.png)
งานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นงานประเพณีที่ทำกันทุกปี ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้าย ตามจันทรคติของจีน คือหลังวันตรุษจีน 15 วันของทุกปี หรือตรงกับวันเพ็ญ เดือน 3 ตามจันทรคติของไทย มีการสมโภชแห่รูปสลักไม้มะม่วงหิมพานต์ของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและรูปพระอื่นๆ โดยอัญเชิญออกจากศาลมาประทับบนเกี้ยว ตามด้วยขบวนแห่ต่างๆ มีพิธีลุยน้ำข้ามแม่น้ำปัตตานี พิธีลุยไฟที่ตื่นเต้นเร้าใจและแสดงอภินิหาร เพื่อพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่ กลายเป็นงานที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัดปัตตานี เพราะมีผู้คนหลั่งไหลมาด้วยความเลื่อมใสและศรัทธาต่อความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว โดยผู้ร่วมพิธีจะต้องถือศีลกินเจอย่างน้อย 7 วันก่อนทำพิธี ในงานนี้จะมีชาวปัตตานีและชาวจังหวัดใกล้เคียงมาร่วมพิธีกันเป็นจำนวนมาก มีการเซ่นไหว้ และเฉลิมฉลองกันเป็นที่สนุกสนาน นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจังหวัดปัตตานีจะไปสักการะที่ศาลเล่งจูเกียง ถนนอาเนาะรู อำเภอเมืองซึ่งมีรูปจำลองของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวประดิษฐานอยู่ และอีกแห่งหนึ่งคือที่สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่ตำบลกรือแซะ อยู่ในเขตอำเภอเมืองเช่นกัน ต่อมาได้มีการทำรูปจำลองนำไปประดิษฐานยังศาลเจ้าหรือมูลนิธิต่างๆ หลายแห่ง ตามประวัติเล่ากันว่าเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนั้นกำเนิดในครอบครัวตระกูลลิ้ม ในสมัยพระเจ้าซื่อจงฮ่องเต้ แห่งราชวงศ์เหม็ง ราวๆ พ.ศ. 2065-2109 มีพี่น้องชายหญิงหลายคนมีพี่ชายคนหนึ่งชื่อ “ลิ้มโต๊ะเคี่ยม” รับราชการอยู่มณฑลฮกเกี้ยน เมื่อบิดาถึงแก่กรรมลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงได้ย้ายมารับราชการที่เมืองจั่วจิว ปล่อยให้ลิ้มกอเหนี่ยวและพี่น้องคนอื่นๆ เฝ้าดูแลมารดา เล่ากันว่าลิ้มโต๊ะเคี่ยมถูกขุนนางกังฉินใส่ร้ายว่าสมคบกับโจรสลัดญี่ปุ่นเข้าปล้นตีเมืองตามชายฝั่ง จึงถูกทางราชการประกาศจับ ทำให้ต้องจำใจหลบหนีออกจากประเทศจีนกับพรรคพวกไปอาศัยอยู่ที่เกาะไต้หวัน ต่อมาได้เปลี่ยนอาชีพมาเป็นพ่อค้า โดยได้สินค้าจากประเทศจีนบรรทุกเรือสำเภามาขายที่ประเทศไทย และท่าเรือสุดท้ายที่ขายสินค้าคือ
บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลูโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
เจ้าเมืองผู้ครอบครองเมืองกรือเซะสมัยนั้นเป็นชายไทยมุสลิม มีธิดาที่งามเลิศอยู่นางหนึ่ง ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมของพ่อค้าในสมัยก่อนเมื่อนำเรือสินค้าเข้าไปจอดที่เมืองใดก็มักจะนำผ้าแพรพรรณและสิ่งของสวยๆ งามๆ ที่มีค่าขึ้นไปถวายเจ้าผู้ครองเมืองเป็นของกำนัลเพื่อผูกไมตรี ปรากฎว่าเป็นที่พอพระทัยของเจ้าผู้ครองเมืองเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ให้ความสนิทสนมเป็นกันเองอย่างดีเป็นพิเศษต่อลิ้มโต๊ะเคี่ยม เนื่องจากลิ้มโต๊ะเคี่ยมมีความรู้เป็นนายช่างผู้หล่อปืนใหญ่ 3 กระบอกคือศรีนครี มหาลาลอหรือมหาเหล่าหลอ และนางปัตตานีหรือนางพญาตานีให้เจ้าเมืองปัตตานีขณะนั้นเป็นที่พอพระทัยมาก จึงยกพระธิดาให้สมรสด้วย โดยลิ้มโต๊ะเคี่ยมยอมเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามตามฝ่ายธิดาเจ้าเมือง เพราะยึดถือความรักเป็นใหญ่ รวมทั้งลูกเรือที่มากับลิ้มโต๊ะเคี่ยมทั้งหมดก็ไม่กลับประเทศจีน ยอมอยู่กับลิ้มโต๊ะเคี่ยมผู้เป็นนายที่เมืองกรือเซะ และเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม มีภรรยาเป็นคนไทยมุสลิมในเมืองกรือเซะ
หลายปีต่อมามารดาซึ่งอยู่ที่ประเทศจีน ไม่เห็นบุตรชายกลับมาและไม่ส่งข่าว ก็มีความคิดถึงเป็นห่วงไม่เป็นอันกินอันนอน ลิ้มกอเหนี่ยวกับน้องสาวอีกคนหนึ่งต่างก็มีความสงสารมารดา จึงรับอาสามารดาออกติดตามพี่ชาย ออกเดินทางโดยเรือสำเภาติดตามมาจนถึงประเทศไทย และได้พบพี่ชายที่บ้านกรือเซะ ได้พำนักอยู่เป็นเวลานานพอสมควรจึงได้ชักชวนให้พี่ชายกลับประเทศจีนเพราะคิดถึงมารดา แต่ลิ้มโต๊ะเคี่ยมปฎิเสธ เนื่องด้วยกำลังเป็นผู้อำนวยการก่อสร้างมัสยิดกรือเซะขณะนั้น ด้วยความกตัญญูต่อมารดาไม่อาจนำพี่ชายกลับบ้านได้ รวมทั้งแค้นใจและน้อยใจในตัวพี่ชายและมองเห็นแล้วว่าพี่ชายคงไม่ยอมกลับแน่นอน ลิ้มกอเหนี่ยวจึงได้ตัดสินใจสละชีวิตตนเองประท้วงพี่ชาย โดยการผูกคอตายที่ใต้ต้นมะม่วงหิมพานต์ใกล้กับมัสยิด โดยก่อนตายได้สาปแช่งไว้ว่า ขอให้การสร้างมัสยิดที่พี่ชายทำอยู่ไม่มีวันสำเร็จ ส่วนน้องสาวลิ้มกอเหนี่ยวเมื่อเห็นพี่สาวฆ่าตัวตายก็เลยฆ่าตัวตายตาม และลูกเรือที่มาด้วยทั้งหมด เห็นนายฆ่าตัวตายก็พากันฆ่าตัวตายตามนายโดยวิธีลงเรือแล่นออกไปในทะเลแล้วกระโดดน้ำตายหมดทุกคน เหลือทิ้งไว้แต่เรือสำเภา 9 ลำลอยอยู่ในทะเล ซึ่งเมื่อขาดการดูแลก็ชำรุดและจมทะเล คงเหลือไว้แต่เสากระโดงเรือ ซึ่งทำด้วยต้นสน ชูอยู่เหนือน้ำทะเล 9 ต้น บริเวณดังกล่าวต่อมาได้ชื่อว่า “รูสะมิแล” เป็นภาษามลายูซึ่งได้มาจาก “รู” แปลว่า “สน” “สะมิแล” แปลว่า “เก้า” รวมความแปลว่า สนเก้าต้น ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ฝ่ายลิ้มโต๊ะเคี่ยมผู้เป็นพี่ชาย เมื่อรู้ว่าต้องสูญเสียน้องสาวทั้ง 2 คนไปเพราะตนเองก็โศกเศร้าอาลัยยิ่งนัก จึงพร้อมกันจัดพิธีศพตามประเพณีจีนอย่างสมเกียรติให้ และได้ทำฮวงซุ้ยไว้ในบริเวณบ้านกรือเซะ ปัจจุบันมีการบูรณะให้เห็นปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ บรรดาคนจีนสมัยนั้น ได้ทราบซึ้งถึงความกตัญญู ซื่อสัตย์และรักษาคำมั่นสัญญาไปกราบไหว้บูชา ต่อมาฮวงซุ้ยและต้นมะม่วงหิมพานต์ได้เกิดนิมิตและอภินิหารให้ชาวบ้านที่ไปบนบานหายเจ็บไข้ได้ป่วยและมีโชคลาภ ทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง เป็นที่เคารพสักการะมาจนบัดนี้ไม่ได้มีการย้ายฮวงซุ้ยแต่อย่างใด ต่อมาได้นำเอาต้นมะม่วงหิมพานต์มาแกะสลักเป็นองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวประดิษฐานไว้ในศาลเจ้าที่บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลุโล๊ะให้ประชาชนสักการะบูชาด้วย เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2427 พระจีนคณานุรักษ์ (ตันจูล่าย) ซึ่งเป็นหัวหน้าชุมชนจีนขณะนั้น เห็นว่าศาลเจ้าซึ่งประดิษฐานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่หมู่บ้านกรือเซะ ชำรุดทรุดโทรมและอยู่ห่างไกลเป็นระยะทางถึงประมาณ 8 กิโลเมตรจากเมือง จึงได้อัญเชิญองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจากบ้านกรือเซะมาประดิษฐานที่ศาลเจ้าโจวซูกงซึ่งอยู่ในตลาดจีนเมืองปัตตานี และเรียกชื่อศาลเจ้าใหม่ว่า “ศาลเจ้าเล่งจูเกียง” หรือ “ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” ที่บูรณะจากศาลเจ้าซูก๋งให้กว้างขวาง ศาลเจ้าแห่งใหม่นี้มีผู้คนเดินทางมาสักการะบูชาจากทุกทิศทุกภาคของประเทศ จนคณะกรรมการที่ช่วยกันดูแลได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิ ตั้งอยู่เลขที่ 63 ถนนอาเนาะรู ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ซึ่งอยู่ใจกลางเมืองเก่า เดิมเรียก “ตลาดจีนเมืองปัตตานี” สร้างในสมัยราชวงศ์เหม็ง ศักราชบ้วนเละ ปีที่ 2 ตรงกับ พ.ศ. 2117 สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา เดิมเรียกว่า “ศาลเจ้าซูก๋ง” หรือ “ศาลโจ๊วซูกง” เป็นศาลเจ้าประจำชุมชนชาวจีน มีองค์พระหมอหรือโจ๊วซูกงมาเป็นเทพประธานประจำศาลเจ้า อาคารศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเป็นศาลเจ้าชั้นเดียวแบบจีน แบ่งเป็นโถงกลาง ปีกขวาและปีกซ้ายโถงกลางชั้นในมีแท่นบูชา 3 แท่น แท่นกลางคือองค์พระหมอหรือโจ๊วซูกงเป็นเทพประธาน ถือเป็นเทพเจ้าที่ช่วยปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ และเจ้าแม่ทับทิม (หม่าโจ๊วโป่) หรือเจ้าแม่สมุทร แท่นบูชาทางด้านซ้ายเป็นองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และน้องสาวของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภและการค้าขาย แท่นบูชาทางด้านขวาเป็นที่ประดิษฐานขององค์เจ้าที่หรือแป๊ะกง และเจ้าพ่อเสือ หรือตั่วเล่าเอี๊ย เหนือประตูทางเข้าโถงกลางจะมีหิ้งบูชาองค์เจ้าที่ผู้รักษาประตูหรือหมึ่งซิ้ง
โถงทางขวามีรูปปูนปั้นติดฝาผนัง คือเทพซาเจียงกุน ถัดไปทางซ้ายมีแท่นบูชาประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิม
โถงทางซ้ายเป็นแท่นบูชาประดิษฐานเทพเจ้ากวนอูหรือองค์พระกุนเต้กุน
ลานด้านหน้าตรงข้ามศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเป็นแท่นบูชาเทวดา และสถูปสำหรับเผากระดาษเงินกระดาษทอง
-1024x498.jpg)
-1024x498.jpg)
ปัจจุบันนี้สามารถขยายพื้นที่สร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมาเป็นอันมาก มีลานหน้าศาลกว้างขวาง มีอัฒจรรย์สำหรับชมพิธีลุยไฟและมีโอ่งน้ำยักษ์ทาสีแดงสดสามารถจุน้ำได้ 9 หมื่นลิตร ซึ่งก็ล้วนมาจากอภินิหารและบารมีที่มาจากเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนั่นเอง งานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจะมีมโนห์รา งิ้ว และร้านค้าต่างๆ มาจำหน่ายสินค้าอย่างครึกครื้น ซึ่งก่อนวันแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวในเดือน 3 ขึ้น 11, 12 และ 13 ค่ำทุกปีจะมีการสมโภชพระกวนอูกับพระเซี่ยงเต้เอี่ย ซึ่งเป็นพระประจำตระกูลคณานุรักษ์ที่หลวงสำเร็จกิจการจางวางเมืองปัตตานี ผู้เป็นบิดาของคุณพระจีนคณานุรักษ์นำมาจากประเทศจีน ซึ่งเดิมอัญเชิญประทับไว้ที่เหมืองที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 และมีการสมโภชอยู่แล้วเป็นประจำทุกปี คนงานในเหมืองแร่ส่วนใหญ่เป็นคนจีน ต่างก็เคารพสักการะพระประจำตระกูลคณานุรักษ์ ภายหลังได้อัญเชิญมาประทับไว้ที่บ้านเลขที่ 3 ถนนอาเนาะรู สมัยก่อนบ้านแถวถนนนปัตตานีภิรมย์ริมน้ำตลอดถึงแถวถนนอาเนาะรูทั้งหมด เป็นสถานที่ที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานให้แก่หลวงสำเร็จกิจการจางวางเมืองปัตตานี เมื่อครั้งทำความดีความชอบอาสาออกรบครั้งที่ข้าศึกมาประชิดเมืองสงขลา ภายหลังลูกหลานได้รับแบ่งปันมรดาพากันขายแล้วย้ายไปอยู่ที่อื่น จึงยังคงเหลืออยู่บางช่วงของถนนปัตตานีภิรมย์และถนนอาเนาะรูเท่านั้น
.jpg)
ในงานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจะมีประชาชนที่เคารพนับถือศรัทธาในองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวหลั่งไหลมาจากทุกสารทิศเพื่อเคารพสักการะและเฝ้าชมบารมีของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว พิธีเริ่มตั้งแต่เวลาเช้าประมาณ 06.00 น. โดยมีชายหนุ่มชาวจังหวัดปัตตานีหามเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวซึ่งประทับบนเกี้ยวจำนวน 4 คน ออกจากศาลเจ้าพร้อมกับพระองค์อื่นๆ ที่ประทับอยู่ที่ศาลเจ้าแห่งนี้ออกไปแห่ทั่วเมืองปัตตานี พร้อมกับริ้วขบวนที่มีเด็กสาวชาวเมืองปัตตานีวัยต่างๆ เดินถือธูปหามกระเช้าดอกไม้และถือธงขนาดใหญ่ มีเด็กชายวัยรุ่นเล็กตีฉิ่ง ตีกลอง และถือธงขนาดเล็กแทบทุกคนที่เป็นผู้ชาย ในระหว่างการแห่นี้พระจะลงลุยน้ำโดยลงน้ำทั้งคนหามพระลอยไปข้ามแม่น้ำปัตตานีได้โดยไม่จม แม้ว่าคนหามจะว่ายน้ำไม่เป็นก็ตาม เมื่อเสร็จจากการลุยน้ำแล้วก็จะแห่พระต่อไปรอบเมือง โดยแวะเข้าไปในบ้านที่ตั้งโต๊ะกระถางธูปเทียนไว้หน้าบ้าน เพราะถ้าบ้านใดตั้งโต๊ะไว้เช่นนี้แสดงว่าต้องการอัญเชิญพระเข้าไปในบ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคล ทำมาค้าขึ้น หลังจากนั้นก็จะกลับศาลเจ้าเพื่อทำพิธีลุยไฟ การลุยไฟคือการที่คนหามทั้ง 4 เชิญพระซึ่งอยู่บนเกี้ยวเดินลุยเข้าไปในกองไฟใหญ่ ที่ได้นำถ่านไฟมาก่อจำนวนประมาณ 27 กระสอบข้าวสารมาประกอบพิธีที่บริเวณหน้าศาลเจ้า เจ้าหน้าที่ก่อไฟให้ไฟติดถ่านจนร้อนแดงจัดแล้วอัญเชิญพระเซ๋าซูกงหรือพระหมอเข้าลุยไฟเป็นองค์แรก โดยมีพระองค์อื่นๆ ลุยไฟตาม การลุยไฟนี้พระองค์หนึ่งๆ จะลุยไฟกี่เที่ยวก็ได้ คนหามพระสามารถเดินเหยียบผ่านบนกองไฟที่ลุกโชนท่วมศีรษะได้โดยไม่ไหม้ นับเป็นปาฏิหาริย์ที่อัศจรรย์ยิ่ง คนที่จะหามพระลุยไฟได้ต้องมีข้อแม้ว่า ร่างกายจะต้องสะอาด งดเว้นข้องเกี่ยวกับสตรีเพศอย่างเด็ดขาด บางคนจึงมานอนค้างที่ศาลเจ้า โดยนอนเฝ้าคานหามตลอดคืนเพื่อให้ร่างกายสะอาดอย่างแท้จริง และเป็นการเฝ้าคานหามมิให้ผู้อื่นแย่งไปหามก่อนตน
นอกจากนี้ในงานสมโภชจะมีผู้คนมาทำบุญกันมากมาย บ้างก็มายืมเงินเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวไปเป็นเงินก้นถุงสำหรับทำการค้าขาย เช่นปีนี้ขอยืมไป 100 บาท ปีหน้าก็เอาเงินมาคืน 200 บาท บ้างก็นำของไปถวายเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เช่น ส้ม องุ่น ขนมเต่า เป็นต้น บางคนก็ทำบุญโดยมาขอซื้อขนมหรือของที่มีผู้นำมาถวายเจ้าแม่เพื่อเป็นสิริมงคล ในการซื้อของเหล่านี้จะมีเจ้าหน้าที่ทอดลูกเบี้ยถามราคา เช่นขนมเต่าตัวนี้ราคา 100 บาทได้ไหม? หากเป็นคนจนอาจลดราคาลงเป็น 50 บาท แต่ถ้าเป็นคนรวยอาจเพิ่มราคาเป็น 150 บาท แต่อาจมีบางคนที่มีฐานะยากจนมาช่วยเหลือและรับใช้งานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เมื่อขอขนมหรือผลไม้เอาไปรับประทาน เจ้าแม่ก็ให้โดยไม่คิดเงิน เมื่อหายแล้วจะแก้บนเป็นสร้อยคอ แหวน ซึ่งเป็นของคำแท้ๆ นอกจากนี้ในการเซ่นไหว้สักการะเจ้าแม่ ยังมีเครื่องกระดาษธูปเทียน นัยว่าท่านโปรดผ้าแพรสีแดง และสร้อยมุกๆ นั้นที่ปฏิบัติกันอยู่ก็คือเมื่อไหว้และอธิฐานแล้วก็จะนำไปคล้องที่ศอเจ้าแม่ทั้ง 2 เส้นและนำคืนมา 1 เส้นคล้องคอผู้ไหว้นำกลับไปบูชาที่บ้าน
.png)
-1024x683.jpg)
-683x1024.jpg)
.png)
.png)
_____________________________________
บทความวิชาการ
เรียบเรียง/เขียน โดย นางอ้อมใจ วงษ์มณฑา นักวิชาการอุดมศึกษา