ภายหลังผ่านพ้นจากหยาดฝนเมื่อเดือนที่ผ่านมา สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงนี้ได้เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนอีกครั้ง แสงแดดและสายลมเริ่มแผดเผาและลามเลียผิวกายของผู้คนในพื้นที่รวมทั้งบรรดาสรรพสัตว์และต้นไม้ใบหญ้า กิจกรรมและประเพณีในฤดูกาลนี้ที่เราสามารถสังเกตุอย่างชัดเจนและกระจายตัวราวดอกเห็ดในพื้นนที่แห่งนี้ คือ งานมาแกแตมีความหมายตามตัวอักษรคือ กินน้ำชา ความหมายโดยรวมตามบริบทของพื้นที่ คือ งานบุญเพื่อการระดมทุนให้แก่โรงเรียนตาดีกา ปอเนาะ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม มัสยิด หรือแม้กระทั่งการระดมเพื่อช่วยเหลือผู้ที่จะไปศึกษาด้านศาสนาต่อยังต่างประเทศหรือเพื่อการช่วยเหลือกรณีเกิดอุบัติเหตุ เภทภัยต่าง ๆ แก่ครอบครัวที่มีความจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือด้านการเงิน

เสียงประกาศเรียกร้องเชิญแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงานมาแกแตภายในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามย่านชุมชนกรือเซะดังก้องไปถึงริมถนนระหว่างบริเวณที่พวกเรากำลังจะจอดรถ ระหว่างสองข้างทางก่อนถึงบริเวณโรงเรียนที่จัดงานมีทีมนักเรียน มีกลุ่มเยาวชนโบกมือและถือปี๊บสำหรับบรรจุเงินเพื่อขอระดมทุนในการจัดงานมาแกแตของโรงเรียน โดยผู้ขับขี่ยานพาหนะจะร่วมบริจาคมากน้อยหรือไม่ร่วมด้วยก็แล้วแต่จิตศรัทธา บางแห่งจะมีการเตรียมน้ำดื่ม 1 ขวดเพื่อมอบเป็นของสมนาคุณแก่ผู้บริจาคอีกด้วย

วิถีมาแกแตของพื้นที่ชายแดนใต้เป็นเช่นนี้มานานนมแล้วตั้งแต่ฉันจำความได้ เพียงแต่รูปแบบบางอย่างอาจมีการปรับเปลี่ยนไปบ้างตามยุคสมัย แต่โครงสร้างและเป้าหมายโดยรวมก็ยังคงเดิม นั่นคือวิถีแห่งการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยการพึ่งพาแรงกายแรงใจจากชุมชน ญาติมิตร ผู้คนทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก แต่มีใจที่ที่ต้องการช่วยเหลือกัน

Article%20Makaetae%20%281%29

ในบริเวณงาน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเที่ยง เราจึงพบปะกับผู้คนมากหน้าหลายตา หลากหลายอาชีพมุ่งหน้าไปสู่ทิศทางเดียวกันคือโรงเรียนที่จัดงานมาแกแตแห่งนี้ ด้านหน้าโรงเรียนถูกประดับประดาด้วยธงดอกไม้ทางมะพร้าวเป็นสีแดงเขียว ทอง แวววาวระยิบระยับล้อกับแสงอาทิตย์ เด็กนักเรียนผู้หญิงกลุ่มหนึ่งประมาณ 4-5 คนยืนต้อนรับแขกเหรื่อพร้อมเชื้อเชิญเข้าสู่บริเวณงานฯ ชายวัยกลางคนและสูงวัยอีกประมาณ 3-4 คน กำลังสลาม*มือกับคนรู้จักและแขกที่เข้าสู่บริเวณงานด้านซ้ายมือ เมื่อเข้าไปสู่บริเวณโรงเรียนด้านขวามือจะมีเต็นท์ขนาดกลางกางอยู่และมีนักเรียน 6 คนยืนขายเครื่องข้าวยำ น้ำบูดู ขนมพื้นบ้านมลายู เช่น ฆลอเมาะอาบู ยำสาหร่ายผมนาง และเรียกร้องเชิญชวนให้คนเข้ามาอุดหนุนสินค้าเพื่อระดมทุนให้แก่โรงเรียน

ฉันและเพื่อนอีกคนหนึ่งเดินด้วยกันไปยังจุดกางเต็นท์เพื่อทานอาหารเที่ยงด้วยกัน ในยามเที่ยงเช่นนี้โต๊ะและเก้าอี้ทุกตัวเหมือนจะมีคนนั่งและจับจองเกือบเต็มพื้นที่ สายตาฉันประสบพบกับรุ่นน้องและเพื่อนเก่าสมัยเรียนปริญญาตรีซึ่งเป็นครูสอนในโรงเรียนแห่งนี้ จึงเดินเข้าไปทักทายและสลามจากนั้นแยกย้ายหาที่นั่ง ตรงที่ใกล้ ๆ กับที่เรายืนอยู่มีสามีภรรยาคู่หนึ่งนั่งทานข้าวอยู่ก่อนแล้ว เพื่อนฉันทักทายและสอบถามว่าที่นั่งว่างหรือไม่ เมื่อได้รับคำตอบว่าว่าง เราจึงขออนุญาตร่วมนั่งทานข้าวด้วยกันกับพวกเขา

อาหารที่ใช้สำหรับเลี้ยงแขกในงานมาแกแตส่วนใหญ่ตามประเพณีนิยมคือ ข้าวยำ ไข่ต้ม ข้าวเกรียบ โดยข้าวเกรียบกับไข่ต้มนั้น โดยส่วนใหญ่ทางเจ้าภาพมักจะให้เด็ก ๆ หรือนักเรียนทำหน้าที่เร่ขายเพื่อหางบพิเศษภายในงาน โดยในอดีตสมัยเมื่อยังเด็กฉันเองก็เคยทำหน้าที่นี้เมื่อครั้งมีการจัดงานมาแกแตในหมู่บ้าน นอกจากนี้บริเวณรอบๆ งานยังมีเครื่องเคียงกับข้าวอื่น ๆ ที่วางขายเพื่อให้แขกได้ลิ้มรสอร่อยเพิ่มเติม โดยอาจจ่ายเงินเพื่ออีกสักหน่อย เพื่อลิ้มลองรสชาติในอีกหลากหลายเมนู เช่น หอยฆอและ ไก่ทอด ปลาย่าง และอื่น ๆ ทั้งนี้สิ่งที่น่าสนใจยิ่ง คือ งานมาแกแตส่วนใหญ่ไม่มีน้ำชาให้ดื่ม ซึ่งบางท่านอาจจะสงสัยว่าชื่องานมาแกแตคือดื่มชาแต่ทำไมไม่มีน้ำชาให้ดื่ม ยกเว้นบางงานที่เจ้าภาพจะมีการเตรียมแตออหรือชาดำร้อนเพื่อต้อนรับแขกเหรื่อ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นงานมาแกแตแบบระดมทุนรายเพื่อช่วยเหลือให้แกครอบครัวหรือรายบุคคลมากกว่า อนึ่งในประเด็นนี้ฉันเองก็จะต้องพยายามหาข้อมูลที่น่าเชื่อถือและสามารถอ้างอิงได้เพิ่มเติมเพื่อเป็นคำตอบในเรื่องนี้ต่อไปเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ในอดีตงานมาแกแตเจ้าภาพแทบทุกงานเกือบจะไม่ต้องใช้งบลงทุนในการจัดงานมากมาย เนื่องจากวัตถุดิบในการจัดงาน เช่น ด้านการเตรียมการเรื่องอาหาร ข้าวสาร มะพร้าว ปลา ผัก น้ำบูดู ข้าวเกรียบและอื่น ๆ ล้วนมาจากการบริจาคร่วมแรงร่วมใจจากชาวบ้านในชุมชน รวมทั้งแรงงานในการช่วยงานต่าง ๆ ก็เช่นเดียวกัน เพราะในสมัยก่อนผู้คนในพื้นที่แห่งนี้ล้วนมีศูนย์รวมใจในการอุทิศแรงกายแรงใจและความคิด ในการทำงานเพื่อศาสนา การช่วยเหลือผู้อื่น เมื่อมีงานมาแกแตเกิดขึ้น เจ้าภาพจึงล้วนได้รับยอดเงินบริจาคอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยซึ่งมีความแตกต่างจากยุคสมัยนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องต้นทุนการจัดงาน วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อาจต้องมีการซื้อหรือจ้างแรงงานบ้างในบางงาน

นิยามศัพท์เฉพาะ

  สลาม หมายถึง การสัมผัสมือเพื่อทักทายหรืออำลาตามรูปแบบของชาวมุสลิม

_____________________________________

บทความวิชาการ

มาแกแต : วิถีแห่งการช่วยเหลือ โอบอุ้มของชาวมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

เรียบเรียง/เขียน โดย นางสาวรอฮานี ดาโอ๊ะ นักวิจัย

Recommended Posts