นิทรรศการผ้าพื้นถิ่นใต้

ห้องพิพิธภัณฑ์ผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้

*** ประจำวิทยาเขตหาดใหญ่ ***

การจุดประกายในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้  เริ่มจากเหตุผลและความจำเป็นของเครื่องนุ่งห่มซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการดำรงชีวิต   จึงเป็นความสำคัญยิ่งในการจัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้โดยเริ่มดำเนินการลงพื้นที่สำรวจแหล่งทอผ้าใน 4 พื้นที่ คือ แหล่งทอผ้าเกาะยอ จังหวัดสงขลา แหล่งทอผ้านาหมื่นศรี จังหวัดตรัง แหล่งทอผ้ายกนคร จังหวัดนครศรีธรรมราช และแหล่งทอผ้าไหมพุมเรียง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ปีพ.ศ.2539 พบว่าระยะแรกแหล่งทอผ้าทุกแหล่งมีปัญหาและสภาพวิกฤตไปในทิศทางเดียวกัน  เช่น ปัญหาขาดความมั่นใจในการประกอบอาชีพการทอผ้า , ปัญหาในการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าที่มีความเข้มแข็งและมั่นคง ,ปัญหาการสืบทอดทักษะการทอผ้า,ปัญหาการขยายจำนวยช่างทอ ,ปัญหาการตลาดและการควบคุมคุณภาพการผลิต  จึงได้มีการดำเนินการจัดทำโครงการย่อยเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้น  ตั้งแต่ปีพ.ศ.2540-ปัจจุบัน ดังนี้

  • โครงการศึกษา รวบรวมลวดลายผ้าและเทคนิคการทอผ้าพื้นบ้านภาคใต้
  • โครงการรวบรวมช่างทอผ้าพื้นบ้านภาคใต้
  • โครงการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าพื้นบ้านภาคใต้
  • โครงการพัฒนาตลาดผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้ (ระดับท้องถิ่น ภูมิภาค ประเทศ)
  • โครงการเพื่อการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์สร้างคุณค่า/คุณประโยชน์ผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้
  • โครงการวิจัยและพัฒนาแบบองค์รวม (สีย้อมธรรมชาติ,คุณภาพการผลิตผ้าทอ,การพัฒนาการแปรรูปผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้ ฯลฯ)
  • โครงการพัฒนาเครือข่ายกลุ่มทอผ้าพื้นบ้านภาคใต้
  • โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้

จึงได้มีการรวบรวมผ้าทอลวดลายโบราณที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละแหล่งที่ได้จากการบริจาคจากเจ้าของผ้าที่มีเจตนารมณ์มอบให้มหาวิทยาลัยเพื่อการมีส่วนร่วมในการจัดตั้งห้องพิพิธภัณฑ์ผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้   รวมทั้งการจัดหาผ้าทอ โดยช่างทอที่มีฝีมือการทอด้วยเทคนิคโบราณ ทอเก็บลายเพื่อเป็นการสืบทอดลวดลายโบราณไว้ไม่ให้สูญหาย  ผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้ที่ได้รวบรวมไว้ถือเป็นหลักฐานที่เปรียบเสมือนบันทึกประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่จะสะท้อนให้เห็นเรื่องราวของชนชาติ ทั้งในแง่ของวิถีชีวิต   สภาพแวดล้อม  ภูมิปัญญา  ค่านิยม  ความเชื่อ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมในแต่ละยุคผ่านผืนผ้า  ต่อมาในปีพ.ศ.2543 จึงเริ่มจัดตั้งห้องพิพิธภัณฑ์ผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้โดยใช้พื้นที่บริเวณชั้น 7 คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นพื้นที่จัดแสดงผ้าทอพื้น และจัดเก็บผ้าทอที่มีจำนวนกว่า 2000 ผืน ต่อมาในปี พ.ศ.2557 – ปัจจุบัน ได้ย้ายสถานที่ทำการไปยังอาคารศูนย์ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และเปิดบริการให้เข้าชมห้องพิพิธภัณฑ์ผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้ได้ทุก วันจันทร์ – วันศุกร์  เวลา 08.30 – 17.00 น.เว้นวันหยุดราชการ

เปิดบริการให้เข้าชม วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.30 – 16.30 น.

(ปิดวันเสาร์ – วันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์)

PSU Art Gallery

ประวัติ PSU Art Gallery

*** ประจำวิทยาเขตหาดใหญ่ ***

เพื่อส่งเสริมให้ “ศิลปะ” มีบทบาทในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ความคิดสร้างสรรค์ ความตระหนักในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม และเปิดโลกทัศน์สู่การอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจในสังคมพหุวัฒนธรรม ตลอดจนบ่มเพาะสุนทรียะให้เกิดขึ้นในวิถีชีวิตและวิธีคิดแก่อนุชนและสังคมโดยรวม โครงการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม จึงได้เริ่มจัดแสดงนิทรรศการศิลปกรรมเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2545 จัดแสดง ณ หอศิลป์สยาม ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาคีเครือข่ายต่าง ๆ

ในปี พ.ศ. 2552  โครงการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม ได้รับการเอื้อเฟื้อสถานที่จาก บริษัท ศรีตรัง แอโกร อินดัสทรี จำกัด มหาชน จึงได้ก่อตั้ง “พิพิธภัณฑ์บ้านหัตถกรรมและศิลปกรรม” (Craft House Museum & Art Gallery) ณ อาคารเลขที่ 34/15-16 หมู่ 4 ถนนคลองเรียน 2 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมให้แก่ชุมชน และเพื่อเป็นพื้นที่เผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์ของเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และศิลปินผ่านการจัดนิทรรศการศิลปกรรมหมุนเวียน รวมถึงส่งเสริมงานหัตถกรรมของท้องถิ่นภาคใต้ผ่านการจำหน่ายและจัดแสดงนิทรรศการผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้

ต่อมาโครงการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม ได้เปลี่ยนสถานภาพจาก “โครงการจัดตั้ง” เป็น “ศูนย์” และได้รับมติให้ปรับปรุงพื้นที่อาคารหอสมุดคุณหญิงหลงอรรถกวีสุนทรเดิม ก่อสร้างเป็นอาคารศูนย์ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม จึงย้ายสถานที่ในการจัดโครงการนิทรรศการศิลปกรรมมายังอาคารหลังใหม่ และจัดตั้งเป็น PSU Art Gallery” ณ ชั้น 2 อาคารศูนย์ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่  โดยได้เปิดทำการและจัดแสดงนิทรรศการเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2558 ในนิทรรศการชื่อ “นิทรรศการศิลปกรรมนานาชาติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ” โดยได้รับเกียรติจาก ท่านชวน หลีกภัย ที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานในพิธีเปิด 

ต่อมาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2562 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้หลอมรวมหน่วยงานหลักด้านศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัย 2 หน่วยงาน คือ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา วิทยาเขตปัตตานี และ ศูนย์ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม วิทยาเขตหาดใหญ่ เพื่อบูรณาการการขับเคลื่อนงานด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมกัน โดยใช้ชื่อสถาบันที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ได้พระราชทานว่า “สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา” โดยยกระดับหน่วยงานเป็น ส่วนงานวิชาการกลาง มีภาระหน้าที่ในการวิจัยและบริการวิชาการ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่และความยั่งยืนด้านศิลปวัฒนธรรม โดยมีสำนักงานบริหารหลักใน 2 วิทยาเขต ได้แก่ อาคารหอศิลปวัฒนธรรม วิทยาเขตปัตตานี และอาคารศูนย์ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม วิทยาเขตหาดใหญ่

ปัจจุบัน PSU Art Gallery สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังคงมุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และพื้นที่เผยแพร่ผลงานด้านศิลปะและวัฒนธรรม ผ่านการจัดโครงการอบรมและจัดแสดงนิทรรศการศิลปกรรมที่มีการหมุนเวียนเรื่องราวและเนื้อหาการเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ ภายใต้การมีส่วนร่วมของเครือข่ายชุมชน ท้องถิ่น สถาบันการศึกษา องค์กรภาครัฐ เอกชน และต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสในการสัมผัสและซึมซับถึงคุณค่าและความงามของงานศิลปะ ส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจด้านศิลปะให้แก่ชุมชน ตลอดจนส่งเสริมการขับเคลื่อนงานด้านศิลปกรรมร่วมสมัยของวงการศิลปกรรมในภาคใต้ต่อไป

เปิดบริการให้เข้าชม วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.30 – 16.30 น.

(ปิดวันเสาร์ – วันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์)