วันนี้ชวนอ่านวิถีชีวิตชายแดนใต้ด้านประเพณี พิธีกรรมทางวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ได้ปฏิบัติ สืบทอดจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันของชุมชนชาวพุทธเกี่ยวกับสถานการณ์โนราโรงครูปัตตานีในปัจจุบัน เพื่อต้องการเผยแพร่ข้อมูลให้สังคมได้รับรู้ถึงความงดงามทางต้นทุนวัตถุดิบด้านวัฒนธรรมของคนชายแดนใต้

         ประวัติโนราโรงครูโนราโรงครูเกิดขึ้นเมื่อใดยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่โนราเป็นศิลปะการแสดงทางวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกอยู่ในสายเลือดของคนใต้ แต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกันไปบ้าง เช่นเดียวกับโนราโรงครูในสามจังหวัดชายแดนใต้ก็มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์บางอย่างที่แตกต่างจากโนราโรงครูภาคใต้ตอนบน จังหวัดพัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช เป็นต้น เช่น การรับไหว้หน้าหิ้ง  การไหว้ตายายเดือน 6 ภาคใต้ตอนบนจัดพิธีกรรมขึ้นต้องมีนายโรงโนราโรงครูไปเล่น  แต่โนราโรงครูสามจังหวัดชายแดนใต้ จะมีหมอพื้นบ้านดำเนินพิธีกรรมเอง นอกจากยังมีรายละเอียดของความแตกต่างในส่วนของพิธีกรรมอื่น ๆ เช่น โนราโรงครูในสามจังหวัดชายแดนใต้ จะวันรับแสดงโนราโรงครูต้องไม่ตรงกับวันดอย วันยกหมฺรับไม่ตรงกับวันพระ  วันส่งตายายต้องหลังเที่ยงคืน   ถ้ามองพิธีกรรมโนราโรงครูจะมีความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคณะ แต่ละพื้นที่ และแต่ละบริบทที่ได้รับการสืบทอดต่อๆ กันจากรุ่นสู่รุ่นจนเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของการสืบทอดและปฏิบัติ

ส่วนประวัติและที่มาของมโนราห์โรงครูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีลักษณะการผสมผสานระหว่างความเชื่อดั้งเดิมเรื่องผี วิญญาณบรรพบุรุษ และการผสมผสานระหว่างโนราโรงครูภาคใต้ตอนบท คือ สงขลา พัทลุง และผสมผสานกับศิลปะการแสดงมะโย่งของชาวมลายูมุสลิม ดังนั้น ครูหมอโนราจะมีทั้งบรรพบุรุษที่เป็นฝ่ายพุทธและมุสลิม และบางคณะมีบรรพบุรุษฝ่ายจีน และบางคณะโนราโรงครูจะมีเชื้อสายบรรพบุรุษและโนราที่เป็นอุปัชฌาย์ได้มาตัดจุด (ครอบเทริด) จากภาคใต้ตอนบน เช่น จังหวัดสงขลา และพัทลุง ก็จะยึดรูปแบบการแสดงตามที่ได้รับการสืบทอด ดังนั้น โนราโรงครู 3 จังหวัดชายแดนใต้จึงมีความหลากหลายด้านพิธีกรรมและรูปแบบของการแสดง ซึ่งมีทั้งส่วนดีและส่วนที่ต้องร่วมกันเสวนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อปรับความเข้าใจ เพื่อทะลุกรอบการปฏิบัติที่แตกต่างกันไปสู่การสร้างพลังร่วมกันในการอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปะการแสดงพื้นบ้านโนราโรงครูสามจังหวัดชายแดนใต้ จากการสำรวจและสัมภาษณ์ศิลปินโนราโรงครูในเบื้องต้น พอสรุปได้ว่า 

สาเหตุการแสดงโนราโรงครูมี 3 สาเหตุด้วยกัน คือ 1.รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีตามพันธสัญญาระหว่างบุตรหลานกับครูหมอโนรา 2. ลูกหลานเจ็บป่วยโดยไร้สาเหตุ  ต้องยกขันหมากมาให้นายโรงเพื่อทำพิธีบนบานให้บุตรหลานหายจากอาการเจ็บป่วย 3. การบนบานต่อครูหมอโนราช่วยเหลือ เช่น ให้ได้ลูกชายคนแรก พออายุประมาณ  7 ขวบ จะยกโรงพิธีเพื่อให้หัวหน้าคณะโนราโรงครูพาเด็กลงล่าง หรือบางครั้งเด็กเกิดมาแล้ว สุขภาพอ่อนแอ เจ็บป่วยบ่อย เลี้ยงยาก ก็จะบนบานต่อครูหมอมโนราโรงครูให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง ปราศโรคภัยไข้เจ็บ 

         นอกจากนั้นจะมีการบนบานให้ครูหมอโนราช่วยเหลือ เช่น การสอบเข้ารับราชการ ม่ต้องเป็นทหารเกณฑ์ เป็นต้น เมื่อได้ทุกสิ่งที่ปรารถนา ต้องมีการยกโรงครูขึ้นมาแสดง ซึ่งรูปแบบการแสดงโนราโรงครูในสามจังหวัดชายแดนใต้มีอยู่ 3 แบบ คือ

1. โนราโรงครูแก้บน (แบบไม่ยกครู) คือไม่ได้มีกฎเกณฑ์รูปแบบพิธีกรรมอย่างชัดเจน ใช้เวลาประมาณ 1 2 ชั่วโมง สาเหตุมาจากชาวบ้านได้บนบานกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น หลวงปู่ทวด อดีตเจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ และสถานที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในชุมชน เป็นต้น จะมีนายโรง พร้อมด้วยนางรำ 1 คน พราน 1 คน และลูกคู่บรรเลงเครื่องดนตรีพอเป็นพิธี

         2. โนราโรงครูแก้บน (แบบยกครู)  ประกอบพิธีกรรม 2 แบบด้วยกัน

           2.1 โนราโรงครูแก้บนแบบครึ่งซีกโรง คือ นิยมใช้พื้นที่บนบ้านประกอบพิธีกรรมแบบย่นย่อ มีการเชื้อครูหมอโนรา สภาวะการเข้าทรงถวายเครื่องเซ่นแก่ครูหมอโนราออกพราน การร่ายรำระหว่างครูหมอกับบุตรหลาน เพื่อความสนุกสนาน จะใช้เวลาการแสดง 1 วัน เริ่มการเข้าโรงตั้งแต่เช้า พอตกเย็นก็เป็นอันเสร็จพิธี การยกโรงโนราแบบนี้สาเหตุมาจากฐานะทางการเงินของเจ้าภาพ ที่ไม่มีความพร้อม และได้ขอต่อครูหมอโนราอย่างถูกต้องพิธีกรรม

          2.2 โนราโรงครูแก้บนตามแบบประเพณีปฏิบัติ คือ รูปแบบ พิธีกรรม ขั้นตอนการยกโนราโรงครูตามประเพณีปฏิบัติตามขั้นตอนพิธีกรรมที่ถูกต้องตามแบบแผนที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมา เวลาในการแสดง 3 คืน 2 วัน

           3. โนราโรงครูกับบริบทที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดง คือ โนราโรงครูเกี่ยวข้องวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนชาวพุทธในบริบทอื่นๆ เช่น งานประเพณีรับเทวดาประจำปีช่วงเดือน 6 เป็นการส่งเทวดาองค์เก่า และต้อนรับเทวดาองค์ใหม่ จะต้องให้คณะโนราโรงครูเป็นตัวแทนทางจิตวิญญาณในการต้อนรับ ไม่อย่างนั้นจะเกิดอาเพศต่าง ๆ เช่น ฟ้าผ่าวัวควายตายกลางทุ่งนา ชาวบ้านเจ็บป่วยและตายโดยไร้สาเหตุ

พิธีการเหยียบเสน

การเซ่นไหว้ตายาย

      ฤดูการแสดงโนราโรงครู คือ ปัจจุบันเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลง ระบบความคิด ความเชื่อของคนเปลี่ยนแปลงตามอดีตโนราโรงครูในสามจังหวัดชายแดนใต้นิยมแสดงช่วงเดือน 6 เดือน 7 เดือน 9 และเดือน 11 ตามจันทรคติ ปัจจุบันเริ่มปรับเปลี่ยนการแสดงตั้งแต่เดือน 4 เดือน 6 เดือน 7 เดือน 8 (เล่นเฉพาะช่วงเวลาข้างขึ้นก่อนเข้าพรรษา) เดือน 9 เดือน 11 ส่วนเดือนที่ไม่ได้มีการแสดงคือ เดือน 1 เดือน 2 (เข้าสู่ฤดูน้ำหลาก) เดือน 3 (เชื่อว่า ครูหมอโนราโรงครูมีความสุขสนุกสนานกับการเล่นครื้นชายทะเล)  เดือน 5 เดือน 10 (เชื่อว่าครูหมอโนราโรงครูร่วมสังเวยเครื่องเซ่นสังเวยตามประเพณี) และเดือน 12 (เข้าสู่ช่วงฤดูฝน)  เวลาการแสดง 3 คืน 2 วัน อัตราค่าจ้างแสดงโนราโรงครูแต่ละคณะจะไม่เท่ากันประมาณ 5 หมื่นถึง 8 หมื่นบาท

           บริบทพื้นที่โนราโรงครูในสามจังหวัดชายแดนใต้ จากการสัมภาษณ์ศิลปินพื้นบ้านโดยภาพรวมคือ ค่านิยมคนดูโนรามีจำนวนน้อย และมักจะห้ามบุตรหลานและญาติๆ ว่าอย่าบ่นบานอะไรเกี่ยวกับโนราโรงครู เพราะกลัวว่าจะถูกครูหมอโนราดลบันดาลให้เจ็บป่วย ไม่สบาย และเกิดภัยต่าง ๆ แต่ที่โนราโรงครูยังสืบทอดต่อไปด้วยเหตุที่ครอบครัวที่มีเชื้อสายครูหมอโนรา ยังมีความเชื่อ เคารพ และพร้อมจะสืบทอดยังมีอยู่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่โนราโรงครูในสามจังหวัดชายแดนใต้ ยังมีการสืบทอดและปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีการแสดงโนราโรงครูอย่างเข็มข้นมาได้จนถึงปัจจุบัน โดย จุดศูนย์กลางโนราโรงครูในสามจังหวัดชายแดนใต้  คือ จังหวัดปัตตานี  ส่วนจังหวัดยะลา และนราธิวาส มีอยู่จำนวนน้อยและจะเป็นคณะลูกศิษย์ที่ได้รับการสืบทอดจากคณะโนราโรงครูจังหวัดปัตตานี

          ส่วนบริบทด้านการแสดงโนราโรงครูในสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งจังหวัดปัตตานีเป็นจุดศูนย์กลางยังมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปบ้างตามเขตแดนทางภูมิศาสตร์ เช่น โนราโรงครูฝั่งตะวันตก ได้แก่ อำเภอโคกโพธิ์ อำเภอนาเกตุ บางคณะจะได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้จากรุ่นสู่รุ่นมาเป็นเวลาร่วม 200 ปี และบางคณะบรรพบุรุษและผู้เป็นอาจารย์มาจากคณะโนราโรงครูจากภาคใต้ตอนบท คือ สงขลา พัทลุง ก็จะยึดรูปแบบการแสดงตามแบบฉบับที่ได้รับการสืบทอดและโนราโรงครูฝั่งตะวันออก ได้แก่อำเภอมายอ อำเภอแม่ลาน อำเภอยะหริ่ง อำเภอยะรัง อำเภอสายบุรี อำเภอไม้แก่น ส่วนใหญ่จะได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่ร่นมาเป็นเวลาร่วม 200 ปีเช่นเดียวกัน แต่มีจะลักษณะการร่ายรำผสมผสานและบูรณาการกับศิลปะกาแสดงมะโย่ง เพราะคณะโนราโรงครูฝั่งตะวันออก ส่วนใหญ่จะผ่านการแสดงร่วมกับโนราควน (แขก) และในอดีตลูกคู่ตีเครื่องดนตรีบางคนมาจากโนราควน (แขก) ซึ่งเป็นชาวมลายูมุสลิม แต่ปัจจุบันลูกคู่ตีเครื่องมุสลิมเริ่มเลื่อนหายไป เพราะลูกคู่มุสลิมบางคนได้ไปแสวงบุญที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย กลับมาจะเลิกเล่นลูกคู่ตีเครื่องดนตรี ส่วนลูกคู่มุสลิมที่ยังเหลืออยู่ก็ไม่กล้ามาร่วมเล่นกับคณะโนราโรงครูอย่างเช่นเคย เพราะด้วยอิทธิพลจากการนับถือศาสนา

       ดังนั้น ช่วงก่อนสถานการณ์โควิด 19 โนราโรงครูใน 3 จังหวัดยังพอแสดงอยู่ได้ ส่วนใหญ่จังหวัดปัตตานีจะแสดงโนราโรงครูแบบพิธีกรรม  ส่วนการแสดงโชว์ ยังมีน้อย แถบจังหวัดนราธิวาสจะรับงานโชว์ รำแก้บน เป็นส่วนมากงานโนราโรงครูแบบพิธีกรรมมีน้อย เพราะกลุ่มเป้าหมายความนิยมแตกต่างกัน และสถานภาพครอบครัวที่มีเชื้อสายครูหมอโนราโรงครูกับคณะโนราโรงครูจะมีความสัพพันธ์กันมาตั้งแต่อดีตบรรพบุรุษรับโนราโรงครูคณะไหนจะรับคณะนั้นต่อๆกันมา ไม่ค่อยจะเปลี่ยนใจไปรับโนราโรงครูคณะอื่นๆ ดังนั้นคณะโรงครูสามารถจัดทำตารางการแสดงประจำปีได้ ซึ่งการแสดงโนราโรงครูประปียังมีความเข้มแข็งและสืบทอดต่อไปได้ บรรดาเหล่าลูกคู่ตีเครื่องและลูกคู่นางรำมีรายได้เสริมมาเป็นค่าครองชีพของครัวเรือน ส่วนการแสดงตามเทศกาลและกิจกรรมของรัฐค่อนข้างมาก เช่น  สำนักงานจังหวัด สำนักงานวัฒนธรรม งานมหกรรม งานบุญ งานกฐิน งานวัดแม้ว่าค่าตอบแทนไม่สูง แต่จะได้ฝึกฝนลูกคู่และเหล่านางรำไปด้วย

……………………………………………………………………

ภาวะการเข้าทรง

เรียบเรียงบทความโดย

ประสิทธิ์ รัตนมณี นักวิจัย สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

Recommended Posts