พิพิธภัณฑ์เรือนอำมาตย์โท พระยาพิบูลพิทยาพรรค
*** ประจำวิทยาเขตปัตตานี ***
เรือนอำมาตย์โท พระยาพิบูลพิทยาพรรค เป็นบ้านไม้หลังใหญ่ที่สะท้อนให้เห็นความสามารถของเจ้าของเรือนและนายช่างในการผสมผสานวัฒนธรรมไทยและตะวันตกได้อย่างกลมกลืนกัน โดยผู้เป็นเจ้าของเดิม คือ อำมาตย์โท พระยาพิบูลพิทยาพรรค (ทอง คุปตาสา) ดำรงตำแหน่งธรรมการมณฑลปัตตานีและธรรมการมณฑลนครศรีธรรมราช
อำมาตย์โทพระยาพิบูลพิทยาพรรค (ทอง คุปตาสา) เดิมเป็นชาวจังหวัดสิงห์บุรี ท่านได้รับคำสั่งให้ย้ายจากตำแหน่งครูโรงเรียนสวนกุหลาบ มาเป็นว่าที่ธรรมการมณฑลปัตตานี เมื่อ พ.ศ. 2453 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2473 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งธรรมการมณฑลนครศรีธรรมราชอีกตำแหน่งหนึ่ง บ้านหลังนี้สร้างโดยช่างชาวจีน เสร็จประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๖ อันเป็นปีที่พระยาพิบูลพิทยาพรรคลาออกจากราชการ เดิมบ้านตั้งอยู่เลขที่ ๓ ถนนสฤษดิ์ บ้านหันมาทางทิศใต้เยื้องกับโรงพยาบาลปัตตานีเก่า ทางทิศตะวันตกจรดคลองสามัคคี ด้านหลังบ้านติดถนนโรงเหล้าสาย ข บ้านตั้งอยู่ในเนื้อที่ประมาณกว่า ๒๐ ไร่ ซึ่งพระยาพิบูลพิทยาพรรคใช้ปลูกพืชผัก ผลไม้ ดอกไม้นานาชนิด จนบ้านและบริเวณนั้นเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนาม “บ้านสวน”
เรือนอำมาตย์โท พระยาพิบูลพิทยาพรรคหลังนี้สร้างเป็นบ้านไม้ ๒ ชั้น สูงจากพื้นดินประมาณ ๑๗๐ ซม. มีเนื้อที่ชั้นล่างและชั้นบนเท่ากันชั้นละ ๙๐ ตารางเมตร ชั้นล่างมี ๓ ห้อง ห้องด้านหน้าเป็นห้องรับแขก ห้องถัดเข้าไปทางหลังของตัวบ้านเป็นห้องนอนของคุณหญิงสิน ตรงข้ามเป็นห้องโถงใหญ่ ที่มีตู้และชั้นวางหนังสือกั้นแทนฝาเป็นห้องทำงานและห้องพักผ่อนของพระยาพิบูลพิทยาพรรค ซึ่งภายหลังเมื่อมีอายุมากขึ้นท่านได้ใช้เป็นห้องนอน ด้านหลังเป็นเฉลียงขนาด ๘ x ๓ เมตร มีลูกกรงไม้ล้อมรอบเป็นที่อเนกประสงค์ ต่อจากเฉลียงมีระเบียงไม้ลดระดับขนาด ๘ x ๖ เมตร พร้อมทั้งหลังคาเชื่อมไปยังบ้านเรือนไม้ยกพื้นหลังเล็กขนาด ๑๑ x ๑๕ เมตร ซึ่งมีระดับเดียวกับบ้านหลังใหญ่และต่อไปยังเรือนครัวซึ่งลดระดับต่ำลงไปอีกและสูงจากพื้นดินประมาณ ๕๐ ซม. ระเบียงนี้ส่วนที่ติดกับเฉลียงเป็นที่รับประทานอาหารของพระยาพิบูลพิทยาพรรคและครอบครัว
ชั้นบนของบ้านมีเนื้อที่หลักแบ่งออกเป็น ๕ ห้อง ห้องที่อยู่หัวบันไดเป็นห้องมุขรับแขก และสมัยหลังใช้เป็นห้องพักของสมาชิกในครอบครัวด้วย ติดกับห้องมุขเป็นห้องนอนของพระยาพิบูลพิทยาพรรค ห้องตรงข้ามเป็นห้องพักของลูกหลาน ตรงข้ามทางเดินระหว่างสองห้องนี้เป็นห้องนั่งเล่น ติดกับห้องนี้และห้องนอนของท่านเป็นห้องเก็บของ
บ้านโบราณหลังนี้มีหลังคา รวมทั้งลวดลายและแกะสลักตกแต่งตามลักษณะบ้านแบบยุโรปที่เริ่มสร้างในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีหน้าต่างแคบยาว ตีไม้เป็นบานเกล็ดตายตัว แต่มีหน้าจั่วเพิ่มมาด้านหน้า ตัวบ้านทาสีฟ้าอ่อน ตัดขอบด้วยสีฟ้าเข้ม ที่น่าสังเกตคือไม่มีการติดกุญแจที่ประตู มีเฉพาะกลอนภายในเป็นบางห้อง ผู้ที่เคยพักอาศัยในบ้านหลังนี้กล่าวว่าไม่เคยปรากฏว่ามีขโมยทั้ง ๆ ที่บริเวณบ้านกว้าง ไม่มีรั้วบ้าน และติดถนนสองด้าน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพระยาพิบูลพิทยาพรรคเป็นคนดี มีความเด็ดขาด เป็นที่เคารพยำเกรงของบุคคลทั่วไปและชาวบ้านมุสลิมที่อยู่รอบ ๆ ภายในบ้านมีการตกแต่งแบบเรียบ ๆ ส่วนใหญ่เป็นเกียรติบัตร เหรียญ และเครื่องหมายสำหรับเครื่องแบบในโอกาสต่าง ๆ ของพระยาพิบูลพิทยาพรรค มีตู้และชั้นหนังสือเป็นหลัก เนื่องจากเจ้าของบ้านเป็นผู้รักการอ่านการประพันธ์คำกลอนสักวา
หลังจากที่พระยาพิบูลพิทยาพรรคถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ คุณหญิงสินได้ย้ายเข้ากรุงเทพฯ ในเวลาต่อมา ผู้ที่ครอบครองดูแลบ้านหลังนี้คือ คุณเกียรติราช ซึ่งเป็นหลานและใช้เป็นที่พักของนักเรียนนักศึกษาจนถึงปี ๒๕๑๙ ผู้ที่สืบทอดบ้านหลังนี้ต่อมาคือ ว่าที่ ร.ต. ปราโมทย์ และอาจารย์จีรพรพิชญ์ เชาวน์วาณิชย์ ได้บูรณะบ้านให้อยู่ในสภาพที่ดี โดยมีเจ้าหน้าที่ของธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ดูแล ต่อมาว่าที่ ร.ต. ปราโมทย์ เกรงว่าบ้านที่พระยาพิบูลพิทยาพรรคสร้างซึ่งมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์นี้อาจชำรุดได้ เนื่องจากอยู่ในสภาพเป็นแอ่ง เพราะที่ดินโดยรอบได้กลายเป็นที่ตั้งของตึกแถวและบ้านพักอาศัย จึงได้แจ้งกับอาจารย์ปัญญ์ ยวนแหล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในขณะนั้นว่าประสงค์จะบริจาคให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาวิจัยต่อไป
ในระหว่างที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กำลังพิจารณาหางบประมาณที่จำเป็นในการขนย้ายและผู้ที่ทำหน้าที่ประกอบบ้านนั้น ว่าที่ ร.ต. ปราโมทย์ ได้ขายที่ดินบริเวณบ้านให้แก่ นายสมยศ ฉันทวานิช โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องบริจาคบ้านพระยาพิบูลพิทยาพรรคให้แก่มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์
ในเดือนกันยายน ๒๕๓๕ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ผดุงยศ ดวงมาลา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รับหนังสือแจ้งความจำนงขอบริจาคบ้านจากนายสมยศ จึงได้นำนายเอริค บ็อกด็อง (Eric Bogdan) สถาปนิกชาวฝรั่งเศสที่เป็นหนึ่งในกลุ่มนักวิจัยโครงการ Grand Sud มหาทักษิณ) ภายใต้ความร่วมมือของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และรัฐบาลฝรั่งเศส ไปศึกษาความเป็นไปได้ของการเคลื่อนย้ายบ้านหลังนี้
นายบ็อกด็อง ใช้เวลาประมาณ ๒๐ วัน ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๕ สำหรับการแกะแบบและถอดชิ้นส่วนบ้าน เมื่อมหาวิทยาลัยจัดหางบประมาณได้แล้ว ในเดือนมีนาคม ๒๕๓๗ จึงได้เริ่มลงมือประกอบบ้านโดยใช้ช่างท้องถิ่นประมาณ ๑๐ คน จนแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม ๒๕๓๘ ซึ่งช้ากว่าที่กำหนดเพราะต้องลงรากฐาน อันเนื่องจากสภาพดินอ่อนและต้องรอสั่งไม้จากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อทดแทนไม้ส่วนที่โดนปลวกทำลายในระหว่างที่รอการประกอบ โดยมีค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนและประกอบเป็นเงินประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ บาท
การรื้อบ้านโบราณและประกอบใหม่หลังนี้ เป็นหนึ่งในการย้ายอาคารหลังใหญ่เพียงไม่กี่แห่งทั่วโลก และสำหรับบ้านที่มีหลังคาและจั่ว เช่นบ้านที่พระยาพิบูลพิทยาพรรคสร้างนี้ อาจไม่เคยปรากฏมาก่อน สถาปนิกและช่างต้องใช้ความพิถีพิถันในการทำงาน เพื่อรักษาบ้านให้อยู่ในสภาพเดิมมากที่สุด อย่างไรก็ดีส่วนที่ต่างไปจากเดิมคือเพิ่มชายคาลายฉลุชั้นนอกของบ้านให้เข้ากับที่มีอยู่ชั้นใน เปลี่ยนจากหลังคากระเบื้องซิเมนต์ ซึ่งจะดูไม่งามเมื่อเก่า เป็นหลังคากระเบื้องดินเผา โดยว่าจ้างผู้ผลิตซึ่งเหลืออยู่เพียงผู้เดียวในอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ส่วนสีบ้านได้เปลี่ยนจากสีฟ้าเป็นสีขาว เพื่อให้เข้ากับพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน และกระจกช่องแสงใช้แบบลายแทนแบบฝ้าของเดิม นอกจากนี้ได้เพิ่มบันไดสองข้างหน้าระเบียงที่ยื่นออกมาจากเฉลียง
ปัจจุบันเรือนอำมาตย์โท พระยาพิบูลพิทยาพรรคอยู่ในความดูแลของสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ดูน้อยลง
(ปิดวันเสาร์ – วันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์)