัดปัตตานี

 

เรียบเรียงบทความจุลสาร

โดย รอฮานี ดาโอ๊ะ นักวิจัยสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา

ปริศนาธรรมจากประเพณีทำศพ

การอาบน้ำศพ ทางพราหมณ์นิยมกันว่าเพื่อล้างบาปให้แก่ผู้ตาย ทางศาสนาอิสลามนิยมกันว่า
การอาบน้ำทาแป้งให้แก่ศพผู้ตายอย่างหมดจดแล้ว เมื่อผู้ตายไปเกิดชาติใดรูปร่างจะได้สะสวยหมดจดงดงาม ทางศาสนาพุทธจะอาบน้ำแล้วลงขมิ้นชันสดตำขัดสีและฟอกด้วยส้มมะกรูดมะนาว อาบน้ำหอมทากระแจะและเครื่องปรุงอื่น ๆ ตามที่ควรจะหาได้

          การแต่งตัวศพ แต่งตัวให้ไปเกิด การนุ่งผ้าให้แก่ศพ ซึ่งมีการนุ่งข้างหลังแล้วนุ่งข้างหน้านี้ เพื่อให้พิจารณาให้แจ้งว่าสัตว์ที่เกิดมาย่อมเกิดด้วยทิฐิ และตายด้วยทิฐิ มีอวิชชาปิดหลังปิดหน้า มีตัณหาเกี่ยวประสานกันดังเรียวไม้ไผ่

 เงินใส่ปาก เพื่อให้เป็นทางพิจารณาว่า คนเกิดมาแล้วย่อมลุ่มหลงอยู่ด้วยทรัพย์สมบัติเที่ยวทะเยอทะยานขวนขวายหาด้วยทางสุจริตแล้วไม่พอแก่ความต้องการ ยังพยายามแสวงหาในทางทุจริตอีก เมื่อได้มาแล้วอดออมถนอมไว้ไม่ใช้จ่ายในทางที่ควร ทรัพย์เช่นนี้เรียกว่าเป็นทรัพย์ภายนอก เมื่อตายไปแล้วแม้แต่เขาเอาใส่ปากให้ก็นำเอาไปไม่ได้ ย่อมเป็นเหยื่อของผู้อื่นทั้งสิ้น อีกทางหนึ่งกล่าวกันว่า ใส่ไว้เพื่อให้เป็นค่าจ้างแก่สัปเหร่อที่จะนำไปเผา

ขี้ผึ้งปิดหน้าศพ เพื่อป้องกันความอุจาด เพราะบางศพลืมตาค้างปิดไม่ลงบ้าง บางศพอ้าปากบ้าง

กรวยดอกไม้ธูปเทียน ให้ถือไปเพื่อจะได้ไหว้พระจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

การมัดศพ ให้ศพถือกรวยดอกไม้ธูปเทียนแล้วใช้ด้ายดิบเส้นขนาดนิ้วก้อยทำเป็นบ่วงสวมคอเป็นบ่วงแรก บ่วงที่ 2 รัดรวบหัวแม่มือและข้อมือทั้ง 2 ข้างให้ติดกัน บ่วงที่ 3 รัดรวบหัวแม่เท้าและข้อเท้าทั้ง 2 ข้างให้ติดกันเรียกกันว่าตราสังกรือดอยใน การทำบ่วงสวมคอ ผูกมือและเท้าเป็น 3 บ่วงด้วยกันนั้น มีความหมายผูกเป็นโคลง 4 สุภาพ ดังนี้

                   มีบุตรบ่วงหนึ่งเกี้ยว                 พันคอ

ทรัพย์ผูกบาทาคลอ                           หน่วงไว้

ภรรยาเยี่ยงบ่วงหนอ                          รึงรัด มือนา

สามบ่วงใครพ้นได้                             จึ่งพ้นสงสาร.

การเผาศพ : มีดที่ตัดเชือกหรือด้ายที่ผูกศพ ได้แก่ ดวงปัญญา ด้ายนั้นได้แก่ โลโภ โทโส โมโห อันว่า โลโภ โทโส โมโห นั้น ต้องตัดด้วยดวงปัญญา จึงจะขาดได้ ที่ว่าเอากิ่งไม้วางเหนือศพนั้นเพื่อจะไม่ให้ผ้าที่บังสุกุลเปื้อนศพที่มีน้ำเหลือง การที่นิมนต์พระมาชักมหาบังสุกุลนั้น ก็เพื่อให้ท่านมาปลงกรรมฐานและรับผ้านั้นเป็นไทยทาน จัดเป็นการกุศลส่วนหนึ่ง

การคว่ำหน้าศพลง เมื่อเวลาศพถูกไฟจะได้ไม่งอตัวเข้ามาได้ ถ้าเผาในท่านอนหงายศพนั้นมักงอเท้าสูงเชิงขึ้นได้

การเวียนเชิงตะกอนสามรอบ หมายความว่า เมื่อแรกเกิดมานั้นเป็นเด็ก แล้วถึงคราวเป็นหนุ่มเป็นสาว แล้วก็แปรผันไปอีกจนถึงความชรานี้ชื่อว่า อนิจจัง การที่แปรปรวนไปนั้นมีความเจ็บไข้ได้ทุกข์ทนยากชื่อว่า
ทุกขัง ในที่สุด ถึงความสลายไปคือแตกทำลายตายจากภพนี้ จะเอาอะไรไปเป็นสาระหาได้ไม่ ชื่อว่า อนัตตา การเวียนสามรอบนั้น คือ หมายถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

การนำสตางค์ทิ้งลงในเชิงตะกอน แปลว่าเป็นการซื้อที่ให้ผีผู้ตายอยู่ มีเรื่องเล่ากันมาว่า เจ้าภาพ
งานศพไม่ได้ซื้อที่ให้ผีอยู่ในเวลาเผา เมื่อเผาแล้วผีไม่มีที่อยู่ ก็เที่ยวรบกวนหลอกหลอนต่าง ๆ ภายหลังเจ้าภาพได้ซื้อที่ให้ผีแล้ว จึงไม่เที่ยวหลอกหลอนต่อไปอีก

          การที่เอาน้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ เป็นปัญหาธรรมว่าสิ่งสะอาดล้างสิ่งสกปรก คือ กุศลธรรม ย่อมล้างซึ่งอกุศลธรรม

          การห้ามไม่ให้ต่อไฟกัน เพราะไฟนั้นเป็นของร้อน ถ้าต่อกันก็ติดเนือง ๆ สืบกันไปเหมือนคนผูกเวร
เวรย่อมไม่สิ้นสุดลงได้ การที่ท่านไม่ให้ต่อก็คือชี้ทางแห่งการระงับเวร การเอาผ้าโยนข้ามไฟ 3 ครั้ง คือแสดงถึงการข้ามของร้อน มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นมูล ต้องข้ามด้วยธรรม อันเป็นอันเป็นไปในทางบริสุทธิ์ คือ
พระอธิยมรรค อริยผล และพระนิพพาน

 

          การชักไฟสามดุ้น คือแสดงว่า ราคะ โทสะ โมหะ เป็นของร้อน เปรียบเหมือนไฟสามดุ้นนั้น เมื่อ
ตัดราคะ โทสะ โมหะ เสียได้แล้ว ก็จะต้องได้รับความสุขคือ ปราศจากเครื่องร้อนทั้งปวง และเมื่อมาถึงบ้านให้ล้างหน้าและอาบน้ำนั้น เป็นการรักษาอนามัยอย่างดี ถ้ายกขึ้นสู่ปัญหาธรรมก็คือ ให้ล้างความชั่วด้วยความดีนั่นเอง.

___________________________________

เรียบเรียงโดย อ้อมใจ วงษ์มณฑา นักวิชาการอุดมศึกษาชำนาญการ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา

ประเพณีสารทเดือนสิบ ตำบลคอกกระบือ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี

ความหมายสารทเดือนสิบ

          ประเพณีสารทเดือนสิบ ภาษาท้องถิ่นใต้ เรียกว่า ประเพณีชิงเปรต เป็นประเพณีท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วไปของภาคใต้ สำนักงานโบราณคดี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 11 นครศรีธรรมราช   กรมศิลปากร (2542)  กล่าวว่า ประเพณีสารทเดือนสิบเป็นประเพณีที่รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอินเดีย ทั้งนี้เพราะว่าชาวนครติดต่อกับอินเดียมานาน ก่อนดินแดนส่วนอื่น ๆ ของประเทศไทย วัฒนธรรมและอารยธรรมของอินเดียส่วนใหญ่จึงถ่ายทอดมายังเมืองนครเป็นแห่งแรกแล้วค่อย ๆ ถ่ายทอดไปยังเมืองอื่นๆและภูมิภาคอื่น ๆ ในประเทศไทย  ประเพณีสารทเดือนสิบเป็นประเพณีที่วิวัฒนาการมาจาก ประเพณี “เปตพลี ” ของศาสนาพราหมณ์ กล่าวคือในศาสนาพราหมณ์มีประเพณี เรียกว่า ” เปตพลี” ที่จัดทำขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย ประเพณีนี้ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาในอินเดียก่อนสมัยพุทธกาล

          คำว่า “เปต” เป็นภาษาบาลีตรงกับคำว่า “เปรตในภาษาสันสกฤตแปลว่า “ผู้ไปก่อน” หมายความถึงบรรพบุรุษที่ตายไปแล้ว ถ้าเป็นคนดี พญายมซึ่งเป็นเจ้าแห่งความตายจะพาวิญญาณไปสู่แดนอันเป็นบรมสุข อันเป็นความเชื่อดังเดิมที่สุดของพราหมณ์ซึ่งมีปรากฏในคัมภีร์พระเวท ต่อมาพราหมณ์ได้เกิดความเชื่อเกี่ยวกับนรก ดังนั้น ชาวอินเดียจึงเกรงว่าบรรพบุรุษที่ตายอาจจะไปตกนรก วิธีการช่วยไม่ให้คนตกนรกก็คือ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้เรียกว่าพิธีศราทธ์ ซึ่งกำหนดวิธีการทำบุญไว้หลายวิธี หากลูกหลานญาติมิตรไม่ทำบุณอุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษที่ตายไปเป็นเปรตจะได้รับความอดยากมาก ดังนั้น การทำบุญทั้งปวงเพื่ออุทิศผลไปให้แก่ผู้ล่วงลับ ซึ่งเรียกว่า การทำบุญทักษิณานุปทานหรือเปตพลี

                       

ความสำคัญสารทเดือนสิบ

          วัตถุประสงค์ประเพณีวันสารทเดือนสิบ(ชิงเปรต) ตามปกติทั่วไปทำบุญตามพิธีกรรม 2 ครั้งต่อปี ครั้งแรกตรงกับแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ชาวบ้านเรียกว่า วันรับเปรต หรือ วันรับตายาย ชาวบ้านเชื่อว่า ญาติผู้ล่วงลับ เคยหลงผิดทำกรรมชั่ว ได้ถูกกักขังไว้ในยมโลก ไม่มีความเป็นอิสระด้วยผลกรรม หนึ่งปีจะได้ถูกปลดปล่อยให้เป็นอิสระ 15 วัน หลังจากนั้น  บรรดาวิญญาณญาติ ๆ จะถูกกลับไปสู่ความไม่เป็นอิสระในยมโลกอย่างเดิม จนกว่าจะหมดบาปกรรม จึงมีการทำบุญครั้งที่สอง ตรงกับแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า วันส่งเปรตหรือ “วันส่งตายาย”  หรือ วันรับเปรต ตามความรู้สึกของชาวบ้านเหมือนกับเป็นวัน รับตายาย ด้วยสาเหตุมาจากสังคมในอดีตเป็นครอบครัวขยาย มีความรักความผูกพันระหว่างสมาชิกในครอบครัวมีสูง เมื่อตายายที่ล่วงลับไปแล้ว  กลับมาเยี่ยมลูกหลานในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ดังนั้นสมาชิกภายในครอบครัวต้องไปวัดรับศีล 5 กวาดบ้านเรือนให้สะอาด อย่าทะเลาะเบาะแว้งตลอดเวลา 15 วัน เพราะตายายจะได้กลับไปอย่างมีความสุข ได้เห็นบุตรหลานอยู่ในศีลธรรม มีความรักความสามัคคีภายในครอบครัว 

ภาพพื้นที่วัดมหิงสาราม ตำบลคอกกระบือ

สัญลักษณ์ทางพิธีกรรมสารทเดือนสิบตำบลคอกกระบือ

          1. ร้านเปรต หรือหลาเปรต สัญลักษณ์สำคัญสำหรับวางอาหารหรือขนมเดือนสิบชนิดต่าง ๆสำหรับวิญญาณที่ถูกปลดปล่อยจากภพภูมิ  บางวัดไม่มีการสร้างหลาเปรต ใช้วิธีจัดแจงอาหารและขนมสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมจัดไว้ในถาดรวมกันกับเหล่าบรรดาญาติพี่น้อง เพื่อนำไปวางไว้บริเวณใดบริเวณหนึ่งของวัด และบางวัดจัดเตรียมถาดเปรตภายนอกวัดสำหรับเปรตที่เข้าวัดไม่ได้ เพราะมีบาปหนา  การสร้างหลาเปรตมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบแรกหลาเปรตทรงสูง สำหรับเปรตที่มีลักษณะบาปกรรมทำให้ลำตัวสูง ไม่สามารถสังเวยเครื่องเซ่นบนหลาเปรตเหมือนคนธรรมดาได้ จึงต้องสร้างหลาเปรตให้มีระดับสูงกว่าปกติธรรมดา แบบที่สอง จัดแจงไว้บนแคร่หรือบนผืนเสื่อหรือที่ต่ำเพื่อให้เปรตที่มีความสูงไม่มากนักได้รับประทาน  หลาเปตรทั้งสองแบบสำหรับให้ชาวบ้านได้นำอาหารคาวหวานและสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมอื่น ๆ มาวางไว้สำหรับเซ่นไว้บรรดาเหล่าญาติ นอกจากนั้น หลาเปรตทรงสูงยังใช้สำหรับการแข่งขันเพื่อความบันเทิง

           ลักษณะหลาเปรตบริเวณสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มี 2 แบบ แบบทรงเตี้ยสำหรับใช้วางอาหารคาวหวาน ขนมพิธีกรรม สำหรับอุทิศส่วนกุศลให้กับเปรตและบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว จะสร้างไว้ตั้งแต่การทำบุญพิธีกรรมวันรับเปรตจนกระทั่งวันส่งเปรต ส่วนหลาเปรตทรงสูงนิยมสร้างไว้ประกอบพิธีกรรมในช่วงประกอบพิธีกรรมสุดท้าย คือ ทำบุญส่งเปรต นอกจากเป็นสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมแล้วยังใช้ในการแข่งขันปีนหลาเปรต ลักษณะหลาเปรตทรงสูงพบทั่วไปมี  2 แบบ คือ หลาเปรตทรงสูงแบบเสาเดี่ยวกับหลาเปรตทรงสูงสองเสา สำหรับแข่งขันปีนหลาเปรต เพื่อความสนุกสนาน ปัจจุบันหลาเปรตทรงสูงเริ่มเลื่อนหายไปหลายพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

หลาเปรตหรือร้านเปรตตำบลคอกกระบือ

            ส่วนหลาเปรตประเพณีสารทเดือนสิบตำบลคอกกระบือ รูปแบบเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะวิถีการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน และตามลักษณะสังคมภายนอกที่หลั่งไหลเข้ามา ผู้คนมีโอกาสทางการศึกษา ประกอบอาชีพ และเคลื่อนย้ายไปใช้ชีวิตในสังคมของจังหวัดอื่น ๆ  การรวมตัวประกอบพิธีกรรมเริ่มอ่อนแอลง การสร้างสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมอย่างเช่นในอดีตเป็นเรื่องลำบาก เพราะครอบครัวขยายเริ่มกลายเป็นครอบครัวเดี่ยว ชาวบ้านไม่มีเวลากับกิจกรรมส่วนรวม มุ่งเน้นอาชีพหลักของตนเอง ประเสริฐ สุวรรณน้อย (2555) กล่าวว่า หลาเปรตในอดีตจะสร้างรูปแบบคล้ายคลึงกับพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะหลาเปรตสูงจะใช้ทั้งด้านพิธีกรรมและการแข่งขัน ซึ่งชาวบ้านจะร่วมกันวางแผน หลาเปรตในอดีตนิยมใช้ไม้เสาเดียว กุศโลบายเพื่อความสนุกสนาน ช่วงการแข่งขันปีนป่าย โดยเสาเปรตใช้ไม้พญาชุ่มเรียง ซึ่งเป็นต้นไม้ท้องถิ่น จากนั้นนำเปลือกไม้พญาชุ่มเรียงแช่น้ำไว้ค้างคืน เพื่อทำให้ต้นเสาเปรตเพิ่มความรื่นไหลบนร้านเปรตจะมีสิ่งของต่าง ๆ เช่น เสื้อ ผ้าถุง ผ้าข้าวม้า เงินรางวัล และขนมต่าง ๆ มากมาย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันการ    ปีนป่ายร้านเปรตเข้ามาชิงชัย ซึ่งเป็นกิจกรรมกึ่งบันเทิงที่ได้ปฏิบัติกันมา  กลายเป็นรูปแบบหรือองค์ประกอบหนึ่งของประเพณีสารทเดือนสิบ ปัจจุบัน ตำบลคอกกระบือนิยมสร้างหลาเปรตเน้นความสะดวกสบาย รวดเร็ว เพียงเพื่อใช้การวางอาหารคาวหวานในพิธีกรรม ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมทำหลาเปรตอย่างเช่นในอดีต คณะกรรมการวัดวางแผนจัดทำหลาเปรตสำเร็จรูปทรงเตี้ยสำหรับวางอาหารคาวหวาน และเครื่องอุปโภคสำหรับอุทิศให้กับผู้ล่วงลับ เป็นเหตุให้หลาเปรตทรงสูงเลื่อนหายไปประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีการคิดฟื้นฟูหลาเปรตทรงสูงเพื่อการแข่งขัน ความสนุกสนานอย่างเช่นในอดีต 

          2. ขนมพิธีกรรมวันสารทเดือนสิบตำบลคอกกระบือ

          ส่วนการเตรียมสัญลักษณ์ทางพิธีกรรม โดยเฉพาะขนมพิธีกรรม 5 อย่างตามความเชื่อที่ได้สืบทอดต่อ ๆ กันมาคือ

          ขนมลา เป็นสัญลักษณ์แทนแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม
          ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพสำหรับบุรพชนใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ
          ขนมบ้า เป็นสัญลักษณ์แทนสะบ้า สำหรับบุรพชนจะได้ใช้เล่นสะบ้า ในวันสงกรานต์
          ขนมกง (ขนมไข่ปลา) เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ
          ขนมดีซำ หรือขนมเจาะรู หรือ ขนมเจาะหู เป็นสัญลักษณ์แทนเงินเบี้ย สำหรับใช้สอย

ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สื่อความหมายการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้กับเหล่าเปรต หรือ บรรดาเหล่าญาติที่กลับมาเยี่ยมบุตรหลาน เพื่อจะได้นำไปใช้ในภพภูมิของตนเอง ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานด้วยผลกรรม สำหรับตำบลคอกกระบือ ประเพณีเดือนสิบมุ่งเน้นสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้กับบรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ไม่ได้มุ่งเน้นสัญลักษณ์พิธีกรรมความเชื่อเหมือนกับพื้นที่อื่น ๆ เน้นสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นสำหรับนำไปใช้การดำเนินชีวิตเหมือนกับคนปกติธรรมดา จึงจัดเตรียมอาหารหวานคาว เช่น ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวต้มมัด ขนมท้องถิ่นชนิดต่าง ๆ

ประเภทเครื่องใช้ เช่น หมากพลู เปลือกระมัง หรือลูกมะกรูดสำหรับสระผม (ปัจจุบันนิยมซื้อแฟซา) เงิน (สำหรับการจับจ่ายซื้อสินค้า) ยาเส้น ข้าวตอก และสิ่งอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน การใช้สิ่งของเหล่านี้เพื่ออุทิศไปให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับจะได้นำไปใช้ในภพภูมิที่ตนเองสถิตอยู่  (ซิ้ม ตัณฑพงษ์, 2556)   สัญลักษณ์เหล่านี้ใส่ในใบกะพ้อที่ห่อเป็นรูปข้าวต้มมัด นำมามัดรวมกันเป็นแถวยาว เป็นสิ่งที่ได้สืบทอดติดต่อกันมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบันชาวบ้านนิยมจัดซื้ออาหาร เครื่องอุปโภคบริโภคตามสมัยนิยมที่ขายตามตลาดแต่ละชนิดบรรจุใส่ถุงพลาสติก 

สัญลักษณ์พิธีกรรมสารทเดือนสิบตำบลคอกกระบือ

สัญลักษณ์ทางพิธีกรรมเหล่านี้จัดเป็นเครื่องเซ่นที่จะอุทิศไปให้กับผู้ล่วงลับกลับนำไปใช้ในภพภูมิที่สถิตอยู่ตามผลของบุญและกรรม ญาติจะนำไปวางไว้บนหลาเปรต ช่วงเวลาชิงเปรต บุตรหลานต้องการร่วมพิธีชิงเปรตด้วยพ่วงสัญลักษณ์เหล่านี้ เพราะข้างในมีสิ่งของจำเป็นต่อผู้ล่วงลับ และสำหรับแต่ละครอบครัวใช้สัญลักษณ์เหล่านี้อย่างน้อย 1 พ่วงเพื่อนำไปแขวนไว้ตามต้นไม้ในสวนของตนเอง เชื่อว่า ต้นไม้ที่แขวนด้วยสัญลักษณ์ที่ได้จากการชิงเปรตจะทำให้มีผลดก เจริญเติบโต มีความอุดมสมบูรณ์ ไม่มีแมลง หรือโรคอื่น ๆ มาทำร้ายให้ต้นไม้ตายได้

 

ขั้นตอนของพิธีกรรมวันรับเปรต เลี้ยงเปรต และส่งเปรตตำบลคอกกระบือ  

          ประเพณีสารทเดือนสิบ หรือ วันชิงเปรต ตำบลคอกกระบือมีอยู่ 2 แบบ คือ กิจกรรมทำบุญ 2 ครั้ง/ปี คือ วันรับเปรต และวันส่งเปรต และปีใดมีเดือน 8 สองครั้งนับตามจันทคติ จะประกอบพิธีกรรม 3 ครั้ง/ปี คือ วันรับเปรต วันเลี้ยงเปรต และวันส่งเปรต ซึ่งแตกต่างจากพื้นอื่น ๆ ในภาคใต้

1. ประกอบพิธีกรรม 2 ครั้ง ครั้งแรกตรงกับแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า วันรับเปรต หรือ วันรับตายาย  ชาวบ้านเชื่อว่า ญาติผู้ล่วงลับ เคยหลงผิดทำกรรม ได้ถูกกักขังไว้ในยมโลก ไม่มีความเป็นอิสระด้วยผลกรรม หนึ่งปีจะได้ถูกปลดปล่อยให้มีความเป็นอิสระ 15 วัน หลังจากนั้น  บรรดาญาติ ๆ จะถูกกลับไปสู่ความไม่เป็นอิสระในยมโลกอย่างเดิม จนกว่าจะหมดบาปกรรม จึงมีการทำบุญครั้งที่สอง ตรงกับแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า วันสารทเดือนสิบ  ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า วันส่งเปรต”  หรือ  วันส่งตายาย

2. ประกอบพิธีกรรม 3 ครั้ง นับวันประกอบพิธีกรรมตามจันทรคติ ปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ต้องประกอบพิธีกรรมสารทเดือนสิบ 3 ครั้ง คือ

วันรับเปรต ประกอบพิธีกรรมวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ชาวบ้านเรียกว่า วันรับเปรต หรือ วันรับตายาย ตามความเชื่อเหมือนกับพื้นที่อื่น ๆ ของภาคใต้ ว่าวิญญาณของเครือญาติหรือเพื่อนสนิทมิตรสหาย ได้จากโลกนี้ไปด้วยผลแห่งบุญกรรมได้กลายเป็นเปรตอยู่ในขุมนรก เดือนสิบของทุกปี พวกเปรตเหล่านี้ได้ถูกปล่อยมาสู่โลกมนุษย์เพื่อมารับส่วนบุญส่วนกุศลจากญาติ ๆ เพื่อคลายจากความอดยาก หิวโหย

วันเลี้ยงเปรต ประกอบพิธีกรรมวันแรม 8 ค่ำ เดือน 10 หรืออีก 7 วันหลังจากวันรับเปรต ชาวบ้าน เชื่อว่า ปีใดเดือน 8 ครั้ง ต้องประกอบพิธีกรรม วันเลี้ยงเปรตด้วย เพราะเปรตที่ถูกปลดปล่อยมาจากภพภูมินั้นที่แท้ คือ บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว กลับมาเยี่ยมบุตรหลาน ดังนั้น บุตรหลานคิดว่า บรรพบุรุษต้องเฝ้าดูแลบุตรหลานอยู่ตลอดช่วงเวลายาวนาน จึงได้มีการจัดพิธีกรรมเลี้ยงบรรพบุรุษ เรียกว่า วันเลี้ยงเปรต

          วันส่งเปรต ตรงกับแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวบ้านเรียกว่า วันส่งเปรต หรือ วันส่งตายาย ตามหมายกำหนดของช่วงเวลาที่ได้รับการปลดปล่อยมาพบกับลูกหลานในเมืองมนุษย์ เพื่อรับผลบุญกุศลจากบุตรหลานที่ได้อุทิศให้ จนกว่าจะหมดเคราะห์กรรม

ดังนั้นพิธีกรรมวันสารทเดือนสิบ หรือ ชิงเปรต ตำบลคอกกระบือ ประกอบพิธีกรรมแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะปีใดมีเดือน 8 สองหนตามจันทรคติ ประกอบพิธีกรรม 3 ครั้ง คือ วันรับเปรต วันเลี้ยงเปรต และวันส่งเปรต เนื้อหาพิธีกรรมทั้ง 3 วันคล้ายคลึงกัน ซึ่งชาวบ้านให้ความสำคัญกับพิธีวันส่งเปรตมากกว่าวันรับเปรต และวันเลี้ยงเปรต  สังเกตได้จากบุตรหลานมีถิ่นอาศัยอยู่ตามจังหวัดอื่น ๆ ต้องหาโอกาสมามาร่วมพิธีกรรมสารทเดือนสิบช่วง วันส่งเปรต

          กิจกรรมทางพิธีกรรมดังกล่าวข้างต้น เริ่มตั้งแต่ช่วงเวลาเช้า ชาวบ้านทยอยเข้ามาในวัด เพื่อนำสิ่งของมาวางบนหลาเปรตและจุดธูปเทียน ถวายดอกไม้ตามความเชื่อว่า การนำสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมวางไว้บนหลาเปรต ถือว่าเป็นเครื่องเซ่นสังเวยที่จะอุทิศไปสู่ผู้ล่วงลับ  ชาวบ้านต้องจุดธูปเทียน วางดอกไม้ บริเวณหลาเปรต สื่อความหมายแทน พระพุทธ  พระธรรม และพระสงฆ์ ตามความศรัทธาทางพระพุทธศาสนา และกลิ่นควันจากธูป เทียน และกลิ่นดอกไม้ที่นำมาอธิษฐานจะทำให้วิญญาณผู้ล่วงลับรับรู้ และส่งไปสู่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ หรือ เหล่าญาติที่ได้ถูกปลดปล่อยให้มาพบกับบุตรหลาน ซึ่งเป็นความเชื่อที่ได้ฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของชาวพุทธ 

การอธิษฐานจิตวันสารทเดือนสิบตำบลคอกกระบือ

คำอธิษฐานจิต นอกจากระลึกถึงบรรพบุรุษแล้ว ชาวพุทธบริเวณนี้ยังตั้งจิตอธิษฐานให้กับผู้ล่วงลับจากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในช่วงเช้าเทศกาลตรุษจีน มีผู้เสียชีวิต 5 คน และบาดเจ็บอีก 4 คน และบรรดาบุตรหลานของชาวบ้านคอกกระบือที่เสียชีวิตในช่วงขณะเดินทางประกอบอาชีพอีกหลายคน และตั้งจิตอธิษฐานให้เหตุการณ์บ้านเมืองคลี่คลายไปในทิศทางสงบ และไม่มีเหตุการณ์ร้าย ๆ เกิดขึ้นในชุมชนที่จะนำมาสู่การสูญเสีย ซึ่งสัญลักษณ์พิธีกรรมแบบนี้จะสำเร็จได้จากคำอธิฐานด้วยพลังแห่งบุญที่ได้กระทำในครั้งนี้ นอกจากนั้น ชาวบ้านจัดสำรับอาหารคาวหวานเพื่อถวายให้กับพระภิกษุสงฆ์ ผู้เป็นสื่อกลางการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปสู่ผู้ที่ล่วงลับ โดยไม่มีการตักบาตรแต่จะใช้สำรับถวายเปรียบเหมือนกับพิธีกรรมการตักบาตร  เมื่อถึงเวลา ประมาณ 10.00 น. มรรคทายกจะตีระฆังเพื่อส่งสัญญาณให้ชาวบ้าน ได้มานั่งรวมกันภายในศาลา และบริเวณโดยรอบ เพื่อประกอบพิธีกรรมช่วงเช้า ด้วยการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ จากการรับศีล และพระสงฆ์สวดบังสุกุล โดยไม่มีการเทศนา ถ้าเป็นพื้นที่อื่น ๆ จะมีการเทศนา 1 กัณฑ์ เนื้อหาการเทศน์จะเน้นเรื่อง  ผลกรรม วิบากกรรมที่ทำตนเองให้ทนทุกข์ทรมานกลายเป็นเปรต  และสอนบุตรหลานเรื่องความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ

เมื่อเสร็จขั้นตอนพิธีกรรมสงฆ์ บางพื้นที่ชาวบ้านต้องตระเตรียมขันข้าวเพื่อตักบาตรให้กับญาติผู้ล่วงลับ  แต่ชาวบ้านตำบลคอกกระบือจะใช้ปิ่นโตแทนสื่อสัญลักษณ์การตักบาตร ด้วยการนำปิ่นโตไปถวายกับพระภิกษุสงฆ์ผู้ประกอบพิธีกรรมเพื่ออธิษฐานจิตระลึกถึงญาติพี่น้องผู้ล่วงลับให้ได้รับส่วนบุญกุศล  เป็นการแสดงความกตัญญูและอุทิศให้ญาติผู้ล่วงลับได้อิ่มหนำสำราญไม่ต้องทนทุกข์ทรมานด้วยความหิวโหย การส่งเครื่องเซ่นเหล่านี้ไปสู่บรรพบุรุษได้ คือ การกรวดน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งสุดท้ายแห่งพิธีกรรมที่ต้องหลั่งน้ำเปรียบเหมือนกระแสแห่งน้ำที่จะนำพาสิ่งอธิษฐานไปสู่เป้าหมายแห่งจิตได้ 

การกรวดน้ำวันสารทเดือนสิบตำบลคอกกระบือ

         การกรวดน้ำ เป็นสื่อสัญลักษณ์สำคัญช่วงสุดท้ายพิธีกรรมที่จะต้องหลั่งน้ำลงสู่พื้นดินเพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลจากการทำบุญในครั้งนี้ไปสู่ผู้ล่วงลับ วิธีกรวดน้ำมีความสำคัญด้านจิตใจของ   บุตรหลานจึงต้องรวมกันเป็นครอบครัวเพื่อกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญในครั้งนี้ จากการสังเกตการกรวดน้ำ ชาวบ้านจะกรวดน้ำภายในศาลาตามธรรมเนียมการปฏิบัติการถวายสังฆทาน เมื่อเสร็จพิธีกรรมในศาลาแล้ว แต่ละครอบครัวนำบุตรหลานมาสู่บริเวณหลาเปรตเพื่อจะได้กรวดน้ำอุทิศไปให้กับบรรพบุรุษอีกครั้ง ซึ่งเป็นความเชื่อว่า การกรวดน้ำบริเวณหลาเปรตนี้จะได้ใกล้ชิด และสื่อสารไปยังบรรพบุรุษได้

          ขั้นตอนพิธีกรรมวันสารทเดือนสิบของตำบลคอกกระบือ ไม่ว่าจะเป็น “วันรับเปรต” “วันเลี้ยงเปรต” และ “วันส่งเปรต” พิธีกรรมคล้ายคลึงกัน เสร็จสิ้นหลังจากการกรวดน้ำ ชาวบ้านและเด็กจะรอช่วงเวลาการชิงเปรตประมาณ 13.00 น. จะมีเด็ก ๆ และชาวบ้านมายืนล้อมหลาเปรตเพื่อต้องการสนุกสนานการชิงเปรต ซึ่งพระภิกษุสงฆ์ต้องสวดอนุโมทนากถา เพื่อให้ชาวบ้านได้กรวดน้ำอีกครั้ง เพื่อแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับ จากนั้นพระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นประธานในพิธีจะดึงสายสิญจน์ที่เชื่อมต่อระหว่างประธานในพิธีสงฆ์กับหลาเปรต เพื่อส่งสัญญาณให้รู้ถึงการเสร็จสิ้นขั้นตอนพิธีกรรม ทุกคนที่ยืนรอจะวิ่งขึ้นไปบนร้านเปรตเพื่อร่วมสนุกสนานในการ ชิงเปรต  

บรรยากาศการชิงเปรตตำบลคอกกระบือ

            สรุปวันสารทเดือนสิบตำบลคอกกระบือ (คอกควาย) ได้สืบทอดพิธีกรรมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันรูปแบบพิธีกรรมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกลไกทางสังคมของระยะเวลา จากการสังเกตการณ์ ชุมชนมีแนวคิดการตระเตรียมสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมไม่ว่า อาหารคาวหวาน ขนม หรือการจัดทำหลาเปรต เน้นความสะดวกสบาย ด้วยการจัดซื้อสิ่งของจำเป็นตามท้องตลาด ร้านค้า ส่วนการประกอบพิธีกรรมดำเนินไปตามปกติทั่วไป มีเฉพาะเด็กในชุมชนที่ค่อยความหวังในการร่วมสนุกในการชิงเปรต เพราะกิจกรรมกึ่งบันเทิงอื่น ๆ เริ่มเลือนหายไป   

เรียบเรียงบทความโดย

ประสิทธิ์ รัตนมณี นักวิจัย สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา