ความเป็นมาเกี่ยวกับ โนราควน (แขก) ซึ่งภาษามลายูเรียกว่า “เมอนอรอ” ผู้แสดงสามารถเจรจาบทได้ทั้งภาษาไทยและภาษามลายู และขับร้องบทเป็นภาษามลายู จึงเรียกว่า “โนราแขก” มีประวัติการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาเป็นเวลาประมาณร่วม200 กว่าปีในอดีตเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ มีลักษณะการผสมผสานระหว่างโนราโรงครู และมะโย่งของชาวมลายูมุสลิมจากการสำรวจและสัมภาษณ์ศิลปินโนราควน (แขก) เบื้องต้น สรุปได้ว่า ประวัติและที่มาของโนราควน (แขก) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เนื่องมาจากในอดีตได้มีคณะโนราไทยได้เผยแพร่เข้ามาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่ของชุมชนชาวพุทธ ส่วนชุมชนมุสลิมนิยมดูศิลปะการแสดงมะโย่ง จึงได้ประยุกต์โนราไทยให้มีรูปแบบการแสดงด้วยสองภาษาเพื่อต้องการให้มีมุสลิมได้ร่วมแสดงและสามารถดูและฟังรู้เรื่อง
คำว่า โนราควน เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นตามพื้นที่ของคณะโนราควนยังรับความนิยมและมีชื่อเสียงอย่างมากในสมัยนั้นตั้งอยู่ที่ตำบลควน อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี แต่ช่วงเวลาการแสดงจะต้องพูดสองภาษา เช่น ช่วงเวลาตัวพระ คือ โนรา พูดกับ ตัวนางรำ หรือเวลาจับบทบางบท ต้องขับเป็นภาษามลายู บางพื้นที่จึงเรียกว่า โนราแขก หรือบางพื้นที่เรียกว่า โนราแขกสองภาษา คือ ภาษาไทยกับภาษามลายู ปัจจุบันจึงเรียกได้ 3 ชื่อด้วยกัน คือ โนราควน โนราแขก และโนราแขกสองภาษา
สาเหตุ ฤดูกาล และพิธีการเล่นโนราควน (แขก) คือโนราควนจะมีตายายประจำตระกูลทั้งเชื้อสายมลายูพุทธและเชื้อสายมลายูมุสลิมในอดีตจะเล่นทั้งครอบครัวชาวพุทธและมุสลิมที่มีเชื้อสายโนราควน (แขก) แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่จะเล่นเฉพาะครอบครัวของชาวไทยพุทธซึ่งจะมีนานๆ ครั้งที่เจ้าภาพมลายูมุสลิมจะรับโนราควน (แขก) ไปเล่น แต่จะใช้บ้านของคนพุทธที่เป็นเพื่อนสนิทในการสร้างโรงพิธี เพราะเนื่องจากในชุมชนมุสลิมจะไม่ค่อยยอมรับศิลปะการแสดงโนราควน (แขก) สาเหตุการเล่นโนราควน (แขก) หลักๆ คือ เนื่องจากลูกหลานเจ็บไข้ได้ป่วยโดยไร้สาเหตุจึงได้บ่นบานต่อตายายโนราควน (แขก) ลูกหลานจึงหายเป็นปกติจึงได้ยกโรงพิธีกรรมตามพันธสัญญากับตายายโนราควน (แขก) ช่วงสถานการณ์ปกติในอดีตจะรับงานแสดงแบบพิธีกรรมประมาณ 20 โรงต่อปี แต่ปัจจุบันจะรับงานแสดงประมาณ 2-3 โรงต่อปี ช่วงระยะเวลาการเล่น 3 คืน 3 วัน จะอยู่ในช่วงเดือน 4 เดือน 6 เดือน 7 เดือน 9 และเดือน 11 คล้ายกับฤดูกาลแสดงโนราโรงครู
บริบทพื้นที่การแสดงโนราควนในอดีตมีความเชื่อว่า บรรพบุรุษมีทั้งเชื้อสายทั้งมลายูพุทธและมลายูมุสลิมที่ได้สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และตายายที่ลงมาประทับทรงมีทั้งตายายโนราควน มะโย่ง สิละ โนราโรงครู และตายายหนังตะลุง ดังนั้นเวลาแสดง โนราควน (แขก) มีการโหมโรง 5 แบบ คือ โหมโรงตีเครื่องแบบโนราควน (แขก) โหมโรงตีเครื่องแบบมะโย่ง ตีเครื่องแบบหนังตะลุง โหมโรงตีเครื่องแบบโนราไทย และโหมโรงตีเครื่องแบสิละ ถ้าตายายฝ่ายมุสลิมได้ลงมาประทับทรงด้วยการเล่นสิละบ้าง มะโย่งบ้าง หนังตะลุงบ้าง นอกจากนั้นบรรดาญาติๆ บางคนได้แต่งงานและเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม จึงทำให้การเชื่อมต่อสายสัมพันธ์กับการแสดงโนราควน (แขก) ได้เป็นอย่างดีคณะโนราควนจะมีบรรดาลูกคู่ทั้งตีเครื่องดนตรีและเหล่านางรำที่เป็นทั้งมลายูพุทธและมลายูมสิลมร่วมเล่นด้วยกัน นอกจากนั้นบรรดาลูกคู่ตีเครื่องดนตรี เหล่านางรำโนราควนกับศิลปะการแสดงมะโย่งสามารถเชิญมาร่วมเล่นกันได้ จึงมีบ่อยครั้งที่คณะโนราควน และคณะมะโย่งได้เชิญบรรดาลูกคู่และนางรำมาแสดงร่วมกัน เพราะเครื่องดนตรีจะมีลักษณะคล้ายกัน และเครื่องดนตรีที่สำคัญคือ ซอรือบับ ปี่ชวา ต้องใช้ลูกคู่ที่เป็นมลายูมุสลิม ในอดีตไม่มีปัญหาเพราะมีลูกคู่มุสลิมมาร่วมแสดงหลายคน แต่ปัจจุบันเริ่มมีปัญหาเพราะลูกคู่โนราควนและมะโย่งเริ่มเข้าสู่วัยชรา บางครั้งจึงต้องอาศัยลูกคู่จากหนังตะลุงวายังกูเละ
ก่อนสถานการณ์โควิด 19 โนราควน (แขก) การเล่นพิธีกรรมตามขนบธรรมเนียมปฏิบัติ3 วัน 3 คืน เริ่มลดน้อยลงเรื่อย ๆ จึงได้มีการประยุกต์ด้วยรูปแบบการแสดงโชว์ซึ่งจะเน้นเอกลักษณ์ของโนราควน (แขก) ในการนำเสนอการเล่น 2 ภาษา เช่น การแสดงโชว์ 1 ชั่วโมง การแสดงโชว์ครึ่งวัน การเล่นแก้บ่น 1 คืน เพื่อการอนุรักษ์และสืบทอดโนราควน (แขก) ต่อไปได้
แนวทางการดำรงอยู่และการสืบทอดทายาท โนราควน (แขก) คือ การสร้างศูนย์การเรียนรู้โนราควน (แขก) และเปิดสอนการร่ายรำโนราแบบผสมผสาน โดยจะสอนการร่ายรำแบบโนราไทย และการร่ายรำมโนราควน ซึ่งสามารถประยุกต์ผสมผสานให้เข้ากันได้ และค่อยอบรมและสอนการขับบทเป็นภาษามลายู เพราะ เอกลักษณ์ของการแสดงมโนราห์ควนต้องพูดสองภาษาซึ่งการร่ายรำแบบโนราควน ไม่ยาก แต่จะยากที่การพูด การหยอกล้อ การโต้ตอบ และขับบทกลอนปันตุงด้วยภาษามลายู การสร้างศูนย์ฯ ขึ้นมาเพื่อต้องการสานต่อเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษที่ได้ฝากให้ลูกหลานได้ช่วยกันสืบทอดต่อการแสดงมโนราห์ควน ให้เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของหมู่บ้าน และเผยแพร่ให้คนได้รู้จักว่าโนราควนยังมีตัวตนในพื้นที่และจะสืบทอดต่อไปในอนาคต
เรียบเรียงบทความโดย
ประสิทธิ์ รัตนมณี นักวิจัย สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี