ตำนานนางสงกรานต์
ประเพณีสงกรานต์จะเกี่ยวข้องกับเรื่องราวความเป็นมาของนางสงกรานต์ ซึ่งมีหลักฐานการจารึกไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ความว่า มีเศรษฐีคนหนึ่งรวยทรัพย์แต่ไม่มีบุตรไว้สืบสกุล จึงได้บวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีบุตร กระทั่งวันหนึ่งเป็นช่วงที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมน้ำ ได้อธิษฐานขอบุตรกับรุกขเทวดาใต้ต้นไทรนั้น รุกขเทวดาเห็นใจ จึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์ก็มีเมตตาประทานบุตรให้องค์หนึ่งนามว่า “ธรรมบาลกุมาร” และได้ปลูกปราสาทไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัย
เมื่อธรรมบาลกุมาร โตขึ้นได้เรียนรู้ภาษานก และอายุได้เจ็ดขวบ ก็ได้เรียนจบไตรเพท ธรรมบาลกุมาร จึงได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่คนทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ โดยตั้งเงื่อนไขไว้ว่า ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ซึ่งปัญหาที่ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมาร ก็คือ “ตอนเช้าราศีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงราศีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำราศีอยู่ที่ไหน” เมื่อได้ฟังคำถามดังนั้น ธรรมบาลกุมาร ไม่สามารถตอบได้ จึงขอผัดผ่อนท้าวกบิลพรหมไปอีก 7 วัน ระหว่างนั้น ธรรมบาลกุมาร ก็ได้พยายามคิดหาคำตอบ กระทั่งล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารก็ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาล โดยคิดว่า หากไม่สามารถตอบปัญหานี้ได้ ก็ขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญาของท้าวกบิลพรหม นับเป็นความโชคดีที่ธรรมบาลกุมารสามารถฟังภาษานกได้ และบังเอิญบนต้นไม้มีนกอินทรี 2 ตัว ผัว เมียเกาะทำรังอยู่ ธรรมบาลกุมารจึงได้ยินนกสองตัวผัวเมียสนทนากัน โดยนางนกอินทรีถามสามีว่า พรุ่งนี้จะไปหาอาหารแห่งใด สามีได้ตอบนางนกไปว่า เราจะไปกินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งจะถูกท้าวกบิลพรหมฆ่า เพราะเหตุแห่งการตอบปัญหาไม่ได้ นางนกจึงถามว่าคำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามคืออะไร สามีก็เล่าให้ฟัง ซึ่งนางนกก็ ไม่สามารถตอบได้ สามีจึงเฉลยว่า ตอนเช้าราศีจะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุก ๆ เช้า ตอนเที่ยงราศีจะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็นราศีจะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน
เมื่อได้ยินดังนั้น ธรรมบาลกุมาร ก็ได้จดจำสิ่งที่สามีนกพูดไว้ กระทั่งวันรุ่งขึ้น ธรรมบาลกุมาร ได้นำคำตอบดังกล่าวไปตอบกับท้าวกบิลพรหม เมื่อท้าวกบิลพรหมเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ จึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ด อันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่าจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ตามคำท้าไว้ แต่ปัญหาก็คือ ถ้าพระเศียรของพระองค์หากตกไปอยู่ที่ใด ก็จะเป็นอันตรายต่อที่นั้น อย่างเช่น หากตั้งเศียรไว้บนแผ่นดินไฟก็จะไหม้โลก แต่ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศฝนก็จะแล้ง หรือถ้าจะทิ้งในมหาสมุทรน้ำก็จะ แห้งขอด
ด้วยเหตุนี้ ท้าวกบิลพรหม จึงมอบหมายให้ธิดาทั้ง 7 ผลัดเวรกันนำพานมารองรับเศียร โดยให้นาง ทุงษะเทวี ผู้เป็นธิดาองค์โตเป็นผู้เริ่มต้น ซึ่งนางทุงษะก็ได้อันเชิญพระเศียรของท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที จากนั้นนำไปประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธชุลี ณ เขาไกรลาศ และเมื่อครบกำหนด 365 วัน ซึ่งโลกสมมุติว่าเป็นปีหนึ่งเวียนมาถึงวันมหาสงกรานต์ เทพธิดาทั้ง 7 ก็จะทรงพาหนะของตน ผลัดเวรกันมาอันเชิญพระเศียรของบิดาออกแห่ ทำเช่นนี้ทุก ๆ ปี และเนื่องจากเทพธิดาทั้ง 7 ปรากฏตัวในวันมหาสงกรานต์เป็นประจำ จึงได้ชื่อว่า “นางสงกรานต์” (จ.เปรียญ อ้างถึงใน พระมหาอนันต์ อนุตฺตโร, 2562)
ดังนั้นนางสงกรานต์เป็นตำนานการเชื่อมผ่านประเพณีให้มีเรื่องราวที่ได้รับความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นเรื่องราวประวัติพระธิดาทั้ง 7 ของท้าวกบิลพรหม มีบันทึกไว้บนจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งมีเรื่องราวได้บอกถึงคุณลักษณะของนางสงกรานต์และคำทำนายไว้ดังนี้
วันอาทิตย์ นางสงกรานต์ชื่อ “นางทุงษะเทวี” ทัดดอกทับทิม เครื่องประดับคือคือ ปัทมราช ภักษาหารคืออุทุมพร (มะเดื่อ) อาวธ มือขวาจักร มือซ้ายสังข์ พาหนะครุฑ ในปีนั้นเรือสวน ไร่นา เผือกมัน มิสู้จะแพง
วันจันทร์ นางสงกรานต์ชื่อ “นางโคราดเทวี” ทัดดอกปีบ เครื่องประดับมุกดา ภักษาหารเตลัง อาวุธ มือขวาพระขรรค์ มือซ้ายไม้เท้า พาหนะพยัคฆ์ (เสือ) ในปีนั้นจะแพ้เสนาบดี แพ้ท้าวพระยาและนางพระยา
วันอังคาร นางสงกรานต์ชื่อ “นางรากษสเทวี” ทัดดอกบัวหลวง เครื่องประดับโมรา ภักษาหารโลหิต อาวุธมือขวาตรีสูรย์ มือซ้ายธนู พาหนะวราหะ (หมู) ในปีนั้นจะเกิดอันตรายกลางเมือง จะเกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม และมีความเจ็บไข้มาก
วันพุธ นางสงกรานต์ชื่อ “นางมณฑาเทวี” ทัดดอกจำปา เครื่องประดับไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย อาวุธ มือขวาเข็ม มือซ้ายไม้เท้า พาหนะคัทรภะ (ลา) ในปีนั้นท้าวพระยาจะได้เครื่องบรรณาการแต่ต่างเมือง แต่มักจะแพ้ลูกอ่อน
วันพฤหัสบดี นางสงกรานต์ชื่อ “นางกิริณีเทวี” ทัดดอกมณฑา เครื่องประดับมรกต ภักษาหารถั่วงา อาวุธ มือขวาขอ มือซ้ายปืน พาหนะคชสาร (ช้าง) ในปีนั้นมักจะแพ้เจ้าไทย พระสงฆ์ราชาคณะจะได้ความเดือดร้อน
วันศุกร์ นางสงกรานต์ชื่อ “นางกรกมิฑาเทวี” ทัดดอกจงกลนี เครื่องประดับบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ อาวุธ มือขวาพระขรรค์ มือซ้ายพิณ พาหนะมหิงส์ (ควาย) ในปีนั้นข้าวน้ำ ผลไม้ จะอุดมสมบูรณ์ แต่จะมีฝนและพายุจัด จะเกิดเจ็บตายกันมาก
วันเสาร์ นางสงกรานต์ชื่อ “นางมโหธรเทวี” ทัดดอกสามหาว เครื่องประดับนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย อาวุธ มือขวาจักร มือซ้ายตรีศูล พาหนะมยุรา (นกยูง) มักจะเกิดภัยอันตรายขึ้นกลางเมืองและจะมีโจรผู้ร้ายชุกชุม (ประเสริม อร่ามศรีวรพงษ์, 2540)