สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ต้อนรับนักศึกษา รายวิชา 413-242 Malay Enchantment เยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมชายแดนใต้

๒๗ กันยายน ๒๕๖๗ 

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ต้อนรับนักศึกษา รายวิชา 413-242 Malay Enchantment เยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมชายแดนใต้ เพื่อศึกษาภูมิปัญญาด้านต่างๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น โดยมี นายสราวุฒิ เดชกมล เป็นผู้นำชม ณ หอศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

บุคลกรสถาบันฯ ได้รับเชิญเป็นวิทยากร เรื่อง การให้บริการแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม ในกิจกรรมอบรมบริหารจัดการด้านบุคลากรประจำแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มว่าวเบอร์อามัสเมืองสายบุรี

๒๕ กันยายน ๒๕๖๗

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา โดย นางสาวจิดาพร แสงนิล หัวหน้าศูนย์บริการวิชาการและพันธกิจเพื่อสังคม พร้อมด้วยบุคลกรสถาบันฯ ได้รับเชิญเป็นวิทยากร เรื่อง การให้บริการแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม ในกิจกรรมอบรมบริหารจัดการด้านบุคลากรประจำแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มว่าวเบอร์อามัสเมืองสายบุรี จัดโดยวิทยาลัยชุมชนปัตตานี ณ กลุ่มเบอร์อามัสเมืองสาย ชุมชนบลูกาบายะห์ ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี

สถาบันฯ ร่วมทำบุญตักบาตร บำเพ็ญกุศล และร่วมพิธีวางพวงมาลาเนื่องในวันมหิดล ประจำปี ๒๕๖๗

๒๔ กันยายน ๒๕๖๗

ดร.ชนกิตติ์ ธนะสุข รองผู้อำนวยการ พร้อมด้วยบุคลากรสถาบันฯ ร่วมทำบุญตักบาตร บำเพ็ญกุศล และร่วมพิธีวางพวงมาลาเนื่องในวันมหิดล ประจำปี ๒๕๖๗ ณ บริเวณหน้าพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ขอแสดงความยินดีกับ บุคลากรดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๗

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ขอแสดงความยินดีกับ บุคลากรดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๗ 🎉🎊

.

๒๓ กันยายน ๒๕๖๗ ดร.ชนกิตติ์ ธนะสุข รองผู้อำนวยการ พร้อมด้วย บุคลากรสถาบันฯ ร่วมพิธีมอบเกียรติบัตรและประกาศเกียรติคุณบุคลากรดีเด่น และบุคคลที่เป็นต้นแบบคุณธรรม ๕ ประการ ประจำปี ๒๕๖๗  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในปีนี้มีบุคลากรสถาบันฯ ประจำวิทยาเขตปัตตานี ได้เข้าพิธีมอบเกียรติบัตรและประกาศเกียรติคุณบุคลากรดีเด่น และบุคคลที่เป็นต้นแบบคุณธรรม ๕ ประการ ในครั้งนี้ จำนวน ๔ คน

รางวัลบุคคลที่เป็นต้นแบบคุณธรรม ๕ ประการ ด้านพอเพียง ได้แก่ นางสาวนราวดี โลหะจินดา นักวิชาการอุดมศึกษาชำนาญการ

.

บุคลากรดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๗ ได้แก่ 

๑.ด้านบริการดีเด่น นางวัชรวรรณ ผดุงพงษ์ นักวิชาการเงินและบัญชี

๒.ด้านบริหารดีเด่น นางพัชรินทร์ เทพสุวรรณ นักวิชาการอุดมศึกษา

๓.ด้านวิชาชีพดีเด่น นายประสิทธิ์ รัตนมณี นักวิจัยชำนาญการ

๔.ด้านนวัตกรรมดีเด่น นางสาวนราวดี โลหะจินดา นักวิชาการอุดมศึกษาชำนาญการ

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา จัดโครงการสัปดาห์พิพิธภัณฑ์ไทย ครั้งที่ ๑๗ เนื่องใน“วันพิพิธภัณฑ์ไทย”

๑๙ กันยายน  ๒๕๖๗

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา จัดโครงการสัปดาห์พิพิธภัณฑ์ไทย ครั้งที่ ๑๗ เนื่องในวันที่  ๑๙  กันยายน ของทุกปีเป็น“วันพิพิธภัณฑ์ไทย” เพื่ออนุรักษ์ส่งเสริมขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ  โดยมีกิจกรรม  ได้แก่ ๑. กิจกรรม Walk Rally  การตอบคำถามแหล่งเรียนรู้ของสถาบัน  ๒.กิจกรรมการประกวดยุวมัคคุเทศก์พิพิธภัณฑ์ (Museum Guide)  ของหอวัฒนธรรมภาคใต้ ณ อาคารหอศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ และแหล่งเรียนรู้ของสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้ารับการสอบข้อเขียนเพื่อเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยงบประมาณเงินรายได้ ตำแหน่งนักวิชาการอุดมศึกษา

ประกาศสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เรื่อง รายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้ารับการสอบข้อเขียนเพื่อเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยงบประมาณเงินรายได้
ตำแหน่งนักวิชาการอุดมศึกษา

ประเพณีสารทเดือนสิบ ตำบลคอกกระบือ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี

ความหมายสารทเดือนสิบ

          ประเพณีสารทเดือนสิบ ภาษาท้องถิ่นใต้ เรียกว่า ประเพณีชิงเปรต เป็นประเพณีท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วไปของภาคใต้ สำนักงานโบราณคดี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 11 นครศรีธรรมราช   กรมศิลปากร (2542)  กล่าวว่า ประเพณีสารทเดือนสิบเป็นประเพณีที่รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอินเดีย ทั้งนี้เพราะว่าชาวนครติดต่อกับอินเดียมานาน ก่อนดินแดนส่วนอื่น ๆ ของประเทศไทย วัฒนธรรมและอารยธรรมของอินเดียส่วนใหญ่จึงถ่ายทอดมายังเมืองนครเป็นแห่งแรกแล้วค่อย ๆ ถ่ายทอดไปยังเมืองอื่นๆและภูมิภาคอื่น ๆ ในประเทศไทย  ประเพณีสารทเดือนสิบเป็นประเพณีที่วิวัฒนาการมาจาก ประเพณี “เปตพลี ” ของศาสนาพราหมณ์ กล่าวคือในศาสนาพราหมณ์มีประเพณี เรียกว่า ” เปตพลี” ที่จัดทำขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย ประเพณีนี้ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาในอินเดียก่อนสมัยพุทธกาล

          คำว่า “เปต” เป็นภาษาบาลีตรงกับคำว่า “เปรตในภาษาสันสกฤตแปลว่า “ผู้ไปก่อน” หมายความถึงบรรพบุรุษที่ตายไปแล้ว ถ้าเป็นคนดี พญายมซึ่งเป็นเจ้าแห่งความตายจะพาวิญญาณไปสู่แดนอันเป็นบรมสุข อันเป็นความเชื่อดังเดิมที่สุดของพราหมณ์ซึ่งมีปรากฏในคัมภีร์พระเวท ต่อมาพราหมณ์ได้เกิดความเชื่อเกี่ยวกับนรก ดังนั้น ชาวอินเดียจึงเกรงว่าบรรพบุรุษที่ตายอาจจะไปตกนรก วิธีการช่วยไม่ให้คนตกนรกก็คือ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้เรียกว่าพิธีศราทธ์ ซึ่งกำหนดวิธีการทำบุญไว้หลายวิธี หากลูกหลานญาติมิตรไม่ทำบุณอุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษที่ตายไปเป็นเปรตจะได้รับความอดยากมาก ดังนั้น การทำบุญทั้งปวงเพื่ออุทิศผลไปให้แก่ผู้ล่วงลับ ซึ่งเรียกว่า การทำบุญทักษิณานุปทานหรือเปตพลี

                       

ความสำคัญสารทเดือนสิบ

          วัตถุประสงค์ประเพณีวันสารทเดือนสิบ(ชิงเปรต) ตามปกติทั่วไปทำบุญตามพิธีกรรม 2 ครั้งต่อปี ครั้งแรกตรงกับแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ชาวบ้านเรียกว่า วันรับเปรต หรือ วันรับตายาย ชาวบ้านเชื่อว่า ญาติผู้ล่วงลับ เคยหลงผิดทำกรรมชั่ว ได้ถูกกักขังไว้ในยมโลก ไม่มีความเป็นอิสระด้วยผลกรรม หนึ่งปีจะได้ถูกปลดปล่อยให้เป็นอิสระ 15 วัน หลังจากนั้น  บรรดาวิญญาณญาติ ๆ จะถูกกลับไปสู่ความไม่เป็นอิสระในยมโลกอย่างเดิม จนกว่าจะหมดบาปกรรม จึงมีการทำบุญครั้งที่สอง ตรงกับแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า วันส่งเปรตหรือ “วันส่งตายาย”  หรือ วันรับเปรต ตามความรู้สึกของชาวบ้านเหมือนกับเป็นวัน รับตายาย ด้วยสาเหตุมาจากสังคมในอดีตเป็นครอบครัวขยาย มีความรักความผูกพันระหว่างสมาชิกในครอบครัวมีสูง เมื่อตายายที่ล่วงลับไปแล้ว  กลับมาเยี่ยมลูกหลานในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ดังนั้นสมาชิกภายในครอบครัวต้องไปวัดรับศีล 5 กวาดบ้านเรือนให้สะอาด อย่าทะเลาะเบาะแว้งตลอดเวลา 15 วัน เพราะตายายจะได้กลับไปอย่างมีความสุข ได้เห็นบุตรหลานอยู่ในศีลธรรม มีความรักความสามัคคีภายในครอบครัว 

ภาพพื้นที่วัดมหิงสาราม ตำบลคอกกระบือ

สัญลักษณ์ทางพิธีกรรมสารทเดือนสิบตำบลคอกกระบือ

          1. ร้านเปรต หรือหลาเปรต สัญลักษณ์สำคัญสำหรับวางอาหารหรือขนมเดือนสิบชนิดต่าง ๆสำหรับวิญญาณที่ถูกปลดปล่อยจากภพภูมิ  บางวัดไม่มีการสร้างหลาเปรต ใช้วิธีจัดแจงอาหารและขนมสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมจัดไว้ในถาดรวมกันกับเหล่าบรรดาญาติพี่น้อง เพื่อนำไปวางไว้บริเวณใดบริเวณหนึ่งของวัด และบางวัดจัดเตรียมถาดเปรตภายนอกวัดสำหรับเปรตที่เข้าวัดไม่ได้ เพราะมีบาปหนา  การสร้างหลาเปรตมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบแรกหลาเปรตทรงสูง สำหรับเปรตที่มีลักษณะบาปกรรมทำให้ลำตัวสูง ไม่สามารถสังเวยเครื่องเซ่นบนหลาเปรตเหมือนคนธรรมดาได้ จึงต้องสร้างหลาเปรตให้มีระดับสูงกว่าปกติธรรมดา แบบที่สอง จัดแจงไว้บนแคร่หรือบนผืนเสื่อหรือที่ต่ำเพื่อให้เปรตที่มีความสูงไม่มากนักได้รับประทาน  หลาเปตรทั้งสองแบบสำหรับให้ชาวบ้านได้นำอาหารคาวหวานและสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมอื่น ๆ มาวางไว้สำหรับเซ่นไว้บรรดาเหล่าญาติ นอกจากนั้น หลาเปรตทรงสูงยังใช้สำหรับการแข่งขันเพื่อความบันเทิง

           ลักษณะหลาเปรตบริเวณสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มี 2 แบบ แบบทรงเตี้ยสำหรับใช้วางอาหารคาวหวาน ขนมพิธีกรรม สำหรับอุทิศส่วนกุศลให้กับเปรตและบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว จะสร้างไว้ตั้งแต่การทำบุญพิธีกรรมวันรับเปรตจนกระทั่งวันส่งเปรต ส่วนหลาเปรตทรงสูงนิยมสร้างไว้ประกอบพิธีกรรมในช่วงประกอบพิธีกรรมสุดท้าย คือ ทำบุญส่งเปรต นอกจากเป็นสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมแล้วยังใช้ในการแข่งขันปีนหลาเปรต ลักษณะหลาเปรตทรงสูงพบทั่วไปมี  2 แบบ คือ หลาเปรตทรงสูงแบบเสาเดี่ยวกับหลาเปรตทรงสูงสองเสา สำหรับแข่งขันปีนหลาเปรต เพื่อความสนุกสนาน ปัจจุบันหลาเปรตทรงสูงเริ่มเลื่อนหายไปหลายพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

หลาเปรตหรือร้านเปรตตำบลคอกกระบือ

            ส่วนหลาเปรตประเพณีสารทเดือนสิบตำบลคอกกระบือ รูปแบบเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะวิถีการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน และตามลักษณะสังคมภายนอกที่หลั่งไหลเข้ามา ผู้คนมีโอกาสทางการศึกษา ประกอบอาชีพ และเคลื่อนย้ายไปใช้ชีวิตในสังคมของจังหวัดอื่น ๆ  การรวมตัวประกอบพิธีกรรมเริ่มอ่อนแอลง การสร้างสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมอย่างเช่นในอดีตเป็นเรื่องลำบาก เพราะครอบครัวขยายเริ่มกลายเป็นครอบครัวเดี่ยว ชาวบ้านไม่มีเวลากับกิจกรรมส่วนรวม มุ่งเน้นอาชีพหลักของตนเอง ประเสริฐ สุวรรณน้อย (2555) กล่าวว่า หลาเปรตในอดีตจะสร้างรูปแบบคล้ายคลึงกับพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะหลาเปรตสูงจะใช้ทั้งด้านพิธีกรรมและการแข่งขัน ซึ่งชาวบ้านจะร่วมกันวางแผน หลาเปรตในอดีตนิยมใช้ไม้เสาเดียว กุศโลบายเพื่อความสนุกสนาน ช่วงการแข่งขันปีนป่าย โดยเสาเปรตใช้ไม้พญาชุ่มเรียง ซึ่งเป็นต้นไม้ท้องถิ่น จากนั้นนำเปลือกไม้พญาชุ่มเรียงแช่น้ำไว้ค้างคืน เพื่อทำให้ต้นเสาเปรตเพิ่มความรื่นไหลบนร้านเปรตจะมีสิ่งของต่าง ๆ เช่น เสื้อ ผ้าถุง ผ้าข้าวม้า เงินรางวัล และขนมต่าง ๆ มากมาย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันการ    ปีนป่ายร้านเปรตเข้ามาชิงชัย ซึ่งเป็นกิจกรรมกึ่งบันเทิงที่ได้ปฏิบัติกันมา  กลายเป็นรูปแบบหรือองค์ประกอบหนึ่งของประเพณีสารทเดือนสิบ ปัจจุบัน ตำบลคอกกระบือนิยมสร้างหลาเปรตเน้นความสะดวกสบาย รวดเร็ว เพียงเพื่อใช้การวางอาหารคาวหวานในพิธีกรรม ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมทำหลาเปรตอย่างเช่นในอดีต คณะกรรมการวัดวางแผนจัดทำหลาเปรตสำเร็จรูปทรงเตี้ยสำหรับวางอาหารคาวหวาน และเครื่องอุปโภคสำหรับอุทิศให้กับผู้ล่วงลับ เป็นเหตุให้หลาเปรตทรงสูงเลื่อนหายไปประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีการคิดฟื้นฟูหลาเปรตทรงสูงเพื่อการแข่งขัน ความสนุกสนานอย่างเช่นในอดีต 

          2. ขนมพิธีกรรมวันสารทเดือนสิบตำบลคอกกระบือ

          ส่วนการเตรียมสัญลักษณ์ทางพิธีกรรม โดยเฉพาะขนมพิธีกรรม 5 อย่างตามความเชื่อที่ได้สืบทอดต่อ ๆ กันมาคือ

          ขนมลา เป็นสัญลักษณ์แทนแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม
          ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพสำหรับบุรพชนใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ
          ขนมบ้า เป็นสัญลักษณ์แทนสะบ้า สำหรับบุรพชนจะได้ใช้เล่นสะบ้า ในวันสงกรานต์
          ขนมกง (ขนมไข่ปลา) เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ
          ขนมดีซำ หรือขนมเจาะรู หรือ ขนมเจาะหู เป็นสัญลักษณ์แทนเงินเบี้ย สำหรับใช้สอย

ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สื่อความหมายการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้กับเหล่าเปรต หรือ บรรดาเหล่าญาติที่กลับมาเยี่ยมบุตรหลาน เพื่อจะได้นำไปใช้ในภพภูมิของตนเอง ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานด้วยผลกรรม สำหรับตำบลคอกกระบือ ประเพณีเดือนสิบมุ่งเน้นสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้กับบรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ไม่ได้มุ่งเน้นสัญลักษณ์พิธีกรรมความเชื่อเหมือนกับพื้นที่อื่น ๆ เน้นสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นสำหรับนำไปใช้การดำเนินชีวิตเหมือนกับคนปกติธรรมดา จึงจัดเตรียมอาหารหวานคาว เช่น ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวต้มมัด ขนมท้องถิ่นชนิดต่าง ๆ

ประเภทเครื่องใช้ เช่น หมากพลู เปลือกระมัง หรือลูกมะกรูดสำหรับสระผม (ปัจจุบันนิยมซื้อแฟซา) เงิน (สำหรับการจับจ่ายซื้อสินค้า) ยาเส้น ข้าวตอก และสิ่งอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน การใช้สิ่งของเหล่านี้เพื่ออุทิศไปให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับจะได้นำไปใช้ในภพภูมิที่ตนเองสถิตอยู่  (ซิ้ม ตัณฑพงษ์, 2556)   สัญลักษณ์เหล่านี้ใส่ในใบกะพ้อที่ห่อเป็นรูปข้าวต้มมัด นำมามัดรวมกันเป็นแถวยาว เป็นสิ่งที่ได้สืบทอดติดต่อกันมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบันชาวบ้านนิยมจัดซื้ออาหาร เครื่องอุปโภคบริโภคตามสมัยนิยมที่ขายตามตลาดแต่ละชนิดบรรจุใส่ถุงพลาสติก 

สัญลักษณ์พิธีกรรมสารทเดือนสิบตำบลคอกกระบือ

สัญลักษณ์ทางพิธีกรรมเหล่านี้จัดเป็นเครื่องเซ่นที่จะอุทิศไปให้กับผู้ล่วงลับกลับนำไปใช้ในภพภูมิที่สถิตอยู่ตามผลของบุญและกรรม ญาติจะนำไปวางไว้บนหลาเปรต ช่วงเวลาชิงเปรต บุตรหลานต้องการร่วมพิธีชิงเปรตด้วยพ่วงสัญลักษณ์เหล่านี้ เพราะข้างในมีสิ่งของจำเป็นต่อผู้ล่วงลับ และสำหรับแต่ละครอบครัวใช้สัญลักษณ์เหล่านี้อย่างน้อย 1 พ่วงเพื่อนำไปแขวนไว้ตามต้นไม้ในสวนของตนเอง เชื่อว่า ต้นไม้ที่แขวนด้วยสัญลักษณ์ที่ได้จากการชิงเปรตจะทำให้มีผลดก เจริญเติบโต มีความอุดมสมบูรณ์ ไม่มีแมลง หรือโรคอื่น ๆ มาทำร้ายให้ต้นไม้ตายได้

 

ขั้นตอนของพิธีกรรมวันรับเปรต เลี้ยงเปรต และส่งเปรตตำบลคอกกระบือ  

          ประเพณีสารทเดือนสิบ หรือ วันชิงเปรต ตำบลคอกกระบือมีอยู่ 2 แบบ คือ กิจกรรมทำบุญ 2 ครั้ง/ปี คือ วันรับเปรต และวันส่งเปรต และปีใดมีเดือน 8 สองครั้งนับตามจันทคติ จะประกอบพิธีกรรม 3 ครั้ง/ปี คือ วันรับเปรต วันเลี้ยงเปรต และวันส่งเปรต ซึ่งแตกต่างจากพื้นอื่น ๆ ในภาคใต้

1. ประกอบพิธีกรรม 2 ครั้ง ครั้งแรกตรงกับแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า วันรับเปรต หรือ วันรับตายาย  ชาวบ้านเชื่อว่า ญาติผู้ล่วงลับ เคยหลงผิดทำกรรม ได้ถูกกักขังไว้ในยมโลก ไม่มีความเป็นอิสระด้วยผลกรรม หนึ่งปีจะได้ถูกปลดปล่อยให้มีความเป็นอิสระ 15 วัน หลังจากนั้น  บรรดาญาติ ๆ จะถูกกลับไปสู่ความไม่เป็นอิสระในยมโลกอย่างเดิม จนกว่าจะหมดบาปกรรม จึงมีการทำบุญครั้งที่สอง ตรงกับแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า วันสารทเดือนสิบ  ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า วันส่งเปรต”  หรือ  วันส่งตายาย

2. ประกอบพิธีกรรม 3 ครั้ง นับวันประกอบพิธีกรรมตามจันทรคติ ปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ต้องประกอบพิธีกรรมสารทเดือนสิบ 3 ครั้ง คือ

วันรับเปรต ประกอบพิธีกรรมวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ชาวบ้านเรียกว่า วันรับเปรต หรือ วันรับตายาย ตามความเชื่อเหมือนกับพื้นที่อื่น ๆ ของภาคใต้ ว่าวิญญาณของเครือญาติหรือเพื่อนสนิทมิตรสหาย ได้จากโลกนี้ไปด้วยผลแห่งบุญกรรมได้กลายเป็นเปรตอยู่ในขุมนรก เดือนสิบของทุกปี พวกเปรตเหล่านี้ได้ถูกปล่อยมาสู่โลกมนุษย์เพื่อมารับส่วนบุญส่วนกุศลจากญาติ ๆ เพื่อคลายจากความอดยาก หิวโหย

วันเลี้ยงเปรต ประกอบพิธีกรรมวันแรม 8 ค่ำ เดือน 10 หรืออีก 7 วันหลังจากวันรับเปรต ชาวบ้าน เชื่อว่า ปีใดเดือน 8 ครั้ง ต้องประกอบพิธีกรรม วันเลี้ยงเปรตด้วย เพราะเปรตที่ถูกปลดปล่อยมาจากภพภูมินั้นที่แท้ คือ บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว กลับมาเยี่ยมบุตรหลาน ดังนั้น บุตรหลานคิดว่า บรรพบุรุษต้องเฝ้าดูแลบุตรหลานอยู่ตลอดช่วงเวลายาวนาน จึงได้มีการจัดพิธีกรรมเลี้ยงบรรพบุรุษ เรียกว่า วันเลี้ยงเปรต

          วันส่งเปรต ตรงกับแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวบ้านเรียกว่า วันส่งเปรต หรือ วันส่งตายาย ตามหมายกำหนดของช่วงเวลาที่ได้รับการปลดปล่อยมาพบกับลูกหลานในเมืองมนุษย์ เพื่อรับผลบุญกุศลจากบุตรหลานที่ได้อุทิศให้ จนกว่าจะหมดเคราะห์กรรม

ดังนั้นพิธีกรรมวันสารทเดือนสิบ หรือ ชิงเปรต ตำบลคอกกระบือ ประกอบพิธีกรรมแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะปีใดมีเดือน 8 สองหนตามจันทรคติ ประกอบพิธีกรรม 3 ครั้ง คือ วันรับเปรต วันเลี้ยงเปรต และวันส่งเปรต เนื้อหาพิธีกรรมทั้ง 3 วันคล้ายคลึงกัน ซึ่งชาวบ้านให้ความสำคัญกับพิธีวันส่งเปรตมากกว่าวันรับเปรต และวันเลี้ยงเปรต  สังเกตได้จากบุตรหลานมีถิ่นอาศัยอยู่ตามจังหวัดอื่น ๆ ต้องหาโอกาสมามาร่วมพิธีกรรมสารทเดือนสิบช่วง วันส่งเปรต

          กิจกรรมทางพิธีกรรมดังกล่าวข้างต้น เริ่มตั้งแต่ช่วงเวลาเช้า ชาวบ้านทยอยเข้ามาในวัด เพื่อนำสิ่งของมาวางบนหลาเปรตและจุดธูปเทียน ถวายดอกไม้ตามความเชื่อว่า การนำสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมวางไว้บนหลาเปรต ถือว่าเป็นเครื่องเซ่นสังเวยที่จะอุทิศไปสู่ผู้ล่วงลับ  ชาวบ้านต้องจุดธูปเทียน วางดอกไม้ บริเวณหลาเปรต สื่อความหมายแทน พระพุทธ  พระธรรม และพระสงฆ์ ตามความศรัทธาทางพระพุทธศาสนา และกลิ่นควันจากธูป เทียน และกลิ่นดอกไม้ที่นำมาอธิษฐานจะทำให้วิญญาณผู้ล่วงลับรับรู้ และส่งไปสู่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ หรือ เหล่าญาติที่ได้ถูกปลดปล่อยให้มาพบกับบุตรหลาน ซึ่งเป็นความเชื่อที่ได้ฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของชาวพุทธ 

การอธิษฐานจิตวันสารทเดือนสิบตำบลคอกกระบือ

คำอธิษฐานจิต นอกจากระลึกถึงบรรพบุรุษแล้ว ชาวพุทธบริเวณนี้ยังตั้งจิตอธิษฐานให้กับผู้ล่วงลับจากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในช่วงเช้าเทศกาลตรุษจีน มีผู้เสียชีวิต 5 คน และบาดเจ็บอีก 4 คน และบรรดาบุตรหลานของชาวบ้านคอกกระบือที่เสียชีวิตในช่วงขณะเดินทางประกอบอาชีพอีกหลายคน และตั้งจิตอธิษฐานให้เหตุการณ์บ้านเมืองคลี่คลายไปในทิศทางสงบ และไม่มีเหตุการณ์ร้าย ๆ เกิดขึ้นในชุมชนที่จะนำมาสู่การสูญเสีย ซึ่งสัญลักษณ์พิธีกรรมแบบนี้จะสำเร็จได้จากคำอธิฐานด้วยพลังแห่งบุญที่ได้กระทำในครั้งนี้ นอกจากนั้น ชาวบ้านจัดสำรับอาหารคาวหวานเพื่อถวายให้กับพระภิกษุสงฆ์ ผู้เป็นสื่อกลางการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปสู่ผู้ที่ล่วงลับ โดยไม่มีการตักบาตรแต่จะใช้สำรับถวายเปรียบเหมือนกับพิธีกรรมการตักบาตร  เมื่อถึงเวลา ประมาณ 10.00 น. มรรคทายกจะตีระฆังเพื่อส่งสัญญาณให้ชาวบ้าน ได้มานั่งรวมกันภายในศาลา และบริเวณโดยรอบ เพื่อประกอบพิธีกรรมช่วงเช้า ด้วยการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ จากการรับศีล และพระสงฆ์สวดบังสุกุล โดยไม่มีการเทศนา ถ้าเป็นพื้นที่อื่น ๆ จะมีการเทศนา 1 กัณฑ์ เนื้อหาการเทศน์จะเน้นเรื่อง  ผลกรรม วิบากกรรมที่ทำตนเองให้ทนทุกข์ทรมานกลายเป็นเปรต  และสอนบุตรหลานเรื่องความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ

เมื่อเสร็จขั้นตอนพิธีกรรมสงฆ์ บางพื้นที่ชาวบ้านต้องตระเตรียมขันข้าวเพื่อตักบาตรให้กับญาติผู้ล่วงลับ  แต่ชาวบ้านตำบลคอกกระบือจะใช้ปิ่นโตแทนสื่อสัญลักษณ์การตักบาตร ด้วยการนำปิ่นโตไปถวายกับพระภิกษุสงฆ์ผู้ประกอบพิธีกรรมเพื่ออธิษฐานจิตระลึกถึงญาติพี่น้องผู้ล่วงลับให้ได้รับส่วนบุญกุศล  เป็นการแสดงความกตัญญูและอุทิศให้ญาติผู้ล่วงลับได้อิ่มหนำสำราญไม่ต้องทนทุกข์ทรมานด้วยความหิวโหย การส่งเครื่องเซ่นเหล่านี้ไปสู่บรรพบุรุษได้ คือ การกรวดน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งสุดท้ายแห่งพิธีกรรมที่ต้องหลั่งน้ำเปรียบเหมือนกระแสแห่งน้ำที่จะนำพาสิ่งอธิษฐานไปสู่เป้าหมายแห่งจิตได้ 

การกรวดน้ำวันสารทเดือนสิบตำบลคอกกระบือ

         การกรวดน้ำ เป็นสื่อสัญลักษณ์สำคัญช่วงสุดท้ายพิธีกรรมที่จะต้องหลั่งน้ำลงสู่พื้นดินเพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลจากการทำบุญในครั้งนี้ไปสู่ผู้ล่วงลับ วิธีกรวดน้ำมีความสำคัญด้านจิตใจของ   บุตรหลานจึงต้องรวมกันเป็นครอบครัวเพื่อกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญในครั้งนี้ จากการสังเกตการกรวดน้ำ ชาวบ้านจะกรวดน้ำภายในศาลาตามธรรมเนียมการปฏิบัติการถวายสังฆทาน เมื่อเสร็จพิธีกรรมในศาลาแล้ว แต่ละครอบครัวนำบุตรหลานมาสู่บริเวณหลาเปรตเพื่อจะได้กรวดน้ำอุทิศไปให้กับบรรพบุรุษอีกครั้ง ซึ่งเป็นความเชื่อว่า การกรวดน้ำบริเวณหลาเปรตนี้จะได้ใกล้ชิด และสื่อสารไปยังบรรพบุรุษได้

          ขั้นตอนพิธีกรรมวันสารทเดือนสิบของตำบลคอกกระบือ ไม่ว่าจะเป็น “วันรับเปรต” “วันเลี้ยงเปรต” และ “วันส่งเปรต” พิธีกรรมคล้ายคลึงกัน เสร็จสิ้นหลังจากการกรวดน้ำ ชาวบ้านและเด็กจะรอช่วงเวลาการชิงเปรตประมาณ 13.00 น. จะมีเด็ก ๆ และชาวบ้านมายืนล้อมหลาเปรตเพื่อต้องการสนุกสนานการชิงเปรต ซึ่งพระภิกษุสงฆ์ต้องสวดอนุโมทนากถา เพื่อให้ชาวบ้านได้กรวดน้ำอีกครั้ง เพื่อแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับ จากนั้นพระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นประธานในพิธีจะดึงสายสิญจน์ที่เชื่อมต่อระหว่างประธานในพิธีสงฆ์กับหลาเปรต เพื่อส่งสัญญาณให้รู้ถึงการเสร็จสิ้นขั้นตอนพิธีกรรม ทุกคนที่ยืนรอจะวิ่งขึ้นไปบนร้านเปรตเพื่อร่วมสนุกสนานในการ ชิงเปรต  

บรรยากาศการชิงเปรตตำบลคอกกระบือ

            สรุปวันสารทเดือนสิบตำบลคอกกระบือ (คอกควาย) ได้สืบทอดพิธีกรรมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันรูปแบบพิธีกรรมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกลไกทางสังคมของระยะเวลา จากการสังเกตการณ์ ชุมชนมีแนวคิดการตระเตรียมสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมไม่ว่า อาหารคาวหวาน ขนม หรือการจัดทำหลาเปรต เน้นความสะดวกสบาย ด้วยการจัดซื้อสิ่งของจำเป็นตามท้องตลาด ร้านค้า ส่วนการประกอบพิธีกรรมดำเนินไปตามปกติทั่วไป มีเฉพาะเด็กในชุมชนที่ค่อยความหวังในการร่วมสนุกในการชิงเปรต เพราะกิจกรรมกึ่งบันเทิงอื่น ๆ เริ่มเลือนหายไป   

เรียบเรียงบทความโดย

ประสิทธิ์ รัตนมณี นักวิจัย สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ขอแสดงความยินดีกับ ดร.ชนกิตติ์ ธนะสุข เนื่องในโอกาสได้รับตำแหน่งจากสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ดำรงตำแหน่ง “ผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา”

🎉🎉สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ขอแสดงความยินดีกับ ดร.ชนกิตติ์ ธนะสุข

.

เนื่องในโอกาสได้รับตำแหน่งจากสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ให้ดำรงตำแหน่ง “ผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา

ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567

.

ในคราวประชุมสภามหาวิทยาสงขลาครินทร์ ครั้งที่ 441 (5/2567)

วันเสาร์ ที่ 14 กันยายน 2567

.

 

#psu #culturepsu #Congratulations

เปิดแล้วงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรม ครั้งที่ 31 ที่ ม.อ.ปัตตานี ย้ำแนวคิดวิถีวัฒนธรรมเรียบง่าย สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

เปิดแล้วงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรม ครั้งที่ 31 ที่ ม.อ.ปัตตานี ย้ำแนวคิดวิถีวัฒนธรรมเรียบง่าย สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

.

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรม ครั้งที่ 31 ภายใต้แนวคิด “วิถีวัฒนธรรม เรียบง่าย อย่างยั่งยืน” เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น งานนี้เต็มไปด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การสาธิตหัตถกรรมพื้นบ้าน และการแสดงศิลปวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น อาหารพื้นบ้าน โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีความสามารถด้านวัฒนธรรมนำเสนอผลงานแก่สังคม 

.

 เมื่อเวลา 19.00 น. วันนี้ (วันที่ 13 กันยายน 2567) นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี   เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรม ครั้งที่ 31 “วิถีวัฒนธรรม เรียบง่าย อย่างยั่งยืน”  ณ เวทีกลางอาคารหอศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  โดยมี ผศ.ดร.อัตชัย เอื้ออนันตสันต์  รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี กล่าวต้อนรับ ผศ.ดร.พรปวีณ์  พุ่มเกิด ผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา กล่าวรายงานถึงความเป็นมาของการจัดงาน  โดยกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 13- 17 กันยายน 2567   กิจกรรมประกอบด้วย  การแสดงนิทรรศการ “การเดินทางแห่งวิถีผ้าและอาภรณ์”   นิทรรศการ “บทเรียนผ่านเรื่องราวของสีน้ำ” โดย รศ.ชัยวัฒน์ ผดุงพงษ์  ณ หอศิลป์ภาคใต้   นิทรรศการทางวัฒนธรรมชายแดนใต้ ณ หอวัฒนธรรมภาคใต้   ลานหัตถกรรมพื้นบ้าน และผลิตภัณฑ์ชุมชน  การสาธิตอาหารพื้นบ้าน  การแสดง ศิลปการแสดงพื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ศิลปะสามมิติชายแดนใต้ (Art 3D PSU)   พิพิธภัณฑ์พระเทพญาณโมลี  การออกร้านของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ห้างร้าน เอกชน และนักศึกษา  และ Playground Market และตลาดคลาสสิค

.

ศ.ดร.อัตชัย เอื้ออนันตสันต์  รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยยึดมั่นในนโยบายของมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการพัฒนาสู่ความยั่งยืน การพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การรักษาทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาสังคมและชุมชนให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขและเคารพต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม  สำหรับการจัดงานในครั้งนี้  ถือเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม อีกทั้งเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดปัตตานี ทำให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นักท่องเที่ยว และแขกผู้มาเยือนได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ และจะได้นำมิติทางวัฒนธรรมสร้างความสมานฉันท์ในพื้นที่อีกทางหนึ่งด้วย

.

ศ.ดร.พรปวีณ์  พุ่มเกิด ผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา  กล่าวรายงานการจัดงานในครั้งว่า สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มีพันธกิจในการทำนุบำรุง อนุรักษ์ ส่งเสริม และเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรมตามภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย ซึ่งจัดเป็นศูนย์กลางและแหล่งรวมวิทยาการด้านศิลปวัฒนธรรม ศิลปหัตถกรรม ประวัติศาสตร์และโบราณคดีของจังหวัดชายแดนภาคใต้  มีภาระหน้าที่ในการวิจัยและบริการวิชาการเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่และความยั่งยืนด้านศิลปวัฒนธรรม  อนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับทุนทางวัฒนธรรมชายแดนใต้  ด้วยการถ่ายทอดความรู้ อบรมพัฒนาอาชีพเพิ่มคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจจากทุนวัฒนธรรมให้กับชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง  และส่งเสริมศิลปการแสดงและการแสดงดนตรีพื้นบ้านมิให้เสื่อมสลายไป   ดังนั้นการตอบโจทย์การดำเนินงานที่ครอบคลุมพันธกิจของสถาบันฯ และมหาวิทยาลัยได้ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบโครงการมหกรรมศิลปวัฒนธรรม  ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 31  ที่ดำเนินโครงการ โดยมีรูปแบบกิจกรรมที่เน้นการจัดแสดงนิทรรศการ การสาธิตหัตถกรรมพื้นบ้าน  อาหารพื้นถิ่น การแสดงพื้นบ้าน การแสดงนาฏศิลป์และดนตรี  โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีความสามารถด้านวัฒนธรรมนำเสนอผลงานแก่สังคม  ในแขนงต่างๆ เพื่อส่งเสริมคุณค่า องค์ความรู้ภูมิปัญญา และเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมทุนทางวัฒนธรรมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

.

างพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ประธานในพิธีเปิดงานงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรม ครั้งที่ 31  กล่าวว่า งานมหกรรมศิลปะวัฒนธรรม ในปีนี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 31  ย่อมแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ที่มีความพยายามสืบสาน อนุรักษ์ ฟื้นฟูวัฒนธรรมอันดีงาม ส่งเสริมคุณค่า องค์ความรู้ภูมิปัญญา และเปิดเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมทุนทางวัฒนธรรมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน การดำเนินงานในครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะนำเสนอและเผยแพร่วิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นอันล้ำค่าของชุมชนภาคใต้ แต่ยังสะท้อนถึงความตั้งใจที่จะสร้างการพัฒนาวัฒนธรรมที่ยั่งยืนตามแนวทางของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  โดยในปีนี้มุ่งเน้นที่การสะท้อนถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และพัฒนาวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยคำว่า “วิถีวัฒนธรรม” หมายถึง การดำเนินชีวิตที่สะท้อนถึงคุณค่าของชุมชน ความเชื่อ ประเพณี และศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเราได้สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน คำว่า “เรียบง่าย” หมายถึง การนำเสนอความงดงามของวัฒนธรรมในหลากหลายรูปแบบที่ได้จัดวางและนำเสนอในโซนต่างๆ ของสถาบันฯ เพื่อให้ทุกท่านสามารถเข้าถึง เข้าใจ และได้สัมผัสเรียนรู้วัฒนธรรมได้อย่างแท้จริง และที่สำคัญที่สุดคือคำว่า “อย่างยั่งยืน” ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน   

การจัดงานในครั้งนี้ไม่เพียงแต่มุ่งหวังให้เกิดการอนุรักษ์วัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังมุ่งมั่นที่จะสร้างความยั่งยืนในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ การส่งเสริมให้เยาวชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการถ่ายทอดวัฒนธรรม และการพัฒนาวัฒนธรรมให้เข้ากับยุคสมัยโดยไม่สูญเสียเอกลักษณ์ที่มีค่า”  นางพาตีเมาะ สะดียามู กล่าวเพิ่มเติม

.

#มหกรรมศิลปวัฒนธรรมครั้งที่31 #The31stARTandCULTURALFestival #CulturalWaysSimpleandSustainable #งานวัฒฯมอปัตตานี #งานวัฒฯ67

#PSU #PGVIoCS #CulturePSU #PSUpattani #มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ #มอปัตตานี 

.

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ม.อ.ปัตตานี โทร. 0-7333-1250

.

ติดตามข่าวสารกิจกรรมของสถาบันฯ ได้ที่

Website : https://culture.psu.ac.th/

Facebook : https://www.facebook.com/culture.psu

Instagram : https://www.instagram.com/culture.psu/

Youtube : https://www.youtube.com/@culture_psu

Tiktok: https://www.tiktok.com/@culture.psu

ผศ.ดร.พรปวีณ์ พุ่มเกิด ผู้อำนวยการ พร้อม ดร.ชนกิตติ์ ธนะสุข รองผู้อำนวยการ และบุคลากรสถาบันฯ ร่วมเป็นเกียรติพิธีเปิดนิทรรศการและแสดงความยินดีกับ รองศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ ผดุงพงษ์ ในการจัดนิทรรศการ “บทเรียนผ่านเรื่องราวของสีน้ำ” Lessons Through the Stories of Watercolors

๙ กันยายน ๒๕๖๗

  ผศ.ดร.พรปวีณ์ พุ่มเกิด ผู้อำนวยการ พร้อม ดร.ชนกิตติ์ ธนะสุข รองผู้อำนวยการ และบุคลากรสถาบันฯ ร่วมเป็นเกียรติพิธีเปิดนิทรรศการและแสดงความยินดีกับ รองศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ ผดุงพงษ์  อาจารย์สาขาศิลปศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ ในการจัดนิทรรศการ “บทเรียนผ่านเรื่องราวของสีน้ำ” Lessons Through the Stories of Watercolors โดยมี ผศ.ดร.ฮามีด๊ะ มูสอ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและนวัตกรรมการเรียนรู้ คณะศึกษาศาสตร์ เป็นประธานในพิธี

  นิทรรศการดังกล่าวจัดแสดงระหว่างวันที่ ๒-๓๐ กันยายน ๒๕๖๗ ณ หอศิลป์ภาคใต้ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

.

Art Exhibition: Lessons Through the Stories of Watercolors

by Assoc. Prof.Chaiwat Padungpong

on 2-30 September 2024

at Southern Thai Art Gallery, PSU Pattani

.

#artexhibition #art #watercolors

 

#PSU #PGVIoCS #CulturePSU #PSUpattani