2 เมษายน วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และวันอนุรักษ์มรดกไทย

 “วันอนุรักษ์มรดกไทย 2 เมษายน”

        วันอนุรักษ์มรดกไทย ตรงกับวันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ

        คณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย ได้มีมติเห็นชอบคำจำกัดความคำว่ามรดกไทย คือ “มรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงสัญลักษณ์ของความเป็นชาติ ซึ่งได้แก่ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โบราณสถาน วรรณกรรม ศิลปหัตถกรรม นาฏศิลป์และดนตรี ตลอดจนถึงการดำเนินชีวิตและคุณค่าประเพณีต่าง ๆ อันเป็นผลผลิตร่วมกันของผู้คนในผืนแผ่นดินในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา”

        คณะรัฐมนตรีซึ่งมี ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ประกาศให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็น “วันอนุรักษ์มรดกไทย” ทั้งนี้ เพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจ ความสำนึกรัก และหวงแหนในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิทักษ์รักษามรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งกิจกรรมเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นราชสักการะแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในฐานะมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติตลอดมา

โดยแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการโดยมี ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการฯ อธิบดีกรมศิลปากรเป็นกรรมการและเลขานุการ พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและเอกชนรวม 28 คน ได้มีการจัดตั้งกองทุนอนุรักษ์มรดกไทยขึ้นทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งหลายได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมไทย เนื่องจากงบประมาณของรัฐมีไม่เพียงพอ

การจัดงานวันอนุรักษ์มรดกไทยได้ดำเนินการผ่าน มาแล้วหลายปี โดยได้รับความร่วมมือจากจังหวัด หน่วยงานเอกชน หน่วยงานของรัฐบาลและประชาชนในการจัดกิจกรรมวันอนุรักษ์มรดกไทยในช่วง สัปดาห์อนุรักษ์มรดกไทย 2 – 8 เมษายน ของทุกปี บางจังหวัด บางหน่วยงานก็จัดกิจกรรมสนับสนุนตลอดทั้งปี ซึ่งนับว่าประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง

นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2535 เป็นต้นมา คณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดงานใหม่โดยให้มีทิศทางในการจัดงานแน่นอน คือการกำหนดหัวเรื่องของการจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์มรดกไทย ซึ่งในปีพุทธศักราช 2535 คณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทยได้กำหนดให้เป็นปีอนุรักษ์การดนตรีไทย ปีพุทธศักราช 2536 เป็นปีอนุรักษ์การช่างศิลป์ไทย

        การจัดกิจกรรมที่เสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม เช่น การจัดนิทรรศการ การจัดการแสดง การฉายภาพยนตร์ ทัศนศึกษาโบราณสถาน และสถานที่สำคัญทางศาสนา กิจกรรมเสริมสร้างและสนับสนุนให้เกิดทัศนคติที่จะยังประโยชน์ต่อการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมไทย ได้การรณรงค์ให้มีการพัฒนา บูรณะและทำความสะอาดโบราณสถานศาสนสถาน ตลอดจนกิจกรรมส่งเสริมอื่น ๆ พิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล พิธีถวายเครื่องราชสักการะและวางพานพุ่ม

——————————-

อ้างอิง : ประชิด สกุณะพัฒน์, อุดม เชยกีวงศ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : ภูมิปัญญา, 2549.

ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์ รอบรู้

นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี

 

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ให้การต้อนรับคณะนักวิจัยจากโครงการสำรวจแหล่งวัฒนธรรมทางทะเลในเอเชีย (MAHS) มหาวิทยาลัยเกียวโต

28 มีนาคม 2568

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ให้การต้อนรับคณะนักวิจัยจากโครงการสำรวจแหล่งวัฒนธรรมทางทะเลในเอเชีย (MAHS) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.ไมเคิล ฟีเนอร์ จากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้มี ดร.อภิรดา โกมุท จากศูนย์ประสานงานประจำประเทศไทย และคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรและคณะ ที่เดินทางมาเก็บข้อมูลและสำรวจแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางเดินเรือและชุมชนชายฝั่ง

.

โครงการ MAHS มีเป้าหมายในการบันทึกข้อมูลเชิงดิจิทัลของแหล่งโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมทางทะเล โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อสร้างฐานข้อมูลแบบเปิด (open access) สามารถเข้าถึงระบบฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโตและมหาวิทยาลัยออซฟอร์ด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของภูมิภาค

.

นอกจากนี้ คณะนักวิจัยยังได้เข้าชมโบราณวัตถุที่จัดแสดงในหอวัฒนธรรมภาคใต้ รวมถึงเหรียญโบราณและเครื่องถ้วย ณ พิพิธภัณฑ์พระเทพญานโมลี เพื่อศึกษาองค์ประกอบทางประวัติศาสตร์และความเชื่อมโยงของวัฒนธรรมในภูมิภาค

.

การต้อนรับครั้งนี้เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างนักวิจัยและบุคลากรของสถาบันฯ เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือทางวิชาการในอนาคต เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายการวิจัยและอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมทางทะเลในระดับนานาชาติต่อไป

สถาบันฯ ต้อนรับศูนย์กิจการนานาชาติและสื่อสารองค์กร เข้าพบปะและแสดงความขอบคุณแก่คณะผู้บริหารวิทยาเขตปัตตานี

26 มีนาคม 2568

ดร.ปิติ มณีเนตร รองผู้อำนวยการสถาบันฯ รับมอบของขวัญแทนผู้อำนวยการสถาบันฯ จากศูนย์กิจการนานาชาติและสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำโดยนางสาววิภาวรรณ วาทีกานท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์กิจการนานาชาติและสื่อสารองค์กร ในการเดินทางเข้าพบปะและแสดงความขอบคุณแก่คณะผู้บริหารวิทยาเขตปัตตานี ที่ได้ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ฯ มาโดยตลอด

ประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อสอบคัดเลือก พนักงานเงินรายได้สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา นักวิชาการศึกษา ปฏิบัติงานด้านคอมพิวเตอร์ 1 ตำแหน่ง

🔔สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อสอบคัดเลือก #พนักงานเงินรายได้ 1 ตำแหน่ง 🔔

.

✅ ตำแหน่ง : นักวิชาการศึกษา

✅ ปฏิบัติงาน : งานด้านคอมพิวเตอร์

✅ สถานที่ปฏิบัติงาน: สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

✅ คุณสมบัติผู้สมัคร : วุฒิการศึกษาปริญญาตรีทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์

และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องโดยต้องศึกษาวิชาคอมพิวเตอร์ไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต

✅ รับสมัคร Online: ตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 21 เมษายน 2568

✅ สมัครผ่านระบบรับสมัครงานของมหาวิทยาลัย https://resume.psu.ac.th/

✅ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม https://link.psu.th/XfEPtm

.

ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือก วันที่ 25 เมษายน 2568

.

☎️สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม: โทรศัพท์หมายเลข 0-7333-1250 ในวันและเวลาราชกา

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา วิทยาเขตหาดใหญ่ โดยนางสาวสิริมา ยืนยง และนายกำพล เลื่อนเกื้อ บุคลากรสถาบันฯ นำนักศึกษาร่วมแสดงในงานเลี้ยงรับรองโครงการสัมมนาวิชาการเครือข่ายรองอธิการบดีฝ่ายวางแผน และเครือข่ายการวางแผนอุดมศึกษา ประจำปี 2568

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา วิทยาเขตหาดใหญ่ โดยนางสาวสิริมา ยืนยง และนายกำพล  เลื่อนเกื้อ บุคลากรสถาบันฯ นำนักศึกษาร่วมแสดงในงานเลี้ยงรับรองโครงการสัมมนาวิชาการเครือข่ายรองอธิการบดีฝ่ายวางแผน และเครือข่ายการวางแผนอุดมศึกษา ประจำปี 2568 ภายใต้หัวข้อ “การวางแผนอุดมศึกษาสู่อนาคตแห่งการพัฒนาองค์กร เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิทัลโดยใช้เครื่องมือบริหารจัดการสมัยใหม่” ณ โรงแรมบีพี สมิหลา บีช โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท จังหวัดสงขลา

การแสดงชุด ระบำสี่ภาค

     เป็นผลงานการสร้างสรรค์ที่รวบรวมเอาเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทยของแต่ละภูมิภาคมาผสมผสานกัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงท่วงท่าลีลาท่ารำ ตลอดจนสำเนียงดนตรี การแต่งกาย และอาชีพที่แตกต่างกันออกไป สะท้อนถึงความงดงาม และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนไทย ถึงแม้จะอยู่คนละภาคกัน อาจต่างซึ่งสำเนียงภาษา ขนบธรรมเนียม ศาสนา และวัฒนธรรม

การแสดงชุด รำโนราผสมท่า

     โนราเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่สืบทอดกันมานานและนิยมอย่างแพร่หลายใน พื้นที่ภาคใต้ เป็นการแสดงที่มีแบบแผนการร่ายรำ การขับร้องที่งดงามเป็นเอกลักษณ์ มี ดนตรีเป็นลูกคู่เล่นรับส่งตลอดการแสดง ผู้รำโนราสวมเครื่องแต่งกายที่ทำด้วยลูกปัด หลากสี สวมปีกหางคล้ายนก เทริดทรงสูง ต่อเล็บยาวทำด้วยโลหะ การแสดงบางส่วน เล่นเป็นเรื่อง และบางส่วนแสดงตามคติความเชื่อที่เป็นพิธีกรรม ผู้คนรู้จักโนราในฐานะที่ เป็นมหรสพการแสดงที่งดงาม ทรงพลัง และมีชีวิตชีวา เป็นนาฏยลักษณ์ของคนใต้ซึ่ง ปัจจุบัน โนรา ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของทางภาคใต้ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดก วัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติแม้ปัจจุบัน โนรา จะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ตามยุคสมัย แต่ยังคงความงดงาม และการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น

ขอบคุณภาพจาก เพจ Prince of Songkla University

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา เชิญชวนร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2568

✨สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา เชิญชวนร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2568 ✨💦

.

📅 ในวันที่ 9 เมษายน 2568 📍 ณ บริเวณลานพระพุทธษิณสมานฉันท์ พิพิธภัณฑ์พระเทพญาณโมลี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

.

👉กิจกรรมภายในงาน :

🌸พิธีสงฆ์

🌸สรงน้ำพระพุทธสิหิงค์จำลอง

🌸รดน้ำขอพรผู้อาวุโส

🌸การแสดงมโนราห์

🌸กิจกรรมสาธิตเหยียบเส้นขนมจีนแบบโบราณ

🌸การแสดงรำวง “ผู้สูงวัยใจเบิกบาน” ร่วม เยาวชน คณะมโนราห์ สถาบันฯ ม.อ.ปัตตานี

🌸กิจกรรมข้าวหม้อแกงหม้อ

.

เชิญชวนใส่เสื้อฮาวาย / ลายดอก 🌸🌸🌸

.

และร่วมรณรงค์ เพื่อลดขยะภายในมหาวิทยาลัย ด้วยการนำภาชนะและแก้วน้ำส่วนตัวมาร่วมกิจกรรม ♻️

.

ร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ไทย สืบสานวัฒนธรรมอันงดงามของชาวไทยไปด้วยกัน!!

_

#Songkran #CulturePSU  #สงกรานต์

.

ติดตามข่าวสารกิจกรรมของสถาบันฯ ได้ที่

Website : https://culture.psu.ac.th/

Facebook : https://www.facebook.com/culture.psu

Instagram : https://www.instagram.com/culture.psu/

Youtube : https://www.youtube.com/@culture_psu

Tiktok: https://www.tiktok.com/@culture.psu

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ร่วมกับ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ. ปัตตานี จัดกิจกรรม “รอมฏอนสัมพันธ์ ปี 2568”

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ร่วมกับ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ. ปัตตานี จัดกิจกรรม “รอมฏอนสัมพันธ์ ปี 2568″ เสริมสร้างความสัมพันธ์และสืบสานวัฒนธรรมอิสลาม

.

วันที่ 18 มีนาคม 2568 สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับคณะวิทยาการสื่อสาร จัดกิจกรรม “รอมฏอนสัมพันธ์ ปี 2568″ ณ อาคารคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี เพื่อส่งเสริมความเข้าใจทางวัฒนธรรมและสานสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคลากร นักศึกษา และครอบครัวของบุคลากรในมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลามในเดือนรอมฏอน ซึ่งเป็นเดือนศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมทั่วโลก

.

ภายในงานได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัตชัย เอื้ออนันตสันต์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เข้าร่วมกิจกรรม โดยมี ดร.ภักดี ต่วนศิริ คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร และ ดร.ชนกิตติ์ ธนะสุข ผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ให้การต้อนรับและร่วมละศีลอดกับผู้เข้าร่วมกิจกรรม

.

บรรยากาศในงานเต็มไปด้วยความอบอุ่นและความสมัครสมานสามัคคี ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมอิสลามและปฏิบัติพิธีละศีลอด ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างความเข้าใจและส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างเคารพในสังคมพหุวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัย

.

กิจกรรม “รอมฏอนสัมพันธ์” นี้เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนาในการสนับสนุนและสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมอิสลาม พร้อมทั้งสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้และเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชนมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง

.

คณะวิทยาการสื่อสารและสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมสร้างบรรยากาศในงานให้เต็มไปด้วยความอบอุ่นและแบ่งปัน ร่วมกันสืบสานวัฒนธรรมอิสลามสานสัมพันธ์อันดี หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้มีโอกาสต้อนรับทุกท่านเช่นนี้ในโอกาสต่อไป  

.

#รอมฎอนสัมพันธ์ #คณะวิทยาการสื่อสาร #สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา #รอมฎอน #PSUPattani #PSU #สงขลานครินทร์ #มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี

ผู้บริหารสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มอบอินทผาลัมละศีลอดแก่บุคลากรสถาบันฯ ที่นับถือศาสนาอิสลาม

18 มีนาคม 2568 ดร.ชนกิตติ์ ธนะสุข ผู้อำนายการสถาบันฯ พร้อมด้วย ดร.ปิติ มณีเนตร รองผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา วิทยาเขตปัตตานี มอบอินทผาลัมละศีลอดแก่บุคลากรสถาบันฯ ที่นับถือศาสนาอิสลาม พร้อมให้กำลังใจแก่บุคลากรมุสลิมในการปฏิบัติงาน ปฏิบัติศาสนากิจในช่วงเดือนรอมฎอน

สถาบันฯ ร่วมทำบุญเนื่องในวันสถาปนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ครบรอบ ๕๗ ปี

๑๓ มีนาคม ๒๕๖๘

ดร.ปิติ มณีเนตร รองผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา วิทยาเขตปัตตานี พร้อมด้วยบุคลากรสถาบันฯ ร่วมทำบุญเนื่องในวันสถาปนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ครบรอบ ๕๗ ปี เพื่อร่วมรำลึกถึงการสถาปนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือวันที่พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีผลบังคับใช้ ณ โถงทางเข้าอาคาร ชั้น ๑ สำนักงานวิทยาเขตปัตตานี   โดยมี ผศ.ดร.อัตชัย เอื้ออนันตสันต์ รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี ประธานในพิธี ร่วมด้วยคณะผู้บริหารวิทยาเขตปัตตานี คณะผู้บริหารคณะหน่วยงานต่างๆ บุคลากร ร่วมพิธี

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา จัดกิจกรรมวิถีวัฒนธรรมชุมชน “บูกอปอซอ” ณ มัสยิดรายอฟาฏอนี

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ม.อ.ปัตตานี จัดกิจกรรมวิถีวัฒนธรรมชุมชน “บูกอปอซอ” ณ มัสยิดรายอฟาฏอนี ตำบลจะบังติกอ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

.

  11 มีนาคม 2568 (10 Ramadan 1446) สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดกิจกรรม “บูกอปอซอ” หรือพิธีละศีลอด ณ มัสยิดรายอฟาฏอนี ตำบลจะบังติกอ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เพื่อส่งเสริมความเข้าใจในวัฒนธรรมอิสลาม สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัย นักศึกษา และชุมชนท้องถิ่น ผ่านกิจกรรมที่สะท้อนอัตลักษณ์ทางศาสนาและสังคมในเดือนรอมฎอน

  ดร.ชนกิตติ์ ธนะสุข ผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ในฐานะเจ้าภาพหลัก ได้กล่าวถึงบทบาทของสถาบันในการเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และส่งเสริมวัฒนธรรมในพื้นที่ พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของกิจกรรมทางศาสนาในการสร้างความเข้าใจและเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยกับชุมชน

  ภายในงานได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บดินทร์ แวลาเตะ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วม พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของมหาวิทยาลัยในฐานะพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและศาสนา

  นอกจากนี้ยังมี นายนิอันนุวา สุไลมาน นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี ผู้นำศาสนา บุคลากร นักศึกษา และประชาชนจากพื้นที่โดยรอบเข้าร่วมกิจกรรมท่ามกลางบรรยากาศของความอบอุ่นและศรัทธา

  “บูกอปอซอ” ถือเป็นวิถีปฏิบัติสำคัญของชาวมุสลิมในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนแห่งความศรัทธา การแบ่งปัน และความสมัครสมานสามัคคี ในงานนี้ ผู้เข้าร่วมได้ร่วมละศีลอดพร้อมกัน โดยเริ่มจากการรับประทานอินทผลัมและน้ำเปล่าตามหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลาม ก่อนร่วมรับประทานอาหารที่จัดเตรียมไว้อย่างเรียบง่ายแต่เปี่ยมไปด้วยความหมายแห่งการแบ่งปัน

  กิจกรรมครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ในการ ส่งเสริมและสืบทอดวัฒนธรรมอิสลาม ตลอดจนสร้างพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน อันเป็นรากฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมของภาคใต้