ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรปวีณ์ พุ่มเกิด ผู้อำนวยการ พร้อมด้วยบุคลากรสถาบันฯ ให้สัมภาษณ์กับทีมผลิตรายการ “เสียงเล่าจากปลายด้ามขวาน” ตอนพิเศษ “หอศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ แหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น ชายแดนใต้”

๙ กรกฎาคม ๒๕๖๗

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรปวีณ์ พุ่มเกิด ผู้อำนวยการ พร้อมด้วยบุคลากรสถาบันฯ ให้สัมภาษณ์กับทีมผลิตรายการ “เสียงเล่าจากปลายด้ามขวาน” ตอนพิเศษ “หอศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ แหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น ชายแดนใต้” และนำชมแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ศิลปะและมรดกทางวัฒนธรรมในสามจังหวัดชายแดนใต้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทั้งนี้เมื่อทราบวันเวลาการออกอากาศ จะนำมาเผยแพร่อีกครั้ง

โรงเรียนวัฒนธรรมอิสลาม อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เข้ามาเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมชายแดนใต้

๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗

 

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ขอขอบคุณ คุณครู นักเรียน โรงเรียนวัฒนธรรมอิสลาม อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เข้ามาเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมชายแดนใต้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา จัดแสดงนิทรรศการ “การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 68 (สัญจร)

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา จัดแสดงนิทรรศการ “การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 68 (สัญจร)  The 68th National Exhibition of Art  เพิ่มความรู้ความเข้าใจในศิลปะสมัยใหม่ ส่งเสริมให้มีการแข่งขัน สร้างผลงานศิลปะให้มีคุณภาพสูง

.

วันนี้ 3 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.00 น. ณ อาคารหอศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานเปิดงานการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 68 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรปวีณ์ พุ่มเกิด ผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา กล่าวรายงาน ตลอดจน คณะผู้บริหารส่วนงาน คณะครูอาจารย์ นักเรียน และนักศึกษา เข้าร่วมกิจกรรมฯ

.

นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า การจัดแสดงงานศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 68 ชื่นชมสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา และสำนักศิลปวัฒนธรรมและการสร้างสรรค์แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เห็นถึงความสำคัญนำผลงานที่ได้รับรางวัล จำนวน 6 ชิ้น และผลงานร่วมแสดง จำนวน  24 ชิ้น  มาจัดแสดงในระดับภูมิภาค  ถือเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียน  นักศึกษา และประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ชื่นชมผลงานการประกวดระดับชาติต่อไป

.

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรปวีณ์ พุ่มเกิด ผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา กล่าวถึง การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 68 ในครั้งนี้ ว่า การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกจากการริเริ่มของศาสตราจารย์ศิลป์  พีระศรี เพื่อเป็นการช่วยกระตุ้นให้ประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจในศิลปะสมัยใหม่ เป็นการส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันสร้างผลงานศิลปะให้มีคุณภาพสูง นับเป็นการบุกเบิกงานศิลปะร่วมสมัยของไทยให้เกิดขึ้นและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ทั้งนี้สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับความร่วมมือจากสำนักศิลปวัฒนธรรมและการสร้างสรรค์แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ดำเนินการจัดประกวดและการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในปี พ.ศ.2566 นับเป็นการดำเนินงานครั้งที่ 68 เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม รวมทั้งเปิดโอกาสให้แก่ศิลปินไทยในการสร้างสรรค์ และส่งผลงานศิลปกรรมประเภทจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และสื่อประสม เข้าประกวดในเวทีระดับชาติ อีกด้วย

.

นอกจากนั้นผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้เดินชมผลงานนิทรรศการศิลปกรรม ประเภทจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และสื่อประสม ที่ได้เข้าประกวดในเวทีระดับชาติ อีกทั้ง ยังมีการนำผลงานที่ได้รับรางวัล และผลงานร่วมแสดง มาเผยแพร่ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติให้สาธารณชนได้รับชมกันอย่างกว้างขวาง ทั้งส่วนกลางและระดับภูมิภาค  เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ผู้สนใจได้มีโอกาสชื่นชมผลงาน  การประกวดระดับชาติ  โดยมีผลงานจัดแสดงทั้งสิ้น    30 ชิ้น ประกอบด้วย ผลงานที่ได้รับรางวัล จำนวน 6 ชิ้น แบ่งเป็นเหรียญเงิน จำนวน 1 ชิ้น และ  เหรียญทองแดง จำนวน 5 ชิ้น  และผลงานร่วมแสดง จำนวน 24 ชิ้น

.

โดยนิทรรศการดังกล่าว จัดแสดงระหว่างวันที่ 1 – 30 กรกฎาคม พ.ศ.2567

เปิดให้เข้าชม จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 16.00 น.

ณ หอศิลป์ภาคใต้ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี

การแสดง ชุด “สองศิลป์มงคลโขนโนรา” ร่วมแสดงในพิธีเปิดกิจกรรม “เทศกาล วัฒนธรรมสร้างสรรค์: EAT PRAY LOVE @ HATYAI”

วันที่ 20 กรกฎาคม 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรปวีณ์ พุ่มเกิด ผู้อำนวยการ พร้อมด้วยบุคลากรสถาบันฯ นำการแสดง ชุด “สองศิลป์มงคลโขนโนรา” ร่วมแสดงในพิธีเปิดกิจกรรม “เทศกาลวัฒนธรรมสร้างสรรค์: EAT PRAY LOVE @ HATYAI” ณ บริเวณถนนนิพัทธ์อุทิศ 1 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา “การแสดงโขนพบโนรา ในชื่อชุด “สองศิลป์มงคลโขนโนรา” เป็นการแสดงที่ได้นำเอาท่ารำที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละการแสดงมาผสมผสานและดนตรีประกอบการแสดงเป็นวงปี่พาทย์และวงดนตรีโนราเพื่อให้มีความสอดคลองกับท่ารำที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นอัตลักษณ์ของการแสดงโขนและโนราที่แสดงร่วมกัน” ฝึกซ้อมการแสดง โดย นายจตุรงณ์ หลวงพนัง และนายกำพล เลื่อนเกื้อ บุคลากรสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

ขอเชิญชมการแสดงโขนสงขลานครินทร์ เรื่องรามเกียรติ์ ชุด “อุบายราพณ์รอนราม”

📣กลับมาอีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่ ‼️ … กับ … การแสดงโขนสงขลานครินทร์ เรื่องรามเกียรติ์ ชุด “อุบายราพณ์รอนราม”
เปิดม่านการแสดงโขน วันที่ 7-8 กันยายน 2567
📌รอบการแสดง
7 กันยายน 2567 🔸รอบบ่าย 14.00 น. 🔸รอบค่ำ 18.00 น.
8 กันยายน 2567 🔸รอบบ่าย 14.00 น.
ณ Conference Hall ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี
✨พบกับศิลปินแห่งกรมศิลปากร และแขกรับเชิญพิเศษมากมาย✨
ราคาบัตร 100, 200, 300 และ 500 บาท
จำหน่ายบัตรที่ : สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โทร. 074-289680-2 หรือ 099-3188783
📌จำหน่ายบัตรออนไลน์ : สแกน QR Code หรือ https://lin.ee/Vscyqej

ตูป๊ะซือนือรี : วิถีด้านอาหารพื้นบ้านที่ยึดโยงกับทรัพยากรท้องถิ่น

พื้นที่ตำบลบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี จากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุ ปราชญ์ภูมิปัญญาในชุมชนได้เล่าให้ฟังว่า ในอดีตเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรทั้งทางบกและทางทะเล ด้วยทำเลที่ตั้งที่รายล้อมด้วยป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ซึ่งเป็นทางออกสู่อ่าวปัตตานี ทำให้ชาวบ้านได้อาศัยแหล่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งอาหารและการประกอบอาชีพต่าง ๆ เช่น ประมงพื้นที่ หาหอย ปู ปลา ตามริมฝั่งป่าชายเลน เช่นเดียวกับอีกฟากฝั่งถนนของหมู่บ้าน อันมีพื้นที่ทุ่งนาสุดลูกหูลูกตาและต้นตาลเรียงรายให้ชาวบ้าน ผู้คนในพื้นที่ได้มีโอกาสเก็บเกี่ยวข้าว ขึ้นต้นตาลเพื่อลิ้มรสเนื้อตาลหวานฉ่ำ พร้อมทั้งน้ำตาลโตนดสดอันหอมหวาน

ด้วยในอดีตผู้คนในพื้นที่ส่วนใหญ่มีอาชีพประมงพื้นบ้านและการทำเกษตรกรรม การเดินทางไปมาระหว่างพื้นที่ทำกินที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่และใช้ระยะเวลายาวนาน ทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องมีการนำอาหารเพื่อรับประทานระหว่างเดินทางไปทำนาหรือออกเรือประมงพื้นบ้าน ตูป๊ะซือนือรี จึงเป็นทางเลือกของอาหารสำหรับพกห่อเพื่อเป็นเสบียงสำหรับการเดินทาง โดยในปัจจุบันอาหารพื้นบ้านชนิดนี้แทบจะหารับประทานได้ยากมากในพื้นที่ชายแดนใต้แห่งนี้

จากเมล็ดข้าวสารผ่านขั้นตอนกระบวนการต้มด้วยกะทิให้สุก คนจนเนื้อกะทิ น้ำตาล และเกลือหวานปัตตานี ซึมซาบเข้าสู่เมล็ดข้าว เมื่อสุกจนได้ที่แล้วจึงทำการคัดแยกใส่ภาชนะเพื่อรอให้เย็น จากนั้นจึงนำมาห่ออย่างบรรจงด้วยใบมะพร้าวอ่อนเป็นทรงยาว มัดด้วยเชือกให้แน่นรอบด้านเพื่อกันเมล็ดข้าวปริออกนอกใบมะพร้าวก่อนนำไปต้มอีกครั้ง ตัวแทนแม่บ้านที่เป็นปราชญ์ด้านอาหารพื้นบ้านในชุมชนบางปูได้ให้ข้อมูลกับฉันว่าการทำตูป๊ะซือนือรี

ถือได้ว่าเป็นองค์ความรู้ภูมิปัญญาที่ได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ที่มีทักษะความรู้ในการทำจำนวนน้อยมากแล้วในชุมชนแห่งนี้ เด็กรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ไม่มีคนรู้จักและไม่เคยได้ทดลองกิน สาเหตุด้วยกะบวนการทำที่ค่อนข้างซับซ้อน ใช้เวลามาก และหาวัตถุดิบสำหรับห่อ คือใบมะพร้าวอ่อนค่อนข้างยากในปัจจุบัน ยิ่งทำให้เป็นปัจจัยสำคัญในการเร่งให้เกิดการสูญหายของภูมิปัญญาในเรื่องการทำตูป๊ะซือนือรี

จากเมล็ดข้าวในคันนา กะทิจากต้นมะพร้าวพร้อมใบอ่อนของมะพร้าวสำหรับห่อ สู่การเรียนรู้เพื่อผลิตเป็นอาหารสำหรับการเดินทางของชาวบ้าน ทั้งพกพาง่าย สะดวก และวัตถุดิบเป็นสิ่งที่สามารถจัดหาได้ในพื้นที่ นับเป็นอีกภูมิปัญญาด้านอาหารพื้นบ้านที่ยึดโยงกับทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งควรมีการอนุรักษ์ต่อยอดเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารพื้นบ้าน อันเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสืบสานให้ภูมิปัญญาด้านอาหารพื้นบ้านสามารถสืบสานคงอยู่ต่อไปในพื้นที่แห่งนี้

บทความโดย

รอฮานี ดาโอ๊ะ นักวิจัย

ขอขอบคุณผู้ให้ข้อมูล

นางซารีฟ๊ะ
เจะเฮง ตำบลบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี

ภาพและข้อมูลประกอบบางส่วนจากโครงการอาหารพื้นบ้านชายแดนใต้ : วิถีแห่งความเชื่อภูมิปัญญาและบทบาทของผู้หญิงในการมีส่วนร่วมเพื่อสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม

ประเพณีแห่ผ้าพระบฏ : พิธีกรรม ความเชื่อ และแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชน

ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ คือ ประเพณีที่พุทธศาสนิกชนร่วมกันแห่ผ้าขึ้นห่มโอบรอบฐานพระมหาธาตุที่ประดิษฐานภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวนครศรีธรรมราชและชาวจังหวัดใกล้เคียง ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวภาคใต้ ประเพณีนี้ไม่มีปฏิบัติกันที่ใดในประเทศไทย นอกจากเมืองนครฯ เท่านั้น แต่เดิมการแห่ผ้าขึ้นธาตุนิยมจัดปีละสองครั้ง ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสามหรือวันมาฆบูชา และวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนหกหรือวันวิสาขบูชา โดยนำผ้า “พระบฏ” คือ ผ้าผืนยาวนิยมใช้สีขาว สีเหลือง สีแดง ไปพันรอบฐานองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมจัดขบวนแห่กันอย่างยิ่งใหญ่ ปัจจุบันนิยมทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสามหรือวันมาฆบูชาเสียมากกว่า ซึ่งมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาถึงประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชว่า

..เมื่อครั้งสมัยที่พระเจ้าศรีธรรมโศกราชเป็นกษัตริย์ครองตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) อยู่นั้น ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์ครั้งใหญ่และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 1773 ขณะที่เตรียมสมโภชพระบรมธาตุอยู่นั้น ชาวปากพนังมากราบทูลว่า คลื่นได้ซัดเอาผ้าแถบยาวผืนหนึ่ง ซึ่งมีภาพเขียนเรื่องพุทธประวัติมาขึ้นที่ชายหาดปากพนัง ชาวปากพนังเก็บผ้านั้นถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระองค์รับสั่งให้ซักผ้านั้นจนสะอาดเห็นภาพวาดพุทธประวัติ เรียกว่า “ผ้าพระบฏ” จึงรับสั่งให้ประกาศหาเจ้าของ ได้ความว่าชาวพุทธจากหงสากลุ่มหนึ่ง จะนำผ้าพระบฏไปบูชาพระพุทธบาทที่ลังกา แต่ถูกพายุพัดพามาขึ้นชายฝั่งปากพนัง เหลือผู้รอดชีวิตสิบคน พระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงมีความเห็นว่าควรนำผ้าพระบฏไปห่มพระบรมธาตุเจดีย์ เนื่องในโอกาสสมโภชพระบรมธาตุ แม้จะไม่ใช่พระพุทธบาทตามที่ตั้งใจ แต่ก็เป็นพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเจ้าของผ้าพระบฏก็ยินดี การแห่ผ้าขึ้นธาตุจึงมีขึ้นตั้งแต่ปีนั้นและดำเนินการสืบต่อมา จนกลายเป็นประเพณีสำคัญของชาวนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน

ตำนานพระมหาธาตุเมืองนครฯ

การเรียกชื่อเจดีย์ของวัดมหาธาตุนั้นมีหลายชื่อ ในบทความนี้จะขอใช้คำว่า “พระมหาธาตุ” โดยพระมหาธาตุเป็นพุทธศาสนโบราณสถานสำคัญของไทย เป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงสุดของชาวนครฯ ไม่ปรากฏหลักฐานการก่อสร้างที่แน่ชัด แต่มีตำนานกล่าวว่า พระบรมสารีริกธาตุเสด็จมาสู่หาดทรายแก้ว เมื่อประมาณ พ.ศ. 834 นางเหมชาลาและพระธนกุมารจึงได้สร้างพระมหาธาตุ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพระมหาธาตุมีสถาปัตยกรรมดั้งเดิมเป็นแบบใด แต่พระมหาธาตุได้รับการก่อสร้างตกแต่งเพิ่มเติมอยู่เสมอ ในราวพุทธศตวรรษที่ 13 ตรงกับสมัยอาณาจักรตามพรลิงค์ เมืองนครฯ ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนานิกายมหายาน จึงสันนิษฐานว่าพระมหาธาตุอาจมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัย ต่อมา ราวพุทธศตวรรษที่ 17 ในสมัยพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ปฐมวงศ์ศรีธรรมโศกราช ได้นิมนต์คณะสงฆ์จากลังกามายังเมืองนครฯ และได้สถาปนาพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ขึ้น จากนั้นจึงได้ช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุ โดยสร้างสถูปลังกาครอบพระมหาธาตุองค์เดิม เป็นสถาปัตยกรรมแบบลังกาทรงโอคว่ำ ปากของระฆังติดกับพื้นกำแพงแก้ว ที่มุมกำแพงแก้วมีพระมหาธาตุจำลองประดิษฐานทั้งสี่มุม

 ตำนานการแห่ผ้าพระบฏ

         จากบทความ “แห่ผ้าขึ้นธาตุ มรดกจากราชวงศ์ศรีธรรมโศกราช” อธิบายตำนานที่มาของการแห่ผ้าขึ้นธาตุว่า ไม่กี่วันก่อนจะเริ่มพิธีสมโภชพระมหาธาตุ ผ้าขาวผืนหนึ่งที่มีลายเขียนพุทธประวัติ เรียกกันว่า “พระบต” หรือ “พระบฏ” ถูกคลื่นซัดขึ้นที่หาดปากพนัง ชาวบ้านจึงนำผ้าผืนนั้นถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราช เมื่อเจ้าพนักงานทำความสะอาดแล้วเสร็จปรากฏว่าลายเขียนนั้นก็ไม่เลือนหายไป ซักเสร็จจึงผึ่งไว้ในพระราชวัง และประกาศหาเจ้าของจนได้ความว่า พระบฏเป็นของพุทธศาสนิกชนคณะหนึ่งที่แล่นเรือมาจากเมืองหงสาวดี มี “ผขาวอริพงษ์” เป็นหัวหน้าคณะจะนำพระบฏไปบูชาพระพุทธบาทที่ลังกา แต่ถูกมรสุมพัดจนเรือแตกเสียก่อน พุทธศาสนิกชนกลุ่มนั้นมีราว 100 คน รอดเพียง 10 คน ผขาวอริพงษ์ที่รอดชีวิตมาด้วยก็ยินดีถวายผ้าพระบฏให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช พระเจ้าศรีธรรมโศกราชจึงโปรดให้ชาวเมืองจัดเครื่องประโคมแห่แหนขึ้นห่มพระมหาธาตุ ในคราวเดียวกับการสมโภชพระมหาธาตุนั้นเอง อย่างไรก็ตาม จากหนังสือ “สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้” อธิบายตำนานเรื่องนี้ต่างออกไปเล็กน้อย กล่าวคือ คณะพุทธศาสนิกชนล่องเรือมาจากเมืองอินทรปัต ซึ่งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงฝั่งเขมร จะนำพระบฏไปถวายเป็นพุทธบูชาพระทันตธาตุ หรือพระเขี้ยวแก้วที่ลังกา และเข้ามาเมืองนครศรีธรรมราชในรัชสมัยพระเจ้าจันทรภาณุ ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ส่วนหัวหน้าคณะพุทธศาสนิกชนนั้นไม่ปรากฏชื่อแต่เสียชีวิตไปเนื่องจากจมน้ำ แม้ตำนานจากทั้งสองแหล่งที่มาจะเล่ารายละเอียดแตกต่างกัน แต่เล่าเรื่องราวไปในทิศทางเดียวกันคือ เรือของพุทธศาสนิกชนคณะหนึ่งที่กำลังจะไปลังกา เกิดเหตุเรือแตกกลางทะเล แล้วคลื่นได้ซัดผ้าพระบฏมาขึ้นที่ชายหาด ก่อนจะนำผ้าพระบฏไปห่มพระมหาธาตุในการสมโภชพระมหาธาตุ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุในสมัยรัตนโกสินทร์

ในอดีตการแห่ผ้าขึ้นธาตุนั้นไม่ปรากฏว่ามีกำหนดวันตายตัวว่าแต่ละปีจะต้องทำวันใด อาจจะกำหนดตามฤกษ์สะดวก แต่การแห่ผ้าขึ้นธาตุมักจัดในงานสมโภชพระมหาธาตุกำหนดการแห่ผ้าขึ้นธาตุจึงขึ้นอยู่กับงานสมโภชและจัดไม่แน่นอนในแต่ละปี กระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 ปรากฏว่าได้ทำการแห่ผ้าขึ้นธาตุในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันวิสาขบูชา ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ มีพระราชประสงค์ให้พุทธศาสนิกชนจัดพิธีทางพุทธศาสนาเพิ่มอีกวันหนึ่ง ดังนั้น ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือวันมาฆบูชาจึงได้มีการแห่ผ้าขึ้นธาตุเพิ่มอีกวันหนึ่งด้วย

การแห่ผ้าขึ้นธาตุจึงมักจัดขึ้นในงานสมโภชพระมหาธาตุหรืองานพิธีสำคัญทางพระพุทธศาสนา แต่ก็เคยมีการแห่ผ้าขึ้นธาตุในคราวพิเศษคือในคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ประพาสแหลมมลายู พ.ศ. 2448 พระองค์ขึ้นไปห่มผ้าพระมหาธาตุ ดังพระราชหัตถเลขา ความว่า วันที่ 5 ก.ค. เวลาเช้าไม่ได้ไปแห่งใดเพราะเหนื่อยและนอนน้อย เวลาบ่ายผ้าห่มพระบรมธาตุตามเคย แต่หาผ้าแดงไม่ได้ซื้อทำธงรับเสด็จกันหมดเมือง จึงต้องใช้สีชมพู เข้าไปที่วิหารพระม้าถ่ายรูปที่นั่นและทับเกษตร แล้วไปดูละครทรัพย์ ภรรยาพระศิริรักษ์ที่พลับพลา”

ปัจจุบันผ้าพระบฏที่เขียนภาพพุทธประวัติอาจมีการประดับด้วยสิ่งของต่าง ๆ เช่น ลูกปัด แพรพรรณ และดอกไม้ เป็นสิ่งหายากมากขึ้น เพราะขาดช่างผู้ชำนาญ ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปจึงเน้นความสะดวกและเรียบง่าย ขณะที่ผ้าห่มพระธาตุก็มีหลากสีมากกว่าสมัยก่อนที่นิยมสีขาว สีแดง และสีเหลือง

 

ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเป็นประเพณีสำคัญของชาวนครฯ และเป็นประเพณีที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ นับเป็นประเพณีที่รวมเอาศรัทธาด้วยความบริสุทธิ์ใจของชาวพุทธเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงต่อไป เป็นประเพณีที่ได้สืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณกาล โดยมีพุทธศาสนิกชนทั้งจากจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงชาวจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ที่นิยมเดินทางมาสักการบูชากันอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีนับเป็นประเพณีที่ก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคีของพุทธศาสนิกชน ผ่านความความเชื่อและความศรัทธาว่าการได้มาร่วมทำบุญแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ถือว่าเป็นมหาบุญใหญ่ได้กุศลแรง เมื่อละจากโลกนี้ไปจะได้เกิดเป็นนางฟ้าหรือเทวดาและจะทำให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข สุขภาพแข็งแรง เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานอีกทั้งเป็นการสืบทอดประเพณีอันดีงามของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้คงอยู่กับสังคมไทยเราสืบไปชั่วลูกชั่วหลาน

เรียบเรียงโดย
อ้อมใจ วงษ์มณฑา นักวิชาการอุดมศึกษาชำนาญการ 
สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา

เอกสารอ้างอิง

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา จังหวัดนครศรีธรรมราช. (2544). 

          กรุงเทพฯ : คุรุสภา.

สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 18.  (2542).  กรุงเทพฯ : สยามเพรส.

ปรีชา นุ่นสุข.  (2530, 11 กันยายน).  แห่ผ้าขึ้นธาตุ มรดกจากราชวงศ์ศรีธรรมโศกราช.  8(11).  หน้า 108-

115

สถาบันฯ นำคณาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัลและสื่อสารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมชายแดนใต้

๓ กรกฎาคม ๒๕๖๗

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา โดยนายสราวุฒิ เดชกมล บุคลากรสถาบันฯ นำคณาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัลและสื่อสารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมชายแดนใต้ เพื่อศึกษาข้อมูลการจัดทำนิทรรศการนำข้อมูลสู่การทำเทคโนโลยีเสมือนในอนาคต ณ หอศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

สถาบันฯ ต้อนรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาภาษาไทย คณะศึกษาศาสต ร์ม.อ.ปัตตานี เข้ามาเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมชายแดนใต้

๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๗

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ต้อนรับนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ สาขาภาษาไทย คณะศึกษาศาสต ร์ม.อ.ปัตตานี เข้ามาเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมชายแดนใต้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมี นายสราวุฒิ เดชกมล เป็นผู้นำชม