หอวัฒนธรรมภาคใต้

หอวัฒนธรรมภาคใต้ - Southern Thai Culture Museum

*** ประจำวิทยาเขตปัตตานี ***

หอศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันวัฒนธรรมศึกษกัลยาณิวัฒนา ม.อ.ปัตตานี ได้จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และมรดกทางวัฒนธรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แบ่งเป็น 13 โซน เช่น ภูมิลักษณ์ชายแดนภาคใต้ ก่อนกาลโบราณคดีและชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์ยุคต้น-ปาตานีดารุสลาม-รัตนโกสินทร์

เปิดบริการให้เข้าชม

วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.30 – 16.30 น.

(ปิดวันเสาร์ – วันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์)

หอศิลป์ภาคใต้

หอศิลป์ภาคใต้

***ประจำวิทยาเขตปัตตานี***

การจัดสร้างหอศิลป์ภาคใต้  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  เป็นหนึ่งในแผนงานการบริหารจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา  ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  ด้วยการสนับสนุนการจัดสร้างหอศิลป์ในมหาวิทยาลัยภูมิภาค  ของทบวงมหาวิทยาลัยในมหาวิทยาลัยหลัก  โดยมีเป้าหมายเพื่อใช้จัดแสดงผลงานศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินในภาคใต้  และศิลปินจากประเทศใกล้เคียง  เป็นการรองรับการขยายตัวของวงการศิลปกรรมร่วมสมัยในระดับชาติ และในภูมิภาคอาเซียน

หอศิลป์ภาคใต้  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  บริหารงานโดยสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา  เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่  7  มิถุนายน  2547  มีการจัดแสดงนิทรรศการศิลปกรรมร่วมสมัยในระดับภูมิภาค  ระดับชาติและระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง

หอศิลป์ภาคใต้แบ่งห้องจัดแสดงนิทรรศการออกเป็น  3  ส่วน  ได้แก่

  1. ห้องนิทรรศการหมุนเวียน 1
  2. ห้องนิทรรศการหมุนเวียน 2
  3. ห้องนิทรรศการถาวร
เปิดบริการให้เข้าชม วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.30 – 16.30 น.

(ปิดวันเสาร์ – วันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์)

นิทรรศการผ้าพื้นถิ่นใต้

ห้องพิพิธภัณฑ์ผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้

*** ประจำวิทยาเขตหาดใหญ่ ***

การจุดประกายในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้  เริ่มจากเหตุผลและความจำเป็นของเครื่องนุ่งห่มซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการดำรงชีวิต   จึงเป็นความสำคัญยิ่งในการจัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้โดยเริ่มดำเนินการลงพื้นที่สำรวจแหล่งทอผ้าใน 4 พื้นที่ คือ แหล่งทอผ้าเกาะยอ จังหวัดสงขลา แหล่งทอผ้านาหมื่นศรี จังหวัดตรัง แหล่งทอผ้ายกนคร จังหวัดนครศรีธรรมราช และแหล่งทอผ้าไหมพุมเรียง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ปีพ.ศ.2539 พบว่าระยะแรกแหล่งทอผ้าทุกแหล่งมีปัญหาและสภาพวิกฤตไปในทิศทางเดียวกัน  เช่น ปัญหาขาดความมั่นใจในการประกอบอาชีพการทอผ้า , ปัญหาในการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าที่มีความเข้มแข็งและมั่นคง ,ปัญหาการสืบทอดทักษะการทอผ้า,ปัญหาการขยายจำนวยช่างทอ ,ปัญหาการตลาดและการควบคุมคุณภาพการผลิต  จึงได้มีการดำเนินการจัดทำโครงการย่อยเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้น  ตั้งแต่ปีพ.ศ.2540-ปัจจุบัน ดังนี้

  • โครงการศึกษา รวบรวมลวดลายผ้าและเทคนิคการทอผ้าพื้นบ้านภาคใต้
  • โครงการรวบรวมช่างทอผ้าพื้นบ้านภาคใต้
  • โครงการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าพื้นบ้านภาคใต้
  • โครงการพัฒนาตลาดผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้ (ระดับท้องถิ่น ภูมิภาค ประเทศ)
  • โครงการเพื่อการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์สร้างคุณค่า/คุณประโยชน์ผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้
  • โครงการวิจัยและพัฒนาแบบองค์รวม (สีย้อมธรรมชาติ,คุณภาพการผลิตผ้าทอ,การพัฒนาการแปรรูปผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้ ฯลฯ)
  • โครงการพัฒนาเครือข่ายกลุ่มทอผ้าพื้นบ้านภาคใต้
  • โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้

จึงได้มีการรวบรวมผ้าทอลวดลายโบราณที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละแหล่งที่ได้จากการบริจาคจากเจ้าของผ้าที่มีเจตนารมณ์มอบให้มหาวิทยาลัยเพื่อการมีส่วนร่วมในการจัดตั้งห้องพิพิธภัณฑ์ผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้   รวมทั้งการจัดหาผ้าทอ โดยช่างทอที่มีฝีมือการทอด้วยเทคนิคโบราณ ทอเก็บลายเพื่อเป็นการสืบทอดลวดลายโบราณไว้ไม่ให้สูญหาย  ผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้ที่ได้รวบรวมไว้ถือเป็นหลักฐานที่เปรียบเสมือนบันทึกประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่จะสะท้อนให้เห็นเรื่องราวของชนชาติ ทั้งในแง่ของวิถีชีวิต   สภาพแวดล้อม  ภูมิปัญญา  ค่านิยม  ความเชื่อ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมในแต่ละยุคผ่านผืนผ้า  ต่อมาในปีพ.ศ.2543 จึงเริ่มจัดตั้งห้องพิพิธภัณฑ์ผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้โดยใช้พื้นที่บริเวณชั้น 7 คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นพื้นที่จัดแสดงผ้าทอพื้น และจัดเก็บผ้าทอที่มีจำนวนกว่า 2000 ผืน ต่อมาในปี พ.ศ.2557 – ปัจจุบัน ได้ย้ายสถานที่ทำการไปยังอาคารศูนย์ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และเปิดบริการให้เข้าชมห้องพิพิธภัณฑ์ผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้ได้ทุก วันจันทร์ – วันศุกร์  เวลา 08.30 – 17.00 น.เว้นวันหยุดราชการ

เปิดบริการให้เข้าชม วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.30 – 16.30 น.

(ปิดวันเสาร์ – วันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์)

พิพิธภัณฑ์พระเทพญาณโมลี

พิพิธภัณฑ์พระเทพญาณโมลี

*** ประจำวิทยาเขตปัตตานี ***

ปี  พ.ศ.  2537  พระเทพญาณโมลี  อดีตเจ้าอาวาสวัดตานีนรสโมสร  และอดีตเจ้าคณะจังหวัดปัตตานี  ได้มอบศิลปะโบราณวัตถุให้กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  พร้อมกับมอบทุนทรัพย์จำนวน  2  ล้านบาท  โดยมีผู้จิตศรัทธาบริจาคสมทบอีก  2  ล้านบาท  เพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์พระเทพญาณโมลี  ซึ่งมีการประกอบการพิธีวางศิลาฤกษ์  เมื่อวันที่  18  กรกฎาคม  2529  และทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ  เมื่อวันที่  9  เมษายน  2531  โดยมี  ฯพณฯ  พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์  เป็นประธานในพิธี

          การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ปัจจุบัน  แบ่งออกเป็น  3  ส่วน  ได้แก่

  1. ห้องเครื่องถ้วย เช่น  เครื่องถ้วยลายคราม  เครื่องถ้วยเบญจรงค์  เครื่องถ้วยลายน้ำทอง  และป้านชา  เป็นต้น
  2. ห้องธนบัตรและเหรียญตรา เช่น  ธนบัตรไทยสมัยรัชกาลที่  7 และรัชกาลที่  8  เหรียญตะวันออกกลาง  ที่มีอายุพันกว่าปี  เป็นต้น
  3. ห้องพระเทพญาณโมลี มีศิลปโบราณวัตถุ  เช่น  เครื่องอัฐบริขาร  พระพุทธรูป  พระพิมพ์  พระเครื่อง  และเทวรูป  เป็นต้น
เปิดบริการให้เข้าชม วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.30 – 16.30 น.

(ปิดวันเสาร์ – วันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์)

พิพิธภัณฑ์ศิลปะ 3 มิติชายแดนใต้

พิพิธภัณฑ์ศิลปะสามมิติชายแดนใต้ Art 3D PSU

*** ประจำวิทยาเขตปัตตานี ***

เริ่มก่อตั้ง และสร้างสรรค์ผลงาน ในปี พ.ศ.2559 เป็นเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับสถานที่สำคัญต่างๆ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และวิถีชีวิต  โดยมีขอบเขตพื้นที่ในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งปัจจุบันการถ่ายรูปกับภาพ 3 มิตินั้น กำลังเป็นที่สนใจของผู้คนในสังคม สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา จึงเห็นควรให้ดำเนินการจัดโครงการห้องนิทรรศการ 3 มิติขึ้น เพื่อสร้างสื่อการเรียนรู้ที่แปลกใหม่ ที่น่าสนใจมากขึ้น

เปิดบริการให้เข้าชม วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.30 – 16.30 น.

(ปิดวันเสาร์ – วันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เรือนอำมาตย์โท

พิพิธภัณฑ์เรือนอำมาตย์โท พระยาพิบูลพิทยาพรรค

*** ประจำวิทยาเขตปัตตานี ***

เรือนอำมาตย์โท พระยาพิบูลพิทยาพรรค เป็นบ้านไม้หลังใหญ่ที่สะท้อนให้เห็นความสามารถของเจ้าของเรือนและนายช่างในการผสมผสานวัฒนธรรมไทยและตะวันตกได้อย่างกลมกลืนกัน โดยผู้เป็นเจ้าของเดิม คือ อำมาตย์โท พระยาพิบูลพิทยาพรรค (ทอง คุปตาสา) ดำรงตำแหน่งธรรมการมณฑลปัตตานีและธรรมการมณฑลนครศรีธรรมราช

อำมาตย์โทพระยาพิบูลพิทยาพรรค (ทอง คุปตาสา) เดิมเป็นชาวจังหวัดสิงห์บุรี ท่านได้รับคำสั่งให้ย้ายจากตำแหน่งครูโรงเรียนสวนกุหลาบ มาเป็นว่าที่ธรรมการมณฑลปัตตานี เมื่อ พ.ศ. 2453 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2473 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งธรรมการมณฑลนครศรีธรรมราชอีกตำแหน่งหนึ่ง บ้านหลังนี้สร้างโดยช่างชาวจีน เสร็จประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๖ อันเป็นปีที่พระยาพิบูลพิทยาพรรคลาออกจากราชการ เดิมบ้านตั้งอยู่เลขที่ ๓ ถนนสฤษดิ์ บ้านหันมาทางทิศใต้เยื้องกับโรงพยาบาลปัตตานีเก่า ทางทิศตะวันตกจรดคลองสามัคคี ด้านหลังบ้านติดถนนโรงเหล้าสาย ข บ้านตั้งอยู่ในเนื้อที่ประมาณกว่า ๒๐ ไร่ ซึ่งพระยาพิบูลพิทยาพรรคใช้ปลูกพืชผัก ผลไม้ ดอกไม้นานาชนิด จนบ้านและบริเวณนั้นเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนาม “บ้านสวน”

เรือนอำมาตย์โท พระยาพิบูลพิทยาพรรคหลังนี้สร้างเป็นบ้านไม้ ๒ ชั้น สูงจากพื้นดินประมาณ ๑๗๐ ซม. มีเนื้อที่ชั้นล่างและชั้นบนเท่ากันชั้นละ ๙๐ ตารางเมตร ชั้นล่างมี ๓ ห้อง ห้องด้านหน้าเป็นห้องรับแขก ห้องถัดเข้าไปทางหลังของตัวบ้านเป็นห้องนอนของคุณหญิงสิน ตรงข้ามเป็นห้องโถงใหญ่ ที่มีตู้และชั้นวางหนังสือกั้นแทนฝาเป็นห้องทำงานและห้องพักผ่อนของพระยาพิบูลพิทยาพรรค ซึ่งภายหลังเมื่อมีอายุมากขึ้นท่านได้ใช้เป็นห้องนอน ด้านหลังเป็นเฉลียงขนาด ๘ x ๓ เมตร มีลูกกรงไม้ล้อมรอบเป็นที่อเนกประสงค์ ต่อจากเฉลียงมีระเบียงไม้ลดระดับขนาด ๘ x ๖ เมตร พร้อมทั้งหลังคาเชื่อมไปยังบ้านเรือนไม้ยกพื้นหลังเล็กขนาด ๑๑ x ๑๕ เมตร ซึ่งมีระดับเดียวกับบ้านหลังใหญ่และต่อไปยังเรือนครัวซึ่งลดระดับต่ำลงไปอีกและสูงจากพื้นดินประมาณ ๕๐ ซม. ระเบียงนี้ส่วนที่ติดกับเฉลียงเป็นที่รับประทานอาหารของพระยาพิบูลพิทยาพรรคและครอบครัว

ชั้นบนของบ้านมีเนื้อที่หลักแบ่งออกเป็น ๕ ห้อง ห้องที่อยู่หัวบันไดเป็นห้องมุขรับแขก และสมัยหลังใช้เป็นห้องพักของสมาชิกในครอบครัวด้วย ติดกับห้องมุขเป็นห้องนอนของพระยาพิบูลพิทยาพรรค ห้องตรงข้ามเป็นห้องพักของลูกหลาน ตรงข้ามทางเดินระหว่างสองห้องนี้เป็นห้องนั่งเล่น ติดกับห้องนี้และห้องนอนของท่านเป็นห้องเก็บของ

บ้านโบราณหลังนี้มีหลังคา รวมทั้งลวดลายและแกะสลักตกแต่งตามลักษณะบ้านแบบยุโรปที่เริ่มสร้างในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีหน้าต่างแคบยาว ตีไม้เป็นบานเกล็ดตายตัว แต่มีหน้าจั่วเพิ่มมาด้านหน้า ตัวบ้านทาสีฟ้าอ่อน ตัดขอบด้วยสีฟ้าเข้ม ที่น่าสังเกตคือไม่มีการติดกุญแจที่ประตู มีเฉพาะกลอนภายในเป็นบางห้อง ผู้ที่เคยพักอาศัยในบ้านหลังนี้กล่าวว่าไม่เคยปรากฏว่ามีขโมยทั้ง ๆ ที่บริเวณบ้านกว้าง ไม่มีรั้วบ้าน และติดถนนสองด้าน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพระยาพิบูลพิทยาพรรคเป็นคนดี มีความเด็ดขาด เป็นที่เคารพยำเกรงของบุคคลทั่วไปและชาวบ้านมุสลิมที่อยู่รอบ ๆ ภายในบ้านมีการตกแต่งแบบเรียบ ๆ ส่วนใหญ่เป็นเกียรติบัตร เหรียญ และเครื่องหมายสำหรับเครื่องแบบในโอกาสต่าง ๆ ของพระยาพิบูลพิทยาพรรค มีตู้และชั้นหนังสือเป็นหลัก เนื่องจากเจ้าของบ้านเป็นผู้รักการอ่านการประพันธ์คำกลอนสักวา

หลังจากที่พระยาพิบูลพิทยาพรรคถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ คุณหญิงสินได้ย้ายเข้ากรุงเทพฯ ในเวลาต่อมา ผู้ที่ครอบครองดูแลบ้านหลังนี้คือ คุณเกียรติราช ซึ่งเป็นหลานและใช้เป็นที่พักของนักเรียนนักศึกษาจนถึงปี ๒๕๑๙ ผู้ที่สืบทอดบ้านหลังนี้ต่อมาคือ ว่าที่ ร.ต. ปราโมทย์ และอาจารย์จีรพรพิชญ์ เชาวน์วาณิชย์ ได้บูรณะบ้านให้อยู่ในสภาพที่ดี โดยมีเจ้าหน้าที่ของธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ดูแล ต่อมาว่าที่ ร.ต. ปราโมทย์ เกรงว่าบ้านที่พระยาพิบูลพิทยาพรรคสร้างซึ่งมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์นี้อาจชำรุดได้ เนื่องจากอยู่ในสภาพเป็นแอ่ง เพราะที่ดินโดยรอบได้กลายเป็นที่ตั้งของตึกแถวและบ้านพักอาศัย จึงได้แจ้งกับอาจารย์ปัญญ์ ยวนแหล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในขณะนั้นว่าประสงค์จะบริจาคให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาวิจัยต่อไป

ในระหว่างที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กำลังพิจารณาหางบประมาณที่จำเป็นในการขนย้ายและผู้ที่ทำหน้าที่ประกอบบ้านนั้น ว่าที่ ร.ต. ปราโมทย์ ได้ขายที่ดินบริเวณบ้านให้แก่ นายสมยศ ฉันทวานิช โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องบริจาคบ้านพระยาพิบูลพิทยาพรรคให้แก่มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์

ในเดือนกันยายน ๒๕๓๕ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ผดุงยศ ดวงมาลา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รับหนังสือแจ้งความจำนงขอบริจาคบ้านจากนายสมยศ จึงได้นำนายเอริค บ็อกด็อง (Eric Bogdan) สถาปนิกชาวฝรั่งเศสที่เป็นหนึ่งในกลุ่มนักวิจัยโครงการ Grand Sud มหาทักษิณ) ภายใต้ความร่วมมือของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และรัฐบาลฝรั่งเศส ไปศึกษาความเป็นไปได้ของการเคลื่อนย้ายบ้านหลังนี้

นายบ็อกด็อง ใช้เวลาประมาณ ๒๐ วัน ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๕ สำหรับการแกะแบบและถอดชิ้นส่วนบ้าน เมื่อมหาวิทยาลัยจัดหางบประมาณได้แล้ว ในเดือนมีนาคม ๒๕๓๗ จึงได้เริ่มลงมือประกอบบ้านโดยใช้ช่างท้องถิ่นประมาณ ๑๐ คน จนแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม ๒๕๓๘ ซึ่งช้ากว่าที่กำหนดเพราะต้องลงรากฐาน อันเนื่องจากสภาพดินอ่อนและต้องรอสั่งไม้จากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อทดแทนไม้ส่วนที่โดนปลวกทำลายในระหว่างที่รอการประกอบ โดยมีค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนและประกอบเป็นเงินประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ บาท

การรื้อบ้านโบราณและประกอบใหม่หลังนี้ เป็นหนึ่งในการย้ายอาคารหลังใหญ่เพียงไม่กี่แห่งทั่วโลก และสำหรับบ้านที่มีหลังคาและจั่ว เช่นบ้านที่พระยาพิบูลพิทยาพรรคสร้างนี้ อาจไม่เคยปรากฏมาก่อน สถาปนิกและช่างต้องใช้ความพิถีพิถันในการทำงาน เพื่อรักษาบ้านให้อยู่ในสภาพเดิมมากที่สุด อย่างไรก็ดีส่วนที่ต่างไปจากเดิมคือเพิ่มชายคาลายฉลุชั้นนอกของบ้านให้เข้ากับที่มีอยู่ชั้นใน เปลี่ยนจากหลังคากระเบื้องซิเมนต์ ซึ่งจะดูไม่งามเมื่อเก่า เป็นหลังคากระเบื้องดินเผา โดยว่าจ้างผู้ผลิตซึ่งเหลืออยู่เพียงผู้เดียวในอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ส่วนสีบ้านได้เปลี่ยนจากสีฟ้าเป็นสีขาว เพื่อให้เข้ากับพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน และกระจกช่องแสงใช้แบบลายแทนแบบฝ้าของเดิม นอกจากนี้ได้เพิ่มบันไดสองข้างหน้าระเบียงที่ยื่นออกมาจากเฉลียง

ปัจจุบันเรือนอำมาตย์โท พระยาพิบูลพิทยาพรรคอยู่ในความดูแลของสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ดูน้อยลง

เปิดบริการให้เข้าชม วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.30 – 16.30 น.

(ปิดวันเสาร์ – วันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์)

PSU Art Gallery

ประวัติ PSU Art Gallery

*** ประจำวิทยาเขตหาดใหญ่ ***

เพื่อส่งเสริมให้ “ศิลปะ” มีบทบาทในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ความคิดสร้างสรรค์ ความตระหนักในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม และเปิดโลกทัศน์สู่การอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจในสังคมพหุวัฒนธรรม ตลอดจนบ่มเพาะสุนทรียะให้เกิดขึ้นในวิถีชีวิตและวิธีคิดแก่อนุชนและสังคมโดยรวม โครงการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม จึงได้เริ่มจัดแสดงนิทรรศการศิลปกรรมเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2545 จัดแสดง ณ หอศิลป์สยาม ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาคีเครือข่ายต่าง ๆ

ในปี พ.ศ. 2552  โครงการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม ได้รับการเอื้อเฟื้อสถานที่จาก บริษัท ศรีตรัง แอโกร อินดัสทรี จำกัด มหาชน จึงได้ก่อตั้ง “พิพิธภัณฑ์บ้านหัตถกรรมและศิลปกรรม” (Craft House Museum & Art Gallery) ณ อาคารเลขที่ 34/15-16 หมู่ 4 ถนนคลองเรียน 2 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมให้แก่ชุมชน และเพื่อเป็นพื้นที่เผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์ของเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และศิลปินผ่านการจัดนิทรรศการศิลปกรรมหมุนเวียน รวมถึงส่งเสริมงานหัตถกรรมของท้องถิ่นภาคใต้ผ่านการจำหน่ายและจัดแสดงนิทรรศการผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้

ต่อมาโครงการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม ได้เปลี่ยนสถานภาพจาก “โครงการจัดตั้ง” เป็น “ศูนย์” และได้รับมติให้ปรับปรุงพื้นที่อาคารหอสมุดคุณหญิงหลงอรรถกวีสุนทรเดิม ก่อสร้างเป็นอาคารศูนย์ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม จึงย้ายสถานที่ในการจัดโครงการนิทรรศการศิลปกรรมมายังอาคารหลังใหม่ และจัดตั้งเป็น PSU Art Gallery” ณ ชั้น 2 อาคารศูนย์ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่  โดยได้เปิดทำการและจัดแสดงนิทรรศการเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2558 ในนิทรรศการชื่อ “นิทรรศการศิลปกรรมนานาชาติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ” โดยได้รับเกียรติจาก ท่านชวน หลีกภัย ที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานในพิธีเปิด 

ต่อมาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2562 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้หลอมรวมหน่วยงานหลักด้านศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัย 2 หน่วยงาน คือ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา วิทยาเขตปัตตานี และ ศูนย์ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม วิทยาเขตหาดใหญ่ เพื่อบูรณาการการขับเคลื่อนงานด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมกัน โดยใช้ชื่อสถาบันที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ได้พระราชทานว่า “สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา” โดยยกระดับหน่วยงานเป็น ส่วนงานวิชาการกลาง มีภาระหน้าที่ในการวิจัยและบริการวิชาการ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่และความยั่งยืนด้านศิลปวัฒนธรรม โดยมีสำนักงานบริหารหลักใน 2 วิทยาเขต ได้แก่ อาคารหอศิลปวัฒนธรรม วิทยาเขตปัตตานี และอาคารศูนย์ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม วิทยาเขตหาดใหญ่

ปัจจุบัน PSU Art Gallery สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังคงมุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และพื้นที่เผยแพร่ผลงานด้านศิลปะและวัฒนธรรม ผ่านการจัดโครงการอบรมและจัดแสดงนิทรรศการศิลปกรรมที่มีการหมุนเวียนเรื่องราวและเนื้อหาการเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ ภายใต้การมีส่วนร่วมของเครือข่ายชุมชน ท้องถิ่น สถาบันการศึกษา องค์กรภาครัฐ เอกชน และต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสในการสัมผัสและซึมซับถึงคุณค่าและความงามของงานศิลปะ ส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจด้านศิลปะให้แก่ชุมชน ตลอดจนส่งเสริมการขับเคลื่อนงานด้านศิลปกรรมร่วมสมัยของวงการศิลปกรรมในภาคใต้ต่อไป

เปิดบริการให้เข้าชม วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.30 – 16.30 น.

(ปิดวันเสาร์ – วันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์)