พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นพระราชพิธีที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มขึ้น คือพระราชพิธีทำบุญเนื่องในวันคล้ายวันประสูติขององค์พระมหากษัตริย์หรือพระบรมราชินี การเฉลิมพระชนมพรรษา การฉลองวันเกิดหรือฉลองอายุไม่ได้มีเริ่มต้นจากเมืองไทย แต่มีรากเหง้ามาจากที่อื่น การจะฉลองอายุได้นั้นต้องรู้วันเดือนปีเกิดเสียก่อน ดังนั้นจึงไปเกี่ยวข้องกับปฏิทินเพราะถ้าไม่รู้ปฏิทินก็จะนับวันเดือน ปีไม่ได้ เรื่องนี้จึงต้องย้อนไปหลาย 1,000 ปีก่อนที่เริ่มมีปฏิทินเกิดขึ้นบนโลก เชื่อกันว่าชาวบาบิโลนเป็นคนกลุ่มแรกที่คิดค้นปฏิทิน ซึ่งเชื่อมโยงกับดวงดาว ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ แม้ดวงอาทิตย์ใหญ่กว่าดวงจันทร์ แต่ปฏิทินจากดวงจันทร์หรือจันทรคตินั้นเกิดก่อน เนื่องจากสามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงได้จากความเว้าแหว่ง จากนั้นจึงค่อยเกิดปฏิทินสุริยคติจากดวงอาทิตย์ เมื่อมีปฏิทินก็จะรู้วันเกิด และมีการฉลองวันเกิดตามมา
เดิมทีการฉลองวันเกิดไม่ใช่สำหรับมนุษย์แต่เป็นวันเกิดเทวดา ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศกรีก คนที่นับถือเทวดาองค์นั้นๆ เมื่อถึงเวลาก็ต้องฉลองวันเกิดให้เทวดาด้วย แต่นอกจากเทวดาแล้วยังมีคนในชีวิตจริงที่เคารพนับถือและต้องเอาใจ เช่น ผู้ปกครองในบ้านเมือง ธรรมเนียมการฉลองวันเกิดของมนุษย์จึงคลี่คลายมาจากการฉลองวันเกิดเทวดา และเชื่อว่าการฉลองวันเกิดมีขึ้นพร้อมๆ กันกับเค้กวันเกิดด้วย เนื่องจากแป้งและน้ำตาลเป็นของหายาก การนำไปผลิตเป็นเค้กต้องใช้วิทยาการหรือเทคโนโลยี และความสามารถทางปัญญาในระดับผู้ปกครอง ดังนั้นคนที่จะทำเค้กได้ต้องแสดงถึงอานุภาพอะไรบางอย่างและความสำคัญของเจ้าของวันเกิดว่าไม่ใช่คนธรรมดา ก่อนที่ภายหลังจะคลี่คลายมาเป็นการฉลองวันเกิดของคนทั่วไป
สำหรับประเทศที่มีการฉลองวันเกิดทางตะวันออกเริ่มจากประเทศจีน ซึ่งปฏิทินจีนไม่เหมือนกับปฏิทินยุโรป โดยจีนไม่ได้มีรอบนักษัตรแค่ 12 ชื่อ แต่มีถึง 60 ชื่อ หรือ 60 ปี จีนจึงต้องเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่เมื่ออายุครบ 60 ปี หรือเรียกว่าแซยิด สำหรับเมืองไทยแต่เดิมไม่มีการบอกว่าตนเองเกิดวันไหน ซึ่งอาจเป็นเพราะ 2 เหตุผล กล่าวคือ ไม่รู้ว่าเกิดวันไหนและหวงดวงชะตา ต้องเป็นความลับไว้ เดี๋ยวมีใครมาทำคุณไสย ซึ่งมีความเชื่อกันในหมู่ชนชั้นสูง ส่วนชาวบ้านรู้เพียงแค่ว่าเกิดช่วงฤดูไหน ใช้อากาศ และฤดูกาลเป็นหลักการจำ เพราะการรู้วันเกิดที่แน่ชัดของชาวบ้านในอดีต
ไม่รู้ว่าจะจำไปทำไม เพราะไม่มีผลทางกฎหมาย ไม่มีความจำเป็นต้องรู้ว่าบรรลุนิติภาวะหรือไม่ มีสิทธิ์เลือกตั้งเมื่อใด หรือไม่เมื่อไรจะแต่งงานได้
ฉลองคือฉลองพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา ซึ่งมีมาแต่ในแผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้สมโภชในวันสวดมนต์ถือน้ำเดือน 5 และวันสรงน้ำสงกรานต์เป็นการฉลองครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยกการฉลองพระชนมพรรษามาทำในเดือน 11 เนื่องจากพระชนมายุบรรจบครบรอบในเดือนนี้ และทรงเป็นการใหญ่โตกว่าการเฉลิมพระชนมพรรษา คือฉลองพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา การพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาถือเอาวันพระบรมราชสมภพโดยทางสุริยคติ เช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือวันที่ 21 กันยายน เป็นฤกษ์ ส่วนการฉลองพระชนมพรรษานั้นถือเอาวันตรงวันพระบรมราชสมภพโดยทางจันทรคติพระราชพิธีทั้งสองนี้ บางทีก็ใกล้กันและบางทีก็ต่างกัน ในการพระราชพิธีฉลองพระชนมพรรษาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ไม่มีพระราชพิธีอะไรมากนัก สาเหตุเนื่องจากยังไม่มีผู้เข้าใจในพระราชพิธีและทราบพระราชประสงค์ที่แท้จริง ครั้นมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การพระราชพิธีพระชนมพรรษา ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดเป็นงานใหญ่อย่างออกหน้าออกตา ไม่ได้ทรงกระทำเป็นการภายในอย่างครั้งในรัชกาลที่ 4 ทั้งนี้เพราะมีผู้เข้าใจในการพระราชพิธีพระชนมพรรษามากขึ้น อาทิ
จัดแต่งพุ่มไฟประกวดกันในพระบรมมหาราชวัง ตามวังเจ้านายและบ้านข้าราชการ ราษฎรทั่วไปก็จุดประทีปโคมไฟสว่างไสวตลอดสองฝั่งแม่น้ำลำคลองและท้องถนน นอกจากนี้ในการพระราชพิธีนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดรายการลงไปว่าวันไหนจะทรงประกอบพระราชพิธี และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอะไร ซึ่งเป็นวิธีการที่พระมหากษัตริย์ต่อๆ มาได้ทรงถือเป็นแบบอย่างมาจนถึงทุกวันนี้
สำหรับการหยุดราชการเนื่องในวันพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาที่นับว่าประกาศเป็นวันนักขัตฤกษ์เป็นประจำปีเป็นทางการและเป็นธรรมเนียมมาจนถึงทุกวันนี้ได้ประกาศหยุดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พุทธศักราช 2456 ถือในสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับประเพณี วันเกิดในไทยเริ่มต้นขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยผู้ที่ริเริ่ม คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงในขณะที่ทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร หรือประมาณ 200 ปีมาแล้ว เนื่องจากรัชกาลที่ 4 ทรงพระปรีชาในด้านปฏิทินและทรงทราบวันพระบรมราชสมภพของพระองค์เอวในทั้งปฏิทินจันทรคติ และสุริยคติ เวลานั้นมีเหตุการณ์น่าสนใจอย่างหนึ่ง แม้จะไม่ใช่เรื่อง การฉลองวันเกิด นั่นคือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลประจำปี “หล่อพระพุทธรูป” แม้จะไม่ได้เคร่งครัดว่าต้องทำวันใด แต่จะทำปีละครั้ง ซึ่งตามธรรมเนียมราชสำนักแล้ว หลังจากหล่อพระเสร็จก็ต้องฉลองพระ โดยพระราชพิธีบำเพ็ญกุศลฉลองพระพุทธรูปไม่ใช่การเฉลิมพระชนมพรรษา แต่เป็นการฉลองพระประจำพระชนมพรรษา ซึ่งรัชาลที่ 3 ไม่ได้ทรงดำริว่าต้องเป็นวันพระบรมราชสมภพ ทั้งนี้ รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริฉลองวันพระบรมราชสมภพขึ้นขณะทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรฯ กล่าวคือ ทำเป็นการภายในที่พระตำหนักปั้นหยา มีเพียงการสวดมนต์ เลี้ยงพระ และบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องจากขณะนั้นทรงผนวชอยู่และไม่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน โดยรัชกาลที่ 4 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันพระบรมราชสมภพเป็นการภายในมาตลอดที่ทรงผนวช และเมื่อขึ้นครองราชย์พระมหากษัตริย์ จึงยกธรรมเนียมนี้เป็นงานพิธีของหลวง ดังนั้นการฉลองอายุหรือฉลองวันเกิดในเมืองไทยจึงเกิดขึ้นจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 4 และเริ่มจากราชสำนักก่อน ตามด้วยบรรดาเจ้านาย-ขุนนาง ก็ทำตามแนวทางนี้ ในภายหลัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้พระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือพระราชพิธี 12 เดือนว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงทำเรื่องการฉลองวันพระบรมราชสมภพเป็นพระราชดำริโดยพระองค์เอง ไม่ได้เลียนแบบใครและทรงพระดำริว่าชีวิตคนราที่ล่วงไปปีหนึ่งๆ ไม่ตายเสียก่อน เป็นเรื่องที่ควรยินดี และยินดีโดยการตั้งอยู่บนความไม่ประมาท ควรบำเพ็ญกุศล ทำความดีความชอบทั้งหลาย นอกจากนี้ สมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อคราวเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา มีการออกประกาศว่าเหล่าข้าราชการ ทูตานุทูตทั้งหลายจะประดับประทีปโคมไฟ โดยพระองค์ท่านไม่ขัดข้อง แต่บอกว่าอย่าไปกะเกณฑ์ ใครไม่มีปัญญาทำก็ไม่ว่า ถือเป็นร่องรอยที่บอกให้รู้ว่าเริ่มมีการประดับประทีบโคมไฟ
ในสมัยรัชกาลที่ 4 ขุนนางแก้วคือสกุลบุนนาค ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรี สุริยวงศ์ หรือช่วง บุนนาค มีอายุ 50 ปี ซึ่งถือว่าเยอะมากในสมัยนั้น หรือว่ากึ่งศตวรรษ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทน เมื่ออายุ 50 ปี จึงมีดำริที่จะฉลองวันเกิด ในพระราชนิพนธ์หนังสือ พระราชพิธี 12 เดือน ของรัชกาลที่ 5 ระบุไว้ว่า คนที่ริเริ่มทำให้วันเกิดของหลวงเอิกเกริกเป็นการเฉลิมฉลองขึ้นมาคือพวก “จีนประจบ” ที่ต้องการประจบสมเด็จเจ้าพระยาฯ ซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจในเวลานั้น โดยนำข้าวของจัดงานเลี้ยงกันใหญ่โต มีงานสมโภช งานวันเกิด ไม่ใช่แค่เพียงการทำบุญแล้ว ซึ่งพระราชนิพนธ์ระบุด้วยซ้ำว่างานของหลวงยังกร่อยกว่า ที่มาว่าวันเกิดบวกกับการเฉลิมฉลองเกิดจากคติของสมเด็จเจ้าพระยาฯ มีทั้งมหรสพ มีการกินเลี้ยง มีงานทำบุญ มีการปล่อยสัตว์ อย่างพระเจ้าแผ่นดินที่เห็นในทุกวันนี้
สมเด็จเจ้าพระยาฯ แทบจะเป็นการตั้งแบบแผนเลยก็ว่าได้ ว่างานวันเกิดฉลองกันอย่างไร แม้พระราชดำริตั้งต้นเป็นของรชกาลที่ 4 แต่ในรายละเอียดที่ขยายเพิ่มเติมที่เป็นการฉลองขนาดใหญ่นั้นสมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นผู้นำ สำหรับวันเฉลิมพระชนมพรรษา รัชกาลที่ 5 คือวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2396 ก็ค่อยๆ เติมรายละเอียดต่างๆ เข้าไป จากที่รัชกาลที่ 4 ทรงตั้งต้นไว้นั่นคือการบำเพ็ญพระราชกุศล
ซึ่งเป็นข้อขัดข้องมากในคราวเสด็จประพาสยุโรปทั้ง 2 ครั้ง ซึ่งใช้เวลาหลายเดือน กล่าวคือ มี 2 ครั้ง ใน พ.ศ. 2440 และ พ.ศ.2450 ที่รัชกาลที่ 5 อยู่ยุโรปในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ซึ่งมีการอัญเชิญพระพุทธรูปไปในการเสด็จด้วย ทรงตั้งเป็นพระประธานในพิธีบูชาสักการะ และสวดมนต์โดยพระองค์เอง เป็นบำเพ็ญบุญกุศลอย่างหนึ่ง ใช้ใจเป็นสมาธิ รำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ในข้อจำกัดที่ทรงอยู่ต่างประเทศ และทรงสรงน้ำพระสำหรับพระราชดำรัสในการเสด็จออกมหาสมาคม
มีพัฒนาการและมีเรื่องราวมาพอสมควร ในอดีตบางครั้ง สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงแถลงนโยบายประจำปี ตามแบบสหราชอาณาจักร ว่าปีที่ผ่านมารัฐบาลทำอะไรแล้วบ้าง และในปีนี้มีพระราชดำริจะทำอะไร ดังนั้นการที่จะมีกระแสรับสั่งนโยบายรัฐบาลจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ในสมัยรัชกาลที่ 9 เองก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องร่างถวาย ก่อนจะเพิ่งมาเปลี่ยนแนวทางในภายหลังเมื่อปี 2501 กล่าวคือ พระราชดำรัสในวันออกมหาสมาคมจะไม่พูดเรื่องรัฐบาล แต่จะเป็นพระราชดำรัสในเชิงพระบรมราชาโชวาท สำหรับสถานที่ในการเสด็จออกมหาสมาคม มีหลักคือพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่ใดก็ใช้ที่นั่น โดยปกติแล้วก็จะออกมหาสมาคมที่ท้องพระโรง พระที่นั่ง มรินทรวินิจฉัย ภายหลังแม้ไม่ได้ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ไปประทับที่อื่น เช่น รัชกาลที่ 9 ทรงประทับอยู่ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ก็เสด็จออกมหาสมาคม ณ ที่นั้น แต่ปีใดที่มีการเฉลิมฉลองพิเศษพระชนมายุครบรอบปีนักษัตร จะต้องหาสถานที่ที่เหมาะสม เช่น คราวเฉลิม พระชนมพรรษา 5 รอบ 6 พรรษา พ.ศ. 2530 มีการปลูกพระที่นั่งชัยมังคลาภิเษกขึ้นมาชั่วคราว เพื่อออกมหาสมาคมที่ท้องสนามหลวง เนื่องจากมีผู้คนไปร่วมงานจำนวนมากคติของไทยอีกเรื่องหนึ่งคือการรดน้ำผู้ใหญ่
ไม่ใช่การรดน้ำเพื่ออำนวยพรแต่เพื่อขอพรสังเกตได้จากการรดน้ำขอพรตามธรรมเนียมไทยผู้ใหญ่ต้องอายุ 60 ปีขึ้นไป สำหรับพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาใน พ.ศ. 2530 นอกจากพิธีการปกติแล้ว ให้มีการถวายน้ำพระพุทธมนต์ที่ตักจากจังหวัดทั้งหลายและทรงรับด้วยพระครอบเป็นครั้งแรก การที่ทรงรับพระพุทธมนต์ด้วยพระครอบ เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงราชประเพณีและธรรมเนียมราษฎรที่แสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่อายุ 60 ปี เปรียบเสมือนการให้ประชาชนทั้งประเทศรดน้ำพระองค์ท่าน นับเป็นวิวัฒนาการทางราชประเพณีในสมัยรัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ.2554 รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระชนมพรรษา ครบ 84 ปี หรือครบ 7 รอบ ก็มีการเสกน้ำที่วัดพระเชตุพนฯ และเมื่อถึงวันพระราชพิธีออกมหาสมาคม ผู้ที่จะทูลเกล้าฯ ถวายน้ำพระพุทธมนต์ คือประมุข 3 ฝ่ายในอำนาจอธิปไตยทั้งหลาย ได้แก่ ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี และประธานศาลฎีกา ซึ่งในปี 2568 วันที่ 28 กรกฎาคม เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และเป็นวันหยุดประจำเดือนนี้ พร้อมย้อนรอยศึกษาพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจที่สำคัญต่อชาวไทย และในปี 2568 ก็ยังจะมีการประดับธงชาติและธงพระปรมาภิไธยย่อ ภปร.(ธงในหลวง) ในทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการ โรงเรียน บริษัท และบ้านเรือน เพื่อถวายพระพรให้พระองค์มีพระชนมายุยิ่งยืนนานและยังมีการทำความสะอาดแม่น้ำลำคลอง ถนน โรงพยาบาล และประดับรูปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ไว้ที่หน้าบริษัทหรือหน่วยงานต่างๆ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลด้วย
กิจกรรมสำหรับประชาชนชาวไทยทุกคนในวันเฉลิมพระชนมพรรษาหรือวันพ่อแห่งชาติ คือประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน จัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ หรือบำเพ็ญกุศล ทำบุญใส่บาตร เพื่ออุทิศส่วนกุศล และระลึกถึงพระคุณของพ่อ นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมประกาศเกียรติคุณพ่อตัวอย่างหรือพ่อดีเด่น โดยกำหนดคุณสมบัติ คือ มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ส่งเสริมการศึกษาของบุตร ธิดา นับถือศาสนาโดยเคร่งครัดงดเว้นอบายมุขทุกชนิด อุทิศตนเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน
——————————————————————————————-
เอกสารอ้างอิง
พิริยะ ไกรฤกษ์. (2551). ลักษณะไทย พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย. กรุงเทพมหานคร: อัมรินทร์.
สงวน อั้นคง.2529. สิ่งแรกในเมืองไทย. เล่ม 4. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: วังบูรพา,139-144.
ธงทอง. (2568) เปิดที่มาธรรมเนียมการฉลองอายุ-วันเฉลิมพระชนมพรรษาในประเทศไทย สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม
2568 จาก https://royalcelebration.matichon.co.th/news/2702/
จันทรางศุและชัชพล ไชยพร. (2568) ในเสวนาฉลองราชย์ เฉลิมพระชนมวาร. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2568
จาก https://today.line.me/th/v3/article/DRGkW1g
——————————————————————————————-
เรียบเรียงโดย
อ้อมใจ วงษ์มณฑา
นักวิชาการอุดมศึกษาชำนาญการ
สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลป์ยาณิวัฒนา ม.อ.ปัตตานี