เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ถือเป็นวันสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์ชาติด้านวงการพระพุทธศาสนา โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โปรดสถาปนา “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ แห่งวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร” ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และมีพระนามเรียกขานว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลสังฆปริณายก”
เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20
– สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ถือเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และใช้พระนามว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ”
– สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ(อัมพร อมฺพโร)” ถือเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 3 ของวัด ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามฯ
พระองค์แรก คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 13 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
องค์ที่ 2 คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
– ขั้้นตอนการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 มีความแตกต่าง ตรงที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีความเห็นพ้องแก้ไข “มาตรา 7” ของ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ฉบับปี พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 เพื่อถวายคืน “พระราชอำนาจ” ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชให้เป็นของพระมหากษัตริย์
นั่นหมายความว่า การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และมิได้ยึดโยงกับ “อาวุโสโดยสมณศักดิ์” เป็นสำคัญ
แต่กระนั้น การสถาปนา สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) ขึ้นเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกก็ยังคงความเหมาะสม และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ด้วยสาเหตุไม่ได้มีข้อครหาใด ๆ มาทำให้เสื่อมพระเกียรติสกลมหาสังฆปริณายก ผู้เป็นประมุขของคณะสงฆ์ไทย และยังคงให้ความสำคัญกับอาวุโสทางสมณศักดิ์อยู่เหมือนเดิม
– วัตรปฏิบัติหรือปฏิทาของสมเด็จพระสังฆราชทรงดำเนินไปด้วยความ “สมถะ-เรียบง่าย” ไม่มี “รถยนต์ส่วนตัว” บางครั้งเมื่อทรงรับกิจนิมนต์ก็ยังเดินทางด้วยแท็กซี่ และมักทรงเดินทางไปปฏิบัติธรรมกับสหธรรมิกตามวัดต่าง ๆ เสมอมา โดยทางสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะจัดรถยนต์ถวายรับส่ง พระองค์ทรงปฎิบัติธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าเป็นธรรมยุตหรือมหานิกาย
– พระองค์ทรงเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร แห่งวัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร โดยปัจจุบันเจ้าประคุณสมเด็จยังคงทรงเป็นประธานมูลนิธิพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร อีกด้วย
– พระองค์โปรดสนทนาธรรม กับพระสายวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในวัยหนุ่ม ทรงเดินทางไปสักการะและสนทนาธรรมกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่ดูลย์ อตุโล หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ซึ่งต่างเป็นพระสายวิปัสสนากัมมัฏฐานชื่อดังเป็นประจำ ว่ากันว่า โดยช่วงนั้น จะทรงฉันในบาตรเพียงมื้อเดียว เหมือนสายพระป่า และโปรดปฏิบัติกัมมัฏฐาน ใช้ชีวิตเรียบง่ายสมถะ
– เมื่อครั้งที่ยังทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นพระมหามุนีวงศ์ ทรงเคยร่วมธุดงด์ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2503 ที่วัดถ้ำขาม หลังเทือกเขาภูพาน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร มีพระมหามุนีวงศ์และพระมหาสาครร่วมธุดงค์ปฏิบัติธรรมในสถานที่ด้วยกัน ครั้งนั้นได้ศึกษาธรรมะ เช่น หลวงปู่ขาว หลวงปู่หลุย หลวงตามหาบัวและเกจิจำนวนหลายองค์
– ทรงเป็น “สัทธิวิหาริก” หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็น “ศิษย์” ของ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แห่งวัดราชบพิธฯ ที่ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์อีกด้วย
– ทรงคุ้นเคยงาน ทั้งในมหาเถรสมาคมและในพระบรมมหาราชวัง โดยทรงรับสนองงานสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร) อดีตเจ้าอาวาสวัดราชบพิธ พระองค์ก่อน ก่อนจะขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชบพิธ ควบกับกรรมการมหาเถรสมาคม
– ทรงได้รับการยกย่องว่า ซื่อสัตย์ เด็ดขาด ตรงไปตรงมา (ตงฉิน) ดั่งเช่นสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ก่อน จึงเชื่อมั่นได้ว่า จะสามารถบังคับบัญชาสังฆมณฑล ได้อย่างน่าไว้วางใจ