โรงเรียนรักษ์อิสลาม อ.เทพา จ.สงขลา เยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรม ชายแดนใต้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมภาคใต้

๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๕

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ขอขอบคุณ โรงเรียนรักษ์อิสลาม อ.เทพา จ.สงขลา ที่พานักเรียนมาเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรม ชายแดนใต้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมภาคใต้

_______________________

ติดต่อสอบถามเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ได้ที่

โทร.073-331250 (ปัตตานี) / 074-289680-4 (หาดใหญ่)

กว่าจะมาเป็น…..วันปีใหม่ไทย

กว่าจะมาเป็น…..วันปีใหม่ไทย 

          ปีใหม่เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่ง ทุกคนต่างก็สดชื่น ดูประหนึ่งว่าจะให้ความสดชื่นรื่นเริงของวันปีใหม่เป็นนิมิตดีงามที่จะตามติดตัวไปจนครบสามร้อยหกสิบห้าวัน ประเพณีของไทยเราในวันนี้ จะมีการบำเพ็ญกุศลทางศาสนา เพื่ออุทิศบุญแก่บุพการีและผู้มีพระคุณ หวังกุศลผลบุญนั้นสนองให้อยู่เย็นเป็นสุข นอกจากนี้มีการเยี่ยมเยียนหรือไม่ก็ส่งบัตรไปอำนวยพรซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการฉลองมิ่งขวัญ อันจะนำมาซึ่งสิริสวัสดิ์พัฒนมงคลแก่ตน จึงถือนิมิตที่ดีงามนี้ ส.ค.ส.แก่ท่านผู้อ่าน ด้วยการเล่าเรื่องความเป็นมาของปีใหม่ไทย

     ในวันปีใหม่ของไทยเรามีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง ทุกครั้งที่เปลี่ยนก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลและความเหมาะสมบางประการ แรกเริ่มตามจารีตประเพณีของไทยแต่โบราณนั้นเราถือเอาแรม 1 ค่ำเดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังจะเห็นได้จากการตั้งต้นนับเดือนของเรา เริ่มจากเดือนอ้าย เดือนยี่ไปตามลำดับ และการที่เรานับแรมหนึ่งค่ำเดือนอ้ายเป็นวันต้นปีนั้น กล่าวกันว่าเป็นของไทยแท้ ไม่ได้เอาอย่างหรือเลียนแบบของชาติใด มูลเหตุที่ถือก็เนื่องมาจากดินฟ้าอากาศในประเทศของเราเป็นสำคัญ และวันนี้จะตกอยู่ในราวเดือนธันวาคมซึ่งอยู่ในฤดูหนาว จึงต้องนับว่าตรงกับคติพุทธศาสนาที่ถือเอาเหมันตฤดูเป็นการเริ่มต้นแห่งปี เรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายไว้ในหนังสือวชิรญาณ เล่ม 2 ฉบับที่ 3 เดือน 11 ปี 2247 ดังนี้ …..ฤดูหนาวที่เราเรียกว่าเหมันตะ เป็นเวลาที่พ้นจากมืดฝน สว่างขึ้นเหมือนฤดูเช้า โบราณคิดว่าเป็นต้นปีฤดูร้อนที่เรียกว่าคิมหฤดู เป็นเวลาสว่าง ร้อนเหมือนเวลากลางวัน คนโบราณจึงได้คิดว่าเป็นกลางปี ฤดูฝนที่เรียกว่าวัสสานะ เป็นเวลามืดคลุ้มโดยมาก และฝนพร่ำเพรื่อเที่ยวไปไหนไม่ได้ คนโบราณจึงคิดว่าเป็นเหมือนกลางคืน เป็นปลายวันฉันใด คนโบราณก็คิดว่าฤดูเหมันต์เป็นต้นปี ฤดูวัสสานะเป็นปลายปีฉันนั้น เพราะเหตุนั้นจึงได้นับชื่อเดือนเป็นหนึ่งแต่เดือนอ้าย และแต่ก่อนคนโบราณนับเอาข้างแรมเป็นต้นปีต้นเดือน เขานับเดือนอ้ายตั้งแต่แรมค่ำ ภายหลังมีผู้ตั้งธรรมเนียมเสียใหม่ ให้เอาเวลาเริ่มสว่างไว้ เป็นต้น เวลาสว่างมากเป็นกลาง เวลามืดเป็นปลาย คล้ายกันกับต้นวันปลายวันแลมีดังกล่าวแล้ว

          ปัญหามีอยู่ว่า เรานับวันแรมค่ำเดือนอ้ายเป็นต้นปีตั้งแต่สมัยใด ในหนังสือนพมาศกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า ครั้งเดือน 4 ถึงการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์โลกสมมุติเรียก ตรุษ และอีกตอนหนึ่งกล่าวว่า บรรดานิกรประชาราษฎรชายหญิง ก็แต่งตัวนุ่งห่มประดับกายโอ่โถงพากันมาเที่ยวดูแห่ ดูงานนมัสการพระ ในวันสิ้นปีใหม่และขึ้นปีใหม่เป็นอันมาก

          แปลว่าในสมัยสุโขทัย เรากำหนดวันขึ้นปีใหม่เป็นวันตรุษ คือแรม 14 ค่ำ เดือน 4 และขึ้น 1ค่ำ เดือน 5 แล้ว แต่หนังสือเล่มนี้ ก็เชื่อกันว่าอาจจะแต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง แต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวไว้ว่า หนังสือเรื่องนางนพมาศนับว่าเป็นหนังสือสำคัญในภาษาไทยเรื่องหนึ่งและเป็นเรื่องโบราณคดี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงอ้างถึงหนังสือนางนพมาศนี้ไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธี 12 เดือนหลายแห่ง

        ในพระราชนิพนธ์สิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนพระราชพิธีเดือนหน้า มีความตอนหนึ่งว่า มีประหลาดอยู่แห่งหนึ่งในหนังสือลาโลแบร์ ที่ราชทูตฝรั่งเข้ามาครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่งว่าด้วยเรื่องเมืองไทยได้จดวันอย่างหนึ่งว่า วันแรม 8 ค่ำ เดือนที่ 1 (คือเดือนอ้าย) ปี 223 1/2 2 ซึ่งตรงกับวันที่ 11 เดือน December คฤสตศักราช 1697 ตามหนังสือนั้นเขาได้กล่าวไว้ว่า ข้อนี้ดูเหมือนอาการที่ลงวันอย่างนี้ หมายความว่าปีนั้นอยู่ในเดือนนี้จะเรียกว่า 2231 หรือ 2232 ก็ได้ เมื่อคิดดูตามข้อความที่เขาว่าเช่นนี้ จะถือว่าแต่ก่อนเขาจะเปลี่ยนปีในเดือนอ้ายตามอย่างเก่า แต่ศักราชไปขึ้นต่อเมื่อถึงกำหนดสงกรานต์ของศักราชนั้นจะได้บ้างดอกกระมัง

          จากความนี้แสดงว่า แต่เดิมทีเดียวเราถือเดือนอ้ายเป็นเดือนแรกของปี และตามพระราชาธิบายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้กล่าวไว้ตอนต้นนั้น แต่เดิมเราถือเอาแรมหนึ่งค่ำเดือนอ้ายเป็นวันต้นปีก่อน ต่อมาถึงได้เปลี่ยนขึ้นหนึ่งค่ำเดือนอ้าย และในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็ถือเอาข้างขึ้นเป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังความในจดหมายเหตุของบาทหลวง เดอชวาสีได้บันทึกไว้ เมื่อคราวเดินทางมาในประเทศไทยในตำแหน่งผู้ช่วยทูตของ มองสิเออร์ เดอ เชอ วาเลีย เมื่อ พ.ศ. 2227-2229 ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีความตอนหนึ่งว่า คราวนี้เราได้พากันไปดูประทีปโคมไฟที่ช่องหน้าต่างตามบ้านเรือนของราษฎร…..พระเจ้าแผ่นดินสยามเสด็จออกประทับช่องพระแกลให้ข้าราชการเฝ้า และพระราชทานเสื้อกั๊กหลายชนิดให้แก่ข้าราชการตามลำดับยศ บรรดาภรรยาข้าราชการทั้งหลายพากันไปเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้าหญิง พระราชธิดาทำนองเดียวกันกับสามีของตน พระราชพิธีนี้เคยกระทำกันมาทุกๆ ปี ในวันขึ้น 1 ค่ำเดือนอ้าย ซึ่งมักตกอยู่ในเดือนพฤศจิกายนเสมอ วันนี้แหละจึงเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย แต่จงจำไว้ด้วยคนไทยจะเถลิงศกต่อเมื่อถึงเดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำ ซึ่งมักตกอยู่ในราวเดือนมีนาคม ดังอุทธาหรณ์ในเวลานี้ คนไทยยังใช้ศักราช 2229 อยู่ ศักราชนี้ตั้งต้นมาแต่แรกสถาปนาพระศาสนา เมื่อเดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำ ในเดือนมีนาคม จึงเป็นศักราช 2230 ต่อไป การคิดคำนวณวันเดือนปีของชาวสยามนั้นเป็นไปตามจันทรคติ และปีใดมีพระจันทร์วันเพ็ญ 13 ครั้ง ในระหว่างเส้นวิถันดรเหนือใต้อันได้รับแสงสว่างเท่ากันแล้ว (Les Deux’ Equinoxs De Mar) ปีนี้นมี 384 วัน แต่ตามปกติแล้วมักจะมีวันเพ็ญเพียง 12 ครั้ง และในปีนั้นก็มีเพียง 354 วัน

      ตอนนี้เห็นจะต้องสรุปไว้ครั้งหนึ่งก่อน  ชั้นเดิมทีเดียวเรากำหนดเอาแรมหนึ่งค่ำเดือนอ้ายเป็นวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาเปลี่ยนเป็นขึ้นหนึ่งค่ำเดือนอ้าย การที่เราถือเดือนอ้ายเป็นเดือนขึ้นปีใหม่นั้น เป็นคตินิยมของไทยเราเอง ไม่ได้เลียนแบบอย่างใคร โดยกำหนดเอาฤดูกาลของเราเป็นสำคัญ และถือมาแต่โบราณกาลแล้ว ก่อนจะมีการนับศักราชอีก ดังพระราชพิธีสิบสองเดือน ตอนหนึ่งว่า คิดเห็นว่าความที่ตั้งเดือนอ้ายเป็นเดือน 1 คงเป็นกาลฤดูต้องตามกระแสพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงไว้นี้ แต่ที่นับเดือนเช่นนี้เห็นจะมีมาก่อนที่นับศักราช

ต่อมาเราเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันตรุษสงกรานต์ ตอนนี้เป็นปัญหาว่า เดิมเราถือวันตรุษเป็นวันขึ้นปีใหม่ก่อนหรือวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ก่อน ชั้นเดิมต้องทำความเข้าใจก่อน ต้องทำความเข้าใจว่าตรุษกันสงกรานต์ไม่ใช่วันเดียวกัน แม้มักจะเรียกควบกันเป็นตรุษสงกรานต์ก็ตามที ในนิราศเดือนของนายมี กล่าวไว้ว่า ล้วนแต่งตัวงามทรามสวาท ใส่สีฉาดฟุ้งเฟื่องด้วยเครื่องหอม สงกรานต์ทีตรุษทีไม่มีมอม” แสดงให้เห็นว่าตรุษกับสงกรานต์แยกวันกันอยู่ ตรุษ แปลว่าตัดหรือขาด คือตัดปีหรือสิ้นปี หรือกำหนดสิ้นปี สงกรานต์ แปลว่าเคลื่อนที่การย้ายที่ คือพระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีใหม่ วันตรุษกำหนดเอาตามจันทรคติ คือถือเอาวันแรม 12 ค่ำ และ 15 ค่ำเดือน 4 ซึ่งถือว่าเป็นวันสิ้นปีเก่า และวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ถือเป็นวันต้นปีใหม่ ส่วนวันสงกรานต์กำหนดเอาตามสุริยคติ เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 ถึง 15 เมษายน วันที่ 13 เมษายนเป็นวันต้น คือวันมหาสงกรานต์ วันที่ 12 คือวันกลางหรือวันเนา และวันที่ 15 เมษายนเป็นวันสุดท้าย เรียกว่าวันเถลิงศกซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระยาวัน คือวันขึ้นศักราชปีใหม่ คติเกี่ยวกับสงกรานต์นี้เรารับจากอินเดียพวกพราหมณ์เอามาเผยแพร่ แต่ตรุษเรารับจากลังกา แต่ก็เป็นพิธีของพวกอินเดียฝ่ายใต้ กล่าวคือพวกทมิฬได้ครองลังกา
ได้เอาพิธีตรุษตามลัทธิศาสนาของตนมาทำเป็นประเพณีบ้านเมือง จึงเป็นเหตุให้มีพิธีตรุษขึ้นในลังกาทวีป ต่อมาเมื่อได้ชาวลังกาที่นับถือพระพุทธศาสนาเป็นใหญ่ขึ้นในเมืองลังกาเปลี่ยนมาเป็นทางคติพระพุทธศาสนา คือเมื่อถึงวันตรุษเขาก็จะจัดเครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัย ไทยเราได้ตำราตรุษที่ชาวลังกาคิดแก้ไขนั้นมาทำตามพิธีตรุษจึงมีขึ้นในเมืองไทย การที่ไทยได้แบบอย่างพิธีตรุษจากลังกาอย่างไรนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัยว่า อาจมาได้ด้วยเหตุ 3 ประการ

ประการที่ 1 อาจได้หนังสือตำรามา ซึ่งเป็นภาษาสิงหลและจารลงใบลานด้วยอักษรสิงหลแล้วแปลออกเป็นภาษาไทย  ประการที่ 2 อาจมีพระสงฆ์ไทยได้ไปเห็นชาวลังกาทำพิธีตรุษจนสามารถทำได้ แล้วเอาตำราเข้ามาเมืองไทย  ประการที่ 3 อาจมีพระเถระชาวลังกา ซึ่งเป็นผู้ชำนาญการพิธีตรุษเข้ามาเมืองไทยมาบอกเล่าและสอนให้ทำพิธีตรุษ

     แต่คติไหนไทยเรารับไว้ก่อนก็ยังเป็นปัญหาอยู่ หนังสือ ตรุษสงกรานต์ ของ เสถียรโกเศศ ตอนวิจารณ์เรื่องตรุษและสงกรานต์ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า ตรุษหรือสงกรานต์เป็นเดือนขึ้นปีใหม่กันที่ตรงไหน ในพระนิพนธ์พระราชกริยานุกรณ์ (หน้า 8) กล่าวว่า ในการที่เกี่ยวอยู่ในเดือนห้าค่ำหนึ่งนั้นไม่เป็นการพระราชพิธีมาแต่โบราณ เกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นี่แสดงว่าตรุษไทยเห็นจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้เอง ดีร้ายจะได้คติมาจากลังกา มีเค้าให้เห็นอยู่ในประกาศพิธีตรุษ นี่แสดงให้เห็นว่า พิธีสงกรานต์นั้นเรารับก่อนพิธีตรุษ แต่นั่นแหละตอนนี้ค่อนข้างจะสับสน ในหนังสือนางนพมาศนั้น กล่าวถึงพิธีตรุษแล้ว ส่วนพิธีสงกรานต์ไม่กล่าวถึง และยิ่งกว่านั้นในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน มีความอยู่สองตอน กาลานุกาลพิธีตรุษ ทรงอรรถาธิบายว่า พระราชกุศลกาลานุกาลที่เรียบเรียงลงในเรื่องพิธีสิบสองเดือน แต่ก่อนว่าเกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งสิ้น ยกเว้นแต่สงกรานต์นั้นเป็นผิดไป บัดนี้ได้ความมาว่ากาลานุกาลท้ายพระราชพิธีตรุษ พระราชพิธีสารท เข้าพรรษา ออกพรรษาและท้ายฉลองไตรปีนี้เป็นของมีมาแต่เดิมและตอนการสังเวยเทวดาสมโภชเครื่องเลี้ยงโต๊ะปีใหม่ ทรงอธิบายว่า การสมโภชในท้ายพระราชพิธีสัมมัจฉรฉินท์ เป็นธรรมเนียมมีมาแต่เดิม แต่ครั้นถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริ เสาะหาแบบอย่างการพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งมีในกฎมณเฑียรบาลมาประกอบธรรมเนียมใหม่ๆ แล้วตั้งขึ้นเป็นแบบอย่างย่อๆ ต่อมามีหลายอย่างพระราชาธิบายนี้ แสดงว่าพิธีตรุษเป็นของเดิม ไม่ใช่เริ่มจะมีในรัชกาลที่ 4 จึงเป็นการยากที่จะวินิจฉัยว่าเรารับคติไหนก่อนกัน

          อย่างไรก็ตาม ระยะหลังนี้การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ของไทยค่อนข้างยุ่งยาก กล่าวคือเรากำหนดสองครั้งสองตอน คือครั้งแรกกำหนดเอาวัน 1 ค่ำ เดือน 5 (วันตรุษ) เป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่ก็เป็นวันเปลี่ยนปีนักษัตร (คือนับเป็นปีชวด ฉลู ฯลฯ) เท่านั้น ยังไม่เปลี่ยนศักราช เพราะพระอาทิตย์ยังไม่ยกขึ้นสู่ราศีเมษ จนวันสงกรานต์จึงเปลี่ยนศก คือวันที่ 15 เมษายน เรียกว่าวันเถลิงศก วันขึ้นปีใหม่ทั้งสองนี้ ตามปกติจะห่างกัน 15 วัน แต่ก็ไม่แน่นอน ถ้าห่างกันเพียง 2-3 วันหรือติดต่อกันพอดีก็มีการทำบุญแล้วเฉลิมฉลองติดต่อกันเป็นงานเดียว แต่ถ้าห่างกันหลายวัน วันตรุษก็เป็นแต่เพียงทำบุญทำทานพอเป็นพิธี จะมีการเฉลิมฉลองกันอย่างเอิกเกริกในวันสงกรานต์

          มูลเหตุที่เราเปลี่ยนเป็นเอาเดือนห้าเป็นเดือนขึ้นปีใหม่ เป็นเพราะรับคตินี้มาจากอินเดียนั่นเอง การที่อินเดียถือเอาเดือนจิตรมาส (เดือน 5) เป็นวันขึ้นปีใหม่เป็นเพราะต้องกับฤดูกาลของเขา เรื่องนี้ท่านเสถียรโกเศศได้อธิบายไว้ว่า ที่คติของอินเดียถือเดือนจิตรมาสเป็นขึ้นปีใหม่ เพราะตกในฤดูวสันต์ต้นไม้กำลังผลิแตกช่อเขียวระบัด เพราะก่อนหน้านี้เป็นเขตของฤดูหนาวจัด (Winter) ซึ่งธรรมชาติกำลังซบเซาย่างเข้าฤดูวสันต์ธรรมชาติก็เริ่มสดชื่น เท่ากับเกิดใหม่จึงได้มีการสมโภชเป็นมหาสงกรานต์ (Vernal Equinox) ลักษณะดินฟ้าอากาศอย่างนี้เป็นของแดนที่อยู่ใน Temperate Zone ถ้าว่าถึงแดน Torriol Zone จะไม่มีเลย เพราะฉะนั้นเราจึงไม่มีฤดูวสันต์ (Spring) คฤษม (Summer) ศารท (Autumn) และเหมันต์ (Winter) เรามีแต่หน้าร้อน หน้าฝน และหน้าหนาว การที่เราขึ้นปีใหม่ในเดือนเมษายนเป็นเวลาหน้าร้อนของเรา จึงไม่เข้ากับอินเดีย ซึ่งเป็นฤดูวสันต์ธรรมชาติกำลังเกิดใหม่ แต่ของเราธรรมชาติกำลังเหี่ยวแห้งเป็นหน้าแล้ง ไม่เหมาะที่จะเอามาตั้งเป็นเริ่มต้นของปีแต่อย่างไรก็ตาม การที่เรารับคตินี้มาจากพราหมณ์นั้น ก็เพราะขึ้นกับความจำเป็นบางอย่างเหมือนกัน ดังในหนังสือตรุษสารท กล่าวว่า ครั้นเมื่อเราอพยพย้ายถิ่นมาอยู่ในแหลมอินโดจีนแล้ว เราได้รับวัฒนธรรมจากอินเดีย ผ่านทางเขมร จึงเอาวันสงกรานต์เป็นวันรื่นเริงขึ้นปีใหม่ เพราะเหมาะกับความเป็นอยู่ของเรา ด้วยเวลาสว่างจากการทำไร่ไถนาดังได้กล่าวไว้ตอนต้นแล้ว ผิดกับเดือนอ้ายซึ่งเป็นระยะเริ่มต้นเก็บเกี่ยวข้องอยู่ ไม่เหมาะแก่สนุกรื่นเริงฉลองปีใหม่

          ดังได้กล่าวไว้แล้วว่าวันขึ้นปีใหม่ของเรา ได้กำหนดเป็นสองครั้ง และเลื่อนไปเลื่อนมาไม่แน่นอน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความสับสนนี้ และเมื่อเรามีการติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้น ก็ยิ่งทวีความลำบากในเรื่องที่ไทยเรามีวันขึ้นปีใหม่ไม่แน่นอน แต่พระองค์ก็ยังทรงหาหนทางขจัดปัญหานี้ไม่ได้ เผอิญ ร.ศ. 108 (พ.ศ. 3412) วันขึ้นหนึ่งค่ำเดือนห้า (ตรุษ) มาตรงกับวันที่ 1 เมษายนพอดี จึงได้ทรงประกาศพระบรมราชโอกาส ให้ถือเอาวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่นั้นมา

          ในระยะนั้น การขึ้นปีใหม่ก็เป็นแต่เพียงขึ้นรัตนโกสินทร์ศกเท่านั้น พุทธศักราชก็ยังไม่เปลี่ยน พระที่เทศน์บอกศักราชจะเปลี่ยนพุทธศักราชเมื่อแรมหนึ่งค่ำเดือนหก เพราะเป็นวันวิสาขะที่เป็นเกณฑ์นับปีเกี่ยวกับการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า แต่ในระยะนั้นไม่มีปัญหาเกิดขึ้น เพราะทางราชการยังใช้รัตนโกสินทร์ศกอยู่ ครั้ง พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้รัตนโกสินทร์ศก ให้ใช้พุทธศักราชแทน จึงเกิดปัญหาขึ้น พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ถือวันที่ 1 เมษายนเป็นวันเปลี่ยนพุทธศักราชด้วย

ต่อมาไทยเราเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีก โดยเปลี่ยนเป็นวันที่ 1 มกราคม ทั้งนี้เพราะเหตุผลหลายประการ พอสรุปได้ดังนี้

1. การกำหนดวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่นับว่าใกล้เคียงกับคติโบราณของเรามาก กล่าวคือโบราณเรานับเอาวันแรมค่ำเดือนอ้ายเป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งวันนี้จะใกล้เคียงกับวันที่ 1 มกราคมมาก ฉะนั้นเมื่อเราเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม จึงเท่ากับเราหันเข้าคติโบราณ ซึ่งเป็นคติของเราเอง ไม่ได้เลียนแบบใคร ในหนังสือ Primitive Traditional ของ Hewitt ก็อธิบายว่า คติที่นับวันใดวันหนึ่งในระหว่าง 21 ธันวาคม ถึง 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เป็นพิธีเก่าแก่ของชนชาติที่อยู่ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีกำเนิดมาจากดินแดนตอนใต้ของประเทศจีน เหตุผลก็คือในระยะเวลานี้เป็นเวลาที่แลเห็นดวงอาทิตย์ขนาดโตที่สุด และเป็นเวลาที่อากาศเริ่มสบาย ภายหลังที่ได้ถูกฤดูฝนมามากแล้ว คำอธิบายจะเห็นว่าชนชาติที่ Hewitt กล่าวถึงนี้ก็คือโบราณเรานี้เอง ฉะนั้นเมื่อเราเปลี่ยนเป็นวันที่ 1 มกราคม ก็เท่ากับหันเข้าหาคติไทยโบราณ และเมื่อเราหันเข้าหาคติโบราณของเราเช่นนี้ ก็เท่ากับแสดงให้เห็นว่า วิธีโบราณของเราถูกต้องตามวิธีสากล ซึ่งเป็นทางหนึ่งที่จะแสดงให้เห็นความรุ่งโรจน์แบบวัฒนธรรมของชาติไทยในอดีต

2. วันที่ 1 มกราคม นอกจากใกล้เคียงคติโบราณของไทยเราแล้ว ยังเข้ากับฤดูกาลของเราด้วย การที่เราถือตามคติของพราหมณ์นั้น นับว่ายังไม่เหมาะสมกับฤดูกาลของเราเป็นอย่างยิ่ง แต่ของเขาต้องถือว่าเหมาะสม เพราะเดือนเมษายนของเขาตกอยู่ในฤดูวสันต์ ของเราเดือนเมษายนเป็นเดือนที่แห้งแล้งที่สุดไม่เหมือนเดือนมกราคมที่เป็นเดือนที่ดินฟ้าอากาศในประเทศไทยดีที่สุด เป็นเสมือนหนึ่งรุ่งอรุณแห่งชีวิตทีเดียว และที่เราหันเข้าคติโบราณนี้ ยังไม่ขัดกับทางพุทธศาสนาด้วย ทั้งยังเป็นการเลิกวิธีเอาลัทธิพราหมณ์มาคล่อมพุทธศาสนาด้วย

3. เข้าระดับสากล เพราะอารยประเทศต่างก็ใช้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ทั้งสิ้น จึงนับว่าสะดวกในการใช้ปฏิทินเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การที่เราเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคมนี้ มิได้เกี่ยวข้องกับลัทธิศาสนาแต่ประการใด ไม่ใช่เป็นการหันเข้าหาคติทางคริสต์ศาสนา เพราะความจริงการใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ได้เริ่มใช้กันมาก่อนพระเยซูประสูติถึง 46 ปี โดยยูเลียส
ซีซาร์เป็นผู้บัญญติ ประเทศอังกฤษเองชั้นเดิมคือ วันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาพระเจ้า
วิลเลียมส์เดอะคองเกอเรอร์ทรงบัญญัติให้ใช้วันที่ 1 มกราคม เมื่อ ค.ศ. 1753

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ คณะรัฐบาลจึงประกาศ ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2483 ให้ใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่มกราคม พ.ศ. 2484 เป็นต้นไป

ก่อนจะจบขอเพิ่มเติมว่า การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ใช้หลักเกณฑ์ทางดาราศาสตร์ โดยถือหลักเกณฑ์เป็นสองประการ คือระยะที่โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ และในการหมุนเวียนรอบดวงอาทิตย์นี้ ก็มีวันที่สะดวกเป็นหลักในการกำหนดวันปีใหม่ ประการแรกคือวันที่ดวงอาทิตย์ห่างจากอิเควเตอร์มากที่สุด เรียกว่า Solstice (อยน) คือเหมันตฤดู ซึ่งตกในราววันที่ 22 ธันวาคม อีกประการหนึ่งกำหนดเอาวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ใกล้อิเควเตอร์ที่สุด ซึ่งเรียกว่า Equinox (วิษุวัต) อยู่ในวสันตฤดู ราววันที่ 20 มีนาคม

เมื่ออ่านถึงตรงนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าวันขึ้นปีใหม่เป็นเรื่องสมมุติขึ้น ถ้าจะคิดว่าอันชีวิตของคนเรานี้มีแต่เรื่องสมมุติขึ้น ก็เห็นดีเหมือนกันกระมัง

____________________________

รียบเรียงบทความโดย นางอ้อมใจ วงษ์มณฑา นักวิชาการอุดมศึกษาชำนาญการ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา

____________________________

เอกสารประกอบการค้นคว้า : 

จุลจอมเกล้าฯ, พระบาทสมเด็จพระ.  2507. พระราชกรัณยานุสารพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จ

พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเรื่อง นางนพมาศ / พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า

เจ้าอยู่หัว. พระนคร : คลังวิทยา.

———.  พระราชพิธีสิบสองเดือน.  2514.  กรุงเทพมหานคร : แพร่พิทยา.

ส.พลายน้อย.  2547.  ตรุษสงกรานต์ ประมวลความเป็นมาของปีใหม่ไทยสมัยต่างๆ. 

          กรุงเทพมหานคร : มติชน.

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.  มปพ.  หลักราชการพระบาทสมเด็จพระมงกุฎ

          เกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระนิพนธ์และพิมพ์พระราชทานแจกข้าราชการในการพระราชพิธี

          ตรุษสงกรานต์ พุทธศักราช 2457.  ปัตตานี : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

วิทยาเขตปัตตานี.  

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา นำถุงยังชีพช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยบริเวณชุมชนบ้านทุ่ง ตำบลท่าข้าม อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี

๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๕

   บุคลากรสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ได้นำถุงยังชีพไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยบริเวณชุมชนบ้านทุ่ง ตำบลท่าข้าม อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี  ประสบภัยน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2565 เนื่องจากมีฝนตกตลอดทั้งคืนพร้อมกับน้ำทะเลหนุนไหลหลากเข้ามาช่วงเวลากลางดึก น้ำได้ท่วมเข้ามาในบ้านเรือนอย่างรวดเร็วขนเคลื่อนย้ายสิ่งของไม่ทัน บางครอบครัวได้เคลื่อนย้ายมานอนอยู่ในศาลา ณ ศูนย์การเรียนรู้งานจักสานไม้ไผ่บ้านทุ่ง ซึ่งชุมชนเป็นหนึ่งในเครือข่ายการดำเนินงานทางด้านวัฒนธรรมร่วมกับสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา  โดยมีนางสมปอง อัดอินโหม่ง ประธานกลุ่มศูนย์การเรียนรู้พร้อมตัวแทนสมาชิกกลุ่มได้รับมอบเครื่องอุปโภคบริโภคในการช่วยเหลือเบื้องต้น

ประกาศสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา เรื่อง เผยแพร่แผนการจัดซื้อจัดจ้าง ประจำปีงบประมาณ 2565

ประกาศ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา เรื่อง เผยแพร่แผนการจัดซื้อจัดจ้าง ประจำปีงบประมาณ 2566

ประกาศผู้ชนะการประกวดราคา ประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์ประจำห้องโถงอาคารหอศิลปวัฒนธรรมภาคใต้

ประกาศผู้ชนะ ประกวดราคาจัดซื้อครุภัณฑ์ประจำห้องโถงอาคารหอศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ จำนวน 1 ชุด

ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)

นักท่องเที่ยว เยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรม ชายแดนใต้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมภาคใต้

๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๕

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ขอขอบคุณ นักท่องเที่ยว ที่มาเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรม ชายแดนใต้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมภาคใต้

_______________________

ติดต่อสอบถามเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ได้ที่

โทร.073-331250 (ปัตตานี) / 074-289680-4 (หาดใหญ่)

#สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา #หอวัฒนธรรมภาคใต้ #หอศิลป์ภาคใต้

#พิพิธภัณฑ์พระเทพญาณโมลี #Art3dPsu #มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

สถาบันฯ รับมอบหนังสือ “นิทรรศน์ฉันรักในหลวง ในดวงใจนิรันดร์” และหนังสือ “๑๒๐ ปี มหิดลอดุลยเดช” จากธนาคารกรุงเทพ สาขาโคกโพธิ์

๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๕

      สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา โดย ดร.ชนกิตติ์ ธนะสุข รองผู้อำนวยการสถาบันฯ ได้รับมอบหนังสือ “นิทรรศน์ฉันรักในหลวง ในดวงใจนิรันดร์” และหนังสือ “๑๒๐ มหิดลอดุลยเดช” จากธนาคารกรุงเทพ สาขาโคกโพธิ์ โดยมี นางอมรรัตน์ อรรถกานต์วิกัย ผู้จัดการสาขา และคณะ เป็นผู้ส่งมอบ

งานกีฬาสานสัมพันธ์บุคลากร วิทยาเขตหาดใหญ่ “ผสมสีสัน ผสานพลัง สงขลานครินทร์ หาดใหญ่” ณ ศูนย์กีฬาและสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

วันที่ 16 ธันวาคม 2565 สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา (หาดใหญ่) ร่วมงานกีฬาสานสัมพันธ์บุคลากร วิทยาเขตหาดใหญ่ “ผสมสีสัน ผสานพลัง สงขลานครินทร์ หาดใหญ่” ณ ศูนย์กีฬาและสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ประชุมใหญ่เพื่อรับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาศักยภาพและจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรปวีณ์ พุ่มเกิด ผู้อำนวยการ และศูนย์อาเซียนศึกษา ดร.ถนัด คอมันตร์ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพัตรา เดวิสัน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการอาเซียนและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมประชุมใหญ่เพื่อรับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาศักยภาพและจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา : กิจกรรมที่ 3 การพัฒนาโนราสู่การท่องเที่ยววัฒนธรรมสร้างสรรค์โนราลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ณ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

สถาบันฯ ร่วมบรรยายและจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองปัตตานี การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างมีความสุข

๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๕

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรปวีณ์ พุ่มเกิด ผู้อำนวยการ พร้อมบุคลากรสถาบันฯ ร่วมบรรยายและจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองปัตตานี การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างมีความสุข แก่นักเรียนผู้เข้าร่วมกิจกรรมอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และประวัติศาสตร์ปัตตานีกับการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างมีความสุข จัดโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี ณ ห้องจะบังติกอ โรงแรม ชี.เอส. ปัตตานี อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี